ทดสอบจากประสบการณ์การนำสวดมนต์ เมื่อครั้งยังอยู่ที่ชมรมพุทธ จุฬาฯ และ ที่รถสาธุชนเทคโนพระนครเหนือ ประจำวันอาทิตย์ต้นเดือน
เมื่อเราสวดตาม
1.ปรับเสียงตัวเองให้เข้ากับผู้นำสวด หากปรับได้ สวดเต็มเสียงเลย
2.หากปรับเสียงไม่ได้ ลดระดับให้ดังน้อยกว่าผู้นำสวด
3.สวดตามผู้นำเสนอ หยุดสวดตามผู้นำเสมอ ผู้นำต้องออกเสียงก่อนหน่อย แล้วเราจึงจะออกเสียง
4.หากผู้นำสวดชะงัก หรือ หลุดท่อน ให้เรารับช่วงต่อทันทีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
5.ระหว่างสวดให้น้อมใจไว้กลาง นึกถึงคุณพระรัตนตรัย องค์พระแก้วใสหรือมหาปูชนียาจารย์ก็ได้
ปล.ทั้งนี้เพื่อลดทิฐิมานะในตัวเองและเสริมสร้างสำนึกความเป็นทีม ผ่านการสวดมนต์
เมื่อเราสวดนำ
1. สวดออกเสียงให้ชัดตามอักขระบาลี
2.โทนเสียงกลาง ไม่สูงหรือต่ำเกินไป (แนะนำ เสียง เร) สวดเต็มเสียงด้วยพลังจากกลางท้อง
3. สวดจังหวะคงที่ และสังเกตจังหวะเวลากล่าวคำนำสวด เป็นประจำ
4. การกล่าวคำนำสวด(หันทะมะยัง)ควรจะใช้โทน เสียงเดียวกับบทสวด
5. ช่วงคำว่า ติ ปิดท้ายบทสรรเสริญพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (อิติปิโส ) อย่าทิ้งช่วงนานจนเหมือนจำไม่ได้
6. สังเกตผู้ตามระหว่างนำสวด ว่าเข้ากับโทนที่เราเริ่มได้ไหม ถ้าปรับได้ก็ปรับ
7. พยายามกระแอม ไอ ให้น้อยที่สุด ถ้าไม่ไหวก็ให้ไอเสร็จเร็วๆ แล้วรีบกลับมานำต่อ
8. ตรึกบทสวดให้ชัด เหมือนมีหนังสือสวดมนต์ลอยอยู่ตรงหน้า
9. ตั้งสติให้มาก
10.หากมีผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่ม อย่าสวดเร็ว วัดระยะห่างทำนอง ให้เข้ากับการหายใจแบบปกติ (ไม่หายใจเร็ว) เว้นวรรค นานอีกหน่อย
11. ระหว่างสวดให้น้อมใจไว้กลาง นึกถึงคุณพระรัตนตรัย องค์พระแก้วใสหรือมหาปูชนียาจารย์ก็ได้ และ(ถ้าทำได้) ขยายใจคลุมทุกคนที่สวดด้วยกัน
12. ถ้าที่กล่าวมาข้างต้น (1,2,3,6,8)นี้ยังไม่คล่อง ให้ฝึกให้คล่องให้ได้
**************************
อานิสงส์ของการสวดมนต์
เทศนาโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ดังปรากฏในงานของท่านเจ้าพระยาสรรเพชรภักดี จางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 ที่ได้นิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จโตมาเทศน์ที่บ้าน
ครั้นพลบค่ำ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตพร้อมลูกศิษย์ได้เดินทางจากวัดระฆังมายังบ้านของท่าน เจ้าพระยาสรรเพชรภักดี ซึ่งในขณะนั้นมีอุบาสก อุบาสิกา นั่งพับเพียบเรียบร้อยกันเป็นจำนวนมาก ด้วยต้องการสดับรับฟังการเทศน์ของท่านเจ้าประคุณ ณ ที่เรือนของท่านเจ้าพระยา
เจ้าประคุณสมเด็จโต ได้ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวบูชาพระรัตนตรัย เมื่อจบแล้ว ท่านจึงเทศน์ “ เรื่อง อานิสงส์ของการสวดมนต์ ”
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ได้กล่าวว่ายังมีคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การสวดมนต์มีประโยชน์น้อย และเสียเวลามากหรือฟังไม่รู้เรื่อง ความจริงแล้วการสวดมนต์มีประโยชน์อย่างมากมาย เพราะการสวดมนต์เป็นการกล่าวถึงคุณงามความดี ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพระองค์ท่านมีคุณวิเศษอย่างไร พระธรรมคำสอนของพระองค์มีคุณอย่างไร และพระสงฆ์อรหันต์อริยะเจ้ามีคุณเช่นไร การสวดมนต์ด้วยความตั้งใจจนจิตเป็นสมาธิ แล้วใช้สติพิจารณาจนเกิดปัญญาและความรู้ความเข้าใจ ประโยชน์สูงสุดของการสวดมนต์นั่นคือ จะทำให้ท่านเป็นผล จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
ที่อาตมากล่าวเช่นนี้ มีหลักฐานปรากฏในพระธรรมคำสอนที่กล่าวไว้ว่า โอกาสที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มี 5 โอกาสด้วยกันคือ
• เมื่อฟังธรรม
• เมื่อแสดงธรรม
• เมื่อสาธยายธรรม นั่นคือ การสวดมนต์
• เมื่อตรึกตรองธรรม หรือเพ่งธรรมอยู่ในขณะนั้น
• เมื่อเจริญวิปัสสนาญาณ
การสวดมนต์ในตอนเช้าและในตอนเย็นเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย ต่างพากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ โดยแบ่งเวลาเข้าเฝ้าเป็น 2 เวลา นั่นคือ ตอนเช้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อฟังธรรม ตอนเย็นเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม การฟังธรรมเป็นการชำระล้างจิตใจ ที่เศร้าหมองให้หมดไปเพื่อสำเร็จสู่มรรคผลพระนิพพาน การสวดมนต์นับเป็นการดีพร้อมซึ่งประกอบไปด้วยองค์ทั้ง 3 นั่น คือ
• กาย มีอาการสงบเรียบร้อยและสำรวม
• ใจ มีความเคารพนบนอบต่อคุณพระรัตนตรัย
• วาจา เป็นการกล่าวถ้อยคำสรรเสริญถึงพระคุณอันประเสริฐ ในพระคุณทั้ง 3 พร้อมเป็นการขอขมา ในการผิดพลาดหากมีและกล่าวสักการะเทิดทูนสิ่งสูงยิ่ง ซึ่งเราเรียกได้ว่าเป็นการสร้างกุศล ซึ่งเป็นมงคลอันสูงสุดที่เดียว
อาตมาภาพ ขอรับรองแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าหากบุคคลใดได้สวดมนต์เช้าและเย็นไม่ขาดแล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าสู่แดนพระอรหันต์อย่างแน่นอน
การสวดมนต์นี้ ควรสวดมนต์ให้มีเสียงดังพอสมควร ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่จิตตน และประโยชน์แก่จิตอื่น
*ที่ว่าประโยชน์แก่จิตตน คือ เสียงในการสวดมนต์จะกลบเสียงภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนจิต ก็จะทำให้เกิดความสงบอยู่กับบทสวดมนต์นั้น ๆ ทำให้เกิดสมาธิและปัญญา เข้ามาในจิตใจของผู้สวด
*ที่ว่าประโยชน์แก่จิตอื่น คือ ผู้ใดที่ได้ยินได้ฟังเสียงสวดมนต์จะพลอย ได้เกิดความรู้เกิดปัญญา มีจิตสงบลึกซึ้งตามไปด้วย ผู้สวดก็เกิดกุศลไปด้วยโดยการให้ทานโดยทางเสียง เหล่าพรหมเทพที่ชอบฟังเสียงในการสวดมนต์ มีอยู่จำนวนมาก ก็จะมาชุมนุมฟังกันอย่างมากมาย เมื่อมีเหล่าพรหมเทพเข้ามาล้อมรอบตัวของผู้สวดอยู่เช่นนั้น ภัยอันตรายต่าง ๆ ที่ไหนก็ไม่สามารถกล้ำกลายผู้สวดมนต์ได้ตลอดจนอาณาเขตและบริเวณบ้านของผู้ ที่สวดมนต์ ย่อมมีเกราะแห่งพรหมเทพและเทวดา ทั้งหลายคุ้มครองภัยอันตราย ได้อย่างดีเยี่ยม
ดูก่อน.. ท่านเจ้าพระยาและอุบาสก อุบาสิกาในที่นี้ การสวดมนต์เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเมื่อจิตมีที่พึ่งคือ คุณพระรัตนตรัย ความกลัวก็ดี ความสะดุ้งกลัวก็ดี และความขนพองสยองเกล้าก็ดี ภัยอันตรายใด ๆ ก็ดีจะไม่มีแก่ผู้สวดมนต์นั่นแล..
จากหนังสือ อมตะธรรม สมเด็จโต พรหมรังษี
คำถาม: อานิสงส์ของการสวดมนต์มีอะไรบ้างครับ?
คำตอบ: มนต์
แปลว่าคำศักดิ์สิทธิ์
คำสำหรับสวดพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นคำสวดพระโอวาทที่พระสัมมา
สัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ การที่ชาวพุทธสวดมนต์ก็เพื่อเป็นการทบทวนพระโอวาท
ที่เป็นข้อธรรมะ เมื่อใครได้ทบทวนข้อธรรมะของพระองค์ ก็ได้ชื่อว่า
1. เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดของมนต์
2. เคารพในพระธรรม เพราะข้อความที่สวดเป็นธรรมะ
3. เคารพในพระสงฆ์ เพราะบทสวดมนต์ได้ถ่ายทอดมาโดยพระสงฆ์
สิ่งที่เราเคารพ 3 อย่างนี้ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย การเคารพพระรัตนตรัยมีอานิสงส์ทำให้เรามีโอกาสสร้างบุญได้ต่อไป แม้ขณะที่กำลังสวดมนต์ ผลบุญก็เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ แล้ว ตั้งแต่ขณะสวดมนต์ ร่างกายของเราอยู่ในอาการอันสงบ สำรวม ศีลก็ไม่ขาด พอจิตใจสงบ ก็เป็นสมาธิ(Meditation)ได้เร็ว
การสวดมนต์เป็นประจำ
เมื่อทบทวนธรรมะ ปัญญาก็งอกงามไปตามลำดับๆ ได้ อานิสงส์ทางปัญญา ตกลงได้ครบทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุปกรณ์เป็นพาหนะนำไปสู่การสร้างบุญ สร้างคุณงามความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่ง
กว่านั้นผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ ยังเป็นผู้ที่มีโอกาสพิจารณาตนเองได้มาก
ไม่วู่วาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ
จะมีอานิสงส์ให้พ้นภัยทั้งปวง เนื่องมาจากใจที่สงบของเขา
ใจที่เกาะอยู่ในธรรมจะสะอาดและใสมาก เมื่อจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับตัว
แม้จะหาเหตุผลไม่ได้ แต่จะเกิดการสังหรณ์ล่วงหน้า เพราะใจสัมผัสได้เร็ว
ทำให้เตรียมตัวรับสถานการณ์ต่างๆ ได้ฉับพลัน
ผู้ที่สวดมนต์เป็นประจำ เทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาก็อยากได้บุญ เป็นการต่ออายุให้อยู่บนสวรรค์ได้นานๆ คนที่เทวดาลงรักษา จะทำอะไรก็เจริญรุ่งเรือง และคิดจะทำแต่ความดี ทำแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล นี่แหละคืออานิสงส์โดยย่อของการสวดมนต์ ซึ่งอธิบายในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล