วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คุณธรรมของอัครสาวกทั้งสอง

(ตัดบางส่วนจาก "การสร้างบารมีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน" 
พระธรรมเทศนา โดย พระภาวนาวิริยคุณ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2553 โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา)


เมื่อวานนี้ หลวงพ่อได้เล่าถึงคุณยายของเราว่า คุณยายของเรานั้น ใจของท่านหน่วงอยู่กับพระนิพพาน หน่วงอยู่กับการสร้างบุญสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ อยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ท่านจึงมีความเคารพในพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อหลวงพ่อถามคุณยายว่า “พระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา สร้างบุญสร้างบารมีมาอย่างไร จึงได้มีปัญญาเป็นเลิศ พระอรหันต์ทั้งหลายเทียบกับท่านไม่ได้เลย”

        คุณยาย...แม้อ่านหนังสือไม่ออก แต่ผู้ที่เข้าถึงธรรมนั้น ในที่สุดก็จะเหมือนกัน ดำเนินรอยตามกันไป ก่อนจะเข้าถึงก็มีความเคารพอยู่แล้วไม่อย่างนั้นก็เข้าไม่ถึง ครั้นพอเข้าถึงก็ยิ่งซาบซึ้งในพระจริยวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ คุณยายจึงเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เคารพพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง เคารพพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง
        คุณยายก็ดำเนินรอยตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้พระองค์เอง ก็มีความเคารพในธรรมเป็นอย่างยิ่ง ตรงนี้ขอฝากเป็นข้อคิดเอาไว้กับทุกๆคน เมื่อถึงคราวไปเป็นกัลยาณมิตรให้หมู่คณะ กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ตัวของพระองค์เองนั้น เวลาที่จะเทศน์ให้ใครฟัง จะไม่ยอมให้มีความประมาทเกิดขึ้นในพระองค์แม้เพียงเล็กน้อย และมีความเคารพในธรรมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเทศน์ให้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินฟัง จะเทศน์ให้นักปราชญ์บัณฑิตฟัง จะเทศน์ให้มหาเศรษฐีฟัง ก็มีความรัดกุมรอบคอบ เช่นเดียวกับเทศน์ให้คนยากจนเข็ญใจฟัง เช่นเดียวกับเทศน์ให้เด็กๆฟัง อุปมาดั่งราชสีห์ ไม่ว่าจะตะปบช้างหรือกระต่ายมากินเป็นอาหาร ก็จะใช้ความรอบคอบระมัดระวัง ไม่ให้หลุดกรงเล็บไปได้ เสมอกัน นี้คือความเคารพในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งๆที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าของธรรมะ

        ดังนั้น เมื่อหลวงพ่อถาม คุณยายต้องย้อนกลับไปทำภาวนานิ่งอยู่ ไม่ต่ำกว่าห้าถึงเจ็ดนาที แล้วจึงตอบช้าๆด้วยความระมัดระวังว่า พระสารีบุตรมีบุญที่เหนือกว่าใครทั้งหลายอยู่ประการหนึ่ง คือ ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณของท่าน ทุกภพทุกชาติเป็นมาอย่างนั้น
        เราอย่าลืมว่า พระอรหันต์ทุกองค์นั้น ต่างก็หมดกิเลสด้วยกันทั้งสิ้น แต่คุณสมบัติพิเศษๆกลับไม่เหมือนกัน พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ต่างก็เป็นอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่เรื่องธรรมดา ในการที่พระอรหันต์รูปใดรูปหนึ่งจะมีความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง เนื่องจากการที่จะเป็นพระอรหันต์ธรรมดา ขอเพียงให้หมดกิเลส จะได้พ้นทุกข์ อย่างที่ชาวโลกทั้งหลายตั้งความปรารถนากันนั้น ยังต้องใช้เวลาเป็นอสงไขยกัป กว่าจะสร้างบุญสร้างบารมีกันมา แก้ไขตัวเองกันมา ได้ขนาดนั้น แม้ท่านใดจะสร้างบารมีล่วงหน้ามาก่อนเป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ยังต้องเป็นหมื่นเป็นแสนกัปกว่าจะหมดกิเลสได้ ดังนั้น เมื่อมาเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศกว่าพระอรหันต์ทั้งหลาย จะต้องใช้ความทุ่มเทขนาดไหน 

เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้ง หลาย ที่ในอดีตมีมาแล้วไม่ว่าจะกี่พระองค์ก็ตาม มีธรรมชาติอยู่ว่า ทุกพระองค์จะต้องมีอัครสาวก เมื่อมีผู้ที่ทราบความเป็นมาของการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละ พระองค์ ก็มีบางท่านที่อยากจะสร้างบารมี แต่จะให้สร้างบารมีอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็กลัวจะไม่ไหว ถ้าจะเป็นพระอรหันต์ธรรมดา ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ อีกทั้งรู้ว่ากว่าจะมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะมาเป็นพระอรหันต์ กว่าจะหมดกิเลส ต้องเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วไม่รู้กี่แสนกัปกี่ล้านกัป เพราะฉะนั้น พ่อแม่ในอดีตชาติ คงมีมากมายทีเดียว ถ้าอย่างนั้นจะหมดกิเลสเพียงลำพังคนเดียว เห็นว่าหาสมควรไม่ น่าจะได้มีคุณสมบัติพิเศษๆ อะไรสักหน่อย เพื่อจะได้ไปโปรดโยมพ่อโยมแม่ของตัวเองในชาตินั้นๆ และจะได้ไปโปรดโยมพ่อโยมแม่ในอดีตชาติด้วย 
..............

หลัง จากคุณยายอาจารย์ ท่านได้เมตตาตอบเรื่องของพระสารีบุตร ผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ จึงได้มีปัญญาเป็นเลิศแล้ว หลวงพ่อก็ถามต่อ “คุณยาย แล้วพระโมคคัลลานะ สหายคู่ใจของพระสารีบุตรที่ได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและมีฤทธิ์มาก เหลือเกิน จะเหาะเหินเดินอากาศ จะดำน้ำดำดินก็ได้สิ้น อย่างนี้ท่านสร้างบุญสร้างบารมีของท่านมาอย่างไร”
        หลวงพ่อถามคุณยายไปอย่างนี้ด้วยความอยากรู้จริงๆ เพราะตั้งแต่ก่อนบวช แต่ไหนแต่ไรมา ตอนเป็นเด็กอ่านรามเกียรติ์ก็อยากมีฤทธิ์เหมือนหนุมาน ครั้นพอวัยรุ่นขึ้นมาหน่อยไปอ่านขุนช้างขุนแผน ก็อยากมีฤทธิ์เหมือนขุนแผน ครั้นต่อมา มาค้นพระไตรปิฎก อ่านมาถึงพระโมคคัลลานะ สนใจมาก อยากจะมีฤทธิ์ หลวงพ่อค้างใจมานาน เพราะอ่านประวัติของท่านแล้ว พลิกพระไตรปิฎกมาพอสมควร แต่บอกได้ไม่ชัดว่า พระโมคคัลลานะสร้างบารมีมาอย่างไร
        คุณยายก็เมตตาหลับตาค้นให้ต่อ ครั้งนี้ใช้เวลาน้อยหน่อย ประมาณสามนาที คงจะเป็นเพราะระลึกชาติไปดูการสร้างบารมีของพระสารีบุตร ก็คงจะเห็นของพระโมคคัลลานะไปด้วยในตัวมาส่วนหนึ่งแล้ว เพราะท่านเป็นสหายคู่ใจกันมาหลายภพหลายชาติ นับกันไม่ไหว ดังนั้น ถ้าเห็นประวัติการสร้างบารมีของท่านหนึ่ง ก็จะเห็นของอีกท่านหนึ่งด้วย 
        เมื่อคุณยายลืมตาขึ้นมา ท่านตอบหลวงพ่อว่า พระโมคคัลลานะนั้น เกิดกี่ภพกี่ชาติ ท่านเป็นบุคคลประเภทที่เอาภาระหมู่คณะ จะอยู่กับพรรคพวกเพื่อนฝูงมากน้อยเท่าไหร่ก็เอาภาระของพรรคพวกเพื่อนฝูง อยู่กับครอบครัวคุณพ่อคุณแม่วงศ์ญาติก็เอาภาระของพ่อแม่ เอาภาระของวงศ์ญาติ ไปเกิดในหมู่บ้านไหนตำบลไหนก็เอาภาระในหมู่บ้านนั้นตำบลนั้นด้วย ไม่ปล่อยปละละเลย ท่านเป็นประเภทอย่างนี้ คือ เอาภาระต่อหมู่คณะ เพราะความที่เอาภาระต่อหมู่คณะนี่เอง ท่านจึงถูกบังคับว่า ถ้ามีความรู้ความสามารถธรรมดาๆแล้ว คงตายเปล่า จึงต้องฝึกตนเองเป็นพิเศษ ฝึกมากเข้าๆเพื่อจะแบกภาระให้หมู่คณะ ไม่ว่าศาสตร์ไม่ว่าศิลปะใดๆมีอยู่ก็ในยุคนั้นๆ เป็นต้องไปศึกษาไปเล่าเรียนมาทุกแขนง เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับอุปสรรคที่จะเกิดกับหมู่คณะ ในยามที่มีภาระเกิดขึ้นกับหมู่คณะ พระโมคคัลลานะจะออกหน้าทันที ด้วยเหตุนี้ พอมาถึงชาติสุดท้าย ท่านจึงมีฤทธิ์เป็นพิเศษทีเดียว 
อ่านเนื้อหาโดยสมบูรณ์ได้ที่
 http://www.dmc.tv/pages/latest_update/20100812_1SPE_RIGHT.html

อุบายแก้ง่วง


พระพุทธเจ้าทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ


พระ มหาโมคคัลลานะ เมื่ออุปสมบทได้ 7 วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่ป่าใกล้บ้านกัลป์ลาวาลมุตตาคาม แขวงมคธ ถูกถีนมิทธารมณ์ คือ ความง่วงเหงาเข้าครอบงำ ไม่สามารถจะทำความเพียรได้

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนเภสกลาวัน ซึ่งเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่เนื้อ ใกล้เมืองสุงสุมารคิรี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นภัคคะ ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะ โงกง่วงอยู่

จึงทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏ ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงแก่เธอตามลำดับ ดังนี้













  1.  โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญาอย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้ 

    ( หมายเหตุ ข้างต้นเป็นไปตามพระไตรปิฏกฉบับมหามกุฏและสยามรัฐ ซึ่งแปลสำนวนจาก บาลีฉบับสยามฯ ส่วน พระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬา แปลสำนวนตาม บาลีสากล ซึ่งตรงตามบาลีลังกาและพม่า
    ได้เนื้อความว่า "เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้น ย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่าได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้นจะละความง่วงนั้นได้" .
    สำหรับ บาลีจากพระไตรปิฎกบาลีฉบับต่างๆเป็นดังนี้ : "ตสฺมาติห, โมคฺคลฺลาน, ยถาสญฺญิสฺส เต วิหรโต ตํ มิทฺธํ โอกฺกมติ, ตํ สญฺญํ มา มนสากาสิ [มา มนสิกาสิ (สี.), มนสิ กเรยฺยาสิ (สฺยา.), มนสากาสิ (ก.)], ตํ สญฺญํ มา พหุลมกาสิ [ตํ สญฺญํ พหุลํ กเรยฺยาสิ (สฺยา.), ตํ สญฺญํ พหุลมกาสิ (ก.)]ฯ ฐานํ โข ปเนตํ, โมคฺคลฺลาน, วิชฺชติ ยํ เต เอวํ วิหรโต ตํ มิทฺธํ ปหีเยถ". )
     
  2. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  3. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มากจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  4. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ายมือจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  5. ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  6. ถ้า ยังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่างไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  7. ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
  8. ถ้า ยังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีกจะเป็นเหตุให้ละความง่วง ได้


พระพุทธองค์ ตรัสสอนอุบายเพื่อบรรเทาความง่วงโดยลำดับจนที่สุดถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้นอน แต่ให้นอนอย่างมีสติ

ที่มา th.wikipedia.org/wiki/พระมหาโมคคัลลานะ

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,

อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,

       ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ
           ๑. เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ
           ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง
           ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ
           ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดาของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
           ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา;

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
 
 
 
 

นิพพานเป็นอนัตตา? (จากโพสคำตอบของกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง)

นิพพานเป็นอนัตตา? <!-- following code added by server. PLEASE REMOVE
นิพพานเป็นอนัตตา?
 
[เรื่องนี้มีที่มาจากโพสคุณสมเจต (Somchet Jearanaisilpa) ส่งคำตอบถึงคำถามของผู้โพสในกลุ่มลูกพระธัม ทำให้ได้ความกระจ่างไปไม่น้อย อย่างไรก็ดี ผู้อ่านควรพิจารณาให้มากและค้นคว้าหาคำตอบอย่างจริงจัง โดยไม่มีอคติ] 


[ความหมายของพระนิพพานในกระแสนิยมปัจจุบัน "แค่สงบเย็นก็นิพพานแล้ว"]



เหตุจูงใจที่เขียนเรื่องนี้ก็ด้วยสาเหตุที่มีการถกเถียงกันมากว่า นิพพาน แท้จริงแล้ว เป็น อัตตา หรือ อนัตตา กันแน่ มีการถกเถียงกันไปถกเถียงกันมา จนดูคล้ายการทะเลาะวิวาทของชาวพุทธในประเด็นนี้

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่ไกลตัวเหลือเกิน ฝ่ายที่เชื่อนิพพานเป็นอัตตามักชี้แจงความเชื่อของตนด้วยอาการสงบ และไม่ใคร่จะเดือดร้อนกับข้อขัดแย้งนี้เท่าใดนัก

แต่ในทางกลับกันฝ่ายที่ยึดถือ นิพพาน เป็นอนัตตา ไม่ทราบว่าทำไมต้อง โจมตี ว่าร้ายอีกฝ่ายรุนแรงถึงขนาดนั้น เพียงแค่เชื่อเรื่องสภาพของนิพพานไม่เหมือนกับตน กลับผลักไส ให้เป็นถึงมิจฉาทิฏฐิ อย่างร้ายแรง

บางท่านถึงกับสาปส่งว่าต้องไปเกิดในนรกอเวจี และตั้งข้อหาร้ายแรงถึงกับว่าเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ผู้มีปัญญาเรามาศึกษากันให้ดีๆ ก่อนดีกว่าว่า จริงๆ ความจริงควรจะเป็นอย่างไรกันแน่

ความจริงแล้วประเด็นนี้ หาควรนำมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายไม่ เพราะว่า นิพพานนี้ เป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ใครถึงนิพพาน เป็นอัน พ้นทุกข์ได้แน่นอน มีความสุข(ในนิพพาน) เป็นอย่างยิ่ง ดังที่ท่านว่า "นิพพานัง ปรมัง สุขัง"

พระภิกษุที่บวชๆกัน ก็เพื่อแสวงหานิพพาน ซึ่งเป็นภารกิจอันสูงสุดของนักบวชในพระพุทธศาสนานั่นเอง ท่านใดที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็เป็นอันเสร็จกิจในพระพุทธศาสนา

ดังนั้นนิพพานเป็นสิ่งที่กว่าจะได้มา ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ต้องทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ ปฏิบัติกันเอาเป็นเอาตายเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพอจะมีสิทธิ์ได้นิพพาน  ดังนั้นแม้เราๆ ท่านๆ จะรู้ว่า นิพพานเป็น อัตตา หรือ อนัตตา ก็ใช่ว่า ท่านจะบรรลุนิพพานตามไปด้วย

คนมีปัญญาที่แสวงหานิพพานจริงๆ จึงไม่ใคร่อยากจะมาถกเถียงกันให้เสียเวลา สู้ปฏิบัติตามแนวทาง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ 8 ไปเรื่อยๆ จะดีกว่า

 เพราะการปฏิบัติไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ซักวันหนึ่ง คงจะมีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้าอย่างแน่นอน


ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ จะเพื่อต้องการชนะใครก็หาไม่ แต่เพื่อวิเคราะห์ให้ทราบว่า ทำไมบางท่านถึงต้องยึดถือว่า นิพพานเป็นอนัตตา บางท่านยึดนิพพานเป็นอัตตา และการตีความพระไตรปิฎกแบบไหนที่จะกลายเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา ในภายภาคหน้า


ฝ่ายที่ ยึดถือว่า นิพพาน เป็นอนัตตา มักจะยกพุทธพจน์ ว่า

 "สัพเพ ธัมมา  อนัตตา - ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน"

แล้วตีความคลุมไปหมด ว่าอะไรๆ ก็เป็นอนัตตาไปด้วย แม้กระทั่งนิพพาน  ทำไมถึงว่าท่านตีความเอง เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสเป็นพุทธวจนะตรงๆ เลยว่า นิพพานเป็นอนัตตา

แม้ในพระไตรปิฏกฉบับประชาชน พอถึงคาถาบทนี้ทีไร ผู้แปลก็มักอธิบาย(เพิ่มเอง)ให้เสร็จเสียทุกครั้ง ว่า ธรรมนั้น ครอบคลุมทั้งธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง (สังขารธรรมหรือสังขตธรรม) และธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขารธรรมหรือ อสังขตธรรม)ด้วย แสดงว่า ปัญหาตรงนี้ เกิดจากการตีความพุทธพจน์ที่ต่างกันนั่นเอง


ก่อนจะวิเคราะห์การตีความ คำว่า "ธัมมา หรือ ธรรม" ในที่นี้ เราควรจะมาดูกันก่อนว่า ธรรม ที่พระพุทธเจ้า แยกแยะไว้มีอะไรบ้าง ท่านแบ่งไว้อย่างไรบ้าง ขออนุญาตยกมาจากพระไตรปิฎกดังนี้
อกุศล และ กุศล


"ธรรมที่เป็นกุศล เป็นไฉน ? รากเหง้าของกุศล 3 อย่าง คือความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ; กองแห่งเวทนา กองแห่งสัญญา กองแห่งสังขาร กองแห่งวิญญาณ ที่ประกอบด้วยรากเหง้าของกุศลนั้น ; การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เกิดขึ้นจากรากเหง้าของกุศลนั้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล


ธรรมที่เป็นอกุศล เป็นไฉน ? รากเหง้าของอกุศล 3 อย่าง คือความโลภ ความโกรธ ความหลง และกิเลส ที่มีเนื้อความเป็นอันเดียวกับรากเหง้าของอกุศลนั้น ; กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ที่ประกอบด้วยรากเหง้าของอกุศลนั้น ; การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เกิดขึ้นจากรากเหง้าของอกุศลนั้น ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล

ธรรมที่เป็นอัพยากฤตเป็นไฉน ? วิบาก(ผล)ของธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และธรรมเหล่าใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากของกรรม รูปทุกชนิด และธาตุที่เป็นอสังขตะ (ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) ธรรมเหล่านี้เป็น อัพยากฤต"


นั่นแสดงว่า พระพุทธเจ้าแบ่งธรรมไว้เป็น 3 ประเภท คือ ธรรมฝ่ายดี ธรรมฝ่ายไม่ดี ธรรมฝ่ายไม่ดีไม่ชั่ว (กลางๆ) และทุกๆ สรรพสิ่งล้วนคือธรรมหรือเกิดจากธรรมทั้งสิ้น

 
คราวนี้มาดูการแบ่งธรรมในอีกลักษณะหนึ่ง มีว่า
"ยาวตา ภิกขเว สังขตา วา อสังขตา วา วิราโค เตสัง อัคคมักขายติ - ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคธรรม(นั้นแล) เรากล่าวว่าเป็นยอดเลิศของธรรม 2 ประการนั้น"
 
ตรงนี้แสดงว่า สามารถแบ่งธรรมไว้ได้เป็นอีก  2 ประเภท คือ สังขตธรรม (ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) และ อสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)  แต่ท่านยกย่อง วิราคธรรม ว่าเป็นเลิศที่สุด วิราคธรรมนี้ เป็นไวพจน์กับนิพพาน

(หมายเหตุ : สังขตธรรมบางทีเรียกสังขารธรรม อสังขตธรรมบางทีเรียกวิสังขารธรรม)
พระพุทธเจ้ากล่าวสรรเสริญคุณของพระนิพพานไว้มากมายหลายที่(ในพระไตรปิฎก) เช่น

"นิพพานัง ปรมัง สุขัง - นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"
"นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา - พระพุทธเจ้ากล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม (โอวาทปาฏิโมกข์)"
 
ถึงตรงนี้ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า นิพพาน นั้น เป็นของดีแน่ๆ และเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาด้วย


คราวนี้กลับมาดู คาถา ที่ว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ว่า ธรรมที่ท่านกล่าว ควร รวม นิพพาน ซึ่งเป็น วิราคธรรม ไว้ด้วยหรือไม่

ปกติการยกหัวข้อธรรมขึ้นมาเป็นชิ้นๆ แล้วตีความ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดกันได้ เหมือนลักษณะ ตาบอดคลำช้าง ที่คลำเป็นส่วนๆ ย่อมอาจเข้าใจผิดได้  คาถานี้ก็เหมือนกัน เพราะคาถานี้ ไม่ว่าท่านจะพบใน ธรรมบท หรือ ในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าก็ตาม ท่านไม่ได้กล่าวไว้เดี่ยวๆ แต่จะประกอบไปด้วยบทอื่นด้วยเสมอ คือ


ในธรรมบท ท่านกล่าวไว้ว่า "สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตา"  อันแสดงถึง "ไตรลักษณ์" ส่วนในบททำวัตรเช้า ในบท "สังเวคปริกิตตนปาฐะ" มีดังนี้

" ฯลฯ
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา - (แปล)ว่าโดยย่อแล้ว การยึดมั่นในขันธ์ทั้ง 5 นั่นเองเป็นทุกข์
ฯลฯ

รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง - (แปล)ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ย่อมไม่เที่ยง

รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา สัญญา อนัตตา สังสารา อนัตตา วิยญาณัง อนัตตา - (แปล)ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ย่อมไม่ใช่ตัวตน

สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ - สังขารทั้งปวงย่อมไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงย่อมไม่ใช่ตัวตน ดังนี้
ฯลฯ"
 
หากท่านที่เคยอ่านคำแปลและรู้คำแปล ทำวัตรเช้าบท "สังเวคปริกิตตนปาฐะ" จะเห็นว่า เป็นการพรรณาถึง ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นสังขารธรรม ล้วนๆ ว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีกล่าวหรือพาดพิงถึง อสังขตธรรมและวิราคธรรมหรือ นิพพาน เลยแม้แต่น้อย

แล้วอยู่ๆ จะเหมาเอา คำว่า ธัมมา หมายถึง นิพพานไปด้วยได้อย่างไร อย่างคำว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ - ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ดังนี้" คำว่า "ดังนี้" ก็บอกตรงตัวอยู่แล้วว่า เป็นการกล่าวบทสรุปที่กล่าวมาตอนต้น ทั้งหมด

 ซึ่งธรรมที่กล่าวมาก่อนๆตอนต้น ล้วนเป็นขันธ์ 5 หรือ สังขารธรรมทั้งสิ้น
เนื่องจากคำว่า "ธรรม" มีความหมายหลายนัยมาก ดังนั้นการที่พระพุทธเจ้า กล่าวถึง คำว่า "ธรรม" ในพระคาถาต่างๆ  ทุกครั้งท่านไม่จำเป็นต้องเจาะจงให้ชัดไปทุกครั้งว่า "ธรรม" ที่หมายถึงนั้น เป็น "ธรรม" ประเภทไหน

จะเป็น ธรรมฝ่ายกุศล ธรรมฝ่ายอกุศล ธรรมฝ่ายกลาง สังขารธรรม หรือ วิสังขารธรรม ดังตัวอย่างเช่น หากท่านกล่าว
"การแสวงหาธรรมเป็นเลิศ"
"การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง"
"ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"
"ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้"
ฯลฯ
 
ดังตัวอย่าง พระคาถามากมายที่กล่าวคำว่า "ธรรม" ขึ้นลอยๆ ไม่บอกว่าเป็นธรรมประเภทไหน  แล้วไยท่านถึงเข้าใจได้ว่า เป็นธรรมประเภทไหน นั่นแสดงว่า ความหมายของคำว่า "ธรรม" นั่นขึ้นกับ ความหมายโดยรวมของบทความที่ท่านกล่าว ไม่ใช่อยากจะแปลคำว่า"ธรรม"เป็นอะไรก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อยากจะแสดงคือ "ธรรมะย่อมชนะอธรรม" หากดูแค่บทนี้ลอยๆ และตีความ "ธรรม" ตามใจตัวเอง อาจเข้าใจได้ว่ามีสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม(อธรรม)ด้วย คือไม่ใช่ธรรมทั้งสามประเภทที่กล่าวมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านหมายถึง ธรรมฝ่ายกุศลย่อมชนะธรรมฝ่ายอกุศล อันเป็นที่เข้าใจกัน

ดังนั้นการแปลหรือให้ความหมายกันผิดเพี้ยนนั้นอาจนำมาซึ่งความเสียหายของพระพุทธศาสนา ก็ได้ จะขอยกตัวอย่างการให้ความหมาย "ธรรม" แบบผิดๆ

ตัวอย่าง หากมีการ บอกว่า "ธรรม (ธรรมะ) คือ ธรรมชาติ"  โดยความหมาย ไม่ผิด ถูกต้อง เพราะ ธรรมชาติ ซึ่งแปลว่าเกิดโดยธรรม ดังได้อธิบายไว้แล้ว ว่า ธรรมท่านแบ่งไว้มี 3 ประเภท คือ ดี ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว  แสดงว่า ธรรมชาติ ย่อมมีทั้งคุณ โทษ และไม่มีทั้งคุณและโทษ

หากมีคนสอนว่า ธรรมคือธรรมชาติ เป็นธรรมที่ควรปฏิบัติ หรือกล่าวอีกนัยว่า การปฏิบัติ(ธรรม)ตามธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติธรรม แต่ไม่รู้ชัดว่าธรรมนั้นเป็นธรรมฝ่ายไหน(ดีหรือชั่ว) อะไรจะเกิดขึ้น

 ต่อไปอาจสอนกันว่า กามซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (ที่มีกิเลส) การปฏิบัติเมถุนธรรมก็ไม่ได้ผิดอะไร อาจเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยก็ได้  หากเริ่มเชื่อหรือสอนกันอย่างนี้ ตอนแรกๆ อาจสอนว่า การปฏิบัติเมถุนธรรมระหว่างสามีภรรยาเป็นการปฏิบัติธรรม ยังพอทำเนา

แต่หากต่อไปๆ เมถุนธรรมกลายเป็นธรรมที่ควรปฏิบัติเป็นสาธารณะไป ลองคิดดู อะไรจะเกิดขึ้น  ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่จะตีตนไปก่อนไข้  แต่ได้ตกใจอย่างมาก ที่คำสอนประเภทนี้เริ่มได้รับการเชื่อถือและปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธบ้างแล้ว


สำหรับการตีความและเชื่อว่านิพพานเป็นอนัตตา วิเคราะห์ได้ว่าอาจเกิดจากสาเหตุสำคัญ 4 ประการคือ

1. เพราะไปแปล "อัตตา" ว่าเป็นการยึดมั่นในตัวตน ซึ่งจริงๆแล้ว การยึดมั่นคือ "อุปาทาน" ไม่ใช่ "อัตตา" และให้ความหมาย อัตตา ไปเหมือน กับ "ทิฏฐิ มานะ" เลยรังเกียจ อัตตา ในเมื่อ รังเกียจ อัตตา (แต่ชอบนิพพาน) เลยยก นิพพานให้เป็นอนัตตาไปเสีย เพื่อจะได้ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อของตน


2. แปล "อนัตตา" ว่า "ไม่มีตัวตน" แทนที่จะเป็น "ไม่ใช่ตัวตน"  ในเมื่อแปลว่าไม่มีตัวตน แสดงว่าตัวตนก็ไม่มีในที่ไหนๆ ดังนั้นสรุปนิพพานก็ต้องเป็น อนัตตา ไปโดยปริยาย


3. "ไม่เคยเห็น" เพราะมีคนอีกประเภทหนึ่ง ที่ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่สามารถจับต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คนประเภทนี้ นอกจากปฏิเสธนิพพานแล้ว มักปฏิเสธ ชาตินี้ชาติหน้า การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ และภพภูมิต่างๆ ด้วย พยายามแปล นรก สวรรค์ นิพพาน ให้มีความหมายเป็นแค่สภาพอารมณ์ในปัจจุบัน และเลือกเชื่อพระไตรปิฎกเป็นส่วนๆ ตามที่ตรงกับความเห็นของตนเท่านั้น


4. ไม่เข้าใจเรื่อง "กายในกาย" เพราะคิดว่ามนุษย์เรานี้มีแค่กายเนื้อนี้เพียงกายเดียว ในเมื่อกายเนื้อในตำราก็บอกไว้เสมอๆ ว่าเป็นขันธ์5 ซึ่งขันธ์ 5 เป็นสิ่งที่เราต้องรังเกียจหนักหนา เพราะมันตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเมื่อกายกับใจ(ขันธ์ 5) นี้ไม่มีอะไรดี ท่านไม่ให้ยึดถือในขันธ์


 5 นี้ เมื่อไม่รู้จักธรรมกายซึ่งเป็น "ธรรมขันธ์" ไม่รู้ว่า "ธรรมกาย" เป็น อัตตา(ตัวตน) ที่แท้จริง ก็เลยเคว้ง เพราะหาอัตตาตัวจริงไม่เจอ จึงจำเป็นต้องเหมาให้นิพพานเป็น อนัตตา ไปด้วยปริยาย

 แต่กระนั้นก็ยัง ให้ นิพพาน เป็น นิจจัง กับ สุขขัง อยู่ คือยอมให้นิพพาน พ้นไตรลักษณ์ไปได้แค่ สองในสามส่วน ยังไงๆ ก็ไม่ยอมให้เป็นอัตตา เพราะหา "อัตตา(ตัวจริง)" ไม่เจอนั่นเอง

มีบางท่านที่เชื่อว่า นิพพานเป็นอัตตา แต่ยังไม่รู้จัก "ธรรมกาย" ก็พยายามหาสิ่งที่เป็นอัตตา เพื่อไปอยู่ใน นิพพาน ให้ได้ ท่านเหล่านั้นอธิบายว่า จิตของพระอรหันต์ เป็นอัตตา
[นิพพานในทัศนะของศิษย์วัดท่าซุง(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) มีสมเด็จองค์ปฐม(พระพุทธเจ้าองค์แรก) เป็นต้น]

เพราะพระพุทธเจ้าก็เคยกล่าวพระคาถาไว้ว่า "อายตน(นิพพาน)นั้นมีอยู่ …….(แต่ไม่เหมือนกับโลก)….." และกล่าวถึงจิตพระอรหันต์ว่า มีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ปราศจากมลทิน เป็นต้น

ส่วนท่านที่เชื่อว่า นิพพานเป็นอนัตตา พอหาอัตตาไม่เจอ แถมบางท่านแยกไม่ออกว่า จิตกับใจ ต่างกันยังไงอีก เลยคิดว่าจิตกับใจคือสิ่งเดียวกัน ในเมื่อใจ(นามขันธ์) เป็นขันธ์ 5 ซึ่งเป็นอนัตตาแน่นอนอยู่แล้ว เลยยิ่งทำให้เชื่อมั่นเข้าไปอีกว่า แม้จิตพระอรหันต์ก็เป็นอนัตตา และยิ่งมั่นใจนิพพานว่าเป็นเป็นอนัตตาไปด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมด แม้ผมเองจะเชื่อมั่นว่า นิพพานเป็นอัตตา ก็ตาม แต่ก็ไม่เคยดูถูกสติปัญญาหรือผลักใสให้ท่านที่เชื่อนิพพาน เป็นอนัตตาเป็น อุทเฉททิฏฐิ  และ การที่จะเชื่อว่านิพพานเป็น อัตตา หรือ อนัตตา หาได้หมายความว่า เป็น สัสสตทิฏฐิ หรือ อุทเฉททิฏฐิ ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่

 เพราะการเชื่อแบบสัสสตทิฏฐิ คือเชื่อว่าโลกเที่ยงคือไม่เชื่อว่ามีนิพพานที่สามารถพ้นโลกได้ ส่วนอุทเฉททิฏฐิคือเชื่อว่าโลกสูญคือไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก

การเชื่อในนิพพานแต่อาจเชื่อสภาพของนิพพานต่างกัน หาใช่มิจฉาทิฏฐิที่ร้ายแรงไม่  ดังนั้นประเด็นนี้หากแต่ละฝ่ายไม่สามารถเชื่อหรือยอมรับในเหตุผลของอีกฝ่ายได้ ก็ควรจะยุติการถกเถียงกันเสีย

 หมั่นสร้างบารมี 10 ทัศ มรรคมีองค์ 8 และกุศลกรรมบท 10 เพื่อถางทางไปนิพพานกันดีกว่า เพราะเมื่อถึงที่หมายก็จะรู้กันเอง ว่านิพพานนั้นเป็นเช่นไร

"นิพพานคมนัง มัคคัง ขิปเมว วิโสธเย - บัณฑิตควรรีบชำระทางไปนิพพานโดยเร็ว"
(ธรรมบท ๔)
 


 
หากมีข้อเสนอแนะหรือคำถาม ติดต่อผู้โพสต์ดั้งเดิม(คุณสมเจต)ได้ที่
 
somchet@bigfoot.com
 

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วิธีตัดเหตุแห่งทุกข์ (เรื่องพญานกยูงทอง)

ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนบทความยังเป็นนิสิตทำกิจกรรมชมรมพุทธฯ ที่จุฬาฯ ผู้เขียนฯได้พบกับน้องนิสิตคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาสวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสืิอธรรมะเหมือนน้องปีหนึ่งที่เข้ามาชมรมทั่วๆไป น้องคนนี้ดูเหมือนจะมีปัญหาในเรื่องของบุคลิกตัวเอง โดยเฉพาะความมั่นใจ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่น้องคนนนี้ได้มาเข้าสู่รั้วจามจุรีได้ และอีกคำถามหนึ่งคือ

ทำไมถึงสนใจชมรมพุทธฯ
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงถามน้องถึงความสนใจในพุทธศาสนา น่าสนใจว่าน้องคนนี้สนใจด้านพระพุทธมนต์ บทใดๆก็จำได้ดี กว่าน้องๆในรุ่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญ น้องคนนี้ มีบทสวดมนต์หนึ่งที่สวดประจำ มีเนื้อความดังนี้ครับ

อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ

นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ

นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ


(คำแปล) โมระปะริตตัง
พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง อุทัยขึ้นมา
เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง ข้าทั้งหลาย
อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้า
จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว
จึงเที่ยวไป เพื่ออันแสวงหาอาหาร

พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทองยังพื้นปฐพีให้สว่าง ย่อมอัสดงคตไป
เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง ข้าทั้งหลาย
อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้า
จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว
จึงสำเร็จความอยู่แล.
ผู้เขียนทึ่งใจไม่น้อยกับความสามารถของน้องคนนี้ และคงตอบคำถามถัดไปในตัว ว่า ความมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอำนวยผลให้มีแต่ความเจริญแต่ฝ่ายเดียว
หลังจากนั้นไปสักหนึ่งปี น้องคนนี้ก็ไม่ได้กลับมาที่ชมรม และไม่ทราบข่าวคราวของน้องคนนี้อีกนับแต่นั้น
สุดท้ายนี้ก็มีเรื่องมาให้อ่านประกอบความเข้าใจในบทสวดนี้กัน
  

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงสมัยที่พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพญานก ยูงทองว่า ครั้งนั้นท่านได้อาศัยอยู่ในถ้ำทอง
 ทุกๆ เช้าก่อนที่จะออกไปหาอาหาร จะบินขึ้นไปเกาะที่ยอดเขา แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมื่อเห็นพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น ท่านจะแผ่เมตตา และสวดพระปริตร เพื่อขอให้พระรัตนตรัยคุ้มครองให้ปลอดภัย แล้วจึงร่อนลงไปหากิน
ครั้นตกเย็นก็จะบินไปเกาะที่ยอดเขาอีก แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มองดูพระอาทิตย์อัสดง แผ่เมตตาสวดพระปริตร ให้พระรัตนตรัยคุ้มครองในเวลากลางคืน แล้วจึงบินกลับเข้าถ้ำ ท่านทำอย่างนี้อยู่เป็นเวลานาน ทำทุกวันไม่ได้ขาดแม้แต่วันเดียว จึงไม่เคยมีนายพรานหรือสัตว์ร้ายใดๆ มาทำอันตรายท่านได้

อยู่มาวันหนึ่ง มเหสีของพระราชาทรงพระสุบินเห็นพญานกยูงทองมาแสดงธรรมให้ฟัง จึงกราบทูลพระราชาว่า อยากฟังธรรมจากพญานกยูงทองมาก พระราชาจึงให้นายพรานไปดักจับพญานกยูงทอง
ซึ่งแม้นายพรานจะใช้ความพยายามเพียงไร ก็จับไม่ได้
จนนายพรานหมดอายุขัยสิ้นชีวิตลง เมื่อพระมเหสีไม่ได้ดังพระประสงค์ทำให้พระนางตรอมพระทัย และสวรรคตในที่สุด
พระราชาทรงกริ้วมากถึงกับจารึกลงในแผ่นทองคำว่าถ้าหากใครได้กินเนื้อของนกยูงทองตัวนี้ ที่อาศัยอยู่ที่ทิวเขาในป่าหิมพานต์ จะมีชีวิตเป็นอมตะไม่แก่ไม่ตาย

เมื่อพระราชาองค์ใหม่มาสืบต่อราชวงศ์ ได้พบเห็นหลักฐานที่จารึกไว้ มีพระประสงค์จะได้ชีวิตเป็นอมตะ จึงส่งนายพรานไปคอยดักจับพญานกยูงทอง แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จ
 แม้เมื่อสิ้นราชวงศ์ มีพระราชามาครองราชย์ผ่านไปอีกถึง ๖ พระองค์ ก็ยังไม่มีใครสามารถจับพญานกยูงทองได้

วันหนึ่งนายพรานของพระราชาองค์ที่ ๗ สังเกตเห็นว่า ทุกเช้าและทุกเย็น นกยูงทองได้สวดมนต์แผ่เมตตา
จึงรู้ว่าเป็นเพราะอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยคุ้มครอง ก็หาอุบายที่จะทำให้ใจของนกยูงทองโพธิสัตว์ซัดส่าย ไม่ตั้งมั่น และไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างที่เคยเป็นมา จึงได้นำนางนกยูงตัวหนึ่งมาเป็นเครื่องล่อพระโพธิสัตว์ เพื่อเพื่อให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้

วันนั้นพญานกยูงทอง ได้ฟังเสียงของนางนกยูงที่ไพเราะจับใจ เกิดตัณหาครอบงำ กิเลสที่ตกตะกอนนอนเนื่องมายาวนานก็กำเริบขึ้นมา เกิดความกระวนกระวายใจ จนไม่สามารถเจริญพระปริตรได้

 ได้บินไปหานางนกยูง แล้วถลาลงไปบนพื้นโดยไม่ได้ระมัดระวังตัว เท้าทั้งสองข้างจึงสอดเข้าไปในบ่วงที่นายพรานดักไว้ ไม่สามารถจะสลัดให้หลุดได้ ยิ่งดิ้นบ่วงก็ยิ่งรัดแน่นหนาขึ้น

นายพรานเห็นดังนั้นดีใจยิ่งนัก คิดว่า พรานทั้ง ๖ คน ไม่สามารถดักพญานกยูงทองได้ ต่างสิ้นชีวิตกันไปหมด แม้เราต้องเพียรพยายามอยู่ถึง ๗ ปี ในที่สุดวันนี้เราก็จับได้

 ในขณะเดียวกันก็นึกสลดใจว่า วันนี้พญานกยูงกระวนกระวายใจ เนื่องจากนางนกยูงเป็นเหตุ ไม่อาจแผ่เมตตาเจริญพระปริตรได้ จึงติดบ่วงของเราเพราะอำนาจกามตัณหาแท้ๆ ทำให้ต้องประสบทุกข์เช่นนี้

 แต่ด้วยอานุภาพที่นกยูงทองแผ่เมตตาอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จึงทำให้นายพรานเกิดความสงสาร เกิดความรักความเมตตา อีกทั้งนายพรานก็ไม่ปรารถนาจะทำร้ายพญานกยูงอยู่แล้ว เพราะรู้ว่านกยูงตัวนี้ประพฤติธรรม จึงได้ปล่อยนกยูงไป

พญานกยูงจึงได้เปล่งสำเนียงเป็นภาษามนุษย์ว่าท่านอุตส่าห์เพียรพยายามดักจับเรานานถึง ๗ ปี เมื่อจับได้แล้วกลับปล่อยเสีย ไม่กลัวอาชญาจากพระราชาหรือ หรือว่าวันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาต

 นายพรานตอบว่า เราไม่ได้กลัวอาชญาแผ่นดิน แต่เรากลัวผลของบาป จากการทำร้ายท่านผู้ประพฤติธรรมนกยูงพระโพธิสัตว์จึงได้แสดงธรรมว่า

ผู้ไม่ทำปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน ละโลกไปแล้วจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ดูก่อนนายพราน สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข ดังนั้นผู้ปรารถนาความสุข จึงไม่ควรเบียดเบียนใครให้ได้รับทุกข์

นายพรานฟังดังนี้แล้ว ก็ตั้งสติพิจารณาธรรม ตามเห็นธรรมเข้าไป จนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ ที่นั้นเอง

จากนั้นท่านอธิษฐานจิตทำสัจกิริยา กล่าวคำปล่อยสัตว์ ทำให้สัตว์ทั้งหลายที่ถูกกักขัง หลุดจากกรงได้เป็นอัศจรรย์ แล้วท่านเอามือลูบศีรษะ ความอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีก

 เพศคฤหัสถ์ได้หายไป เปลี่ยนเป็นเพศบรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยเครื่องอัฐบริขารพร้อมทุกอย่าง ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้ทำเอาไว้ในอดีตนั่นเอง ท่านได้อนุโมทนากับพญานกยูงทองที่แสดงธรรมให้ฟัง แล้วก็เหาะไปบำเพ็ญสมณธรรมตามอัธยาศัย

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อพ้นจากบ่วงแล้ว พิจารณาสอนตนเองว่า ที่ตัวเราต้องพลาดพลั้งติดบ่วง แทบเอาชีวิตไม่รอดนี้ เพราะอำนาจกิเลสตัณหา ไม่สำรวมอินทรีย์ จึงขาดสติในการระลึกถึงพระรัตนตรัย ทำให้เราต้องมาติดบ่วงของนายพราน บ่วงของพรานว่าร้ายแล้ว แต่ยังไม่เท่าบ่วงแห่งกาม

ตั้งแต่นั้นมา ท่านตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ข่มอำนาจกิเลสกาม แล้วเริ่มเจริญเมตตาจิต สวดพระปริตร ตรึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัยตลอดอายุขัย

 ละโลกไปแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก


พระบรมศาสดา ได้ตรัสถึงกิเลสตัณหาที่ผูกมัดใจชาวโลกไว้ว่าขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย เป็นธรรมชาติที่หยาบ
 ถ้าหากกิเลสเหล่านี้ สามารถก่อเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ แล้วมีผู้นำไปวางไว้ที่ใดก็ตาม ที่นั้นไม่สามารถรองรับกิเลสเหล่านั้นได้ เหมือนแม่น้ำสายเล็กๆ ไม่สามารถรองรับน้ำฝน ที่ตกลงมาทั่วท้องจักรวาลได้ เพราะกิเลสเหล่านั้นแทรกซึมอยู่เต็มไปหมด จนไม่มีที่ว่างให้บรรจุ
กามทั้งหลายเป็นบ่วงแห่งมาร เป็นเหตุให้เกิดความประมาทจนแทบสิ้นชีวิต

เพราะฉะนั้น เราต้องมีสติเตือนตนเองให้ดี อย่าตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ใจต้องหยุดอย่างเดียวเท่านั้น 

จึงจะหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เหลือไว้แต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ที่เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม หมดความทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ใจหยุดเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้

 หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านจึงกล่าวว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จถ้าไม่หยุดก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอันใดก็ตาม อย่าให้อะไรมาเป็นอุปสรรคทำให้เราเกียจคร้านในการทำความเพียร
เราจะต้องตั้งใจมั่นว่าจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๔๕๓ (เป็นเพียงภาพประกอบ)
ขอขอบคุณFB โพสของ บุญเยือน โคตรมณี