วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

เอาบุญเป็นที่พึ่ง

... เมื่อต้องภัยได้ทุกข์อะไร จรดอยู่ดวงบุญนั้น ให้ดวงบุญนั้นช่วย อย่าไปนึกถึงสิ่งอื่นนะ นึกถึงบุญกุศลที่ตนทำนั่นแหละ เป็นที่พึ่งของตัวจริง ช่วยตัวได้จริง

พระพุทธเจ้าเข้าที่คับขันท่านยังนึกถึงบุญของท่าน ที่ท่านได้บำเพ็ญบารมีของท่านมา นี่พระองค์ทรงนึกถึง ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี

ให้เป็นอาวุธ ผจญพญามารให้อันตรธารพ่ายแพ้พระองค์ไป

พระมงคลเทพมุนี


วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

แว่้นแคว้นแดนชมพูทวีป สมัยพุทธกาล

    ในครั้งพุทธกาล ประมาณ ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เป็นช่วงเวลาที่โลกโบราณแยกออกเป็นอาณาจักรต่างๆมากมาย บางแห่งยังคงเป็นเพียงตำนานในประวัติศาสตร์โลก บางอารยธรรมกำลังถึงขาลง เช่น อียิบต์ และบาบิโลน แต่ในอินเดีย เวลานี้คือยุคทองของนักคิดทางศาสนาและศาสดา หนึ่งในนั้นคือ พระสมณโคดมพุทธเจ้า

 ลักษณะการปกครองในสมัยนั้นไม่เหมือน รัฐ(State)อย่างในปัจจุบัน การแบ่งการปกครองแว่นแคว้นเน้นตัวนครแม่เป็นสำคัญเรียกว่า มณฑล (Mandala Model) ดังนั้นแคว้นและดินแดนต่างๆตั้งแต่ลุ่มน่ำสินธุ จนถึงแม่น้ำโขง จะมีอาณาเขตซ้อนกันหลายแห่ง หรือมีเขตเป็นกระจุกๆ

แคว้นใหญ่น้อยในมัชฌิมประเทศ 16 แคว้น

๑. แคว้นคันธาระ เมืองหลวงชื่อ ตักศิลา
๒. แคว้นกัมโพชะ เมืองหลวงชื่อ ทวารกะ
๓. แคว้นมัจฉะ เมืองหลวงชื่อ วิราฏะ
๔. แคว้นกุรุ เมืองหลวงชื่อ อินทปัตถ์
๕. แคว้นสุรเสนะ เมืองหลวงชื่อ มถุรา
๖. แคว้นอวันตี เมืองหลวงชื่อ อุชเชนี
๗. แคว้นปัญจาละ เมืองหลวงชื่อ กัมปิลละ
๘. แคว้นวังสะ เมืองหลวงชื่อ โกสัมพี
๙. แคว้นเจตี เมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี
๑๐. แคว้นโกศล เมืองหลวงชื่อ สาวัตถี
๑๑. แคว้นกาสี เมืองหลวงชื่อ พาราณสี
๑๒. แคว้นมัลละ เมืองหลวงชื่อ ปาวา และกุสินารา
๑๓. แคว้นมคธ เมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์
๑๔. แคว้นวัชชี เมืองหลวงชื่อ เวสาลี
๑๕. แคว้นอังคะ เมืองหลวงชื่อ จัมปา 
๑๖. แคว้นอัสสกะ เมืองหลวงชื่อ โปตลิ

ในพระสูตรอื่นๆ มีการเรียกดินแดนอื่นว่าเป็นแคว้นอีก ๕ แคว้น คือ
๑. แคว้นสักกะ เมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์
๒. แคว้นโกลิยะ เมืองหลวงชื่อ เทวทหะ หรือรามคาม
๓. แคว้นภัคคะ เมืองหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ
๔. แคว้นวิเทหะ เมืองหลวงชื่อ มิถิลา
๕. แคว้นอังคุตตราปะ เมืองหลวงเป็นเพียงนิคมชื่ออาปณะ


                                                                   ๑. แคว้นอังคะ

แคว้นอังคะ อยู่ตะวันออกสุดในเขตมัชฌิมประเทศ เมืองหลวงชื่อ จัมปาสมัยพุทธกาล แคว้นอังคะตกอยู่ใต้อำนาจของแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ เป็นพระเจ้าแผ่นดินของอังคะด้วยเขตของแคว้นอังคะ เทียบกับปัจจุบันได้แก่รัฐพิหาร ตอนตะวันออกคือบริเวณจังหวัด ภาคัลปูร์, มงฆีร,์ และสันถาลปารคณะ

          พรมแดนของแคว้นอังคะ มีกล่าวไว้ว่า ทิศตะวันตก ติดกับแคว้นมคธ โดยมีแม่น้ำจัมปา ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าจานดัน หรือจันทนา เป็นแดนแบ่งเขตแคว้นทั้งสอง ทางทิศเหนือ ฝ่ายโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะจดเส้นแบ่งเขตธรรมชาติคือแม่น้ำคงคาสำหรับทางทิศใต้และทิศตะวันออก ไม่พบหลักฐานว่ามีขอบเขตไปถึงไหน

          จัมปา เมืองหลวงของแคว้นอังคะ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจัมปา ปัจจุบันลงความเห็นกันได้แก่หมู่บ้าน จัมปานคร และ จัมปาบุรี ในเขตจังหวัดภาคัลปูร์ ห่างจากตัวเมืองภาคัลปูร์ไปทางตะวันตก ประมาณ ๔ ไมล์ (๖ กิโลเมตรเศษ) ในสมัยพุทธกาล จัมปาเป็นนครใหญ่และรุ่งเรือง เป็นหนึ่งในจำนวนนครใหญ่๖ นครที่พระอานนท์กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ควรจะเลือกเป็นที่เสด็จปรินิพพานแทนกุสินารา นครใหญ่ที่พระอานนท์ระบุถึง คือ จัมปา, ราชคฤห์, สาวัตถี, สาเกต,โกสัมพี, และพาราณสี  นอกจากจัมปาแล้ว เมืองสำคัญอื่น ๆ ในแคว้นอังคะ ซึ่งปรากฏชื่อบ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนาก็มีอีกหลายเมือง เช่น เมืองภัททิยะ เมืองอัสสปุระและเมืองอาปาณะ ในเขตซึ่งเรียกว่า อังคุตตราปะ เป็นต้น

          ที่นครจัมปา มีสระใหญ่อยู่สระหนึ่งชื่อ คัคคราโบกขรณี ได้นามตามพระนางคัคคราแห่งจัมปา ผู้ทรงมีรับสั่งให้ขุดสร้างขึ้น ปรากฏตามพระคัมภีร์ว่า พระพุทธองค์เคยได้เสด็จประทับ ณ ป่าไม้จัมปกะ หรือจัมปาที่ริมสระนี้รวมหลายโอกาส และได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ดังมีปรากฏในพระสูตรหลาย สูตร เช่น โสณทัณฑสูตร ทสุตตรสูตร กันทรกสูตร และการัณฑวสูตร เป็นต้น

          ภัททิยนคร เป็นเมืองที่อยู่ของเมณฑกะเศรษฐี และธนัญชยะเศรษฐี ผู้เป็นปู่และพ่อของนางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขาเองก็เกิดที่ภัททิยนครนี้ เมื่อมีอายุได้ ๗ ปี ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ซึ่งเสด็จเยี่ยมภัททิยนคร ได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ต่อมาจึงได้อพยพติดตามบิดามารดาไปอยู่ ณ เมืองสาเกตในแคว้นโกศล และเมื่อได้แต่งงานกับปุณณวัฒนกุมาร ผู้เป็นบุตรของมิคาระเศรษฐีแห่งสาวัตถีแล้ว จึงได้ไปอยู่กับตระกูลสามี ณ กรุงสาวัตถีที่อัสสปุระ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงมหาอัสสปุรสูตร และจูลอัสสปุรสูตรว่าด้วยการประพฤติสำรวมด้วยกายวาจาใจ และการปฏิบัติตนให้สมกับสมณภาวะของพระภิกษุที่อาปณะ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่าอังคุตตราปะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระสูตรหลายพระสูตร อาทิ เช่นโปฏลิยสูตร ลฏุกิโกปมสูตร สัทธาสูตรและเสลสูตร โดยเฉพาะเสลสูตร ซึ่งทรงแสดงแก่เสลพราหมณ์ กับบริวารอีก๓๐๐ คน มีผลให้คนทั้งหมดเลื่อมใส ปฏิญาณตนถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุจากพระพุทธองค์ พระโสณะโกฬิวิสะ ผู้เป็นเอตทัคคะ หรือยอดแห่งภิกษุผู้มีความเพียรในพระศาสนาและเป็นรูปหนึ่ง ในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป เป็นบุตรเศรษฐีแห่งนครจัมปาของแคว้นอังคะนี้

          ทางตะวันออกของแคว้นอังคะ มีนิคมอยู่แห่งหนึ่งชื่อ กชังคละ เป็นที่สุดเขตมัชฌิม ประเทศทางทิศตะวันออก ซึ่งเลยจากนั้นไปเป็นหมู่บ้านชื่อมหาสาละ ในคัมภีร์มิบินทปัญหากล่าวว่า กชังคละเป็นหมู่บ้านพราหมณ์ และว่าเป็นที่เกิดของพระนาคเสน แต่ยังไม่มีหลักฐานสอบให้แน่ชัดว่า กชังคละอยู่ในเขตอังคะ หรืออยู่นอกออกไป

                             ๒. แคว้นมคธ หรือมคธะ

          แคว้นมคธในสมัยพุทธกาล เป็นราชอาณาจักรยิ่งใหญ่หรือมหาอำนาจ หนึ่งในสี่ของชมพูทวีป อีกสามอาณาจักรได้แก่ โกศล วังสะ และอวันตี ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่ สาวัตถี โกสัมพี และอุชเชนี ตามลำดับ พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นมคธสมัยนั้น ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของอังคะด้วย คือพระเจ้าพิมพิสาร แต่มาในปลายสมัยพุทธกาลประมาณ ๘ ปี ก่อนพุทธปรินิพพาน ได้ถูกพระราชโอรส คือพระเจ้าอชาตศัตรูแย่งราชสมบัติ ด้วยการจับขังจนสิ้นพระชนม์ชีพ แล้วพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ครองราชสมบัติสืบแทนต่อมา

          แคว้นมคธ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแคว้นอังคะ อาณาเขตทางทิศตะวันออกติดกันแคว้นอังคะ ทิศเหนือติดกับแคว้นวัชชี ทิศตะวันตกติดกับแคว้นกาสี เมืองหลวงของแคว้นมคธสมัยนั้น คือราชคฤห์ ปัจจุบันเรียกว่าราชคีร์ มีฐานะเป็นตำบลอยู่ในเขตจังหวัดนาลันทา ของรัฐพิหาร ห่างจากพิหารศะรีฟ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการจังหวัดนาลันทา โดยทางรถยนต์ ๒๖ กิโลเมตรและทางรถไฟ ๒๕ กิโลเมตร และห่างจากปัฏนา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นพิหาร ในปัจจุบัน โดยทางรถยนต์ ๑๐๓กิโลเมตรและทางรถไฟ ๑๐๐ กิโลเมตร หรือห่างจากเมืองคยา ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟใหญ่และเป็นเมืองสำคัญ เมืองหนึ่งของรัฐพิหาร โดยทางรถยนต์ ๖๗ กิโลเมตรเทียบกับอาณาเขตในปัจจุบัน แคว้นมคธสมัยพุทธกาล ได้แก่เขตของรัฐพิหารตอนใต้ คือบริเวณจังหวัดปัฏนา คยา นาลันทา นวาด้า โอรังคาบาด กับส่วนเหนือของจังหวัดหะซารีบาฆอาณาเขตดังกล่าวนี้ เดิมแบ่งเป็นเขตจังหวัดเพียง ๓ จังหวัด คือ ปัฏนา คยาและหะซารีบาฆ มาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๕ นี้ ทางการได้จัดส่วนการปกครองใหม่และได้แยกเขตจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ว่าจังหวัดนาลันทา กับได้แยกเขตจังหวัดคยาเดิมออกเป็น ๓ จังหวัด โดยมี นวาด้า และ โอรับคาบาด เป็นชื่อของสองจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว ราชคฤห์ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดปัฏนา เมื่อได้แยกเขตมาตั้งเป็นจังหวัดนาลันทาขึ้นอีกจังหวัดหนึ่ง ราชคฤห์จึงมาขึ้นกับจังหวัดนาลันทา

            พรมแดนของแคว้นมคธ มีระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า ทางตะวันออกจดแม่น้ำจัมปาอันเป็นแดนแบ่งเขตแคว้นอังคะ กับแคว้นมคธดังได้กล่าวแล้ว ทางทิศเหนือจดแม่น้ำคงคา อันเป็นแดนแบ่งเขต ของแคว้นมคธกับแคว้นวัชชี กรุงปาฏลีบุตรหรือปัฏนาปัจจุบันตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำคงคา อันเป็นที่สุดเขตของแคว้นมคธในสมัยนั้น ทิศตะวันตกฝ่ายประวัติศาสตร์และโบราณคดีลงความเห็นว่า น่าจะจดแม่น้ำโสณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐพิหาร เป็นแม่น้ำที่กว้างมาก มีสะพานรถยนต์และสะพานรถไฟข้ามยาวถึง ๓ กิโลเมตรเศษ กล่าวว่าเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในอินเดีย ทางทิศใต้บางพวกกล่าวว่า ถึงแนวด้านเหนือของจังหวัดหะซารีบาฆ บางพวกว่าเลยไปจนถึงเขาวินธัย หรือวินธยะ อันควรเป็นแนวแบ่งเขตโดยธรรมชาติ

          แคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ทรงความสำคัญทั้งในด้านการเมือง การศาสนาการเศรษฐกิจ และการทหาร เมืองหลวงของแคว้นคือราชคฤห์ เป็นนครที่เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นที่ชุมนุมอยู่ของศาสดาเจ้าลัทธิ และเศรษฐีมหาเศรษฐีจำนวนมาก

          แคว้นมคธ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด และเป็นศูนย์กลางที่สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา ทั้งในสมัยของพระพุทธองค์และต่อ ๆ มา พระพุทธองค์เมื่อเสด็จออกทรงผนวช ก็ได้เสด็จตรงมายังแคว้นมคธ และอาจกล่าวได้ว่าตลอดเวลา ๖ ปี ที่ทรงแสวงหาโมกขธรรม ก่อนได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ประทับอยู่ในแคว้นมคธ

-พระพุทธองค์ ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ซึ่งอยู่ในแคว้นมคธนี้

-การประกาศพระศาสนาของพระพุทธองค์ ถึงความเป็นปึกแผ่น หยั่งรากลงได้มั่นคง ที่แคว้นมคธนี้เป็นแห่งแรก

-พระสาวกองค์สำคัญ ๆ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นต้น ก็เป็นชาวมคธหรือคนแคว้นนี้

-พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นในสมัยของพระพุทธองค์ และต่อมาถึงภายหลังพุทธปรินิพพาน คือพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ทรงมีส่วนช่วยอย่างสำคัญ ในการประกาศพระศาสนา

-วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือวัดเวฬุวนาราม ก็เกิดขึ้นที่แคว้นนี้

-การสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย สองในสามครั้งที่ทำในอินเดีย ก็ทำที่แคว้นนี้

          พระพุทธศาสนาแผ่ไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั้งในและนอกอินเดีย ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ปาฏลีบุตร อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นนี้ในสมัยนั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียมั่นคงอยู่ในแคว้นนี้ตลอดมา จนกระทั่งถูกรุกรานและทำลายโดยมุสลิมเตอร์ก เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๗๔๓ (ค.ศ. ๑๒๐๐) หรือคิดคร่าว ๆ เมื่อ ๘๐๐ ปี นับย้อนหลังจากนี้ไป (พ.ศ.๒๕๔๔)

สถานที่แคว้นมคธ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธองค์ และความเป็นมาของพระพุทธศาสนามีอยู่เป็อันมาก เพียงในเขตกรุงราชคฤห์ อันเป็นนครหลวงและบริเวณใกล้เคียง เฉพาะที่มีชื่อคุ้นหูก็มีอยู่หลายแห่ง เช่น ***1. ลัฏฐิวัน ที่ซึ่งพระพุทธองค์เสด็จประทับ เมื่อเสด็จกรุงราชคฤห์ครั้งแรกหลังตรัสรู้  ***2.เวฬุวนาราม หรือวัดเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระศาสนา ***3. ยอดเขาคิชฌกูฏ มีพระคันธกุฏีที่พระพุทธองค์ทรงชอบใช้เป็นที่เสด็จประทับมากแห่งหนึ่ง  ***4. ถ้ำสูกรขาตา สถานที่ที่ท่านพระสารีบุตรได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ***5. วัดชีวกัมพวัน หรืออารามสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ ที่ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จมาเฝ้าสารภาพความผิดต่อพระองค์ และพระพุทธองค์ได้ทรง แสดงสามัญญผลสูตรถวาย  ***6. ตโปทา บ่อน้ำร้อน ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่หลายเรื่อง ***7. ปิปผลิคูหา ถ้ำที่ท่านพระมหากัสสปะชอบใช้เป็นที่พำนัก และพระพุทธองค์เคยได้เสด็จมาเยี่ยม  ***8. ถ้ำสัตตบัณณคูหา ณ ไหล่เขาเวภาระ สถานที่ซึ่งท่านพระอรหันต์สังคีติกาจารย์ทั้งหลายประชุมกันทำปฐมสังคายนา ***9. อัมพลัฏฐิกา สถานที่ทรงแสดงพรหมชาลสูตร ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างราชคฤห์กับนาลันทา  ***10. พุหุปุตตกนิโครธ ระหว่างราชคฤห์กับนาลันทา ที่ซึ่งท่านพระมหากัสสปะได้พบและได้รับอุปสมบทจากพระพุทธองค์  ***11. ป่าสีตวัน สถานที่ซึ่งท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีมหาอุบาสก ได้พบและเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เป็นครั้งแรก ***12. กาฬสิลา สถานที่ที่ท่านพระโมคคัลลานะถูกพวกเหล่าร้ายทุบตีจนร่างแหลก. ***13. อินทสาลคูหา แห่งภูเขาเวทิยะ สถานที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงสักกปัญหสูตร แก่ท้าวสักกะ และ ***14. ปาสาณกเจดีย์ ที่ซึ่งศิษย์ ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรีเข้าเฝ้าพระพุทธองค์และทูลถามปัญหาเป็นต้น หลายแห่งในจำนวนนี้ยังคงมีซากปรากฏให้เห็นอยู่ที่อื่น ๆ ซึ่งสำคัญที่ควรระบุถึงอีกบางแห่งก็มี ***15. อุรุเวลาเสนานิคม สถานที่ตรัสรู้ ***16. นาลันทา ซึ่งว่ากันในปัจจุบันว่า เป็นหมู่บ้านเกิดของท่านพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ที่ซึ่งในระหว่างพุทธศักราช ๑๐๐๐ ถึง ๑๗๐๐ ปีเศษ ได้เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาแห่งพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ที่ขณะนี้มีซากอันใหญ่โตและกว้างขวางปรากฏให้เห็นอยู่ กับปาฏลีบุตร เมืองหลวงของแคว้นต่อจากราชคฤห์ ซึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง สวยงามตระการ เป็นศูนย์กลางการปกครองของมหาอาณาจักรโมริยะหรือมารยัน ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ เท่าอินเดียปัจจุบันไว้ในอำนาจ

อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดคยา เรียกชื่อว่า พุทธคยา หรือโบธคยา เป็นตำบลนอกเมือง อยู่ห่างจากตัวเมืองคยา ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร (๗ ไมล์) มีต้นพระศรีมหาโพธิกับพระเจดีย์ หรือพระวิหารมหาโพธิ ซึ่งใหญ่โตสง่างามสูงถึง ๑๗๐ ฟุต เป็นที่หมายจุดซึ่งพระพุทธองค์ประทับตรัสรู้ กับมีซากปูชนียสถานปูชนียวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณโดยรอบอีกเป็นจำนวนมาก

นาลันทา หรือซากมหาวิทยาลัยนาลันทา อันใหญ่โตและมีชื่อเสียงในอดีตดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดนาลันทา อยู่ห่างจากราชคฤห์ ๑๓ กิโลเมตร(๘ ไมล์) ห่างจากพิหารศะรีฟ ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการจังหวัด ๑๓ กิโลเมตร หรือ ๘ไมล์เช่นกัน และห่างจากปัฏนา ๙๐ กิโลเมตร (๕๖ ไมล์) ซากที่ปรากฏมีเนื้อที่กว้างขวาง เฉพาะที่ขุดค้นแล้วมีถึง ๓๕ เอเค่อร์ คือราว ๘๗ ไร่ครึ่ง

ปาฏลีบุตร ได้แก่เมืองปัฏนา หรือปัฏนะในปัจจุบัน ได้มีการขุดค้นสำรวจรวมหลายจุด ในเขตรอบนอกเมืองด้านทิศใต้ ได้พบหลักฐานช่วยให้ยืนยันได้เป็นที่แน่นอน บริเวณซึ่งได้รับการขุดสำรวจแล้วบางส่วนที่ กุมรหาร์ เข้าใจกันว่า จะเป็นที่ตั้งวัด

อโศการาม อันเป็นวัดที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และได้เป็นที่ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาครั้งที่สาม ภายใต้พระบรมราชูถัมภ์ของพระเจ้าอโศกนั้น

๓. แคว้นกาสี

แคว้นกาสี ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นมคธ เมืองหลวงชื่อ พาราณสี ก่อนพุทธกาล กาสี เป็นแคว้นที่รุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมาก มาในพุทธสมัยกลับอ่อนกำลังและหมดความสำคัญลง ถึงขั้นต้องขึ้นกับแคว้นโกศล โดยมีพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศล เป็นพระราชาของแคว้นกาสีนี้ด้วย

อาณาเขตของแคว้นกาสี มีปรากฏว่า ทางทิศตะวันออก ติดกับแคว้นมคธ ทิศเหนือติดกับแคว้นโกศล ทิศตะวันตกติดกับแคว้นวังสะ แต่ไม่มีระบุไว้ว่ามีขอบเขตแค่ไหน ยกเว้นด้านตะวันออกซึ่งได้พูดถึงแล้ว สำหรับเมืองหลวงของแคว้นพาราณสี ต่างกับเมืองอื่น ๆ คือสามารถดำรงมั่นคงอยู่ได้ตลอดมา ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจน กระทั่งบัดนี้ ไม่ถูกทิ้งร้างให้เป็นซาก หรือเปลี่ยนสภาพเป็นอื่นไป จนแทนค้นหาไม่พบเหมือนเมืองอื่น ๆ ยังคงตั้งอยู่ที่เดิมและรักษานามเดิมไว้ได้ตลอดมา

ตัวเมืองพาราณสี ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงคา ระหว่างปากน้ำพารณะหรือวารณะ หรือวรุณะ กับปากน้ำอสี ซึ่งไหลมาออกแม่น้ำคงคาทางเหนือ และใต้ของเมืองโดยลำดับ เพราะเมืองตั้งอยู่ระหว่างปากน้ำทั้งสองดังกล่าว จึงได้เอาชื่อของลำน้ำทั้งสองมารวมเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นชื่อเมืองว่า พาราณสี หรือ วาราณสี ชื่อตามทางการปัจจุบัน คือ วาราณสี สมัยอังกฤษปกครองเรียกว่า เบนาเรสบ้าง บนารัสบ้าง เดี๋ยวนี้เบนาเรสหายไปแล้ว ยังใช้กันอยู่บ้างแต่บนารัส

ปัจจุบัน พาราณสีมีฐานะเป็นจังหวัด หรือเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งมีลัคเนาว์ เป็นเมืองหลวง เป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีการคมนาคมติดต่อกับเมืองอื่น ๆ ทั้งทางเครื่องบิน รถยนต์ และรถไฟ อยู่ห่างจากเดลีโดยทางรถไฟ ๗๖๓ กิโลเมตร จากกัลกัตตา ๖๗๘ กิโลเมตร จากบอมเบย์ ๑๔๙๕ กิโลเมตร จากปัฏนา ๒๒๙ กิโลเมตรและจาก คยา ๒๒๐ กิโลเมตร

ในสมัยพุทธกาล พาราณสีเป็นเมืองใหญ่และเจริญ เป็นศูนย์ กลางการค้าที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ผ้ากาสีและเครื่องหอมแก่นจันทน์ของแคว้นกาสี เป็นสินค้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งในสมัยโน้นและในสมัยนี้

อิสิปตนะมฤคทายวัน สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ อยู่ที่แคว้นกาสีนี้ ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ เป็นเขตชานเมืองพาราณสี อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ในสมัยโน้น ระยะทางจากพุทธคยาถึงสารนาถ (คือจากอุรุเวลาเสนานิคมถึงอิสิปตนะมฤคทายวัน) มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า ๑๘ โยชน์ พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศคำสอนของพระองค์เป็นครั้งแรกที่นี่ ทรงได้พระสาวกองค์แรกถึงองค์ที่ ๖๐ ที่นี่ ทรงเริ่มงานประกาศพระศาสนาด้วย การส่งพระสาวกรุ่นแรก ๖๐ ท่านดังกล่าว ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ให้แยกย้ายกันไปยังที่ต่าง ๆ จากที่นี่

ที่อิสิปตนะมฤคทายวัน หรือสารนาถนี้ นอกจากปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้ว พระพุทธองค์ยังได้ทรงแสดงพระสูตรอื่น ๆ อีกหลายสูตร ในต่างโอกาสต่างวาระกัน อาทิเช่น อนัตตลักขณสูตร ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัญจสูตร ปาสสูตร กฏุวิยสูตร รถการสูตร ซึ่งมีชื่ออย่างอื่นอีกว่า ปเจตนสูตร หรือจักกวัตติสูตร กับสมยสูตร และธัมมทินนสูตรผลแห่งการที่ทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ ณ อิสิปตนะมฤคทายวันนี้ ทำให้พระโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าของปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุจากพระพุทธองค์ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นอันได้มีพระภิกษุสาวกองค์แรกขึ้นในพระพุทธศาสนา และได้ทำให้พระสังฆรัตนะอันเป็นองค์หนึ่งแห่งพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโอากสนั้น ทำให้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ผลแห่งการที่ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร หรือปัญจสูตร ทำให้พระปัญจวัคคีย์ซึ่งทั้งหมดได้รับอุปสมบทแล้ว ได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันตบุคคลในพระศาสนา

ณ ที่นี้ พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ สืบเนื่องจากการที่นางสุปปิยาอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ได้เฉือนเนื้อจากขาของตนให้ปรุงเป็นน้ำต้มเนื้อ ถวายแก่พระภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความต้องการน้ำต้มเนื้อ ทั้งนี้โดยที่นางได้ปวารณาว่าจะจัดถวาย แต่แล้วก็ไม่สามารถจะหาเนื้อตามปกติในท้องตลาดได้

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบิดาพระยสะ และท่านเศรษฐีได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ได้แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เป็นอุบาสกคนแรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และเป็นคนแรกแห่งอุบาสกบริษัทที่ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดแล้ว ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ทั้งสองท่านเป็นอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และเป็นคู่แรกในฝ่ายอุบาสิกาบริษัท ที่ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล โดยนัยเดียวกันกับฝ่ายอุบาสกพระพุทธรัตนะ และพระธรรมรัตนะ เกิดที่แคว้นมคธ พระสังฆรัตนะ เกิดที่แคว้นกาสี พระรัตนตรัยเกิดขึ้นสมบูรณ์ที่แคว้นกาสีพระภิกษุสาวกองค์แรก และอุบาสกอุบาสิกาถึงไตรสรณคมน์เป็นครั้งแรกมีขึ้นที่แคว้นกาสี อุบาสกอุบาสิกาที่ถึงไตรสรณคมน์เป็นครั้งแรก เกิดที่แคว้นกาสี

มีเรื่องกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นันททิยมาณพ แห่งพาราณสี ผู้ใจบุญและมีศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า ได้สร้างวิหารอย่างวิจิตรสวยงาม ณ อิสิปตนะมฤคทายวัน แล้วมอบถวายแด่พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ ด้วยผลแห่งกรรมดีดังกล่าว ได้มีวิมานสำหรับนันทิยะเกิดขึ้นคอยท่าในสวรรค์ ตั้งแต่นันทิยะยังไม่ตายในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช คือเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๒๐๐ ปีเศษ อิสิปตนะมฤคทายวันได้เป็นวัดหรือสำนักใหญ่โต พระเจ้าอโศกได้ทรงสร้างสถูปเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้ บางสิ่งยังคงมีปรากฏให้เห็นในบัดนี้

อิสิปตนะมฤคทายวัน ดำรงความเป็นสำนักใหญ่โตและเป็นศูนย์กลางการพระศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งตลอดมา จวบจนกระทั่งถูกมุสลิมเตอร์กทำลาย เมื่อจวนจะสิ้นคริสต์ศตรวรรษที่ ๑๒ คือเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑๗๓๗ หรือคริสต์ศักราช ๑๑๙๔ จากนั้นก็ถูกทอดทิ้งตลอดมาเป็นเวลากว่า ๗๐๐ ปี ไม่มีโอกาสฟื้นตัวได้อีก เช่นเดียวกับนาลันทาและสำนักทางพุทธศาสนาอื่น ๆ ซึ่งก็ได้ถูกทำลายลงในระยะไล่เลี่ยกัน การถูกทำลายในยุคนี้ ถือว่าเป็นการถูกประหัตประหารอย่างไม่มีครั้งใดรุนแรงเท่ามีผลทำให้พระพุทธศาสนาต้องถึงกับเป็นสิ่งถูกลืม และหมดไปจากอินเดียในที่สุด

ปัจจุบันซากแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ที่สารนาถหรืออิสิปตนะมฤคทายวัน ได้รับการขุดค้นขึ้นมาให้ปรากฏ ผลจากการขุดค้นสำรวจทำให้ได้พบสิ่งต่าง ๆ มากมาย ที่ควรระบุชื่อโดยเฉพาะก็เช่น สถูปหมายจุดที่พระพุทธองค์เสด็จมาพบพระปัญจวัคคีย์ มูลคันธกุฏีที่ประทับของพระพุทธองค์ สถูป หมายจุดที่ทรงแสดงปฐมเทศนา เสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก มหาราชซากสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกทรง สร้าง กับซากกุฏิ วิหารและเจดีย์ใหญ่น้อยจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปบางปฐมเทศนา ซึ่งได้รับยกย่องว่ามีความงามเป็นเลิศ และสิงห์หัวเสาพระเจ้าอโศก ซึ่งสลักอย่างสวยงามจากหินก้อนเดียว ให้เป็นสิงห์สี่ตัวนั่งหันหลังเข้าหากัน และทางอินเดียได้นำมาเป็นตราแผ่นดิน หรือตราของทางราชการ เช่นที่เห็นกันอยู่ในบัดนี้

๔.แคว้นโกศล หรือ โกสละ

แคว้นโกศล อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นมคธ โดยมีแคว้นกาสีคั่นอยู่ในระหว่าง ดังนั้นเขตของแคว้นโกศลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จึงติดกับแคว้นกาสี ทางตะวันตกติดกับแคว้นปัญจาละ ทางเหนือติดเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันออก ดูตามที่ตั้งของแคว้นต่าง ๆ จะเห็นว่าติดกับแคว้นมัลละ และต่อจากมัลละไปก็เป็นแคว้นวัชชี แต่มีบางตำรากล่าวว่า ติดกับเขตของวิเทหะ ซึ่งในสมัยพุทธกาลรวมอยู่ในแคว้นวัชชี เมืองหลวงของแคว้น

โกศลในพุทธสมัยคือ สาวัตถีพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล แคว้นโกศล มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อูธ ชื่อนี้เลือนมาจากคำว่า อโยธยา อันเป็นชื่อเมืองสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ในฐานะ เป็นเมืองหลวงดั้งเดิมของแคว้นและเป็นเมืองของพระรามตามคัมภีร์รามายณะ หรือเรื่องรามเกียรติ์ อโยธยามีความสำคัญดังกล่าว ต่อ ๆ มาชื่อเมืองเลยเรียกกันเป็นชื่อแคว้นด้วย เมืองอโยธยา ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เรียกกันว่า อโยธยาบ้าง ว่าอูธบ้าง และว่าอวัธบ้าง

แคว้นโกศล หรืออูธดังกล่าวนี้ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ หรือรัฐเหนือของอินเดียประมาณอย่างคร่าว ๆ ได้แก่พื้นที่เริ่มแต่จังหวัดลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศในปัจจุบันขยายออกทางเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือเรื่อยไปจนจดเขตประเทศเนปาล แล้วเลยเข้าไปในเนปาลจนถึงเทือกเขาหิมาลัยรายละเอียดเกี่ยวกับอาณาเขตของแคว้น ในสมัยพุทธกาล ไม่มีบอกไว้โดยแน่ชัดที่บอกไว้บ้างก็ขัดแย้งกัน ความเห็นของผู้รู้ ส่วนมากขณะนี้ว่า ทางตะวันออกถึงลำน้ำคัณฑักน้อย ซึ่งลงความเห็นกันว่าได้แก่ แม่น้ำหิรัญวดีในพุทธสมัย ทิศตะวันตก ถึงแม่น้ำโคมตี หรือคุมตี ทิศใต้ จดแม่น้ำไซ หรือซาอี ซึ่งเรียกในสมัยก่อนว่าสุนทริกาบ้าง สยันทิกาบ้าง ส่วนทางเหนือ ก็เลยเขตอินเดียในปัจจุบันเข้าไปในเนปาล จนถึงเทือกเขาหิมาลัยดังกล่าวแล้ว

สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศลในพุทธสมัย ปัจจุบันได้แก่ซากซึ่งเรียกว่าสาเหตและมาเหต หรือสาเหฐ และมาเหฐ ที่เขตติดต่อของจังหวัดบหราอิจ และจังหวัดโคณฑา หรือคอนดา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดลัคเนาว์ ห่างจากตัวจังหวัดบหราอิจ ๔๖ กิโลเมตร (๒๙ ไมล์) จากโคณฑา ๕๙ กิโลเมตร(๓๗ไมล์) และห่างจากพลรามปูร์ ของจังหวัดโคณฑาอันเป็นชุมทางรถยนต์และรถไฟที่ใกล้ที่สุด ไปทางตะวันตก ๑๖ กิโลเมตร หรือ ๑๐ ไมล์ได้มีการขุดค้นสำรวจ และได้พบหลักฐานบ่งให้ทราบแน่ชัดว่า ซากซึ่งเรียกว่า สาเหต คือ พระเชตวันมหาวิหาร วัดซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในพุทธสมัย และที่เรียกมาเหต ให้แก่ ตัวเมืองสาวัตถี ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน ซากตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งทิศใต้ ของแม่น้ำ ราปติ อันได้แก่แม่น้ำอจิรวดีในพุทธสมัย

ซากพระเชตวันตั้งอยู่ทางใต้ของตัวเมือง ห่างจากเขตกำแพงเมืองตอนใกล้ที่สุดราว ๑ กิโลเมตรหรือประมาณครึ่งไมล์ ซากของสาเหตหรือ พระเชตวันมหาวิหารมีเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ไร่ (๓๒ เคอร์) ได้มีการขุดค้นสำรวจพบซากกุฏิ วิหาร สถูปเจดีย์ และเสนาสนะสงฆ์อื่น ๆ แล้วมากมาย ส่วนที่มาเหตหรือตัวเมืองสาวัตถี ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางมากกว่ามากนั้น การขุดค้นสำรวจยังทำได้ไม่มากนักบริเวณซึ่งรวมเรียกว่า สาเหตมาเหต ครอบคลุมเนื้อที่กว้างขวาง ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตโคณฑา อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตของบหราอิจ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตบหรากิจปัจจุบันชื่อ สาเหตมาเหต เรียกกันน้อยลง โดยมานิยมเรียกกันในชื่อว่า ศราวัสตีอันเป็นชื่อสันสกฤตของชื่อบาลีว่า สาวัตถี ที่เราใช้เรียกกัน

ในสมัยพุทธกาล แคว้นโกศลเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองและมีอำนาจมาก แคว้นกาสีในสมัยนั้นก็ขึ้นกับแคว้นโกศล มีหลักฐานมากแห่งทั้งทางฝ่ายพุทธและอื่น ๆ แสดงว่าแคว้นสักกะแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ของพระพุทธองค์ ก็อยู่ภายใต้อำนาจ หรือความคุ้มครองของแคว้นโกศล นครหลวงสาวัตถีของแคว้นโกศล เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับพระพุทธองค์ และการพระศาสนาในสมัยนั้น พระพุทธองค์ ประทับจำพรรษาที่สาวัตถีรวม ๒๕ พรรษา โดยเสด็จประทับที่พระเชตวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา และที่บุพพาราม ๖ พรรษา

พระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกาอัครมเหสี ทรงมีส่วนอย่างมากในการประกาศคำสอนของพระพุทธองค์ที่สาวัตถีนี้ พระพุทธองค์ทรงได้บุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุด ในฝ่ายอุบาสกและอุสาสิกา คืออนาถบิณฑิกะเศรษฐีมหาอุบาสก และนางวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านทั้งสองได้บริจาคทรัพย์จำนวนมหาศาลสร้างพระเชตวันมหาวิหารและบุพพารามโดยลำดับ ถวายแด่พระพุทธองค์เพื่อเป็นสังฆารามในพระพุทธศาสนา ทั้งยังได้ถวายอุปถัมภ์แก่พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ในด้านอื่น ๆ อีกนานัปการ ปรากฏเป็นเกียรติเด่นอยู่ในประวัติของพระศาสนาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ได้สร้างวัดถวายแด่พระพุทธองค์วัดหนึ่ง ชื่อ วัดราชการามโดยพระพุทธองค์เสด็จจำพรรษา ณ สาวัตถี รวมถึง ๒๕ พรรษา จากจำนวนทั้งหมด ๔๕ พรรษา ของระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้น ณ สาวัตถี ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธองค์ด้วย จึงมีอยู่เป็นอันมาก ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี และนางวิสาขาแล้ว เรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีก็มีอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เรื่องพระองคุลิมาล เรื่องปฏาจาราเถรี เรื่องนางกาลียักขินีเรื่องนางจิญจมาณวิกา เรื่องนางสีกาโคตมีเถรี เรื่องนางมัลลิกา เรื่องการถวายอสทิสทาน เรื่องพันธุละเสนาบดี และนางมัลลิกาภรรยา เรื่องพระเจ้าวิฑูฑพภะ เรื่องพระนางวาสภขัตติยา เรื่องพระพุทธองค์ทรงปฏิบัติพระภิกษุไข้ เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฏก เรื่องพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ พระสุบินนิมิต ๑๖ ประการ ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เรื่องทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ และเรื่องพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ พระสูตรต่าง ๆ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงขณะประทับอยู่ ณ สาวัตถีมีมากมายสุดที่จะนับได้ เฉพาะบางสูตรซึ่งรู้จักกันดีหรือได้ยินชื่อบ่อย ๆ มีอาทิเช่น มงคลสูตร ธชัคคสูตร ทสธัมมสูตร สาณียธัมมสูตร อหิราชสูตร เมตตานิสังสสูตรคิริมานนทสูตร ธัมมนิยามสูตร อปัณณกสูตร อนุตตริยสูตร พลสูตร มัคควิภังคสูตรโลกธัมมสูตร ทสนาถกรณธัมมสูตร อัคคัปปสาทสูตร ปธานสูตร อินทรยสูตร อริยธนสูตร และสัปปุริสธัมมสูตร ทั้งหมดทรงแสดง ณ พระเชตวันมหาวิหารสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล อำนาจของแคว้นโกศลเริ่มลดถอยลงถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเชตวันมหาวิหารยังคงเป็นสำนักที่ใหญ่โตและรุ่งเรือง เมื่อหลวงจีนฟาเหียนมาสาวัตถี (ประมาณระหว่างปี พ.ศ. ๙๔๔ ถึง๙๕๓) ตัวเมืองอยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้าง แต่พระเชตวันยังคงเป็นสำนักสำคัญอยู่

เมื่อหลวงจีนฮวนฉางหรือถังซัมจั๋งมา (ประมาณระหว่างปี พ.ศ. ๑๑๗๓ ถึง ๑๑๘๖)เมืองคงเป็นเมืองร้าง และพระเชตวันก็ร้าง แต่จากการขุดค้นสำรวจในยุคหลังนี้ได้พบหลักฐานแสดงชัดว่า พระเชตวันได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่ ภายหลังจากการมาของหลวงจีนฮวนฉางไม่นาน และจากนั้นก็ได้เป็นสำนักสำคัญของพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งเรื่อยมา จวบกระทั่งมาถึงคราวสิ้นอายุในระยะเดียวกันกับสารนาถ หรืออิสิปตนะมฤคทายวัน ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นเมืองและสถานที่อื่น ๆ ในแคว้นโกศล ซึ่งมีชื่อปรากฏในพระคัมภีร์ และมีเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เมืองสาเกต เมืองอโยชฌา หรืออโยธยา เมืองเสตัพยา เมืองเกสปุตตะของชาวกาลามะ หมู่บ้านอิจฉานังคละ และป่าอันธวันใกล้สาวัตถีเป็นต้น

เมืองสาเกต เป็นเมืองที่อยู่ของธนัญชยะเศรษฐีบิดาของนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของแคว้นโกศล และจัดเป็น ๑ ใน ๖ นครใหญ่ของของชมพูทวีปสมัยนั้น ดังได้กล่าวข้างต้นมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า อยู่ห่างจากสาวัตถี ๖โยชน์ แต่บางแห่งก็บอกว่า ๗ โยชน์ พระพุทธองค์เคยเสด็จเมืองนี้หลายครั้ง รวมทั้งพระสาวกผู้ใหญ่อีกมากท่าน ที่ได้มาเยี่ยมเมืองนี้

อโยชฌา หรือ อโยธยา ความในพระคัมภีร์แสดงว่าเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งพระพุทธองค์เคยเสด็จเมืองนี้อย่างน้อยสองครั้ง ครั้งหนึ่งได้ทรงแสดง เผณสูตรและอีกครั้งหนึ่งทรงแสดง ทารุกขันธสูตร ในสมัยของหลวงจีนฟาเหียน และหลวงจีนถังซัมจั๋ง อโยธยาเป็นจุดสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาผู้รู้ในปัจจุบันยังมีความเห็นขัดแย้งกัน เกี่ยวกับที่ว่าเมืองซึ่งเรียกชื่อในคัมภีร์บาลีว่า อโยชฌา เป็นเมืองเดียวกันหรือต่างเมืองกับ อโยธยา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของฝ่ายฮินดูดังได้กล่าวข้างต้นและกับที่ว่า เมืองสาเกต กับอโยธยา เป็นเมืองเดียวหรือต่างเมืองกัน หากอโยชฌาในคัมภีร์บาลีเป็นเมืองเดียวกันกับอโยธยาของทางฮินดู ดังกล่าว เมืองนี้ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งติดต่อกันกับเมืองไฟซาบาด ซึ่งเป็นจุดแห่งความเจริญใหม่ และเป็นที่ตั้งที่ทำการของจังหวัดชื่อเดียวกันคัมภีร์ทางเชนและฮินดูส่วนมาก กล่าวแสดงให้เข้าใจว่า สาเกตกับอโยธยาเป็นเมืองเดียวกัน ผู้รู้ปัจจุบันบางท่านเห็นด้วยกับการที่กล่าวนี้ แต่ก็มีหลายท่านที่ไม่เห็นด้วย โดยให้น้ำหนักแก่ ข้อที่เมืองทั้งสองมีชื่อกล่าวถึงในคัมภีร์บาลีในลักษณะเป็นคนละเมือง ฝ่ายหลังนี้สันนิษฐานว่า เมืองสาเกตได้แก่ซากที่ สุชานโกฏิ ใกล้ฝั่งแม่น้ำไช ในเขตจังหวัดอุเนา ของรัฐอุตตรประเทศห่างจาก ตัวเมืองอุเนา ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕๔ กิโลเมตร หรือ ๓๔ ไมล์ ขณะนี้ ยังไม่มีการขุดค้นสำรวจ

๕. แคว้นวัชชี

แคว้นวัชชี ตั้งอยู่ทางเหนือของแคว้นมคธ มีแม่น้ำคงคาเป็นแดนแบ่งเขตแคว้นทั้งสองเมืองหลวงของแคว้นชื่อ เวสาลี เทียบ กับปัจจุบัน แคว้นวัชชีได้แก่รัฐพิหารตอนเหนือ หรือประมาณคร่าว ๆ ได้แก่เนื้อที่บริเวณจังหวัด มุซัฟฟาร์ปูร์ ดรภังคะ จัมปารัน และไวศาลีรายละเอียดเกี่ยวกับอาณาเขต นอกจากที่บอกว่าทาง ทิศใต้ จดแม่น้ำคงคาดังกล่าวแล้ว ทางทิศอื่นไม่มีหลักฐานบอกให้ทราบแน่ชัด นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีลงความเห็นว่า ทางทิศ ตะวันออก เขตของแคว้นวัชชี คงจะจดแม่น้ำโกสี หรือเกาสิกี ในปัจจุบัน ตะวันออกแม่น้ำนี้เป็นเขตที่เรียกในสมัยพุทธกาลว่า อังคุตตราปะ ทางทิศเหนือ จดทิวเขาหิมาลัยซึ่ง เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาลและทางตะวันตกจดแม่น้ำคัณฑักใหญ่ อันน่าจะเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างแคว้นวัชชีกับแคว้นมัลละ ในสมัยนั้น แม่น้ำคัณฑักนี้เรียกกันว่า คัณฑกะ หรือคัณฑกีอีกบ้าง ผู้รู้ลงความเห็นว่า ได้แก่แม่น้ำที่ทางอินเดียสมัยโน้นเรียกว่าสทานีรา แต่บางท่านให้ความเห็นว่าได้แก่แม่น้ำมหี ที่ปรากฏชื่อในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่า เป็นหนึ่งใน ปัญจมหานที หรือแม่น้ำใหญ่ ๕ สายของอินเดียเหนือในพุทธสมัย

แคว้นวัชชีในสมัยพุทธกาล เป็นแคว้นที่รุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่ง มีการปกครองแบบคณราชย์ หรือสามัคคีธรรม ซึ่งอาจเรียก ได้ว่าเป็นประชาธิปไตยในลักษณะหนึ่ง คือปกครองแบบไม่มี กษัตริย์เป็นประมุขทรงอำนาจสิทธิ์ขาด มีแต่ผู้ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ แล้วบริหารงานโดยการปรึกษาหารือกับสภาซึ่งประกอบด้วยเจ้าหรือกษัตริย์วงศ์ต่าง ๆ รวมถึง ๘ วงศ์ด้วยกัน และในจำนวนนี้วงศ์สิจฉวีแห่งเวสาลี และวงศ์วิเทหะแห่งมิถิลา เป็นวงศ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด

เวสาลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชีในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นซากอยู่ที่ตำบลสาร์ท หรือเบสาร์ท แห่งจังหวัดไวศาลี ที่เขตติดต่อของอำเภอ สดาร์ กับ หชิปูร์ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการจังหวัด ห่างจากหชิปูร์ ๓๕ กิโลเมตร หรือ ๒๒ ไมล์ และห่างจากเมืองมุซัฟฟาร์ปูร์ ๓๗ กิโลเมตร หรือ ๒๓ ไมล์ โดยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมุซัฟฟาปูร์เดิมเขตของเวสาลีขึ้นกับจังหวัดมุซัฟฟาร์ปูร์ แต่พร้อมกันกับการจัดตั้งจังหวัดนาลันทาและอื่น ๆ ในปี ๒๕๑๕ ดังกล่าวข้างต้น ทางการก็ได้จัดตั้งจังหวัดไวศาลีขึ้นด้วย โดยมีหชิปูร์เป็นที่ตั้งที่ทำการจังหวัด ผลการจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ดังกล่าวทำให้เขตที่ตั้งของเวสาลีเดิมมาขึ้นกับจังหวัดใหม่คือไวศาลี

เวสาลี นครหลวงของวัชชี เป็นจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในสมัยของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมเวสาลีครั้งแรก ในปีที่๕ แต่ตรัสรู้ ตามการกราบทูลเชิญของคณะผู้ครองแคว้น เมื่อเวสาลีประสพทุพภิกขภัยและฉาตกภัยร้ายแรง ผู้คนล้มตายนับจำนวนไม่ได้ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงด้วยอำนาจพุทธานุภาพทำให้ภัยทั้งหลายสงบลง และหมดสิ้นไปในระยะเวลาอันรวดเร็วและที่ป่ามหาวันนี้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีกับเหล่านางสากิยานี ๕๐๐ ได้พร้อมกันปลงผมและครองเพศนักบวช เดินทางจากกบิลพัสดุ์มาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อกราบทูลขอบวชในพระศาสนา อันมีผลทำให้พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธานุญาตให้มีภิกษุสงฆ์ หรือให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีในพระศาสนาได้

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระสูตรสำคัญ ๆ หลายสูตรที่เวสาลี อาทิเช่น รตนสูตร มหาลิสูตร มหาสีหนาทสูตร จูลสัจจกะ และมหาสัจจกะสูตร เตวิชชสูตรสุนักขัตตสูตร และสารันททสูตร ซึ่งทรงแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการ แก่เจ้าลิจฉวีจำนวนมาก ซึ่งได้พากันมาเฝ้าพระพุทธองค์ ณ สารันททเจดีย์ อันเป็นที่ทรงแสดงพระสูตรดังกล่าว

ใน การเสด็จเวสาลีครั้งสุดท้ายก่อนปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงรับสวนมะม่วงของนางอัมพปาลีคณิกา หญิงงามเมืองแห่งเวสาลี ซึ่งนางได้อุทิศถวายให้เป็นสังฆารามในพระศาสนาพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาสุดท้าย ที่เวฬุวคาม ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี ได้มีการทำสังคายนา ครั้งที่สอง ณ วาลุการาม ซึ่งสถานที่ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในเวสาลีแห่งแคว้นวัชชี.

พระโบราณจารย์ทั้งหลาย พรรณนาไว้นับแต่เรื่องกรุงเวสาลีดังได้สดับมา พระอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระครรภ์. พระนางทรงทราบแล้วก็ได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาก็พระราชทานเครื่องบริหารพระครรภ์. พระนางได้รับบริหารพระครรภ์มาเป็นอย่างดี ก็เสด็จเข้าสู่เรือนประสูติ ในเวลาพระครรภ์แก่. เหล่าท่านผู้มีบุญย่อมออกจากครรภ์ในเวลาใกล้รุ่ง. ก็ในบรรดาท่านผู้มีบุญเหล่านั้น พระอัครมเหสีพระองค์นั้น ก็เป็นผู้มีบุญพระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระนางก็ประสูติชิ้นเนื้อ เสมือนดอกชะบามีพื้นกลีบสีแดงดังครั่ง ต่อจากนั้น พระเทวีพระองค์อื่นๆ ก็ประสูติพระโอรสเสมือนรูปทอง, พระอัครมเหสีประสูติชิ้นเนื้อ

ดังนั้นพระนางทรงดำริว่า “เสียงติเตียนจะพึงเกิดแก่เรา ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราชา” เพราะทรงกลัวการติเตียนนั้น จึงทรงสั่งให้ใส่ชิ้นเนื้อนั้นลงในภาชนะใบหนึ่ง เอาภาชนะอีกใบหนึ่งครอบปิดไว้ ประทับตราพระราชลัญจกรแล้ว ให้ลอยไปตามกระแสแม่จ้ำคงคา พอเจ้าหน้าที่ทั้งหลายทิ้งไป เทวดาทั้งหลายก็จัดการอารักขา ทั้งเอายางมหาหิงคุ์จารึกแผ่นทองผูกติดไว้ที่ภาชนะนั้นว่า พระราชโอรสธิดาของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้ากรุงพาราณสี. ต่อนั้นภาชนะนั้น มิได้ถูกภัยคือคลื่นรบกวน ก็ลอยไปตามกระแสแม่น้ำคงคา.

สมัยนั้น ดาบสรูปหนึ่งอาศัยครอบครัวของคนเลี้ยงโค อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา. เช้าตรู่ ดาบสรูปนั้นก็ลงสู่แม่น้ำคงคา แลเห็นภาชนะนั้นลอยมา ก็ถือเอาด้วยบังสุกุลสัญญา ด้วยเข้าในว่าเป้นของที่เขาทิ้งแล้ว. ต่อนั้น ก็แลเห็นแผ่นจารึกอักษรและตราพระราชลัญจกร ก็แก้ออกเห็นชิ้นเนื้อนั้น ครั้นเห็นแล้ว ดาบสรูปนั้นก็คิดว่า เห็นทีจะเป็นสัตว์เกิดในครรภ์ ดังนั้น จึงไม่เน่าเหม็น ก็นำชิ้นเนื้อนั้นไปยังอาศรม ว่าไว้ในที่สะอาด. ล่วงไปครึ่งเดือนชิ้นเนื้อก็แยกเป็น ๒ ชิ้น ดาบสเห็นแล้ว ก็วางไว้อย่างดี. ต่อจากนั้น ล่วงไปอีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อแต่ละชิ้นก็เกิดปมชิ้นละ ๕ สาขา เพื่อเป็นมือ เท้าและศีรษะ ดาบสก็บรรจงวางไว้เป้นอย่างดีอีก. ต่อนั้น อีกครึ่งเดือน ชิ้นเนื้อ ชิ้นหนึ่งก็เป็นทารก เสมือนรูปทอง อีกชิ้นหนึ่งก็เป็นทาริกา ดาบส เกิดความรักดังบุตรในทารกทั้งสองนั้น. น้ำนมก็บังเกิดจากหัวนิ้ว แม่มือของดาบสนั้นตั้งแต่นั้นมา ดาบสได้น้ำนมและอาหารมา ก็บริโภคอาหาร หยอกน้ำนมในปากของทารกทั้งสอง. สิ่งใดๆ เข้าไปในท้องของทารกนั้น สิ่งนั้นๆทั้งหมดก็จะแลเห็นเหมือนเขาไปในภาชนะทำด้วยแก้วมณี. ทารกทั้งสอง ไม่มีผิวอย่างนี้.  แต่อาจารย์พวกอื่นๆกล่าวว่า ผิวของทารกทั้งสองนั้น ใสถึงกันและกันเหมือนถูกร้อยด้ายว่างไว้. ทารกเหล่านั้น จึงปรากฏชื่อว่า ลิจฉวี เพราะไม่มีผิว หรือเพราะมีผิวใส ด้วยประการฉะนี้.

ดาบสเลี้ยงทารก พอตะวันขึ้นก็เข้าบ้านแสวงหาอาหาร ตอนสายๆก็กลับ. คนเลี้ยงโคทั้งหลาย รู้ถึงการขวนขวายนั้นของดาบสนั้น ก็กล่าวว่าท่านเจ้าข้า การเลี้ยงทารกเป็นกังวลห่วงใยของเหล่านักบวช ขอท่านโปรดให้ทารกแก่พวกเราเถิด พวกเราจะช่วยกันเลี้ยง ขอท่านโปรดทำกิจกรรมของท่านเถิด. ดาบสก็ยอมรับ. วันรุ่งขึ้น พวกคนเลี้ยงโค ก็ช่วยกันทำหนทาง ให้เรียบแล้วโรยทราย ยกธง มีดนตรีบรรเลงพากันมายังอาศรม. ดาบสกล่าวว่าทารกทั้งสองมีบุญมาก พวกท่านจงช่วยกันเลี้ยงให้เจริญวัย  ด้วยความไม่ประมาท ครั้นให้เจริญวัยแล้ว จงจัดการอาวาหวิวาหกันและกัน ให้พระราชาทรงยินดีด้วยปัญจโครส จงเลือกหาภูมิประเทศช่วยกันสร้างพระนครขึ้น จงอภิเษกพระกุมารเสีย ณ ที่นั้น แล้วมอบทารกให้. พวกคนเลี้ยงโครับคำแล้วก็นำทารกไปเลี้ยงดู.ทารกทั้งสอง เจริญเติบโตก็เล่นการเล่น ใช้มือบ้าง เท้าบ้าง ทุบถีบพวกเด็กลูกของคนเลี้ยงโคอื่นๆ ในที่ทะเลาะกัน เด็กลูกคนเลี้ยงโคเหล่านั้นก็ร้องไห้ ถูกมารดาบิดาถามว่าร้องไห้ทำไม ก็บอกว่า เจ้าเด็กไม่มีพ่อแม่ที่ดาบสเลี้ยงเหล่านี้ ข่มเหงเรา. แต่นั้น มารดาบิดาของเด็กเหล่านั้นก็กล่าวว่าทารกสองคนนี้ชอบข่มเหงให้เด็กอื่นๆ เดือดร้อน จะไม่สงเคราะห์มัน ละเว้นมันเสีย. เขาว่าตั้งแต่นั้นมา ประเทศที่นั้น จึงถูกเรียกว่า วัชชี ขนาด ๓๐๐โยชน์.  ครั้งนั้น พวกคนเลี้ยงโคทำพระราชาให้ยินดีแล้ว เลือกเอาประเทศที่นั้นสร้างพระนครลงในประเทศนั้น แล้วอภิเษกพระกุมาร ซึ่งพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา ตั้งเป็นพระราชา ได้ทำการวิวาหมงคลกับทาริกาของพระองค์ ได้วางกติกากฎเกณฑ์ ไว้ว่า จะไม่นำทาริกามาจากภายนอก และไม่ให้ทาริกาจากที่นี้แก่ใคร ๆ . โดยการอยู่ร่วมกันครั้งแรกของพระกุมารกุมารีนั้น ก็เกิดทารกคู่ หนึ่ง เป็นธิดา ๑ โอรส ๑ โดยอาการอย่างนี้ ก็เกิดเป็นคู่ ๆ ถึง ๑๖ ครั้ง.แต่นั้น เมื่อทารกเหล่านั้นเจริญวัยโดยลำดับ นครนั้นก็ไม่พอที่จะบรรจุอารามอุทยาน สถานที่อยู่ บริวารและสมบัติ จึงล้อมรอบด้วยประการ ๓ ชั้น ระหว่างคาวุต หนึ่ง ๆ เพราะนครนั้นถูกขยายกว้างออกบ่อย ๆ จึงเกิดนามว่าเวสาลีนี้แล. นี้เรื่องกรุงเวสาลี

๖. แคว้นมัลละ

แคว้นมัลละ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นวัชชี ทางเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นกาสี และทางตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นโกศล เทียบกับปัจจุบันแคว้นมัลละได้แก่พื้นที่ส่วนตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศ คือ บริเวณจังหวัดโครักขปูร์ เดวเรีย หรือเทวริยา กับบางส่วนของจังหวัด อซัมคาร์ห แคว้นมัลละมีการปกครองแบบคณราชย์ หรือสามัคคีธรรม ทำนองเดียวกันกับแคว้นวัชชี คณะเจ้าผู้ครองแคว้นคือเจ้าวงศ์มัลละอาณาเขตของแคว้นมัลละ ไม่มีบอกไว้ชัดแจ้ง แต่เมื่อประมวลหลักฐานจากที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันแล้ว นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า ทิศตะวันออก จดแคว้นวัชชีโดยมีแม่น้ำซึ่งเรียกในปัจจุบันว่า คัณฑัก หรือคัณฑกีใหญ่และลงความเห็นกันว่าได้แก่ แม่น้ำ สทานีราหรือแม่น้ำมหีในสมัยก่อน เป็นแดนแบ่งเขตแคว้น ทั้งสองเขตทางทิศใต้ จดแคว้นกาสี ทิศตะวันตกจดแคว้นโกศล ทิศเหนือยื่นไปจนจดภูเขาหิมาลัย แคว้นมัลละนี้ ในสมัยพุทธกาลแยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มีเมืองหลวงอยู่ที่กุสินารา อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ ปาวา กล่าวว่าเมืองทั้ง สองนี้อยู่ห่างกัน ๓ คาวุต (ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร) เทียบกับเมืองหลวง และเมืองสำคัญบางเมืองของแคว้นอื่น ๆในสมัยนั้นแล้ว ทั้งกุสินาราและปาวา อยู่ในฐานะเป็นเมืองเล็ก

แคว้นมัลละ เป็นแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของพุทธศาสนิก ในฐานะเป็นที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ เสด็จดับขันธปรินิพพานที่แคว้นนี้ที่สาลวัน - ป่าไม้รัง – อันเป็นพระราชอุทยานที่เสด็จประพาสของเหล่ากษัตริย์มัลละซึ่งตั้งอยู่ บนฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เขตเมืองกุสินารา ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกเฉียงเหนือไม่ไกลนัก

ในช่วงเวลา ๔๕ พรรษาของการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธองค์เคยได้เสด็จมายังกุสินาราและปาวารวมหลายครั้งด้วยกัน ในวันเสด็จปรินิพพานพระพุทธองค์ทรงรับภัตตาหาร อันเป็นปัจฉิมบิณฑบาต หรือภัตตาหารมื้อสุดท้ายสำหรับพระองค์ ที่บ้านของนายจุนทะกัมมารบุตร ณ เมืองปาวา จากนั้นจึงได้เสด็จต่อมายังกุสินารา อันเป็นปรินิพพานสถานปัจจุบัน กุสินารา ได้แก่หมู่บ้าน หรือตำบลซึ่งเรียกชื่อว่า กุสินคร หรือกาเซียหรือกาสยา ในเขตจังหวัดเดวเรีย หรือเทวริยา แห่งรัฐอุตตรประเทศ อยู่ทางเหนือของเทวริยา และทางตะวันออกของตัวจังหวัดโครักขปูร์ ระยะทาง ๓๔ กิโลเมตรหรือ ๒๑ ไมล์ และ ๔๕ กิโลเมตร หรือ ๓๔ ไมล์ โดยลำดับ เมื่อก่อนหมู่บ้านหรือตำบลนี้ขึ้นกับจังหวัดโครักขปูร์ แต่ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดเทวริยาซากของกุสินารา ซึ่งโผล่ขึ้นมาให้เห็นจากผลแห่งการขุดค้นของนักสำรวจและได้หลักฐานยืนยันแน่นอนแล้วขณะนี้ก็คือ  สาลวโนทยานสถานที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถา กุนวะระ กา โกฏ แปลว่าตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ การขุดค้นสำรวจ ได้พบพระพุทธรูปหินใหญ่ปางเสด็จ บรรทมปรินิพพานยาว ๒๐ ฟุต สร้างประดิษฐานไว้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๕ (พ.ศ. ๙๐๐ เศษ) กับ ซากสถูปเก่าแก่แผ่นจารึกภายใน บอกว่าเป็น ปรินิพพานสถูป อันเป็นเครื่องบ่งชัดว่าสร้างหมายจุดที่เสด็จปรินิพพาน รวมทั้งซากสถูปเจดีย์ใหญ่น้อย และซากกุฏิวิหารโดยรอบอีกด้วย ที่ตั้งของตัวเมืองกุสินารา ยังไม่ได้ทำการขุดค้นให้เป็นที่ยืนยันแน่นอน แต่นักโบราณคดีรวมทั้งชาวพุทธอินเดียทั่วไป ลงความเห็นว่า ได้แก่หมู่บ้านซึ่งมีชื่อในปัจจุบันว่า อนรุธวา หรือ อนิรุธวา ซึ่งอยู่ห่างจากที่เสด็จปรินิพพาน ที่ค้นพบแล้วนี้ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลกันนักสถานที่ซึ่งได้ค้นพบและลง ความเห็นแน่นอนแล้วอีกแห่งหนึ่งที่กุสินารานี้คือ มกุฏพันธนเจดีย์ที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่ารามภาร์-กา-ฏีลา อยู่ห่างจากที่ เสด็จปรินิพพานประมาณกิโลเมตรเศษ มีซากสถูปใหญ่เก่าแก่เป็นที่หมายเช่นเดียวกับกุสินารา ที่ตั้งของเมืองปาวา ก็ยังคงไม่มีหลักฐานให้ยืนยันได้อย่างแน่ชัด บางท่านให้ความเห็นว่า ได้แก่ ตำบลปทเรานะ ซึ่งอยู่ห่างจากกุสินาราไปทางเหนือ ๑๘ กิโลเมตร หรือ ๑๒ ไมล์ ในเขตจังหวัดเทวริยา แต่ส่วนมากรวมทั้งชาวพุทธ อินเดียเห็นว่า ได้แก่ หมู่บ้านที่มีชื่อในปัจจุบันว่า ฟะซิลนคร หรือเจติยันวา (หมู่บ้านเจดีย์) ซึ่งอยู่ห่างจากที่เสด็จปรินิพพานไปทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร หรือ ๑๐ ไมล์ หมู่บ้าน นี้อยู่ในเขตเทวริยาเช่นกัน และมีซากโบราณสถานอยู่มากนอกจากกุสินาราและปาวาแล้ว สถานที่ในเขตแคว้นมัลละ ซึ่งควรได้รับการกล่าวถึงโดยเฉพาะอีกทางหนึ่งก็คือ อนุปิยอัมพวัน หรือ อนุปิยนิคม ซึ่งคัมภีร์กล่าวว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ อโนมา และ อยู่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์กับราชคฤห์ ๓๐ โยชน์เท่ากัน

พระพุทธองค์เมื่อเสด็จออกบรรพชา เสด็จถึงแม่น้ำอโนมา ทรงข้ามแม่น้ำ ทรงปลงพระเกศา ครองผ้ากาสาวะอธิษฐานเพศบรรพชา แล้วเสด็จอยู่ ณ อนุปิยอัมพวันเป็นเวลา ๗ วัน ก่อนที่จะได้เสด็จสู่ราชคฤห์ ครั้งพระองค์เสด็จเยี่ยมกบิลพัสดุ์หลังตรัสรู้แล้ว เมื่อเสด็จ กลับก็ได้เสด็จประทับ ณ อนุปิยอัมพวันนี้อีก และ ณ ที่นี้ ในโอกาสนั้นพระญาติ ๖ องค์คือ อนุรุทธะภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และ เทวทัต รวมเป็น ๗ กับนายอุบาลีภูษามาลา ได้มาเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต และได้ทรงประทานอุปสมบทให้ดั่งประสงค์ความสำคัญอีกประการหนึ่งของอนุปิยนิคม ก็ในฐานะที่ เป็นบ้านเกิดของ พระทัพพมัลลบุตร พระสาวกผู้มีประวัติชีวิตพิเศษ และเป็นพระสาวกผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง

๗. แคว้นเจตี เจดี หรือ เจตีย์

เกี่ยวกับแคว้นนี้ หลักฐานต่าง ๆ มีอยู่น้อย ที่ตั้งของแคว้นก็ไม่ได้บอกไว้ให้ชัดเจน ชื่อของเมืองหลวงก็ไม่ได้รับการกล่าวถึง อย่างไรก็ตามจากหลักฐานเท่าที่มี ก็พอทำให้นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลงความเห็นได้ว่า แคว้นนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นวังสะ และตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้น กาสี ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า บุนเดลขัณฑ์ คือดินแดนเริ่มแต่แม่น้ำยมุนา ทางทิศเหนือ จดแม่น้ำนัมมทา หรือนรมทา ทางทิศใต้ จดแม่น้ำเบตวา ทางทิศตะวันตก จดแม่น้ำโตน หรือเลยออกไปอีกจนถึงแม่น้ำโสณะ หรือโซน ทางทิศตะวันออกหรือเรียกอีกอย่างว่า ได้แก่พื้นที่ในตอนใต้ของรัฐอุตตรประเทศ กับตอนเหนือของรัฐมัธยประเทศในปัจจุบัน ขชุราโห อันลือชื่อของอินเดีย ก็อยู่ในเขตที่เรียกว่า บุนเดลขัณฑ์นี้ อาณาเขตของแคว้นเจตีในพุทธสมัย จะครอบคลุมเนื้อที่ประมาณเท่าใด ในบริเวณดังกล่าวนี้ ยังไม่มีการลงความเห็นกันแน่นอน

ในอรรถกถา เวติยชาดก หรือ เจติยราชชาดก มีกล่าวถึงชื่อเมืองหลวงของแคว้นเจตีว่า ชื่อโสตถิวดี หรือ โสตถิยนคร แต่นั่น เป็นการกล่าวถึงเรื่องในอดีตชาติ หรืออดีตสมัย ไม่ใช่สมัยของพระพุทธองค์ ผู้รู้บางคนให้ความเห็นว่า เมืองโสตถิวดีนี้อยู่ในเขตจังหวัดบันดา ทางใต้ของรัฐอุตตรประเทศ ใกล้ ๆ กับจังหวัดอัลลฮาบาด ขณะนี้เมืองสำคัญของแคว้นเจตีอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งปรากฏชื่อ คือเมือง สหชาติ พระพุทธองค์เคยเสด็จประทับ และแสดงพระธรรมเทศนาแก่ชาวเจตีเป็นจำนวนมากที่นี่ คราวทำทุติยสังคายนา พระยสเถระกัณฑกบุตรผู้ริเริ่มชักชวนสงฆ์ ได้ติดตามมาพบท่านพระเรวตเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในการสังคายนาดังกล่าวที่เมืองสหชาตินี้ จากการได้พบวัตถุหลักฐานบางอย่างที่หมู่บ้าน ภีตา นอกเมืองอัลลฮาบาดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร (๑๐ไมล์) ทำให้นักโบราณคดีมีความเห็นว่า หมู่บ้าน ดังกล่าวคือที่ตั้งเมืองสหชาติที่ซึ่งควรระบุอีกแห่งหนึ่งของแคว้นเจตีนี้ก็คือ ปาจีนวังสะทายะ หรือ ปาจีนวังสะมิคทายะ ซึ่งในอังคุตตรนิกายและวินัยปิฏกกล่าวว่า เป็นที่สำเร็จพระอรหัตของ ท่านพระอนุรุทธะ พระพุทธองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมพระอนุรุทธะที่นี่ ก่อนที่จะเสด็จต่อไปยังป่าปาริไลยกะ ในคราวที่พระสงฆ์เมืองโกสัมพีทะเลาะกัน ดังที่จะได้กล่าวถึงข้างหน้า โอกาสนั้นได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ว่าด้วยมหาปุริสวิตก ๘ ประการ แด่ท่านพระอนุรุทธะ ดังที่มีปรากฏในอนุรุทธสูตร หรือ มหาปุริสวิตักกสูตร พระอนุรุทธะได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรต่อไป ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล นอกจากที่กล่าวแล้วนี้ พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเยี่ยมปาจีนวังสทายะนี้อีกหลายโอกาสด้วยกันป่าปาริไลยกะ เป็นชื่อหนึ่งที่เรารู้จักกันดี ดูตามระยะการเสด็จของพระพุทธองค์แล้ว ก็น่าจะเห็นว่าอยู่ในเขตเจตี แต่คงเพราะไม่มีที่บอกไว้ชัดว่าอยู่ในแคว้นใด จึงกล่าวกันว่าอยู่ในแคว้นเจตีบ้าง แคว้นวังสะบ้าง ครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จจากโกสัมพีสู่พาลกโลณการาม ซึ่งกล่าวว่าอยู่ในแคว้นวังสะ จากนั้นจึงเสด็จไปปาจีนวังสทายะ แล้วเสด็จต่อไปยังปาริไลยกะ ประทับจำพรรษาที่ ๑๐ อยู่ ณ ที่นั้นแต่พระองค์เดียว

๘. แคว้นวังสะ

แคว้นวังสะ หรือวัตสะ ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นโกศล และทางเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอวันตี อาณาเขตของแคว้นไม่มีบอกไว้ให้ชัดเจน แต่ก็กล่าวว่าไม้กว้างขวางใหญ่โตนัก ในสมัยพุทธกาลแคว้นวังสะเป็นราชอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรือง และมีอำนาจมากแคว้นหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นคือพระเจ้าอุเทน เทียบกับปัจจุบัน แคว้นวังสะ ได้แก่เขตจังหวัดอัลลฮาบาด ของรัฐอุตตรประเทศและบริเวณใกล้เคียงแคว้นวังสะมีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยมุนา ปัจจุบันได้แก่ตำบลหรือหมู่บ้านโกสัม ในเขตจังหวัดอัลลฮาบาด ห่างจากตัวเมืองอัลลฮาบาดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๕๙ กิโลเมตร หรือ ๓๗ ไมล์ ได้มีการขุดค้นสำรวจ และได้หลักฐานเป็นที่แน่นอนแล้ว ซากกำแพงเมืองก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่การขุดค้นสำรวจซึ่งได้ทำแล้ว ณ บางจุด รวมทั้งจุดซึ่งเข้าใจเป็นวัดโฆสิตารามด้วย ได้พบโบราณวัตถุต่างชนิดรวมทั้งพระพุทธรูปมากมาย ส่วนใหญ่เวลานี้รักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองอัลลฮาบาดโกสัมพีในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองใหญ่และเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างแคว้นที่สำคัญแห่งหนึ่ง พระอานนท์ระบุว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งควรเป็นที่เสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์วัดที่โกสัมพีในพุทธสมัยมีปรากฏชื่อ ๔ วัด คือวัดโฆสิตาราม วัดกุกกุฏาราม วัดปาวาริการาม หรือปาวาวิกัมพวัน ซึ่งเศรษฐีแห่งโกสัมพี ๓ คน คือเศรษฐีโฆสกะหรือโฆสิตะ เศรษฐีกุกกุฏะ และเศรษฐีปาวาริกะโดยลำดับ สร้างถวายแด่พระพุทธองค์ ในโอกาสเดียวกัน กับวัดที่ ๔ คือวัดพัทริการาม ซึ่งดูว่าจะอยู่ห่างออกไปเล็กน้อยปรากฏตามพระคัมภีร์ว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จประทับ ณ วัดทั้งสี่นี้บ่อย ๆ และบางโอกาสได้ประทับอยู่นาน ได้ทรงแสดงพระสูตรต่าง ๆ ณ วัดทั้งสี่นี้เป็นจำนวนมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทรวมหลายสิขาบท รวมทั้งที่ห้ามภิกษุดื่มสุราด้วยพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่ ๙ ณ โกสัมพีนี้ แต่ยังค้นไม่พบว่าทรงประทับอยู่ ณ ที่ไหน

ในปีพรรษาที่ ๑๐ พระสงฆ์ที่วัดโฆสิตารามทะเลาะกัน และแตกออกเป็นสองพวกแม้พระพุทธองค์จะได้เสด็จมาตักเตือนห้ามปราม และทรงขอให้กลับสามัคคีกัน ก็ยังไม่ทำตามพระพุทธโอวาท พระพุทธองค์ทรงมีความระอาต่อการณ์ดังกล่าวจึงได้เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่แต่พระองค์เดียว ที่รักขิตวันแห่งป่าปาริไลยกะ ดังได้กล่าวแล้วในเรื่องแคว้นเจตี ออกพรรษาแล้วจึงเสด็จ ต่อไปยังสาวัตถี พระที่ทะเลาะกันรู้สำนึกความผิด และคืนดีกันได้ภายในพรรษา ออกพรรษาแล้วจึงได้พร้อมใจกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ สาวัตถี เพื่อกราบทูลขอโทษ

ที่โฆสิตารามนี้ พระฉันนะ ถือตัวว่าเป็นคนเก่าแก่ของพระพุทธองค์ ประพฤติตนเป็นคนดื้อด้านว่ายาก ไม่ยอมฟังคำตักเตือนของผู้ใด ก่อนจะเสด็จปรินิพพานพระพุทธองค์ตรัสบอกท่านพระอานนท์ว่า ให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะคือไม่พูดด้วย ไม่ว่ากล่าตักเตือน และเกี่ยวข้องอะไรด้วยทั้งสิ้น เสร็จสังคายนาครั้งที่หนึ่งแล้ว โดยฉันทานุมัติจากที่ประชุมสงฆ์ ท่านพระอานนท์ พร้อมด้วยบริวารได้เดินทางจากราชคฤห์มายังโฆสิตาราม เพื่อ ประกาศลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ พระฉันนะได้สำนึก ประพฤติตนดี และเอาใจใส่ในการบำเพ็ญเพียร จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

นอก จากที่กล่าวแล้วนี้ เรื่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ณ โกสัมพี ที่ทราบกันแพร่หลายที่มีเล่าในอรรถกถา ธรรมบทก็มีเรื่องโฆสกะเศรษฐี เรื่องพระพากุละหรือพักกุละเรื่องพระปิณโฑลภารทวาชะ และเรื่องของพระเจ้าอุเทน กับพระนางสามาวดีพระนางมาคันทิยา และพระนางวาสุลทัตตาเป็นต้นตามความที่ปรากฏในเรื่องของพระเจ้าอุเทน กับพระมเหสีทั้งสามที่โกสัมพีนี้ พระพุทธองค์ทรงถูกเหล่าขนมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งได้รับสินจ้างจากพระนางมาคันทิยาผู้ผูกอาฆาตในพระพุทธองค์ ติดตามด่าว่าเยาะเย้ยด้วยประการต่าง ๆ จนท่านพระอานนท์ทนฟังไม่ไหว ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่าควรจะเสด็จหนีไปเมืองอื่นเสียแต่พระพุทธองค์ไม่ทรง เห็นด้วย ตรัสว่า เรื่องเกิดขึ้นที่ไหนก็ควรทำให้สงบ ณ ที่นั้นเสียก่อน จึงค่อยไปที่อื่น แล้วตรัสพระพุทธภาษิตอันถือกันว่า เป็นธรรมะสอนใจอย่างดียิ่ง เรื่องละเอียดมีใน สามาวดีวัตถุ แห่งอรรถกถาธรรมบท

๙. แคว้นกุรุ

แคว้นกุรุ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นปัญจาละ ทางเหนือของแคว้นสุรเสนะและตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นมัจฉะ พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นในสมัยพุทธกาลคือ พระเจ้าโกรัพยะ เทียบกับปัจจุบันแคว้นกุรุได้แก่เขตของเดลี นครหลวงของอินเดียขณะนี้ กับเขตใกล้เคียงอื่น ๆ คือจังหวัดมีรัต ของรัฐอุตตรประเทศ และพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป ที่รวมเรียกว่ากุรุเกษตร หรือฐาเนศวระ อันได้แก่เขตของโสนะปัต ปานีปัต และกรนาล ของรัฐหรยานะ ในปัจจุบันเมืองหลวงของแคว้นกุรุในพุทธสมัย คือ อินทปัฏฐ์ หรือ อินทปัตถ์ ปัจจุบันได้แก่หมู่บ้านอินทรปัต ในเขตจังหวัดเดลี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำยมุนา ห่างจากกรุงเดลีออกไปทางใต้ประมาณ ๓ กิโลเมตร หรือ ๒ ไมล์แคว้นกุรุสมัยพุทธกาล ไม่มีความสำคัญทางด้านการเมืองมากนัก แต่ก็เป็นแคว้นที่อุดุมสมบูรณ์ ผู้คนพลเมืองมีสุขภาพอนามัยดี ใฝ่ในธรรม ฉลาด และมีความคิดลึกซึ้ง กล่าวว่า นี่เป็นเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยธรรมะ มีข้อความลึกซึ้ง เข้าใจได้ยาก เช่น มหานิทานสูตร และมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นต้น แก่พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์แห่งแคว้นกุรุ พระพุทธองค์เคยเสด็จแคว้นกุรุหลายครั้ง และปรากฏว่า นิคมชื่อกัมมาสธัมมะหรือ กัมมาสทัมมะ เป็นที่ซึ่งพระองค์เสด็จประทับมากที่สุด พระสูตรสำคัญทั้งสองสูตรที่กล่าวถึง ก็ทรงแสดงที่กัมมาสธัมมะนี้ พระนางมาคันทิยา มเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนแห่งโกสัมพี เป็นบุตรพราหมณ์มาคันทิยะแห่งกัมมาสธัมมะนี้พระสาวกผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ท่านหนึ่ง คือ พระรัฏฐปาละ ผู้ซึ่งได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเอตทัคคะหรือ เป็นยอดของภิกษุ ผู้ออกบวชด้วยศรัทธา เป็นบุตรผู้มีสกุลแห่ง นิคมถุลลโกฏฐิตะ แคว้นกุรุนี้ ประวัติกล่าวว่า ท่านได้แสดงธรรมเรื่องธรรมุทเทศสี่ แก่พระเจ้าโกรัพยะ แห่งแคว้นกุรุ จนพระเจ้าโกรัพยะ ทรงพอพระทัยและเลื่อมใสอย่างมาก

๑๐. แคว้นปัญจาละ

แคว้นปัญจาละ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแคว้นกุรุ และทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นโกศล เทียบกับปัจจุบันได้แก่ จังหวัดบเรลลี บุเดาน์ และฟารุขาบาด กับบริเวณใกล้เคียง ในเขตที่รวมเรียกว่า โรหิลขัณฑ์ อันเป็นพื้นที่ตอนกลาง และค่อนไปทางเหนือของรัฐอุตตรประเทศในปัจจุบันแคว้นปัญจาละ แยกออกเป็นสองส่วน คือ อุตตรปัญจาละ หรือปัญจาละเหนือกับ ทักขิณปัญจาละ หรือปัญจาละใต้ โดยมีแม่น้ำภาคีรถี เมืองหลวงของปัญจาละเหนือ ชื่อ อหิฉัตระหรือ ฉัตรวดี ของปัญจาละใต้ ชื่อ กัมปิลละ หรือ กัมปิลยะอหิฉัตระ นักโบราณคดีลงความเห็นว่า ปัจจุบันได้แก่หมู่บ้านรามนคร ในเขตจังหวัดบเรลลี ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกประมาณ ๓๒ กิโลเมตร หรือ ๒๐ไมล์ และกัมปิลละ หรือกัมปิลยะ ได้แก่หมู่บ้าน กัมปิล ในเขตจังหวัดฟารุขาบาดห่างจากฟาเตคาร์ห ของฟารุขาบาดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ๔๕ กิโลเมตรหรือ ๒๘ ไมล์แคว้นปัญจาละในสมัยพุทธกาล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากนัก แต่ในสมัยที่หลวงจีนฮวนฉางหรือถังซัมจั๋งมาสืบศาสนาในอินเดีย ในระยะเวลาที่ได้กล่าวถึงแล้ว ปรากฏว่า อหิฉัตระเป็นที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา มีเมืองสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนาอยู่สองเมือง ซึ่งยังไม่พบหลักฐานแน่นอนว่าในสมัยพุทธกาลอยู่ในแคว้นใด แต่เมื่อดูตามที่ตั้งของเมืองและแคว้นต่าง ๆ  เช่นที่ปรากฏในปัจจุบันแล้ว ก็เห็นว่าน่าจะอยู่ในแคว้นปัญจาละ  เมือง ทั้งสองดังกล่าวคือ สังกัสสะ กับเมืองกโนช หรือกเนาซ์ สังกัสสะ มีความสำคัญในฐานะเป็นที่เสด็จลงจากดาวดึงส์ ของพระพุทธองค์หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปทรงจำพรรษาที่ ๗  ณ ดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรด พระพุทธมารดาแล้ว เมืองกโนช หรือกเนาซ์ อันมีชื่อในภาษาบาลีว่า กัณณกุชชะ และในภาษาสันสกฤตว่า กานยกุพชะ นั้น มีความสำคัญในสมัยหลังพุทธองค์ และในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้เป็นเมืองหลวงของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ผู้ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในประวัติความเป็นมาของพระศาสนา และได้เป็นที่มั่นอัน สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาในยุคนั้นสังกัสสะ ปัจจุบัน ได้แก่หมู่บ้านสังกิสสะ หรือสังกิสสา ในเขตจังหวัด ฟารุขาบาด ของรัฐอุตตรประเทศ ตั้งอยู่บนฝั่งเหนือของแม่น้ำกาลี อันเป็นแดงแบ่งเขตจังหวัดฟารุขาบาดกับจังหวัดเมนบุรี และจังหวัดเอตาห์ห่างจากฟาเตคาร์ห ในเขตจังหวัดฟารุขาบาดไปทางตะวันตก ๓๗ กิโลเมตร หรือ ๒๓ ไมล์ และห่างจากสถานีรถไฟปักขนา ในเส้นทางฟารุขาบาด ชิโกฮาบาด ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร หรือ๗ ไมล์กโนช หรือ กเนาซ์ อยู่ในเขตจังหวัดฟารุขาบาดเช่นกัน อยู่ใต้ฟาเตคาร์ลงไปประมาณ ๕๖ กิโลเมตร หรือ ๓๕ ไมล์ เมื่อหลวงจีนฮวนฉางมาเยี่ยมกโนช ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ท่านได้บันทึกไว้ว่า ที่กโนชมีวัดอยู่กว่าร้อยวัด มีภิกษุอยู่ประจำกว่าหมื่นรูป และมีทั้งฝ่ายเถรวาทหรือหีนยาน และฝ่ายมหายาน

๑๑. แคว้นมัจฉะ

แคว้นมัจฉะ หรือ มัตสยะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ หรือตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นกุรุ ทางใต้ของแคว้นสุรเสนะ และทางตะวันตกของแม่น้ำยมุนา อันเป็นแดนแบ่งเขตกับปัญจาละใต้ เทียบกับปัจจุบันแคว้นมัจฉะได้แก่ อาณาเขตของจังหวัดชัยปูร์อัลวาร์ และ ภารัตปูร์ ของรัฐราชสถาน รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงโดยรอบเมืองหลวงของแคว้นมัจฉะ ชื่อ ไวราฏ หรือ วิราฏนคร และบางครั้งก็เรียกว่ามัตสยานครบ้าง เรียกว่ามัตสยาสัยนครบ้าง ปัจจุบันเรียกว่า ไพราฏ อยู่ห่างจากชัยปูร์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐราชสถานในปัจจุบัน ขึ้นไปทางเหนือ ๖๔ กิโลเมตร หรือ ๔๑ ไมล์ และอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเดลี ระยะทาง ๑๖๘ กิโลเมตร หรือ ๑๐๕ ไมล์

เรื่องราวเกี่ยวกับแคว้นมัจฉะ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามีน้อยมาก ที่ตั้งของแคว้นและชื่อเมืองหลวงเช่นที่ปรากฏก็ได้จากคัมภีร์และเรื่องราวของฮินดูแทบทั้งหมด แสดงว่าในสมัยของพระพุทธองค์ การพระศาสนายังไม่แพร่หลายในแคว้นมัจฉะ แต่จากการขุดค้นพบศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ไพราฏนี้ ซึ่งมีข้อความเป็นคำเผดียงสงฆ์ ถึงความเคารพเลื่อมใสของพระองค์ ซึ่งมีต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลงท้ายด้วยทรงระบุหมวดธรรมต่าง ๆ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระภิกษุ สามเณรและอุบาสกอุบาสิกาทั้งปวงสนใจ ท่องบ่นศึกษาและสดับฟัง แสดงให้เห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์นั้น แคว้นมัจฉะหรือที่นครไวราฏนี้ คงจะมีวัดและพระสงฆ์อยู่มาก

ในสมัยของหลวงจีนฮวนฉาง การพระศาสนาในแคว้นมัจฉะหรือโดยเฉพาะที่ไวราฏนี้ได้ทรุดโทรมลงแล้ว ท่านบันทึกไว้ว่า ได้พบวัดรวม ๘ วัดด้วยกัน แต่อยู่ในสภาพที่ถูกทอดทิ้งและหักพังทรุดโทรมมาก มีพระภิกษุอยู่เป็นจำนวนน้อย

๑๒. แคว้นสุรเสนะ

แคว้นสุรเสนะ อาณาเขตของแคว้นไม่มีบอกไว้ชัดเจน แคว้นนี้มักได้รับการกล่าวถึงร่วมกับแคว้นกุรุ และแคว้นมัจฉะเสมอ ๆ แสดงว่าคงจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นสุรเสนะ ในสมัยพุทธกาลปรากฏพระนามว่า พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ซึ่งสันนิษฐานตามพระนามนี้ว่า พระราชมารดาคงจะเป็นเจ้าหญิงจากแคว้นอวันตีเมืองหลวงของแคว้นสุรเสนะชื่าอ มถุรา หรือ มธุรา ตั้งอยู่ทางฝั่งขวา หรือฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำยมุนา และอยู่กึ่งกลางของเส้นทางติดต่อระหว่างกรุงอินทปัตถ์ของแคว้นกุรุ กับโกสัมพีของแคว้นวังสะในสมัยนั้น ปัจจุบันเมืองนี้ยงคงชื่อเดิมอยู่ และอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ เหนืออัคระ เมืองแห่งทัชมาฮาลขึ้นไปประมาณ ๕๖ กิโลเมตร หรือ ๓๕ ไมล์และใต้กรุงเดลีลงมาประมาณ ๑๔๑ กิโลเมตร หรือ๘๘ ไมล์ แต่ตัวเมืองมถุราปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ ณ ที่เดิมเลยทีเดียว มถุราเดิมบัดนี้เป็นซากเรียกกันว่า มโหลิ อยู่ห่างจากตัวเมืองปัจจุบันออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๘ กิโลเมตร หรือ ๕ ไมล์

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลายนักในแคว้นสุรเสนะ มีกล่าวไว้ในพระบาลีว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จมถุรา แต่ไม่ปรากฏชัดว่าได้ประทับที่นั่นหรือ ณ ที่อื่นในแคว้นนี้หรือไม่ ท่านพระมหากัจจายนะ พระสาวกชั้นผู้ใหญ่และสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นยอดแห่งพระภิกษุ ผู้มีความสามารถอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร เคยพำนักอยู่ที่ป่าคุนทาวันใกล้มถุรา พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้เสด็จไปหา และทรงถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องวรรณะ สดับธรรมกถาของท่านแล้ว ทรงมีความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ความในพระสูตรแสดงว่า เรื่องเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว กล่าวกันว่า พระพุทธศาสนาตั้งหลักได้ ในแคว้นสุรเสนะ ด้วยผลแห่งความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ

เมื่อหลวงจีนฟาเหียนและหลวงจีนฮวนฉางหรือถังซัมจั๋ง  มาสืบศาสนาในอินเดียในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ และตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยลำดับท่านได้พบว่าพระพุทธศาสนาที่มถุราในสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งมถุราในปัจจุบัน ซึ่งมีศิลปวัตถุโบราณทั้งของพุทธและอื่น ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก มีพระพุทธรูปหินในท่าประทับยืน ซึ่งได้รับยกย่องว่างดงามมากอยู่องค์หนึ่ง

๑๓. แคว้นอัสสกะ

แคว้น อัสสกะ ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำโคธาวรี หรือโคทาวรี โดยมีแคว้นอาฬกะ หรือมูฬกะอยู่ทางฝั่งเหนือ และแคว้นอวันตีอยู่เลยขึ้นไปทางเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำโคธาวรี ซึ่งไหลจากตะวันตกไปตะวันออก เป็นเขตพรมแดนของแคว้นอัสสกะกับอาฬกะ แต่บางแห่งก็ว่าทั้งสองแคว้นอยู่บนฝั่งเหนือของโคธาวรีด้วยกัน แคว้นอาฬกะไม่มีชื่อรวมอยู่ในจำนวนแคว้นใหญ่ ๑๖ แคว้นในสมัยพุทธกาล ผู้รู้ในปัจจุบันกล่าวว่า โดยแท้จริงแล้ว แคว้นอัสสกะอยู่นอกเขตมัชฌิมประเทศเทียบกับปัจจุบัน แคว้นอัสสกะและแคว้นอาฬกะ กล่าวอย่างคร่าว ๆ ได้แก่พื้นที่ในเขตจังหวัดโอรังคาบาด ของแคว้นมหาราษฎร์ หรือแคว้นบอมเบย์เดิมกับบริเวณใกล้เคียงโดยรอบเมืองหลวงของแคว้นอัสสกะกับ แคว้นอาฬกะ ค่อนข้างจะสับสน บางแห่งว่าของอัสสกะ ชื่อเมืองโปตนะ โปตลิ หรือโปตสะ และของอาฬกะชื่อปติฏฐานะแต่บางแห่งก็ว่าปติฏฐานะเป็นเมืองหลวงของแคว้นอัส สกะ ผู้รู้ในปัจจุบันบางท่านให้ความเห็นว่า ในสมัยหลัง อาฬกะขึ้นกับอัสสกะ และเอาปติฏฐานะเป็นเมืองหลวง จึงได้ปรากฏว่า ปติฏฐานะเป็นเมืองหลวงของแคว้นอัสสกะ และว่าอัสสกะตั้งอยู่ติดกับอวันตี โดยมักจะได้รับการกล่าวถึง คู่กันไปกับแคว้นอวันตีเสมอ บางท่านก็ว่าโปตนะ หรือโปตลิ กับปติฏฐานะเป็นเมืองเดียวกันในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีลงความเห็นว่า ปติฏฐานะได้แก่เมือง หรืออำเภอไปฐาน ในเขตจังหวัดโอรังคาบาด แคว้นมหาราษฎร์ เมืองหรืออำเภอไปฐาน ตั้งอยู่บนฝั่งเหนือของแม่น้ำโคธาวรี ซึ่งปัจจุบันใช้ว่า โคทาวรี ห่างจากตัวเมืองโอรังคาบาดไปทางใต้ราว ๕๖ กิโลเมตร หรือ ๓๕ ไมล์ ขณะนี้มีซากของเมืองเก่าปรากฏอยู่

แคว้นอัสสกะ ได้รับการกล่าวถึงในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นที่ตั้งอาศรมของพรมหมณ์พาวรี ซึ่งเป็นปุโรหิตในราชสำนักโกศล ภายหลังเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัยได้ทูลลาออกไปบวชเป็นชฎิล ตั้งอาศรมบำเพ็ญพรตอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี พร้อมด้วยบริษัทบริวารจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วพรหมณ์พาวรีได้สดับว่ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ใคร่จะสืบสวนดูให้แน่ใจจึงได้ให้มาณพผู้เป็นศินย์ ๑๖ คน เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่สาวัตถี เพื่อทูลถามปัญหาเป็นการทดสอบความเป็นพุทธะ โดยได้ผูกปัญหาให้ไปคนละหัวข้อ เมื่อมาณพ ๑๖ คนถึงสาวัตถี ปรากฏว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังแคว้นมคธเสียก่อนทั้งหมดจึงเดินทางต่อไปที่นั่น และได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ปาสาณกเจดีย์ กรุงราชคฤห์หลังจากได้สดับคำพยากรณ์ปัญหา มาณพ ๑๕ คน สำเร็จ เป็นพระอรหันต์ คนสุดท้ายคือ ปิงคิยมาณพ เป็นพระอนาคามี ทั้งหมดบวชเป็นภิกษุพุทธสาวก พระปิงคยะทูลลาพระพุทธองค์ กลับไปเล่าประพฤติเหตุทั้งสิ้นแก่พรมหมณ์พาวรีผู้อาจารย์เดิม กล่าวว่า พอท่านปิงคิยะเล่าจบ พระพุทธองคผู้ทรงทราบด้วย พระญาณ ทรงส่งพระรัศมีโอภาสไปให้ปรากฏเฉพาะหน้า แล้วทรงแสดงธรรมโปรดท่านปิงคิยะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พราหมณ์พาวรีเป็นพระอนาคามีไม่ปรากฏว่า พระพุทธองค์เคยได้เสด็จแคว้นอัสสกะด้วยพระองค์เอง ผู้ทำหน้าที่ประกาศคำสอนของพระพุทธองค์ทางแคว้นอัสสกะ และแคว้นอวันตี คือท่านพระมหากัจจายนะ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

๑๔. แคว้นอวันตี

แคว้นอวันตี ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเทือกเขาวินธัยหรือวินธยะ ทางใต้ของแคว้นมัจฉะ และทางตะวันตกของแคว้นวังสะ เทือกเขาวินธัยถือเป็นแดนกำหนดเขตที่เรียกกันว่า อินเดียตอนเหนือของอินเดียตอนใต้ ผู้รู้ในปัจจุบันทั่วไปมีความเห็นว่า เขตของมัชฌิมประเทศแห่งชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล ด้านทิศใต้คงแค่จดเทือกเขาวินธัย แล้วเริ่มจากฟากเขาด้านทิศใต้เป็นต้นไป ก็เป็นปัจจันตชนบท แคว้นอัสสกะตั้งอยู่ใต้เทือกเขาวินธัยลงไป จึงจัดว่าอยู่นอกเขตมัชฌิมประเทศ ดังได้พูดถึงแล้ว เขตของแคว้นอวันตีเองก็มีส่วนหนึ่งที่นับเข้าในปัจจันตชนบทเทียบกับปัจจุบัน เขตของแคว้นอวันตี กล่างอย่างคร่าว ๆ ได้แก่ อาณาเขตในบริเวณจังหวัดอุชเชน หรืออุซไชน์ นิมาร์ตะวันตก นิมาร์ตะวันออก อินโดร์ และวิทิศา รวมกับอาณาเขตใกล้เคียงด้วยทั้งหมดอยู่ในรัฐมัธยประเทศ ซึ่งมีโภปาลเป็นเมืองหลวงจากหลักฐานที่มีปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธและอื่น ๆ ผู้รู้ในปัจจุบันให้ความเห็นว่า แคว้นอวันตีในสมัยพุทธกาลคงจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเป็นอวันตีเหนือ ซึ่งมีอุชเชนี เป็นเมืองหลวง กับอวันตีใต้ หรือ อวันติทักขิณาปถะ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อมาหิสสติ หรือมาหิศมตี อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงแคว้นอวันตี ปกติก็เป็นที่เข้าใจกันว่า มีเมืองหลวงหรือราชธานีอยู่ที่อุชเชนี และมีพระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นพระราชาผู้ครองแคว้น

อุ ชเชนี ปัจจุบันได้แก่เมืองอุชเชน หรืออุชไชน์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสิปรา ส่วนมาหิสสตินั้น กล่าวว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาหรือ นรมทา แต่ยังไม่มีความเห็นลงกันแน่นอนเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองอวันติทักขิณาปถะ ความในบาลีจัมมักขันธกะ แห่งมหาวรรควินัยปิฎก แสดงว่า อยู่ในเขตซึ่งจัดเป็นปัจจันตชนบทพระพุทธองค์ทรงปรารภเหตุที่อวันติทักขิณา ปถะนี้ ตามคำกราบบังคมทูลของพระมหากัจจายนะ ผ่านพระโสณะกุฏิกัณณะจึงได้มีพระพุทธานุญาตผ่อนปรนข้อปฏิบัติบางอย่างเกี่ยว กับพระวินัย ให้แก่ภิกษุผู้อยู่ในปัจจันตชนบท อาทิเช่น ให้สงฆ์ปัญจวรรคคือมีจำนวนภิกษุ ๕ รูป ให้อุปสมบทแก่กุลบุตรได้ ซึ่งในมัชฌิมประเทศสงฆ์ทศวรรค คือมีจำนวนภิกษุ ๑๐ รูปจึงจะสามารถทำกรรมนั้นได้ในสมัยพุทธกาล อวันตีเป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองยิ่งอาณาจักรหนึ่ง พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งมาก พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ และต่อมากับพระเจ้าอุเทนแห่งแคว้นวังสะหรือกรุงโกสัมพีเกี่ยวกับการศาสนา พระพุทธศาสนาได้แผ่มายังแคว้นอวันตี และถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงตั้งแต่ในสมัยของพระพุทธองค์ มีกล่าวไว้ว่า ภายหลังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมแก่ประชุมชน และธรรมที่ทรงแสดงนั้นบริสุทธิ์แท้จริง ให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามเป็นธรรมมีเหตุผล ซึ่งผู้สดับสามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นจริงได้ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงสดับข่าวนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะใคร่เชิญเสด็จพระพุทธองค์ ไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงได้ตรัสสั่งปุโรหิตของพระองค์ชื่อ กัจจานะ หรือกัจจายนะให้ไปเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาบวชด้วยครั้นแล้วได้ออกเดินทางพร้อมกับบริวาร ๗ คน ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทั้งหมดสดับพระธรรมเทศนาแล้ว บรรลุพระอรหัตผล และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุพุทธสาวก หลังจากนั้นท่านพระมหากัจจายนะได้ทูลเชิญเสด็จพระบรมศาสดาไปกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชตพระบรมศาสดาตรัสให้กลับไปเอง โดยรับสั่งว่า เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าแผ่นดินจักทรงเลื่อมใส ท่านพระมหากัจจายนะถวายบังคมลา กลับไปกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และประชาชนเลื่อมใสยอมรับนับถือ จนมีผู้ออกบวชในพระศาสนาเป็นจำนวนมาก พระพุทธศาสนาจึงตั้งมั่นเป็นปึกแผ่นในแคว้นอวันตีเริ่มแต่นั้นมาท่านพระมหา กัจจยนะ เป็นพระสาวกขั้นผู้ใหญ่ที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ หรือเป็นยอดแห่งภิกษุผู้มีความสามารถอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร ผลงานเพื่อพระศาสนาของท่าน นอกจากที่ได้แสดงธรรมประกาศพระศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและประชาชนชาวอวัน ตีเลื่อมใส ประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นอวันตีเป็นผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชมดัง-กล่าวแล้ว ท่านยังได้แสดงธรรมแก่พระเจ้ามธุราชอวันตีบุตร แห่งกรุงมธุราหรือมถุราดังได้กล่าวถึงแล้ว ในเรื่องของแคว้นสุรเสนะ จนพระเจ้ามธุรราช ทรงมีความเลื่อมใสยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา ตามด้วยประชาชนชาวแคว้นอีกเป็น จำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในแคว้นนี้อีก พระเจ้าอัสสกะแห่งกรุงโปตลิกับพระราชกุมาร สดับธรรมเทศนาของท่านแล้วมีความเลื่อมใสประกาศพระองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ผลงานของท่านนอกากที่กล่าวนี้ยังมีอีกมาก ท่านเป็นพระสาวกซึ่งได้รับยกย่องอย่างยิ่งสูงยิ่งองค์หนึ่งราวพุทธศักราช ๒๐๐ แคว้นอวันตีได้ถูกรวมเข้าในมหาอาณาจักรเมารยันแห่งปาฏลิบุตรหรือแคว้นมคธ เข้าใจกันว่าในรัชสมัยของ พระเจ้าพินทุสาร พระราชบิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อนได้ราชสบัติสืบต่อจากพระราชบิดา พระเจ้าอโศกได้มาเป็นอุปราช ปกครองแคว้นอวันตีอยู่ที่อุชเชนี ในการเสด็จจากกรุงปาฏลีบุตรมายังอุชเชนี เมื่อเสด็จกถึงวิทิศาอันเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอวันตีทรงได้พระชายาองค์แรก คือพระนางเทวี ผู้ซึ่งตำนานกล่าวว่า เป็นเชื้อสายแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ที่หนีภัยจากการทำลายล้างของพระเจ้าวิฑูฑพภะ มาอยู่ที่วิทิศาพระมหินทเถระพระนางสังฆมิตตาเถรี ผู้นำพระพุทธศาสนาไปประกาศในลังกาทวีป ซึ่งทราบกันดีว่า เป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นประสูติแต่พระนางเทวีนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งตามมติของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทว่า ทรงครองราชย์เมื่อพุทธศักราช ๒๑๘ และทรงอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลา ๔๐ ปีการพระศาสนาในแคว้นนี้เจริญรุ่งเรืองมาก แคว้นนี้เป็นที่ตั้งแห่งสถูปเจดีย์จำนวนมาก เช่น พระสถูปสาญจี อันเป็นปชนียวัตถุที่สำคัญและมีชื่อเสียงยิ่งแห่งหนึ่งในปัจจุบันนี้ เป็นต้น

๑๕. แคว้นคันธาระ

แคว้นคันธาระ ตั้งอยู่ทางเหนือหรือตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย กินเนื้อที่ทั้งสองฟากของแม่น้ำสินธุ อันเป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่ง ปัจจุบันได้แก่เขตจังหวัดเปษวาร์ และราวัลปินดี แห่งประเทศปากีสถาน คันธาระกับแคว้นสุดท้ายของมหาชนบท ๑๖ แคว้นคือกัมโพชะ ตั้งอยู่ในส่วนพื้นที่ซึ่งเรียกว่าอุตตราปถะ หรือดินแดนส่วนเหนือของชมพูทวีป ซึ่งจัดเป็นเขตปัจจันตชนบทเมืองหลวงของคันธาระในสมัยพุทธกาล คือ ตักกสิลา ปัจจุบันได้แก่ ตักศิลาในเขตจังหวัดราวัลปินดี ใกล้กับสถานีรถไฟ สะราบกละ ห่างจากกรุงราวัลปินดีไปทางตะวันตก หรือตะวันตกเฉียงเหนือราว ๓๕ กิโลเมตร หรือ ๒๒ ไมล์ จากการขุดค้น ได้พบซากสิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

ในสมัยพุทธกาลและแม้ก่อนนั้น ตักกสิลาเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็นนครแห่งวิทยาการ เป็น "มหาวิทยาลัย" ประสิทธิ์ประสาทสรรพวิชาที่ได้รับความยกย่องอย่างยิ่ง เป็นความนิยมของกษัตริย์พรหมณ์และคนชั้นสูงทั้งหลายในสมัยนั้น ที่จะส่งบุตรหลานของตน มารับการศึกษาศิลปวิทยาสาขาต่าง ๆ ที่ตักกสิลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการแพทย์ การทหาร และวิชาการปกครอง บุคคลสำคัญ ๆ ในสมัยพุทธกาลหลายท่านเช่น พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศลเจ้าพันธุละแห่งกุสินารา ซึ่งภายหลังได้เป็นเสนาบดีคู่พระทัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหาลิแห่งแคว้นวัชชี ท่านพระองคุลิมาล และ หมอชีวกโกมารภัจ แพทย์ผู้สามารถยิ่งแห่งราชสำนักพระเจ้าพิมพิสารกรุงราชคฤห์เป็นต้น เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากตักกสิลานี้พระเจ้าแผ่นดินของแคว้นคันธาระในสมัยพุทธกาล ปรากฏพระนามว่า พระเจ้าปุกกุสาติ พระองค์ทรงมีสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธมีการติดต่อกันทางการค้าระหว่างแคว้นทั้งสองด้านความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มีกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าปุกกุสาติส่งราชบรรณาการ อันล้ำค่ามาถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งราชบรรณาการไปถวาย เป็นการตอบแทน พร้อมด้วยธรรมบรรณาการคือพระราชสาสน์แจ้งข่าวซึ่งตรัสว่าประมาณค่ามิได้ คือ ข่าวการอุบัติขึ้นในโลกแห่งพระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทรงสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัยไปโดยอเนกปริยาย เมื่อสดับข่าวนั้น พระเจ้าปุกกุสาติมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระปิติ ทรงสละราชสมบัติออกบวชอุทิศต่อพระพุทธองค์ แล้วได้เดินทางจากตักกสิลามายังราชคฤห์ ด้วยหมายจะเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อถึงราชคฤห์ในเวลาค่ำ ได้ขอพักแรมที่บ้านของนายช่างหม้อชื่อ ภัคควะ สมัยนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่สาวัตถีทรงทราบด้วยพระญาณถึงอุปนิสัยของท่านปุกกุสาติ และประพฤติเหตุทั้งสิ้น ได้เสด็จมาโปรดจากสาวัตถี โดยได้เสด็จไปขอพักแรมในที่เดียวกันกับท่านปุกกุสาติทรงชวนสนทนาและทรงแสดง ธาตุวิภังคสูตร แก่ท่านปุกกุสาติท่านปุกกสาติรู้จักพระพุทธองค์ ต่อเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาจบแล้ว ได้ทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสให้ไปหาบาตรและจีวรสำหรับภิกษุมา ขณะที่ท่านกำลังแสวงหาบริกขารดังกล่าวอยู่ ด้วยวิบากแห่งกรรมในอดีตได้ถูกวัว หรือยักษิณีที่แปลงมาเป็นวัว ขวิดจนถึงแก่สิ้นชีวิต พระพุทธองค์ตรัสว่า ท่านปุกกุสาติได้เป็นพระอนาคามีไปเกิดในพรหมโลก และจะสำเร็จพระนิพพานในภพที่เกิดขึ้น นอกจากที่กล่าวแล้วนี้ ไม่พบหลักฐานอย่างใดอีก ถึงการแผ่ไปของพระพุทธศาสนายังแคว้นคันธาระในพุทธสมัย

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชร่วมกับทางคณะสงฆ์ ส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนาในที่ต่าง ๆ รวม ๙ สาย ภายหลังสังคายนาครั้งที่สามซึ่งได้ทำ ณ กรุงปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๕ ท่านพระมัชฌันติกเถระ ได้รับหน้าที่มาประกาศพระศาสนาที่แคว้นคันธาระ และกัสมีระ งานของท่านได้รับผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ผู้รู้บางท่านในปัจจุบันมีความเห็นว่า แคว้นคันธาระคงจะรวมกัสมีระหรือแคชเมียร์ของอินเดียในปัจจุบันเข้าด้วย เพราะทั้งสองจะมีชื่อร่วมกันเสมอๆ ว่ากัสมีระคันธาระ หรือกัสมีระและคันธาระในสมัยต่อมา แคว้นคันธาระได้เป็นที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะระหว่าง พ.ศ. ๖๒๑ ถึง ๖๔๔ ซึ่งมีเมืองเปษวาร์ หรือในชื่อเดิมว่าปุริสปุระ หรือบุรุษบุรีเป็นราชธานี ในสมัยของหลวงจีนฮวนฉางหรือถังซัมจั๋ง วัดในตักกสิลาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก หลายแห่งได้ถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง พระสงฆ์ส่วนใหญ่ หรือแทบทั้งหมดเป็นฝ่ายมหายาน

๑๖. แคว้นกัมโพชะ

แคว้นกัมโพชะ เป็นแคว้นเหนือสุด ตั้งอยู่เหนือคันธาระ ในเขตซึ่งเรียกว่าอุตตราปถะดังได้กล่าวแล้ว เทียบกับปัจจุบัน ส่วนมากลงความเห็นว่า ได้แก่พื้นที่ส่วนตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย คือบริเวณราเชารี หรือราชปุระเดิม ยาวผ่านเขตปากีสถานไปจนถึงกาฟิริสตาน อันเป็นเขตด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอาฟฆานิสถานกัมโพชะ มีชื่อในทางเป็นแหล่งกำเนิดของม้าดี กล่าวว่าม้าของแคว้นกัมโพชะมีรูปทรงสวยเค้าบางอย่าง สรุปว่าเมืองหลวงของกัมโพชะชื่อ ทวารกะ แต่ทั่วไปไม่เห็นด้วยกับที่กล่าวนี้ไม่ปรากฏการแผ่ขยายตัวของพระพุทธศาสนา ไปยังแคว้นกัมโพชะในสมัยพุทธกาล แต่พระพุทธศาสนาก็ได้แผ่มายังแคว้นนี้ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อหลวงจีนถังซัมจั๋งมาสืบศาสนาในอินเดีย ท่านได้กล่าวว่า ที่เมืองราชปุระมีวัดอยู่รวมด้วย กัน ๑๐ วัด แต่มีพระสงฆ์ประจำอยู่เป็นจำนวนน้อย

                                                สรุปเกี่ยวกับที่ตั้งของแคว้น เทียบกับปัจจุบัน

อังคะ มคธะ วัชชี รวม ๓ แคว้น อยู่ในเขตรัฐพิหาร

กาสี โกสละ มัลละ วังสะ ปัญจาละ สุรเสนะ รวม ๖ แคว้นอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ

เจตี อยู่ในเขตของรัฐมัธยประเทศ กับรัฐอุตตรประเทศต่อกัน

กุรุ ได้แก่เขตของกรุงเดลี กับบางส่วนของรัฐอุตตรประเทศและรัฐหรยานะ

มัจฉะ อยู่ในรัฐราชสถานอัสสกะ อยู่ในรัฐมหาราษฏร์

อวันตี อยู่ในรัฐมัธยประเทศคันธาระ อยู่ในประเทศปากีสถาน

กัมโพชะ อยู่ในรัฐแคชเมียร์ของอินเดีย รวมส่วนหนึ่งของปากีสถานและอาฟฆานิสสถาน




# ที. ส. ๙/๓๕๙; องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๓๒.

# ขุทฺทก. อ. ๑/๒๑๙-๒๒๒.

# มหาชนบท ๑๖ แคว้น ในชมพูทวีป สมัยพุทธกาล
# โดย พระราชธรรมมุนี (สุกิตฺติ) วัดจักรวรรดิราชาวาส วรวิหาร