วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

ตักบาตรใส่บุญ



ใส่บาตรกับตักบาตรมีความหมายต่าง กันอย่างไร?
         คำดั้งเดิมคือ ตักบาตร ซึ่งเป็นลักษณะ ของกิริยาตักข้าวใส่ลงในบาตร แต่หลัง ๆ มีคำว่า ใส่บาตร ขึ้นมา เรียกตามกิริยาที่เราเอาอาหารถุง ใส่บาตรโดยไม่ต้องตัก ก็เลยใช้คำว่าใส่บาตรแทน ทั้งคำว่าตักบาตรและใส่บาตรใช้ได้ทั้ง ๒ คำ เพราะ เราเข้าใจตรงกันว่าเป็นการนำอาหารไปถวายในบาตร พระที่ท่านมาบิณฑบาตตอนเช้า 

บาตรพระมีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาลหรือไม่ และวัสดุที่ใช้แตกต่างกับในปัจจุบันอย่างไร?
         บาตรมีใช้ตั้งแต่ครั้ง พุทธกาลแล้ว พระทุกรูปจำเป็นต้องมีบาตร เพราะเวลาบวชจะต้องมีอัฐบริขาร ครบถึงจะบวชได้ ซึ่งเป็นพระวินัยที่พระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ บาตรโดยทั่วไปทำจากดินเผาและเหล็ก ส่วนบาตรที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น เงิน ทอง ทองแดง ทองเหลือง ดีบุก สังกะสี ไม้ แก้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เงินกับทอง มีค่ามากเกินไปไม่เหมาะที่จะนำมาทำบาตร อาจจะมี โจรมาขโมย ส่วนทองแดง ทองเหลือง ดีบุก หรือสังกะสี เมื่อเจอของที่มีรสเปรี้ยวก็จะถูกกัด และจะเป็นสนิม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บาตรไม้ก็ ไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าอาหารซึมเข้าไปในเนื้อไม้ได้ เวลาล้างก็ล้างไม่เกลี้ยง จะเกิดการหมักหมมเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนบาตรแก้วก็แตกง่ายเกินไป พอมีอะไรมากระทบ เศษแก้วอาจตกไปในอาหาร ฉันแล้วจะเป็นอันตราย ที่ทรงอนุญาตหลัก ๆ ก็คือ บาตรดินเผาและบาตรเหล็ก

วัตถุประสงค์ในการตักบาตรคืออะไร?
         การตักบาตรเป็นการถวาย กำลังแก่พระภิกษุในการสืบอายุพระพุทธศาสนา ถ้าญาติโยมใส่บาตร พระก็จะมีอาหารมาบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป
การใส่เงินลงในบาตรเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่?
         ความจริงแล้วการบิณฑบาต มุ่งเน้นเรื่องอาหารเป็นหลัก การใส่อาหารจึงถูกต้องที่สุด ส่วนการใส่ปัจจัยก็ไม่ถึงกับบาป เหมือนที่เรานิมนต์พระไปงานบุญขึ้นบ้านใหม่หรืองานศพแล้วเราถวาย ปัจจัยท่าน กรณีใส่ปัจจัยในบาตรแทนอาหาร อาจเป็นเพราะไม่สะดวกที่จะเตรียมอาหาร จึงเอาปัจจัยใส่ซองแล้วใส่บาตรเลย
         ตามพระวินัยให้ใส่เป็นใบ ปวารณา เพราะโดยธรรมเนียมสงฆ์พระจะไม่จับเงินจับทองโดยตรง แล้วเขียนว่าตั้งใจจะถวายจตุปัจจัยเป็นยอดค่าใช้จ่าย เท่าไร ถึงคราวพระท่านต้องการสิ่งใด ท่านก็จะไปบอกไวยาวัจกร จะได้ไม่ต้องจับเงินจับทองโดยตรง

เป็นการเขียนรายละเอียดเรื่องเงินใส่ลง ไปในบาตรหรือ?
         ถ้าจะให้ถูกพระวินัยจริง ๆ ให้ถวายเป็น ใบปวารณา แล้วเขียนว่า ข้าพเจ้าคือใคร ชื่ออะไร มีความประสงค์จะถวายจตุปัจจัยเป็นจำนวนเงินเท่าไร หากพระคุณเจ้ามีความประสงค์สิ่งใด ก็ขอให้เรียกหาปัจจัยได้จากไวยาวัจกร ทำอย่างนี้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
         แต่บางทีพระไปบิณฑบาตไม่ มีลูกศิษย์วัดตามมา แล้วจะฝากปัจจัยไว้กับใคร ด้วยสภาพสังคมแบบนี้เลยใส่ซองถวายท่านไปเลย ที่จริงถ้าจะให้ถูกพระวินัย แม้แต่พระไปรับกิจนิมนต์ตามบ้านหรือตามที่ต่าง ๆ การถวายปัจจัยก็ต้องถวาย เป็นใบปวารณาเหมือนกัน แต่ในปัจจุบันไม่สะดวกหลายขั้นตอน ญาติโยมก็เลยเอาปัจจัยใส่ซองถวายตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ให้เราถือตามเจตนา ถ้าเจตนาเป็นกุศลบุญก็เกิด ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นบาปหรือเปล่า
การตักบาตรโดยไม่เฉพาะเจาะจง พระภิกษุรูปใดมีอานิสงส์แตกต่างจากสังฆทานหรือไม่?
         คล้าย ๆ สังฆทานเหมือนกัน ถ้าตักบาตรโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นพระรูปใด ไม่ใช่ว่าพระรูปนี้มา ไม่ตัก จะรอตักบาตรหลวงพ่อที่อายุเยอะ ๆ อย่างนี้ เป็นการตักบาตรแบบเฉพาะเจาะจง แต่ถ้าเรา ทำบุญถวายหมู่แห่งภิกษุที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้พระองค์ปรินิพพานไปแล้วก็ตาม เราขอทำบุญกับสงฆ์ ไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใด แบบนี้บุญมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นสังฆทาน
ตักบาตรทุกวันด้วยไทยธรรมตามอัตภาพกับตักบาตรเฉพาะโอกาสพิเศษด้วยไทยธรรมประณีตมีอานิสงส์ต่างกันอย่างไร?
         พวกเราเคยสังเกตไหมว่า บางคนถึงคราวรวยบางทีรวยเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเลย แต่พอเศรษฐกิจตกต่ำครั้งเดียวเป็นหนี้เลย รวยไม่ตลอด เดี๋ยวรวย เดี๋ยวจน เพราะเวลาศรัทธาเขาก็ทำบุญ เยอะ พอบุญส่งผลก็รวย แต่บางทีเขามีศรัทธาไม่ตลอด บางช่วงชักเสียดายไม่อยากทำบุญก็เว้นห่าง ไป ตอนนั้นสายบุญก็เลยขาด สายสมบัติขาด พอสายบุญขาดก็จน พอฟิตก็ทำบุญอีก สมบัติก็เลยมาเป็นระลอก ๆ
         กรณีนาน ๆ ทำครั้ง แต่ทำด้วยอาหารที่ประณีตก็จะรวยเป็นระยะ ๆ เวลารวยก็รวยมาก และมีทรัพย์สมบัติที่ประณีตทุกอย่าง ส่วนคนที่ทำสม่ำเสมอตามอัตภาพ ก็จะมีฐานะดีแบบสม่ำเสมอ แต่ไม่ได้รวยหวือหวา ประกอบเหตุอย่างไร ผลก็จะเกิดอย่างนั้น 



         แต่ที่น่าสนใจคือ ทำบุญอย่างไรถึงจะได้บุญมาก การทำบุญให้ได้บุญมากมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ
         ๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือของที่เราให้ทาน ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม ถ้าไปขโมยของเขามาทำบุญ บุญก็ได้นิดหน่อย เพราะวัตถุไม่บริสุทธิ์
         ๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือมีศรัทธาทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้ เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมเศรษฐีบางคนรวยมากแต่ขี้เหนียว ไม่ค่อยยอมใช้ทรัพย์ของตัวเอง รวยมหาศาล แต่เวลาจะซื้อมะม่วง กินต้องเอาลูกที่เริ่มเน่า แล้วมาตัดที่เน่าออก กินที่เหลือ เสื้อผ้าดี ๆ ไม่ยอมใช้ ใช้ปุ ๆ ปะ ๆ อย่างนี้ เป็นเพราะตอนมีศรัทธาก็ทำบุญ แต่พอทำเสร็จเรียบร้อย แล้วนึกเสียดาย แบบนี้ถึงเวลามีทรัพย์จะใช้ทรัพย์ไม่เต็มอิ่ม ทุกอย่างมีที่มาที่ไป เป็นเรื่อง ของเหตุกับผลตามกฎแห่งกรรม
         ๓. บุคคลบริสุทธิ์ หมายถึง ผู้รับเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ เช่น พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้าผู้รับเป็นคนธรรมดาแต่มีศีล ๘ ก็ยังดี ศีล ๕ ก็รองลงมา ไม่มีศีลรองลงมา ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็รองลงมาอีก
         คุณธรรมของผู้รับยิ่งสูง เท่าไรบุญก็ยิ่งมากขึ้น ตามส่วน ตักบาตรพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญจะมากขึ้นตามส่วน เพราะเมื่อท่านรับวัตถุทานจากเราไปแล้ว ท่านเอากำลังเรี่ยวแรงที่เกิดขึ้นไปใช้ทำความดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มาก พระพุทธเจ้าทรงรับอาหารที่เราถวาย ไปแล้วเกิดบุญมหาศาล เพราะเมื่อพระองค์เสวยเสร็จ แค่ไปเทศน์สอนประชาชน หรือนั่งธรรมะทีหนึ่ง เราก็ได้ส่วนแห่งบุญมหาศาล เพราะพระองค์หมดกิเลสแล้ว และเป็นพระพุทธเจ้าด้วย
         ส่วนผู้ให้ก็มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นก่อนจะ ทำบุญให้รับศีลก่อน พอรับศีลแล้วไปทำบุญอย่างน้อย ขณะนั้นศีล ๕ ครบบริบูรณ์ บุญจะได้มากขึ้นไปอีกส่วนหนึ่ง แต่สู้คนที่ถือศีลสม่ำเสมอไม่ได้ ผู้ให้มีศีลบริสุทธิ์มากเท่าไร บุญก็มากตามส่วนเช่นกัน 


ทำบุญเสร็จแล้วทำไมต้องกรวดน้ำ ไม่กรวดได้หรือไม่?
         เรากรวดน้ำเพื่ออาศัยสาย น้ำที่ไหลลงมาทำให้ใจเป็นสมาธิ พอนึกเอาบุญไปให้ผู้ที่ละโลก บุญจะได้ไปแรงขึ้น ตัวเราเองเหมือนเครื่องส่ง ถ้าใจเป็นสมาธิสัญญาณจะแรง คลื่นแทรกไม่ค่อยมี บุญที่ส่ง ก็จะเต็มที่ แต่ถ้าคนอุทิศส่วนกุศลใจฟุ้งซ่าน ก็เหมือน กับเครื่องส่งที่กำลังไม่ค่อยดี ส่งได้ไม่เต็มที่ ใจที่จรด อยู่กับสายน้ำจะเป็นสมาธิ เมื่ออุทิศส่วนกุศลจะไปถึงผู้รับแรงขึ้น นี่คือวัตถุประสงค์ ส่วนที่เหยียดนิ้วออกไปเป็นการช่วยให้น้ำไหลตามนิ้ว ป้องกันน้ำหก ย้อยเลอะเทอะ
         สำหรับคนที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจนกระทั่งชำนาญแล้ว ไม่ต้องกรวดน้ำก็ได้ ทำใจนิ่ง ๆ ทำสมาธิแล้วนึกส่งบุญไปได้

ทำบุญแล้วไม่ได้ฟังพระให้พร จะได้บุญหรือไม่?
         ได้สิ เพราะบุญเกิดตั้งแต่เราถวายทานแล้ว แม้ไม่ได้ฟังพระให้พรก็ได้บุญ ธรรมเนียมสงฆ์สมัยเริ่มต้นพุทธกาลพระไม่ได้ให้พร แต่มีผู้ไปกราบทูลขอพระพุทธเจ้าว่าอยากจะให้พระให้พรสักหน่อย ฟังแล้วชื่นใจ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตเพื่อฉลอง ศรัทธาญาติโยม จึงมีธรรมเนียมให้พรตั้งแต่นั้นมา
         บุญไม่ได้เกิดจากเสียงให้ พร แต่เกิดจากการ ที่เรามีศรัทธาแล้วไปถวายทาน แต่ถ้าพระให้พรแล้ว เราตั้งใจฟังอย่างดี ใจก็จะปลื้มในบุญ บุญก็จะยิ่ง เพิ่มพูนทับทวีขึ้น การให้พรมีผลเหมือนกัน แต่หัวใจ หลักอยู่ที่เรามีศรัทธาแล้วถวายทานขาดจากใจ บุญ เกิดตอนนั้น 

เนื้อความบางส่วนจาก พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; PH.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว  .

http://www.kalyanamitra.org/u-ni-boon/main/index.php?option=com_content&task=view&id=927






ถาม : ใส่บาตรตามปกติตอนเช้า ๆ กับใส่บาตรเทโวฯ อานิสงส์ต่างกันอย่างไรคะ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าใส่บาตรทุกเช้าแล้ว ใจมั่นคงกว่าเยอะ ส่วนที่เขาไปใส่บาตรในงานเทศกาล มองได้ ๒ อย่าง อย่างแรกก็คือ เขาเป็นคนที่มั่นคงมาก ถึงเวลาแล้วยังระลึกถึงได้ ไปทำบุญตามเทศกาลทุกครั้ง แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ท่านทั้งหลายเหล่านี้ถ้าไม่มีงานเทศกาลก็ไม่ไปทำบุญ เกิดชาติใหม่ อานิสงส์ที่จะได้ก็นาน ๆ ครั้ง แต่ถ้าเราใส่บาตรทุกวันนี่มั่นคงกว่าเยอะ

โดยเฉพาะเรื่องของการใส่บาตร ถ้าเราใส่เป็นประจำ ๆ อานิสงส์มหาศาลและผลพลอยได้มีเยอะมาก การ ใส่บาตรถ้าเราไม่เจาะจงว่าใส่หลวงปู่ หลวงพ่อรูปไหน พระรูปไหนมาเราก็จะใส่ ถ้าอย่างนั้นเป็นสังฆทานเลย ต่อให้ใส่ไม่ครบสี่รูปก็เป็นสังฆทาน ก็แปลว่า เราได้ทำบุญสังฆทานทุกวัน

ประการต่อไปก็คือ ลูกหลานของเรา มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ทุกวัน เขาก็จะได้รับช่วงสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมนี้ต่อไปได้

ประการที่สามก็คือ พระภิกษุสามเณร ออกบิณฑบาตเพราะต้องการอาหาร มีอาหารไว้ขบฉัน สามารถที่จะดำรงขันธ์อยู่ได้ เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยแล้ว นำไปสั่งสอนญาติโยมต่อ ก็เท่ากับว่าสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้

และถ้าเราพร้อมเพรียงกันใส่บาตรทุกวัน ศาสนาอื่นเห็นก็ไม่กล้ารุกรานหรอก เพราะเขาเห็นความมั่นคงเข้มแข็งของพวกเรา แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วพวกเราลุกไม่ไหว..ไปไม่ทัน..พระมาเช้าเกิน ไม่ได้คิดว่าเราตื่นสายเกิน

ถาม : เราใส่บาตรให้พระรูปเดียว แต่ว่าตั้งใจให้เป็นสังฆทาน เราต้องบอกพระไหมคะ ?
ตอบ : ไม่ต้องบอกก็ได้จ้ะ คือ เราตั้งใจว่าท่านไหนมาเราก็จะใส่ ถ้าไปตั้งใจว่าหลวงปู่ท่านนั้นมา หลวงพ่อท่านนี้มา หลวงพี่ท่านนี้มาแล้วเราจะใส่ ถ้าอย่างนั้นจะเป็นได้แค่ปาฏิปุคลิกทาน ถ้าไม่เจาะจง ท่านไหนมาเราก็จะใส่ ก็เป็นสังฆทาน


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงก่อนทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
__________________



ทุกท่านเคยสงสัยไหมว่า ขณะที่เราจะใส่บาตร เราควรจะมีการปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ได้บุญมากและถูกวิธี มาดูวิธีการปฏิบัติตัวกันนะ
ครับ

☀️๑.ขณะ รอใส่บาตรให้ ทำจิตตั้งมั่นไว้ว่าจะใส่บาตรโดยไม่เจาะจงเมื่อพระเณรรูปใดเดินผ่านมาก็ใส่ บาตรไปตามลำดับจนหมดอาหารที่เตรียมมาไม่เลือกใส่องค์นี้ไม่ใส่องค์นั้นการ ใส่บาตรโดยไม่เจาะจงนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่ามีผลานิสงค์มากกว่าการใส่ บาตรโดยเจาะจง

☀️๒.เมื่อ พระ ภิกษุเดินมาใกล้จะถึงที่ที่เราอยู่พึงอธิษฐานจิตเสียก่อนโดยถือขันข้าวด้วย มือทั้งสองนั่งกระหย่งยกขันข้าวขึ้นเสมอหน้าผากกล่าวคำอธิษฐานว่า
“สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสเถิด”

☀️๓.จาก นั้นลุกขึ้น ยืนและถอดรองเท้าเพราะการสวมรองเท้าถือว่ายืนสูงกว่าพระถือเป็นการไม่สมควร เหมือนเป็นการขาดความเคารพแต่ก็ไม่กรณียกเว้นเช่นเท้าเจ็บหรือเป็นที่น้ำขัง เฉอะแฉะเป็นต้นแต่ที่ไม่ควรก็คือบางคนถอดจริงแต่กลับไปยืนอยู่บนรองเท้าเสีย อีกยิ่งสูงไปกันใหญ่ดังนั้นถ้าตั้งใจจะไม่ใส่รองเท้าก็จัดที่ให้พระสงฆ์ยืน สูงกว่า

☀️๔.เมื่อ ใส่ บาตรเสร็จแล้วถ้ามีโต๊ะรองอาหารหรือรถยนต์จอดอยู่ด้วยให้วางขันข้าวบนนั้น ยืนตรงน้อมตัวลงไว้พระสงฆ์แต่ถ้าตักบาตรรอยู่ริมทางควรนั่งแล้ววางขันข้าว (ข้อนี้ควรดูความเหมาะสมของสถานที่และเวลา )ไว้ข้างตัวยกมือไว้พระสงฆ์พร้อมกับอธิษฐานว่า
“นัต ถิ เม สะระณัง อัญญัง, สังโฆ เม สะระณัง วะรัง, เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ข้าพเจ้าเจริญในพระศาสนาของศาสดา”

☀️ ๕.หลังจากนั้นควรอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการกรวดน้ำและกล่าวว่า
“อิ ทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขอบุญทั้งหลังจงสำเร็จแก่ญาติของข้าพเจ้า ขอให้ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด”


ที่มา เพจชมรมพุทธ

อานิสงส์ของการตักบาตรพระ
 
1. ทำให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
2. มีความแข็งแรง มีอายุขัยยืนยาวไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
3. ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก เป็นมหาเศษฐีผู้ใจบุญ ค้ำจุนพระพุทธศาสนา
4. มีสติปัญญาและผิวพรรณวรรณะผ่องใส มียศถาบรรดาศักดิ์เกรียงไกร
5. ไม่พลัดพรากจากของรักมีความสุขในทุกสถาน
6. ทำให้เป็นผู้เกิดภายใต้ร่มเงาบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป
7. บรรลุธรรมได้โดยง่ายไปทุกภพชาติ





พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

 
   “บุคคลให้ทานในเขตใดแล้วมีผลมาก พึงเลือกให้ทานในเขตนั้น  การเลือกให้
พระสุคตทรงสรรเสริญ ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลายย่อมมีผลมาก
เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดีฉะนั้น”

 

     ทาน หมายถึงการให้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือแบ่งปัน เป็นเรื่องดีงาม เพราะการให้เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลระหว่างชีวิตต่อชีวิต เป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ เป็นการสร้างความดีที่ง่ายที่สุด แต่ส่งผลดีให้แก่ชีวิตเรามากมายมหาศาล

     พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการเลือกให้ คือก่อนจะให้ ควรเลือกของที่จะให้ว่า สมควรหรือไม่ โดยเลือกให้แต่ของที่ดี ของที่ประณีต ของนั้นต้องได้มาด้วยความสุจริต ถ้าให้ของดียิ่งกว่าที่ตนใช้ เวลาบุญส่งผลก็จะได้ของที่ดีเลิศ หรืออย่างน้อยควรให้ของในระดับเดียวกับที่ตนใช้อยู่ และต้องดูด้วยว่าจะให้กับใคร ทานนั้นจึงจะมีผลมาก ถ้าให้กับผู้เป็นเนื้อนาบุญ ผลบุญก็จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เหมือนชาวนาผู้ฉลาดในการทำนา ต้องคัดพันธุ์ข้าวที่ดี หว่านข้าวลงในนาดี มีนํ้ามีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ เมื่อทำเช่นนี้ เขาย่อมได้รับผลผลิตที่คุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยาก ดังเรื่องของเทพบุตรผู้ที่ฉลาดในการเลือกให้ทาน

     * ในสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะที่พระองค์ประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงมีพระรัศมีแผ่กว้างครอบคลุมหมู่เทวดาทั้งหลาย เทพบุตรพุทธมารดาเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ประทับในที่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ อังกุรเทพบุตรนั่งอยู่ในที่ข้างซ้าย แต่เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทยอยกันมาเฝ้าพระพุทธองค์ อังกุรเทพบุตร ก็ต้องถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ ถอยไปจนถึงท้ายสุดในที่ประชุมนั้น ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ขณะที่เทพบุตรอีกองค์หนึ่ง ชื่ออินทกเทพบุตร มานั่งเช่นไรในตอนแรก ก็คงนั่งอยู่ในที่เดิมเช่นนั้น


     พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเทพบุตรทั้งสองแล้ว มีพระประสงค์จะประกาศความแตกต่างระหว่างทานที่บุคคลถวายแด่ทักขิไณยบุคคลใน ศาสนาของพระองค์ กับทานที่บุคคลให้แล้วแก่โลกียมหาชน จึงตรัสถามอังกุรเทพบุตรว่า

     “ดูก่อนอังกุระ ท่านให้ทานมาเป็นเวลานานถึง ๑๐,๐๐๐ ปี ก่อเตาหุงข้าวยาวเป็นแถวถึง ๑๒ โยชน์ทุกวัน แต่เมื่อมาสู่สมาคมของเรา ท่านกลับต้องนั่งห่างออกไปถึง ๑๒ โยชน์ ไกลกว่าเทพบุตรทั้งปวง นั่นเป็นเพราะเหตุใด”

     อังกุรเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้บริจาคทานมากในสมัยที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นทานที่ให้แก่มหาชนทั่วไป  คือให้ทานในเวลาที่ปราศจากทักขิไณยบุคคล ส่วนอินทกเทพบุตรนี้ แม้ถวายทานเพียงน้อยนิดเพียงข้าวทัพพีเดียว แต่เพราะทำถูกทักขิไณยบุคคล จึงรุ่งเรืองกว่าข้าพเจ้า เหมือนดวงจันทร์รุ่งเรืองกว่าหมู่ดาวฉะนั้น”

     พระบรมศาสดาจึงตรัสถามอินทกเทพบุตรผู้นั่งอยู่ที่เดิมโดยมิได้เคลื่อนย้าย ไปไหนเลย อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ถวายทานแด่ทักขิไณยบุคคล ดุจหว่านพืชแม้น้อยในเนื้อนาดี ผลย่อมงอกงามไพบูลย์” และเพื่อจะประกาศความสำคัญของทักขิไณยบุคคล  จึงกราบทูลต่อไปว่า “พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ชาวนาเองก็ไม่ปลื้มใจฉันใด ทานแม้มีมากที่บุคคลให้แล้วในผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทายกก็ไม่ปลื้มใจฉันนั้น ส่วนพืชแม้น้อยที่หว่านแล้วในนาดี ย่อมมีผลไพบูลย์ ชาวนาก็ปลาบปลื้มฉันใด ทานเล็กน้อยที่บุคคลทำในเขตบุญ ในท่านผู้มีศีลมีธรรมที่มั่นคง ย่อมอำนวยผลไพบูลย์ ให้ทายกชื่นชมยินดี ฉันนั้น”

     ทำไมอินทกเทพบุตรจึงพูดเช่นนี้ เพราะอินทกเทพบุตรนั้น เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ได้ถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวแด่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญนี้ย่อมมีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตรเคยทำแล้วในอดีตชาติ คือได้ก่อเตาไฟหุงข้าวเป็นแถวยาว ๑๒ โยชน์ เพื่อบริจาคในทุกๆ วันแก่คนธรรมดาทั่วไปถึง ๑๐,๐๐๐ ปี เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลแล้ว พระบรมศาสดาจึงตรัสกับอังกุรเทพบุตรว่า

     “ธรรมดาการให้ทาน ควรพิจารณาก่อนแล้วจึงให้ ทานนั้นย่อมมีผลมาก เหมือนการหว่านพืชในนาดี แต่เธอหาได้ทำเช่นนั้นไม่ เหตุนั้นทานของเธอจึงมีผลไม่มาก ทานที่บุคคลให้แล้วในเขตใดมีผลมาก ควรพิจารณาให้ในเขตนั้น การให้ด้วยพิจารณา ตถาคตสรรเสริญ ทานที่ให้แล้วในทักขิไณยบุคคลย่อมมีผลมาก เหมือนหว่านพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดี ฉะนั้น”
 

     จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ทานจะให้ผลไพบูลย์ได้ ต่อเมื่อถวายแก่ผู้รับที่บริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้รับจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ให้

     ในพระไตรปิฎก เราได้พบเห็นเรื่องราวของคนยากจนหรือบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยาก ได้ทุ่มเททำทานอย่างสุดกำลัง บางครั้งถึงกับสละอาหารมื้อสุดท้ายถวายแด่ทักขิไณยบุคคล แล้วได้เสวยผลอันยิ่งใหญ่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแบบอย่างให้เรา ซึ่งเกิดในยุคปัจจุบันมีความเข้าใจและมีกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระ พุทธโอวาทกันต่อไป

     ดังนั้นเราควรทำทานให้บริสุทธิ์ ครบองค์ประกอบของการให้ทั้ง ๓ ประการ คือ วัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ ทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังให้แล้ว และบุคคลบริสุทธิ์ทั้งผู้รับและผู้ให้ย่อมได้ผลบุญมาก

     พอเราถวายทานตัดขาดจากใจเท่านั้น ศูนย์กลางกายของเราจะมีอายตนะของบุญเกิดขึ้นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ คอยรองรับบุญใหญ่เกิดขึ้นเลย เมื่อถวายทานขาดจากใจ ใจก็เป็นกุศล ความสว่างบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้น ปุญญาภิสันทา ท่อธารแห่งบุญก็ไหลจากอายตนนิพพานมารวมเป็นจุดเดียวกัน มาจรดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของพวกเราทุกๆ คน ตามความบริสุทธิ์ของใจที่หยุดนิ่ง ตามกำลังของความปีติ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

     ถ้าเลื่อมใสมากก็สว่างมาก เลื่อมใสน้อยบุญก็ลดหย่อนกันลงไป แล้วกระแสบุญที่ใสสว่างบริสุทธิ์ จะเป็นต้นเหตุแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิต เช่น ทำให้เราได้มีรูปสมบัติที่งดงาม แข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ อายุยืน ถ้าหากบารมีเต็มที่ ก็งามไม่มีที่ติ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ถ้าบารมีลดหย่อนลงมา รูปสมบัติของเราก็หย่อนลงมาตามลำดับ  อีกทั้งเป็นผู้ที่แข็งแรง มีโรคน้อย จนกระทั่งปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและอายุยืนยาว ความงามของรูปกายนั้น เป็นรูปสมบัติที่สามารถน้อมนำให้ผู้พบเห็นเกิดความนิยมชมชอบ และเมื่อจะชักนำใครให้มาสร้างความดี ก็จะเป็นเครื่องยังใจบุคคลทั้งหลายให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส เช่นเดียวกัน

     บุญนั้นยังทำให้เกิดทรัพย์สมบัติ จะเป็นทรัพย์สมบัติที่มีวิญญาณครองหรือไม่มีวิญญาณครองเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นจากบุญดลบันดาลให้เกิด กระแสแห่งบุญนี้จะไปดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลายเข้ามาหาตัวเรา  เอาไว้สำหรับหล่อเลี้ยงสังขาร หล่อเลี้ยงพวกพ้องบริวาร และเพื่อการสร้างบารมี

     นอกจากนี้บุญยังก่อให้เกิดคุณสมบัติ ความเฉลียวฉลาดต่างๆ ความรู้ ความสามารถ ไหวพริบปฏิภาณคล่องแคล่ว เอาไว้สำหรับใช้สอย คุณสมบัติก็เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการปกครองตน ปกครองคน ปกครองงาน และการสร้างบารมี รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ เกิดขึ้นมาเพราะกระแสแห่งบุญนี้ดลบันดาลให้เกิดขึ้น ดึงดูดให้เกิดขึ้น

    ความสมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผล นิพพาน ก็เกิดขึ้นด้วยกระแสแห่งบุญนี่แหละ เพราะฉะนั้นบุญนี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียว จะต้องสร้างบุญให้เกิดขึ้นให้มากๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ ความสุขความสำเร็จก็จะยิ่งเกิดขึ้น ยิ่งยุคของผู้ที่มีบุญ คือคนมีบุญมาเกิดรวมกัน ความอัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้นอย่างที่เรานึกไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราต้องสั่งสมบุญกันให้มากๆ และให้ใจอยู่ในแหล่งของบุญ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ให้อยู่ ตรงนี้ตลอดเวลา

พระธรรมเทศนาโดย :  พระเทพญาณมหามุนี
* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๓๑๑