วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การปล่อยวาง รับมือความเปลี่ยนแปลง

แสดงธรรมโดย พระมหา ดร. สมชาย ฐานวุฑโฒ
 ชมรมพุทธดีแทค อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 33



พระอาจารย์แสดงธรรมหัวข้อ "การปล่อยวาง" เนื้อหาตามที่บันทึกได้ มีดังนี้
หัวข้อธรรมในวันนี้ คือ "การปล่อยวาง" เพื่อให้เราเองสามารถปล่อยวางได้จริงๆ เรามาดูกันว่า "การปล่อยวาง คืออะไร"

ถ้าเราเองไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมากๆ เราก็จะกลุ้ม ขนาดตัวเองยังเคยหงุดหงิดตัวเอง บางทีเรายังทำไม่ถูกใจตัวเองเลย ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นให้คนอื่นเขาได้อย่างใจเรา...กลุ้มแน่ หลวงพ่อบอกว่า "ต้องผิดหวัง เพราะหวังผิด"

คนเรายิ่งไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก ก็จะมีเรื่องกลุ้มใจผิดหวังเยอะ ปล่อยวางได้ก็สบายใจ สิ่งที่คิดว่าเป็นของเรามันไม่ใช่ของเราจริง เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขข้างนอก แต่ที่ใกล้ตัวสุดคือตัวของเราเอง มันไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้นเอง เช่น สั่งว่าจงอย่าแก่ จงอย่าเจ็บก็ไม่ได้ วันใดสังขารรองรับอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องละสังขารนี้ไป ไปหาที่อยู่ใหม่ตามกำลังบุญบาปที่สร้างไว้

ขนาดตัวเรายังยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย อย่างอื่นข้างนอกยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าใครเข้าใจความจริงของโลกนี้ชัดๆ แล้วปรับใจ ทำใจ ตัวเองได้ เราจะสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันนหลายรูปแบบได้อย่างสบาย

พระพุทธเจ้าบอก มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ ก็มีคนนินทา มีสุข ก็มีทุกข์ มันคู่กันอยู่ ใครๆ ก็หนีไม่พ้น

การปล่อยวาง (ในทางธรรมะ) ภาษาบาลี ใช้คำว่า "อุเบกขา" โดยศัพท์ คือ การวางเฉย นัยยะจริงๆ หมายถึง การที่เราเองสามารถรักษาใจให้นิ่งได้ นี่คือการวางอุเบกขาของจริง (จิตเป็นอุเบกขานิ่งอยู่) หมายถึง เราเอาใจตัวเองสงบนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ ไม่ ไหวกระเพื่อมไปกับอารณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง

คนที่คิดเรื่องปล่อยวาง มักคิดตอนเจอเรื่องที่ไม่ถูกใจ แต่ตอนเจอเรื่องถูกใจไม่ค่อยคิดจะปล่อยวางเท่าไร พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องรู้จักปล่อยวางอารมณ์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ

เช่น เมื่อเห็นรูปสวยๆ เราจะปล่อยวางได้ไหม ใจเราจะวางนิ่งๆ อยู่ได้ไหม ใจกระเพื่อมไปหรือเปล่า เรายังไม่หมดกิเลสจะให้นิ่งสนิท 100% ก็ไม่ง่าย ก็อย่าให้ใจกระเพื่อมจนเกินไป ต้องมีเบรคในใจรั้งใจอยู่ และเมื่อคราวเจอรูปไม่สวย น่าเกลียดน่า กลัว เราก็ต้องรักษาใจนิ่งๆ ไม่ให้กระเพื่อมอีกเหมือนกัน

ได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ ก็อาจเพลินๆ ไปบ้าง แต่ก็อย่าเตลิดจนเกินไป ต้องมีเบรคในใจ ขณะเดียวกันเจอเสียงที่น่ารำคาญ เช่น เสียงมอเตอร์ไซค์เด็กแว้น ก็ต้องรักษาใจตัวเอง ยังยิ้มได้ สบายๆ เพราะเมื่อ เราหงุดหงิดแล้วคนขับรถซิ่งก็ไม่รู้เรื่องกับเรา หรือถ้ารู้อาจสะใจก็ได้ เพราะฉะนั้น ให้ใจเรากระเพื่อมไปไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้ารักษาใจนิ่งๆ ไว้ได้จะดีกว่า


มีการเปรียบว่าคนที่ไปกระเพื่อมกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าด้านดีไม่ดี บางทีเหมือนเด็กร้องไห้จะเอาพระจันทร์ พระจันทร์จงเป็นของฉัน ทำไมเมฆมาบัง ก็หงุดหงิด ร้องไห้ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เราเองถ้าปล่อยวางไม่เป็น มีอะไรมากระทบก็กระเพื่อมไปกับ อารมณ์เหล่านั้น ก็คล้ายๆ กับเด็กร้องไห้ถึงพระจันทร์เหมือนกัน อย่าไปคิดแก้ที่คนอื่น เพราะเรื่องกลุ้มจะตามมา

เช่น ซิ่งเหรอ...เอาปืนมายิงเลย...ก็จะถูกตำรวจจับ กลุ้มหนักกว่าเก่า เป็นต้น การแก้ที่คนอื่นเขามักมีปัญหาตามมาอีกเยอะ ดังนั้นการแก้โดยปรับที่ ใจของเราเอง ง่ายที่สุด และไม่มีผลแทรกซ้อน


ได้กลิ่นหอมๆ ก็ต้องไม่หลงเพลินเกินไป คนเราติดไม่เหมือนกัน บางคนติดในรูปมากพิเศษ เสียก็งธรรมดาๆ บางคนรูปธรรมดาๆ แต่ถ้าฟังเสียงเพราะๆ นี่ชอบมากเลย แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน

 บางคนชอบที่รูป บางคนชอบที่เสียง บางคนติดที่กลิ่น เราก็ต้อง รักษาใจเราให้ได้ มีเบรคในใจอีกแล้ว เจอกลิ่นไม่ถูกใจก็ต้องเบรคให้ได้ ไม่ไปหงุดหงิดกับมัน เจอรสอร่อยก็ต้องเบรคให้ได้ เจอรสที่ไม่อร่อย ที่เราไม่ชอบก็ต้องได้ อย่าไปอะไรมาก เพราะหน้าที่อาหาร คือให้สังขารร่างกายเราอยู่ได้เท่านั้นเอง ไว้ใช้ทำความดี ได้สัมผัสที่นุ่มนวลก็อย่าหลงเพลินกับมันไป เวลาเจอสัมผัสที่กระด้างก็อย่าไปหงุดหงิดอีกเช่นกัน

ทั้งหมดนี่คือ อายตนะ 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่อันที่ 6 คือ "ใจ" อะไรที่มาสัมผัสกับใจ ก็คือ อารมณ์ที่ใจคิด เราคิดไปในเรื่องต่างๆ ตรงนี้เป็นตัวแรงที่สุด เพราะจะอยู่ ตรงไหนก็คิดได้ อยู่คนเดียว ในป่าในเขา เกาะกลางทะเล ฯลฯ คิดได้หมด เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันความคิดของเราเอง

 เวลามีเรื่องคิดที่น่าเพลิดเพลิน เรื่องที่เราชอบก็อย่าคิดเพลินกับมันเกินไป หรือว่าคิดเรื่องที่ทำให้หงุดหงิด คิดแล้วกลุ้มใจ เหมือนไปตอกย้ำ ตัวเองก็ไม่เอาอีกเหมือนกัน แต่คนนี่แปลก ถ้าคิดเรื่องที่ชอบใจยังพอเข้าใจ แต่ก็ต้องมีเบรค แต่เรื่องที่คิดแล้ว เจ็บใจ เศร้าใจ คิดแล้วไม่สบายใจ มันไม่น่าคิด

แต่คนบางทีชอบคิด แล้วคิดซ้ำๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งเจ็บใจ จะไปลงโทษตัวเองทำไม เหมือนเรามีเศษแก้วคมๆ ในมือ เราควรจะทิ้งถังขยะ หรือกำไว้ให้มันบาดมือ ตามหลักน่าจะเอาไปทิ้ง แต่บางคนไม่ยอมทิ้ง แต่กำไว้ พอมันบาดก็เจ็บ แล้วคลาย พอแผลจะหายก็กำอีกเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง จนมือบอบช้ำเป็นแผลเป็นไปหมด อารมณ์ที่คิดแล้วไม่สบายใจบางทีเราก็เป็นแบบนั้น ไปตอกย้ำให้เป็นแผลในใจของเราเอง...เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยวางให้ได้




การปล่อยวาง พูดง่าย ทำยาก จริงไหม?
มันก็ไม่ง่าย แต่มันอยู่ที่ใจ บางคนก่ลุ้มมานาน เจออะไรสะกิดใจ ถ้าคลิ้กทีเดียวก็หลุดเลย มันอยู่ที่คลิ้กหรือเปล่า ถ้าคิดเป็นก็หลุด คิดไม่เป็นก็หนัก มีตัวอย่างเขาทดลอง เด็ก 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ได้รับมอบหมายภาระกิจให้ช่วยกันขนของขึ้นรถไฟ ซึ่ง ต้องให้ทันเวลารถไฟออก พอขนไปได้ซักพัก ทีวีถ่ายทอดมวยคู่เอก ผู้ชาย 2 คนเป็นแฟนคลับของนักมวยคนดัง เขาเลยวิ่งไปดูทีวี เด็กหญิงจึงขนของคนเดียว

พอเสร็จ ก็มีคนไปสัมภาษณ์เด็กผู้หญิงว่ารู้สึกอย่างไรที่เพื่อน 2 คนไม่ช่วยขนแต่ไปดูมวยแทน เด็ก หญิงยิ้มทั้งที่เหงื่อโชก แล้วบอกว่าเธอเห็นใจผู้ชาย 2 คนนั้น เพราะเขาติดมวยมาก เขาคงไม่ค่อยสบายใจแต่ก็อยากดู และเธอเองก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องมวย เลยทำหน้าที่ของเธอต่อไป เมื่อถูกถามต่อว่าไม่โกรธเพื่อนหรือที่เอาเปรียบเธอ เธอตอบว่า เธอไม่โกรธ เพราะ ขนของก็เหนื่อยแล้ว แต่ก็เหนื่อยอย่างเดียว ถ้าเธอโกรธด้วยก็จะเหนื่อยสองอย่าง (เหนื่อยสองเท่า)


เรารักตัวเราหรือเปล่า ถ้ารักตัวเรา ก็ต้องคิดให้เป็น คนไหนคิดไม่เป็น ไปหงุดหงิด โกรธ ปล่อยวางไม่ลงเมื่อไร แสดงว่าไม่รักตัวเองจริง เพราะเวลาที่เราหงุดหงิด มันคือ การลงโทษตัวเอง เหมือนเรื่องมือมีเศษแก้ว คนคิดเป็นจะวาง คนคิดไม่เป็นจะกำ เวลา เจอเรื่องกระทบใจให้นึกถึงเรื่องนี้ ว่าเราควรจะลงโทษ - ทำร้ายตัวเองต่อ ด้วยการกำมันไว้ แล้ว้คิดตอกย้ำ หรือวางมันออกไปดีกว่า ถ้าเรายังกำมันอยู่ เท่ากับให้โอกาสคนอื่นมาทำร้ายตัวเราโดยอาศัยความคิดเราเป็นสื่อ ถ้าเรารักตัวเราจริง เราต้องวางมัน และ ปล่อยได้


ก่อนอื่นขอฝาก 2 ประเด็นนี้ก่อน
เราต้องแยกให้ออก ระหว่างความรับผิดชอบ กับการปล่อยวาง เช่น บางคนมีหนี้เยอะ เจ้าหนี้มาทวงเรื่อย แต่กำลังฝึกปล่อยวาง เขาจะทวงก็ช่างเขาเราปล่อยวางแล้ว หรือมีงาน หัวหน้ามาเร่ง บอกผมปล่อยวางไม่ยึดติด ... แบบนี้ไม่ใช่ การปล่อยวาง

เน้นไปที่ "ใจ" เป็นหลัก การปรับใจของตัวเอง แต่ภาระหน้าที่เราก็ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ จะอ้างปล่อยวางไม่ได้ มีครอบครัวก็ต้องดูแลครอบครัว มีหน้าที่การงาน ต้องรับผิดชอบให้เสร็จบริบูรณ์ นั่นคือความรับผิดชอบ ถ้าอ้างว่าปล่อยวาง นั่นคือ ความไม่รับผิดชอบ การปล่อยวางคือ เมื่อมีอะไรมากระทบแล้ว เราสามารถจับแง่มุมที่คิดที่ถูกต้อง ปล่อยด้านลบ แล้วรักษาด้านที่ทำให้ใจเรานิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ ไม่กระเพื่อมไปกับมัน อย่างนี้จึงจะถูกต้อง


ที่หลวงพ่อให้ท่องบ่อยๆ ว่า "เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง" หมายความว่าอย่างไร หมายถึง ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเรา เรารับผิดชอบอย่างดีแล้ว แต่ถ้ามีสิ่งใดมากระทบ เช่น มีคนมานินทา เจอเหตุไม่คาดฝันหลากหลายรูปแบบ เช่น แผ่นดินไหว บ้านช่องเสียหาย...คนอันเป็นที่รักเกิดอุบัติเหตุ เราต้องรู้จักวางใจนิ่งๆ ปัญหามีแก้ไป แต่รักษาใจให้คงสภาพนิ่งอยู่ได้ นี่คือวางอุเบกขา เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา ถ้าวางอุเบกขาเป็น ปัญหาจะอยู่แค่กายภาพ ไม่เข้ามาถึงจิตใจ ทำให้สามารถแก้ ปัญหาได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ เพราะคนที่ใจกระเพื่อม จะแก้ปัญหาได้ไม่ดี สติปัญญาก็บางลง ... นั่นคือเรื่องส่วนตัว


ส่วนเรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง คือ ถ้าหากมีสิ่งใด จะทำให้เกิดความเสียหายต่อพระพุทธศาสนาต่อส่วนรวม เราจะอยู่เฉยๆ ถือว่าธุระไม่ใช่ คิดอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องถือเป็นภาระหน้าที่...ลุกขึ้นมาช่วยกัน นี้คือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในความเป็นชาว พุทธ ต่อการเป็นสมาชิกในชุมชนของเรา...อย่างในประเทศไทยมีวัด 30,000 กว่าวัด 4 จังหวัดภาคใต้ คณะสงฆ์มีภัย ชาวพุทธมีภัย ครูบาอาจารย์ถูกทำร้าย ฯลฯ จะบอกว่าเป็นหน้าที่รัฐบาล เราไม่เกี่ยวไม่ได้ หลวงพ่อฯ ส่งตัวแทนไปทอดผ้าป่าทุกเดือนเป็นร้อย กว่าครั้ง 10 ปี หลวงพ่อท่านบอกว่าท่านจะทำจนกว่าไฟใต้จะดับ เพราะท่านคิดแต่เพียงว่าสิ่งใดที่เราในฐานะชาวพุทธควรทำเราก็ทำ และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า และทำก่อน ไม่ว่าจะต้องทำเป็นร้อยครั้ง พันครั้งก็ทำ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ


เรามีโอกาสได้มาบวช หรือมาปฏิบัติธรรม เพราะปู่ย่าตายายรักษาพระพุทธศาสนามาให้เรา ดังนั้นเราก็ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบเนื่องไปถึงลูกหลานไทยใน อนาคตต่อไปด้วย เมื่อเราได้มาอาศัยพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องให้พระพุทธศาสนาได้พึ่ง เราบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เราควรทำเราก็ทำเลย อย่าคิดว่าอันตัวข้าพเจ้าหรือรวมลูกศิษย์วัดก็เท่านี้จะทำได้แค่ไหนเมื่อ เทียบกับคนทั้งโลก ไม่ต้องคิด ถ้าถูกต้องและควรทำก็ทำเถิด เดี๋ยวคนดีๆ คนมีบุญก็จะมาช่วยกันทำ

ถ้าพระพุทธเจ้าท่านคิดอย่างนั้น จะมีพระ พุทธศาสนาไหม ตรัสรู้แล้วทั้งโลกคนรู้เรื่องความจริงโลกและชีวิต เรื่องพระพุทธศาสนาก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ถ้าพระองค์ท้อก่อนพระพุทธศาสนาก็ไม่มาถึงเรา...ท่านไม่เคยท้อเลยแม้เจอปัญหา มากมายสารพัดรูปแบบ ปัญหามีก็แก้ไป งานเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาก็ยังคงต้องทำไปเพื่อประโยชน์ชาวโลก ใจของพระพุทธเจ้าพระองค์ทำอย่างหนักแน่นมั่นคงและสงบนิ่ง วางเฉยไม่ใช่นั่งนิ่งๆ แล้วไม่ต้องทำอะไร พระองค์วางอุเบกขาตลอด คือ ใจไม่ได้กระเพื่อมไปด้วยเลย พระองค์ทรงเผยแผ่ศาสนาไม่ได้หยุดเลย แม้ อาพาธหนักจะปรินิพพานแล้ว ยังมีพราหมณ์สุภัททะมาถามปัญหา พระองค์ก็โปรดจนสุภัททะบรรลุอรหันต์ นั่นคือ พระองค์ทำหน้าที่ของความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นบรมครู ความเป็นพระศาสดาของโลก เป็นครูของมนุย์และเทวดาทั้งหลายจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต ไม่ได้วางเฉยเลยในด้านกายภาพ วางเฉยในด้านจิตใจ และทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดไม่เคยหยุดนิ่งเลย ถ้าเราทำได้อย่างพระพุทธเจ้า ชีวิตเราจะประสบความสำเร็จ และมีความสุขอย่างเย็นๆ ด้วย

เครื่องช่วยในการปล่อยวาง
1. ระลึกถึงความจริงในวัฏสงสาร
2. หมั่นเจริญมรณานุสติ
3. หมั่นนั่งสมาธิ

1. ระลึกถึงความจริงในวัฏสงสาร

เมื่อไรที่ใจเราขยายใจให้กว้าง มองวงจรการเวียนว่ายตายเกิด โลกทัศน์เราจะกว้างขึ้น เรารู้สึกว่าปัญหามันก็ไม่เท่าไร เมื่อไรใจเราขยายกว้างมองเห็นภาพรวมทั้งหมด เราจะมองเห็นปัญหานิดเดียว แต่ใจเราไปขยายปัญหาเอง จากเข็มให้เป็นเสาเข็ม

พวกเราเคยเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เคยเป็นมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะราชา ราชินี มหาเศรษฐี ยาจก คนพิการ คนชั้นล่างชั้นต่ำ เทวดานางฟ้า หรือตกนรกก็ผ่านกันมาแล้ว ขนาดพระพุทธเจ้าแม้เป็นนิยตะโพธิสัตว์แล้ว คือ ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระ พุทธเจ้าเที่ยงแท้แน่นอนในอนาคต จะไม่ลงอเวจีมหานรก แสดงว่าขุมตื้้นๆ ยังลงได้ ระดับนิยตะโพธิสัตว์ยังลงได้ พวกเราก็ไม่รอดเหมือนกัน ไม่ได้ตกแค่วันสองวัน แต่เป็นล้านๆ ปี ความทุกข์ในโลกนี้เทียบไม่ได้กับตอนอยู่ในนรก

แม้ขุมที่ตื้นที่สุด คือขุมที่ 1 สัญชี วมหานรก ที่โดนนายนิรยบาลจับตรึงไว้แล้วหั่นร่างออกเป็นแว่นๆ ตายเกิดๆ วันละหลายล้านหน ดังนั้น ถ้าให้เลือกคงไม่มีใครเลือกความทุกข์แบบในนรก ความทุกข์ที่ว่าหนักๆ บนโลกนี้ ยังหนักไม่จริงเมื่อเทียบกับความทุกข์ในนรก

เรามีกายมนุษย์ ได้ พบพระพุทธศาสนา ได้สร้างบุญกุศล มันยิ่งกว่าวิมานบนดิน แม้แต่เทวดายังอิจฉาเรา เพราะเขาอยู่ในช่วงเสวยบุญ เขาอยากสร้างบุญอย่างเรา กาฬเทวิลดาบสผู้ที่พยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ไม่กี่วันว่าจะออก บวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ไปเกิด บนชั้นพรหม ก็ยังเสียใจที่อยู่ไม่ทันพระพุทธเจ้าไม่ได้ฟังธรรม แล้วเราจะกลุ้มไปทำไม ให้ใช้โอกาสที่เราเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา สั่งสมบุญให้เต็มที่อย่างนี้ถึงจะถูกหลักวิชชา ใครที่คิดว่าเรากำลังกลุ้มมีความทุกข์ที่สุดในโลก ให้เลิกเถิด

ให้พลิกมุมมองว่า คนอย่างเราเทวดานางฟ้า พรหมยังอิจฉา จะมากลุ้มทำไม เพราะเราได้มีโอกาสสร้างบุญกุศล เราก็ต้องทำในสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นพวกกินเหล้าเมายา เทวดาไม่อิจฉาหรอกนะ เขาจะสงสาร เราต้องใช้กายมนุษย์ทำในสิ่งที่ควร เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เป็นคุณที่สุดในชีวิตเรา
เมื่อเราขยายใจเห็นวงจรชีวิตในวัฏสงสาร เราจะพบว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่เราเจอนั้นเราสามารถหยิบออกไปได้ไม่ยากเท่าไร

2. หมั่นเจริญมรณานุสติ และ 3. หมั่นนั่งสมาธิ

เมื่อเรากลุ้มมากๆ ไม่หลุดจากใจ เราลองคิดซิว่า หากเราจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1 ชั่วโมง เราจะทำอะไร เราจะพบว่าเราไม่รู้จะกลุ้มไปทำไม มันหลุดไปจากใจแล้ว แต่ถ้าคิดว่าเราจะอยู่บนโลกนี้ไปอีก 50 ปี 100 ปี หรืออยู่แบบไม่มีวันตายมันรู้สึกมีอารมณ์น่ากลุ้ม ถ้าอยู่อีกชั่วโมงก็ไม่รู้จะกลุ้มไปทำไม ดังนั้น เจริญมรณานุสติบ่อยๆ แล้วจะได้คิด...

เรารู้ตัวหรือเปล่าว่าพวกเราเป็นนักโทษประหารกันหมด ถ้าเทียบเวลาของเทวดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต วันหนึ่ง คืนหนึ่งบนนั้น เท่ากับ 400 ปีบนโลกมนุษย์ อายุเราสมมติ 100 ปี เท่ากับ 6 ชั่วโมงบนสวรรค์ชั้นดุสิต ถ้าใครเกิดตอนนี้ ก็เป็นนักโทษประหาร 6 ชม. บนสวรรค์ชั้นดุสิต ถ้าเรามา 50 ปีแล้ว ก็เหลือ 3 ชั่วโมง ไม่ต่างจากนักโทษที่ขึ้นตะแลงแกง แล้วเราจะอะไรกันนักกันหนา เพราะฉะนั้นนึกถึงความตายบ่อยๆ เรื่องที่ไม่หลุดมัน จะหลุดไปง่าย เราจะได้คิด ไม่ใช่หดหู่ และมีทางออก

คือใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าด้วยการสร้างบุญกุศล แต่ละวันได้ทำบุญทาน รักษาศีล ศีล 5 บ้าง 8 บ้าง และได้เจริญภาวนา ถ้าอย่างนี้ให้ปลื้มใจและเป็นสุขใจได้ทุกวันว่า เวลาที่เราเหลืออยู่วันนี้อีก 1 วัน เป็น กำไรชีวิตของเรา บุญกุศลที่เราทำใน 1 วัน จะส่งผลเป็นความสุขของเราเองต่อๆไปอีกยาวนานมากนับล้านๆ ปี เพราะเราทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ทำบุญอย่างถูกหลักวิชชา ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ

 และรู้จักการน้อมนำใจมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เราทำบุญน้อยได้ผล มาก เพราะ "ถูกหลักวิชชา" เปรียบกับเนื้อนาดี ดินดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ หว่านนิดหน่อยก็ให้ผลงอกงามเยอะ ถ้าเป็นนาดอน น้ำแห้ง ปุ๋ยไม่มี มันก็เหี่ยว รอดมาก็ออกรวงนิดๆ หน่อยๆ เรามีจังหวะดีอย่างนี้ ให้ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เราจะวางอารมณ์ที่ ทำให้เรากลุ้มได้ แล้วมาทำในสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตเรา

เพราะฉะนั้น หัวใจ คือ "ต้องตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน" พอใจใสๆ อารมณ์เบิกบานจะเกิดขึ้น ใจที่หมองๆ จะคลาย บุญจะหล่อเลี้ยงใจ แล้วความคิดในเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ก็จะหนักแน่นมั่นคงขึ้นด้วยเมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ตรงตามที่หลวงปู่วัดปากน้ำ กล่าวไว้ว่า "หยุดเป็นตัวสำเร็จ" สำเร็จทั้งทางโลก สำเร็จทั้งทางธรรม เพราะเมื่อใจหยุดที่ศูนย์กลางกายเมื่อไร ใจเราจะมีพลานุภาพ จะปฏิบัติหน้าที่การงานทุกอย่างก็สำเร็จ กำลังบุญก็หนุนส่ง จะปฏิบัติธรรมะก็สำเร็จอีกเช่นเดียวกัน และใจที่หยุด คือใจที่ปล่อยวางได้ แล้วสงบนิ่ง นำเราไปสู่ความสุขทั้งชาตินี้ ชาติหน้าตลอดไป

รปภ.ตัวอย่าง ช่วยชีวิตนักข่าวสาว



จาก Sanook news


ชื่นชม รปภ.BTS ใช้มือทุบกระจกกดปุ่มฉุกเฉินตัดกระแสไฟฟ้าช่วยนักข่าวสาวได้ทันท่วงที 

(20 ส.ค.) จากเหตุการณ์ น.ส.วรุณรัตน์ กาฬพันธุ์ นักข่าวสาวช่อง 3 เป็นลมพลัดตกไปในรางบนไฟ BTS สถานีหมอชิตและได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รปภ.BTS อย่างทันท่วงทีจนกระทั่งนักสาวคนนี้ปลอดภัย จากนั้นเธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะเกิดเหตุเธอกำลังเดินทางมาทำงานที่ช่อง 3 และได้ใช้บริการรถไฟฟ้าช่วงสถานีหมอชิตมาลงสถานีทองหล่อ เป็นประจำ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเวียนหัวเป็นอย่างมากแต่พยายามฝีนตัวเองเดินไปขึ้น บันไดเลื่อนจนกระทั่งไปถึงชานชลาที่รอรถไฟเริ่มรู้สึกวิงเวียนมากขึ้น หลังจากนั้นเธอไม่รู้สึกตัวอีกเลย

"ขอบคุณพี่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานีในขณะนั้นด้วย ทราบมาว่าพี่เขาก็ได้รับบาดเจ็บที่ใช้มือทุบกระจกเพื่อช่วยเหลือตัดระบบ สัญญาณไฟฟ้า ถ้าไม่ได้ทั้งทางพี่เจ้าหน้าที่ และบีทีเอสที่ช่วยดูแลระบบรักษาความปลอดภัยที่รวดเร็วเช่นนี้ คงจะไม่ได้มานั่งพูดอยู่ตรงนี้"

นายสมภพ เกียะทอง อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่ในเหตุการณ์ เผยว่า ช่วงเวลาประมาณ 8 โมง ระหว่างรถไฟฟ้ากำลังจะเข้าสถานี มีผู้โดยสารรอรถเป็นจำนวนมากเห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินแทรกขึ้นมาก่อนจะพลัด ตกลงไปในรางรถไฟฟ้า ตนจึงวิ่งไปทุบกระจกและกดปุ่มฉุกเฉินซึ่งห่างไปประมาณ 5 เมตร เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าตามขั้นตอนที่ฝึกซ้อมมา ก่อนจะแจ้งนายสถานีให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วย เป็นครั้งแรกที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่ได้ทำตามขั้นตอนที่ฝึกมา เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร

วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เทคนิคการตอบคำถามอัตนัย

จาก  ผู้เขียน: pratheepbu http://www.vcharkarn.com/vblog/39367




1.      ข้อสอบที่มุ่งให้อธิบาย
วัตถุประสงค์           มุ่งให้อธิบายวิธีการหรืออธิบายความรู้ในเรื่องต่างๆ
ลักษณะคำถาม       ให้คำจำกัดความ / ให้รายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง / ให้เปรียบเทียบ
                              คืออะไร / มีความหมายว่าอย่างไร / จงอธิบาย / จงเปรียบเทียบ

ขั้นตอนการตอบ             
1)      พิจารณาลักษณะของคำถามว่ามุ่งให้ตอบในประเด็นใด
2)      รวบรวมความรู้ที่เป็นข้อมูลสำคัญซึ่งอาจได้จากการอ่าน การฟัง การสังเกต และการศึกษาค้นคว้า
3)      จัดระเบียบความรู้ความคิดให้เป็นหมวดหมู่แล้วเรียบเรียงความคิดนั้นตามลำดับ
4)      อาจมีตัวอย่าง เหตุผล หลักฐานอ้างอิง หรือการเปรียบเทียบตามความจำเป็น
5)      ต้องเรียบเรียงถ้อยคำให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ น่าอ่าน และลำดับความคิดให้ต่อเนื่องกัน อย่าให้วกวนสับสน

แนวการตอบ
1)      การให้คำจำกัดความ อธิบายให้สั้นรัดกุมและชัดเจน
2)      การยกตัวอย่าง ช่วยให้การอธิบายชัดเจนและเข้าใจง่ายขึ้น
3)      การเปรียบเทียบ ลักษณะที่เหมือนกันหรือลักษณะที่แตกต่างกัน บางครั้งอาจต้องบอกข้อดีข้อเสียของสิ่งที่นำมาเปรียบกันเพื่อให้คำ ตอบกระจ่างชัด ในบางกรณีสิ่งที่อธิบายนั้นมีลักษณะเข้าใจยาก ผู้ตอบอาจต้องเปรียบเทียบกับสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย
4)      การแสดงเหตุผล แสดงว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผล อาจตอบอธิบายจากผลไปสู่สาเหตุหรือจากสาเหตุไปสู่ผลก็ได้
5)      การอธิบายตามลำดับขั้น ถามเกี่ยวกับกรรมวิธีหรือกระบวนการที่มีขั้นตอน

2.      ข้อสอบที่มุ่งให้แสดงความคิดเห็น
วัตถุประสงค์           ต้องการให้ผู้ตอบใช้เหตุผลและหลักฐานอ้างอิงประกอบ เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นของตนน่าเชื่อถือหรือน่านำไปปฏิบัติได้
ลักษณะคำถาม       เห็นด้วยหรือไม่ / จงแสดงความคิดเห็น / ทำไม

องค์ประกอบของข้อสอบ
1)      เรื่อง อ่านคำถามให้เข้าใจและพยายามจับประเด็นให้ได้ว่า ต้องเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องอะไร แต่ถ้าลักษณะข้อสอบเป็นการตัดตอนข้อความหรือหยิบยกเรื่องราวมาประกอบคำถาม เพื่อให้อ่านและแสดงความคิดเห็น ผู้ตอบจำเป็นต้องจับใจความสำคัญและตีความเพื่อจับประเด็นสำคัญจากเรื่องให้ ได้ครบถ้วนก่อนแล้วจึงตอบคำถามหรือเสนอความคิดเห็นของตน
2)      ข้อมูลหรือความรู้ที่จำเป็น ต้องมีความรู้ความเข้าในในเรื่องที่ตนเสนออย่างแจ่มแจ้ง และสามารถเลือกใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสม อาจจะเป็นได้ทั้งข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและข้อคิดเห็นของผู้ อื่นซึ่งผู้ตอบใช้อ้างอิง สิ่งสำคัญก็คือควรเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อได้ เพราะข้อมูลที่จะนำมาใช้ต้องถูกต้องและชัดเจน
3)      เหตุผล มุ่งให้เกิดความคล้อยตามและยอมรับ เหตุผลที่อ้างอิงอาจได้จากข้อเท็จจริงที่ศึกษามาหรือเป็นประสบการณ์ก็ได้ ควรจะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่ควรปล่อยให้อารมณ์หรืออคติครอบงำ เพราะจะทำให้ข้อเขียนขาดความเที่ยงตรงได้
4)      หลักฐาน มี 2 ประเภท ได้แก่ หลักฐานทางตรง (ได้จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองจึงเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด) และหลักฐานทางอ้อม (ได้จากเอกสารหรือคำบอกเล่าของผู้อื่น ซึ่งต้องอาศัยการตีความประกอบแต่ก็เป็นที่นิยมกันมาก) อาจปรากฏในรูปต่างๆ เช่น ข้อเท็จจริง สถิติ ตัวเลย ตัวอย่างเหตุการณ์






ขั้นตอนการตอบ
1)      สังเกตคำถามและพยายามจับประเด็นสำคัญจากคำถามว่า ข้อสอบมุ่งให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดในแง่มุมใดบ้าง
2)      ผู้ ตอบต้องบอกได้ว่าตนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องหรือข้อความที่ได้อ่านอย่าง ไร ต้องการสนับสนุน (ควรชี้ให้เห็นคุณประโยชน์หรือผลดี) หรือโต้แย้ง (ต้องชี้ข้อบกพร่องหรือผลเสีย) ก็เขียนให้ชัดเจน หากในข้อความที่อ่านมีการเสนอความคิดเห็นมาก่อน ผู้ตอบต้องพยายามสนับสนุนหรือหักล้างความเห็นเหล่านั้นด้วยเหตุผลและหลักฐาน ให้ความถ้วนทุกประเด็น กรณีที่ข้อความนั้นมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น ผู้ตอบอาจจะเห็นคล้อยตามความคิดเห็นบางประเด็นและขัดแย้งบางประเด็นก็ได้ ควรเขียนเสนอให้ชัดเจนว่าเห็นด้วยกับประเด็นใดและไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด พร้อมทั้งชี้แจ้งเหตุผลด้วย
3)      เสนอ ความคิดเห็นใหม่ๆ ของผู้ตอบเอง เขียนได้อย่างอิสระ แต่ถ้าเป็นการกำหนดข้อความหรือเรื่องราวมาแล้ว สิ่งที่ผู้ตอบพึงระวังก็คืออย่าเสนอความคิดเห็นซ้ำซ้อนกับความคิดที่มีปรากฏ อยู่แล้วในคำถามโดยไม่ได้เสนอความคิดเห็นใหม่ๆ ที่เป็นของตนเพิ่มเติม ไม่เพียงแต่ต้องใช้เหตุผลและหลักฐานอ้างอิงเพื่อเสริมให้ความคิดเห็นนั้นน่า เชื่อถือเท่านั้น แต่ต้องจัดลำดับความคิด เพราะการรู้จัดจัดวางข้อมูล อ้างอิงเหตุผลและหลักฐานอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและเกิดความเห็นคล้อยตามได้ง่าย
4)      สรุป ประเด็นเกี่ยวกับความคิดเห็นที่สำคัญซึ่งต้องการเสนอไว้ตอนท้ายเรื่อง เพื่อให้คำตอบสมบูรณ์และยังเป็นการย้ำให้ผู้อ่านได้นำข้อคิดไปพิจารณาใคร่ ครวญต่อไป
5)      ผู้ ตอบสามารถเลือกตอบได้ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นการเขียนความเรียง (คำนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุป) ใช้ในกรณีที่เป็นการเขียนเสนอความคิดเห็นที่มีหลายประเด็น ต้องอ้างอิงเหตุผลหลายประการเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเห็นคล้อยตาม อีกลักษณะหนึ่งคือ การเขียนแสดงความคิดเห็นโดยตรง มุ่งตอบตำถามให้ตรงประเด็น เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยต้องแสดงความเห็นให้ชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องมีอารัมภบท แต่ควรสรุปในตอนท้ายอีกครั้งเพื่อย้ำประเด็นสำคัญ





3.      ข้อสอบที่มุ่งให้อภิปราย
วัตถุประสงค์           ผู้ ตอบต้องแยกแยะประเด็นของเรื่องที่จะเขียนอภิปรายได้ชัดเจน และวิเคราะห์ได้ครบถ้วนทุกประเด็น ต้องชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย สาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์
ลักษณะคำถาม       จงอภิปราย

องค์ประกอบของข้อสอบ
1)      เรื่อง มี 2 ลักษณะ คือ
ก.      เรื่อง ที่เป็นข้อมูลทั่วๆ ไป เพื่อให้ผู้ตอบได้เสนอทัศนะและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหลายๆ ด้านพร้อมทั้งเหตุผลประกอบ ในขณะเดียวกันการได้อ่านนานาทัศนะย่อมทำให้ผู้อ่านมีความรู้และมีทัศนะที่ กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ข.      เรื่อง ที่เป็นปัญหาในสังคม ซึ่งผู้ตอบต้องการให้ผู้อ่านเปลี่ยนทัศนะหรือเปลี่ยนนโยบายใหม่ มักเป็นปัญหาส่วนรวมที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ไข ทั้งยังมุ่งพิจารณาปัญหาเรื่องนั้นๆ ทุกด้านเพื่อหาข้อสรุป และแนวทางปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลดี
2)      ข้อมูล หรือความรู้ที่ได้จากหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวกับเรื่องที่อภิปราย
3)      ความคิดเห็นของผู้ตอบ ควรเสนอความคิดเห็นที่แปลกใหม่นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้จากความคิดเห็นของผู้อื่น
4)      ข้อเสนอแนะ เสนอแนวทางในการปฏิบัติ หรือวิธีแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
5)      เหตุผล ช่วยเพิ่มน้ำหนักทำให้คำตอบน่าสนใจยิ่งขึ้น เหตุผลที่ใช้ในการเขียนอภิปรายจะมีทั้งเหตุผลประกอบความคิดเห็นและเหตุผลประกอบข้อเสนอแนะ
6)      หลักฐานอ้างอิง ใช้สนับสนุนการเสนอเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องที่อภิปรายให้หนักแน่นยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการตอบ
1)      อารัมภบท นำเข้าสู่เรื่อง เนื้อหาส่วนนี้จะเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ความสำคัญ หรือความเป็นมาของเรื่องที่จะเขียนอภิปราย ในกรณีที่เป็นการเขียนอภิปรายปัญหาส่วนรวมผู้ตอบอาจจะกล่าวถึงผลกระทบจาก ปัญหานั้น
2)      เนื้อเรื่อง ใน การนำเสนอผู้ตอบจำเป็นต้องแยกแยะประเด็นต่างๆ อย่างชัดเจน ถ้าเป็นการเขียนอภิปรายปัญหาส่วนรวม ควรเสนอสาเหตุของปัญหา วิธีแก้ไข รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ ให้ครบถ้วน ควรพิจารณาปัญหาทุกด้านอย่างรอบคอบ การเขียนอภิปรายแต่ละประเด็นต้องละเอียดมีเหตุผลมีหลักฐานอ้างอิงเพื่อให้ ผู้อ่านเข้าใจปัญหาและรู้จักวิธีแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ส่วนการใช้ข้อมูลประกอบอาจเขียนอ้างอิงโดยการให้รายละเอียด การยกตัวอย่าง หรือการเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความคิดเห็นคล้อยตามได้ง่าย
3)      ข้อเสนอแนะในช่วงท้ายของเนื้อเรื่อง  อาจ จะเป็นข้อคิดหรือแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นประโยชน์เพิ่มเติม ในการเขียนอภิปรายมักมีประเด็นที่ต้องกล่าวถึงมากมาย ดังนั้นผู้ตอบจึงควรจัดลำดับข้อความให้เหมาะสมตามหลักการใช้เหตุผลและจัด เป็นประเด็นใหญ่ประเด็นย่อยให้ชัดเจน ประเด็นใดมีความสำคัญควรกล่าวถึงก่อน ส่วนประเด็นที่สำคัญรองลงมาก็กล่าวถึงในลำดับถัดไป ส่วนการเขียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาส่วนรวม มีวิธีจัดลำดับประเด็นที่น่าสนใจ 2 วิธี คือ วิธีแรก กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาทั้งหมด ต่อจากนั้นจึงเสนอวิธีแก้ไขปัญหานั้นทุกปัญหา ส่วนวิธีที่สอง เป็นการเสนอสาเหตุของปัญหากับวิธีแก้ไขปัญหาเป็นข้อๆ  ไปจนกระทั่งพิจารณาปัญหาได้ครบทุกข้อ การรู้จักลำดับประเด็นจะช่วยให้ผู้อ่านไม่สับสนและสามารถอ่านข้อเขียนได้เข้าใจยิ่งขึ้น
4)      บทสรุป ควรย้ำประเด็นสำคัญที่ต้องการเสนอหรือชี้ให้เห็นว่า ถ้าสามารถปฏิบัติตามแนวทางที่เสนอแนะได้ย่อมก่อให้เกิดผลดี

13 วิธีเด็ด !! เก็บแต้มข้อสอบ(อัตนัย+ปรนัย) ให้เต็ม 100

สวัสดีค่ะน้องๆ^^ คราวที่แล้ว พี่มิ้นท์ แนะนำวิธีการอ่านหนังสือให้ทันใน ระยะเวลาที่จำกัด ไม่รู้ว่ามีน้องคนไหนเอาไปลองใช้กันบ้างรึยัง ถ้าใครลองใช้แล้ว บอกกันหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง ส่วนวันนี้ พี่มิ้นท์ มีเคล็ด(ไม่)ลับให้น้องๆ เอาไปใช้ในห้องสอบ รับรองว่า จะมาแบบปรนัย หรืออัตนัย ก็สามารถได้ร้อยเต็มแบบชิวๆ เลยค่ะ
13 วิธีเด็ด !! เก็บแต้มข้อสอบ(อัตนัย+ปรนัย) ให้เต็ม 100

           ถ้าอยากได้ปรนัยร้อยเต็ม

            1) เมื่อได้ข้อสอบมา ให้รีบเขียนชื่อ-นามสกุล ชั้น เลขที่ ให้เสร็จก่อนแล้วค่อยเริ่มทำข้อสอบ การ เขียนค้างๆ คาๆ แล้วไปทำอย่างอื่น จะทำให้เราลืม ที่สำคัญลืมแล้วลืมเลย แบบนี้ถ้าข้อสอบไม่มีชื่อ เรานั่นแหละจะเป็นคนที่เสียประโยชน์ แล้วจะมานั่งเสียใจทีหลังไม่ได้นะ หลังจากนั้นก็อ่านคำสั่งให้ดี ว่าเค้าให้กากบาท หรือ วงกลม หรือใช้วิธีฝน เพราะบางทีเผลอไปกากบาทแทนวงกลม ก็ถือว่าผิดคำสั่ง เสียคะแนนไปฟรีๆ ก็มี            2) คำนวณเวลาให้ดีๆ ว่า สอบกี่ชั่วโมง มีกี่ข้อ จะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องทำไม่ทัน และระหว่างทำก็ไม่ควรดูนาฬิกาบ่อยๆ เพราะจังหวะที่ก้มมองนาฬิกาจะทำให้เราพะวง และเสียสมาธิ แถมยังกดดันตัวเองอีกด้วย              3) ทำข้อที่ได้ ข้อไหนไม่ได้ก็ไม่ต้องไปนั่งงมหาคำตอบให้เสียเวลา ให้ข้ามไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทำทีหลัง             4) ข้อไหนไม่แน่ใจ ให้ยึดตามความคิดแรกของเรา เพราะ ความคิดแรกมักจะให้ความรู้สึกว่าคุ้นๆ เหมือนเคยอ่านเจอ และส่วนใหญ่ก็จะถูก หลายครั้งที่ พี่มิ้นท์ ไม่ค่อยแน่ใจคำตอบ ก็แก้ไปแก้มา สรุปว่าของเดิมน่ะถูกอยู่แล้ว นึกแล้วยังเจ็บใจอยู่เลย ชิ!! หรือ ถ้าจะมั่วต้องมั่วอย่างมีหลักการ ใช้วิธีตัดช้อยส์ที่คิดว่าไม่ใช่ออกไป ทีนี้คำตอบที่ได้จากการมั่วของเราก็จะมีเปอร์เซ็นถูกมากขึ้นค่ะ            5) ถ้าข้ามข้อ ให้ทำเครื่องหมายไว้หน้าข้อนั้นด้วย จะ ได้รู้ว่าข้อนี้เรายังไม่ตอบ ข้อถัดไปจะได้ไม่เผลอหลงกากบาทคำตอบผิดช่อง เพราะถ้าผิดหนึ่งข้อ งานนี้ก็ผิดยาวเลยนะคะ บางทีกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถึงข้อสุดท้าย แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าเริ่มผิดจากข้อไหน งานนี้ลบกันหน้ามันแน่
            6)
ระหว่างทำอ่านโจทย์ให้ดีๆ จุดเสียคะแนนที่สำคัญที่สุด คือ โจทย์ที่หลอกด้วยคำว่า "ใช่"  "ไม่ใช่"  "ไม่" แม้ จะทำตัวหนาจนแทบจะออกมาเบียดลูกกะตาแล้วก็ตาม เด็กไทยก็มักจะอ่านผิดตลอด แค่อ่านยังผิด คำตอบมันจะถูกได้ยังไงล่ะน้องเอ๊ย!! เพราะฉะนั้นอย่าให้คำคำเดียวมาทำให้คำตอบของน้องๆ เปลี่ยนเชียว
            7)
  ก่อนออกจากห้อง ตรวจทานคำตอบทุกครั้ง ว่า ทำครบรึยัง ถ้ายังไม่ครบให้รีบทำ หรือตรวจทานว่าคำตอบกาตรงกับคำถามมั้ย วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายแต่สำคัญที่สุด ที่ป้องกันไม่ให้คะแนนน้องรั่วไหลไปฟรีๆ นะ

13 วิธีเด็ด !! เก็บแต้มข้อสอบ(อัตนัย+ปรนัย) ให้เต็ม 100

           ถ้าอยากได้อัตนัยร้อยเต็ม

             1) อ่านโจทย์ซัก 2 รอบ ตีโจทย์ให้แตกว่าเค้าถามอะไร และเพื่อกันหลงประเด็น น้องๆ ต้องวงคำถามไว้ หรือ ดูว่าในข้อนั้นมีถามกี่คำถาม เพราะโจทย์ข้อนึงความยาวหนึ่งบรรทัด อาจจะมี 2 คำถามก็ได้ ส่วนใหญ่ มักจะลงท้ายว่า  "...หรือไม่ อย่างไร" แบบนี้เรียกว่ามีสองคำถาม และเวลาตอบก็ต้องตอบให้ครบนะทุกคำถามนะ เพราะแต่ละจุดก็จะมีคะแนน ถ้าไม่ตอบก็จะโดนหักคะแนนค่ะ
             2) เวลาตอบคำถามให้ทวนโจทย์ด้วย การทวนโจทย์ก็คือ เขียนซ้ำตามที่โจทย์ให้มา นอกจากจะทำให้คำตอบดูต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการทวนคำถามกับตัวเองด้วย เริ่ดปะล่ะ^^
             3) ตอบเฉพาะคำถามที่ถาม อย่าเกริ่นให้มีแต่น้ำ นอกจากจะเสียเวลาแล้ว การที่เขียนเยอะๆ แต่ไม่มีคำตอบในนั้น อาจทำให้อาจารย์อารมณ์เสียได้นะ อาจารย์บางทีเค้าก็ไม่ปราณีให้คะแนนค่าน้ำหมึกหรอก เพราะฉะนั้นเขียนเนื้อๆ ตรงประเด็นกันไปเลย น่าจะดีที่สุด
             4) ใช้ย่อหน้าบ่อยๆ เพราะการขึ้นย่อหน้าใหม่ เป็นการแบ่งประเด็นให้คนอ่านอ่านเข้าใจมากยิ่งขึ้น เพราะตามหลักการเขียนที่ดี หนึ่งย่อหน้าควรมีหนึ่งใจความสำคัญ นอกจากนี้ยังทำให้น่าอ่าน ไม่รกหูรกตามาเป็นปื้ดดด!! สายตาอาจารย์ท่านก็ไม่ค่อยดีแล้ว อำนวยความสะดวกให้ท่านนิดนึง ดังนั้นเรื่องรูปแบบก็สำคัญนะ ช่วยให้น้องๆ ได้คะแนนง่ายขึ้นด้วยล่ะ
             5) เรียบเรียงคำตอบในสมองให้ดีก่อนเขียนลงกระดาษคำตอบจริง เพราะถ้าน้องๆ เล่นเขียนสด ไม่ผ่านการเรียบเรียง คำตอบที่เขียนส่งก็จะวนไปวนมา จับใจความไม่ได้ สุดท้ายพอนึกเรื่องเขียนออก ก็เอาเข้าไปในเนื้อเรื่องไม่ได้อีก คำตอบที่เขียนออกมาก็ไม่ดีสมใจอยาก คะแนนก็จะไม่ดีตามไปด้วย หลังจากนั้นเขียนเสร็จก็อ่านทวนอีกซักรอบค่ะ
             6) เขียนลายมือสวยๆ สะกดคำให้ถูกต้อง เคยได้ยินมั้ยว่าอะไรที่ดูเรียบร้อย มักจะเตะตาคนได้ การเขียนก็เหมือนกัน ลายมือตวัดไปมา ใครจะไปอยากอ่านล่ะ เขียนช้าลงนิดนึง ใส่ความตั้งใจในการเขียนลงไปหน่อย แต่อาจารย์หยิบอ่านแล้วอารมณ์ดี ให้คะแนนตอนอารมณ์ดี มันก็คุ้มนะ
          ทั้ง หมดนี้ พี่มิ้นท์ ก็หยิบเอามาจากประสบการณ์ของตัวเองโดยตรง ที่ผ่านสนามสอบทั้งปรนัย และอัตนัยมาเป็นร้อยสนาม แม้ว่าเคล็ดลับพวกนี้ จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ดูไม่สาคัญอะไรนัก ถ้าคิดยังงี้ ขอให้น้องๆ เปลี่ยนความคิดเลยค่ะ จุดเล็กๆ พวกนี้ตะหากที่จะกู้คะแนนจากคะแนนที่ต่ำเรี่ยดินให้ขึ้นมาได้ ถ้าไม่เชื่อก็ลองดู^^
13 วิธีเด็ด !! เก็บแต้มข้อสอบ(อัตนัย+ปรนัย) ให้เต็ม 100

13วิธี ตบตีกับข้อสอบอัตนัย

 จาก http://www.unigang.com/Article/1082

 ก่อนจะลงสนาม
(ไม่นับเรื่องในชั่วโมงเรียนนะคะ อันนั้นตัวใครตัวมัน กรณีนี้จะกล่าวถึงช่วงเตรียมตัวและอ่านหนังสือสอบค่ะ)


13 วิธีเด็ด !! เก็บแต้มข้อสอบ(อัตนัย+ปรนัย) ให้เต็ม 100

1. เอาให้ครบ
อย่าคิดประมาณว่า "เฮ้ยยยยยย แค่นี้หมูๆ กูไปซุยในห้องสอบเอาก็ได้" เด็ดขาด
โอ เคค่ะ ถ้าคุณเก่งระดับมหาเทพ ข้อมูลผ่านหูตอนฟังในห้องแบบปรื๊ดเดียวก็บันทึกเป็นRead only memoryประหนึ่งไรท์ลงซีดีก็เชิญทำไป แต่ถ้าไม่ใช่ อ่านหนังสือให้ครบถ้วนกระบวนความเถอะนะคะ

ข้อสอบอัตนัยเป็นข้อสอบที่มีคำตอบเปิด กว้าง(มาก) ยิ่งกับวิชาสังคม สมมุติว่าเนื้อหาคุณเกือบสองร้อยหน้า แต่ข้อสอบหยิบมาถามยี่สิบข้อ คุณจะมั่นใจได้ยังไง ว่าไอ้ส่วนที่คุณบอกว่า"ทิ้งได้"มันจะไม่ออกข้อสอบ
ยังไงเหลือก็ดีกว่าขาด อ่านเผื่อเอาไว้ดีกว่า อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่เรียน มันมีสิทธิ์ออกข้อสอบได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว อ่านผ่านตาแค่รอบเดียว เอาให้คุ้นๆก็ยังดีค่ะ ดีกว่าเห็นแค่รอบสองรอบในห้องเรียน

2. ชัวร์ไว้อุ่นใจกว่า
ข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้กันกับข้อบนค่ะ พยายามเอาเนื้อหา ชื่อเฉพาะ และวันเดือนปีให้แม่นเข้าไว้ อย่าคิดว่าปีพ.ศ.เป็นแค่เลขสี่หลักที่ไม่สำคัญ เพื่อนๆเม่ยหลายคน รวมทั้งเม่ยเอง ตกม้าตายเพราะเจ้านี่มาแล้วค่ะ
เวลาเขียนอธิบาย ยิ่งพวกลำดับเหตุการณ์ จะมาบอกว่าประมาณปี1900กว่าๆ อะไรแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาดเลยนะคะ อาจารย์ให้ไข่ต้มสองใบตามจำนวนเลขท้านศตวรรตประมาณที่ใส่แน่ค่ะ
อย่าง สงครามโลกครั้งที่สองเกิดเมื่อไหร่ อเมริกาประกาศอิสระภาพปีไหน ปฏิวัติฝรั่งเศส ปฏิวัติรัสเซียปีอะไร สงครามเย็นสิ้นสุดปีไหน จะมาบอก ราวๆปลายคริสต์ศตวรรตที่18 อะไรแบบนี้ไม่ได้นะคะ 1776คือ1776ค่ะ
(อ่า ยกเว้นพวกยุคสมัย/เหตุการณ์ที่กินเวลานานๆ อย่างยุคปฏิวัติคอมพิวเตอร์ ปฏิวัติอุตสาหกรรม อันนั้นใส่เป็นทศวรรตที่****ได้ค่ะ)

ดังนั้น ชัวร์ไว้อุ่นใจกว่า ทำให้เป็นนิสัยค่ะ ยิ่งตรงไหนสำคัญๆควรจะสามารถเขียนหรือพูดคอนเซ็ปต์ได้แบบไม่ติดขัดเลยยิ่งดี
เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนเจ้ากระดาษชีชะตาพวกนั้น เน้~

3. Why How สูเจ้าตอบได้บ่
เกร่อไปนิด แต่เท่าที่สุมหัวติวกันมา เจ้านี้เวิร์คมากค่ะ
ข้อสอบบรรยาย น้อยมากที่จะถามว่าWhat เพราะอะไร เพราะมันง่ายไปน่ะซี่~ อะไร เกิดอะไร ปีไหน จำไปใครๆก็ตอบได้ แต่ถ้าถามว่า"อย่างไร" หรือ"ทำไม" อันนั้นต้องคิดแล้วประมวลข้อมูลก่อนอธิบายสักนิดค่ะ
อย่าง สมมุติว่า เกิดมีคำถาม"กำแพงเบอร์ลินมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อย่างไร"
เจออย่าง นี้ โฟ่กันยาวเลยค่ะ เล่าตั้งแต่อักษะสงครามโลกแพ้ เยอรมนีโดนพันธมิตรเข้าไปควบคุมดูแล บลา บลา บลา จบลงที่ว่า เป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็น การพังกำแพงเบอร์ลินจึงเป็นการแสดงถึงว่า สงครามเย็นยุติลงแล้ว

การตั้งคำถามพวกฮาวแอนด์วายจึงเป็นการซ้อมมือตัวเองอย่างหนึ่งก่อนทำสอบค่ะ
ยิ่ง เด็กทุมวันตอนมอสาม(จะมีรุ่นน้องหลงมาอ่านมั้ยนะ//หัวเราะ) ข้อสอบสังคมเป็นที่ขึ้นชื่อว่าตกกันครึ่งห้อง เพราะว่าสอบชอยส์ยี่สิบข้อก็จริง แต่ตอบแล้วต้องอธิบายไอ้พวกอย่างไร ทำไม ไม่ตรงคีย์เวิร์ดก็ไม่ได้คะแนน ถ้าตอบชอยส์แต่ไม่อธิบายก็เจอศูนย์ เพราะงั้นฝึกมือไว้บ่อยๆเป็นดีค่ะ

ของแบบนี้ ก็เหมือนเลขเหมือนฟิสิกส์ที่ต้องหัดทำบ่อยๆเหมือนกันแหละ~

4. เก็ง เกร็ง เก็ง
อาศัยวิชามาร+เซนส์กันนิดหน่อย แต่ขอเน้นว่า ถ้าอ่านทัน ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้หรอกค่ะ
โอเค หลายคนคงมีเพื่อนที่ชอบทำตัวแบบนี้ "ไอ้เนี่ย ออกชัวร์" "ชัวร์ป้าบ" "เฮ้ยยย ออกแน่ๆ" "เราว่า นี่มีโอกาสเยอะนะ"(เม่ยเองก็อีกราย ฮา)
ถ้าเกิดเวลากระชั้นชิดมาก อ่านหนังสือไม่ทันแล้ว การอ่านแบบโฟกัสเฉพาะจุดจะช่วยได้เยอะมากค่ะ แต่ เน้นนะ ว่าต้องโฟกัสให้ดี ไม่งั้นผิดที่ เบลอว่าตกล่ะแถบกันได้เลยล่ะพี่น้อง
หลักการง่ายๆ ลองสมมุติตัวเองว่าเป็นอาจารย์ดู ว่าถ้าเราจะออกข้อสอบให้ทรมานเด็ก เราจะออกอะไรบ้าง และดึงเนื้อหาอะไรมาออกสอบ (เวลาตอบ อย่าเข้าข้างตัวเองด้วยการคิดว่า เฮ้ย เรื่องนี้ออกแน่เพราะมันง่ายแก่การจำสำหรับฉันเชียวนะคะ)
ถ้ามันกว้างไป บีบเข้ามาอีกนิด "ทั้งหมดนี้ มีส่วนไหนที่สำคัญ ควรค่าแก่การอยากให้เด็กรู้บ้าง" อันนี้ก็จะต้องนึกๆย้อนนิดนึง ว่าอาจารย์เน้นอะไรตอนเรียน ย้ำนักย้ำหนาตรงส่วนไหน มีมั้ย ที่จะบอกว่า"ยากนะครับนักเรียน จำนะ จำ" อะไรแบบนี้
ข้อเสียของวิธีนี้มีอย่างเดียวค่ะ เก็งพลาดคือจบ โฟกัสผิดก็เบลอว่าตกล่ะแถบ แบบว่าตกล่ะเธอกันไปเลย
เพราะงั้น อ่านให้ทันจะดีกว่าน่อ



ได้เวลาออกรบ

5. กวาดให้ครบ
กวาดในที่นี้หมายถึงกวาดตาดูข้อสอบให้ทั่วเด้อเอื้อย
อันดับแรกที่คิดว่าเทคนิกการทำข้อสอบทุกที่ต้องพูดแน่นอน แต่ก็ยังมีคนลืมทำ
เม่ยล่ะอีกเสียงที่ขอย้ำไว้ล่ะ ว่าอ่านสักรอบก็ดีนะเธออออว์

อย่างที่บอกไปค่ะ ว่าข้อสอบเป็นอะไรที่เราเดาใจคนออกไม่ได้
คุณมีสิทธิ์เจอข้อสอบยวงใหญ่ ที่คำสั่งสุดท้ายบอกว่าเลือกทำเฉพาะข้อที่เป็นเลขคู่/คี่ตามเลขประจำตัวเรา(อันนี้พี่สาวโดนมาที่มหาลัย)
หรือ บอกว่า ให้เลือกทำแล้วบวกคะแนนที่กำกับข้อให้ได้ครบสิบคะแนน ส่วนเกินกว่านั้นจะไม่คิดคะแนนทั้งข้อ(ฟิสิกส์เสริมก็มีกรณีนี้แล้วเช่นกัน)

เพราะงั้น การอ่านคำสั่งและข้อสอบหนึ่งรอบก่อนทำก็เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งในการทำให้เราประสบความสำเร็จ เน้~
อีกอย่าง การอ่านข้อสอบแบบคร่าวๆ จะทำให้เราคำนวณเวลาการทำได้ถูก และสามารถวางแผนได้ว่า จะทำข้อไหนก่อน ข้อไหนหลังด้วยค่ะ


6. ตีให้แตก
ตีความโจทย์ให้แตก ว่าเขาต้องการถามหาอะไร มีอะไรเป็นคีย์เวิร์ดที่เราควรต้องเขียนลงไปบ้าง
เรื่อง คีย์เวิร์ดนี่สำคัญมากค่ะ ชนิดที่ว่าคงเขียนเต็มทุ่งสักสองเอฟสี่แต่คียเวิร์ดขาดไปตัวนึง กับครึ่งหน้าเอสี่แต่มีครบกระบวนความ คะแนนก็ต่างกันเยอะแยะเลยล่ะ

วิธีที่จะช่วยไม่ให้พลาดแบบสมควรเอาหัวไปยัดส้วมก็คือการขีดเส้นใต้ค่ะ (คิดว่าพี่ๆที่สอบแกะมาแล้วน่าจะเคยใช้กันนะ)
ขีดเส้นใต้ วงกลมกระเด็นสำคัญๆของโจทย์ไว้ ว่าเขาอยากได้อะไรบ้าง แล้วเราค่อยโฟ่ไปตามนั้น
อีกอย่าง มันเป็นการป้องกันการลืมระหว่างเขียน หรือเขียนแล้วออกแปซิฟิกด้วยค่ะ ประมาณว่า เหลือบตาขึ้นมา อ๊ะ ตรงนี้ต้องเขียนด้วยนะ


7. What is the main point!!!
ประโยคนี้ขออนุญาติยืมมาจากอาจารย์ชาวตปท.ก่ะ
สำคัญน้า เรื่องนี้ อาจเนื้อหาคล้ายๆข้อบน แต่รู้สึกอยากเน้นให้เห็นชัดๆอีกรอบ
หลังอ่านโจทย์แล้วควรตอบได้ค่ะ ว่าคำถามเขาถามถึงอะไร เมนพอยท์ หลักใหญ่ใจความที่ควรต้องตอบมีอะไรบ้าง
เปรียบเทียบง่ายๆ อย่างพิชัยยุทธ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
สมมุติตัวเองอีกรอบก็ดี ว่าถ้าเป็นคนตรวจข้อสอบ คำถามแบบนี้อยากได้อะไรกลับมาบ้าง (และ เช่นกันกับข้อสี่ อย่าเข้าข้างตัวเองเด็ดขาด)
ยิ่ง ถ้าเราค่อนข้างสนิทกับอาจารย์ท่านนี้ หรือเรียนกันมานานจนรู้นิสัย ก็ย่อมจะรู้ว่า การจะเขียนตอบนั้น เขียนยังไงให้ถูกใจ ตรงประเด็นสำหรับเขาด้วยค่ะ

หัวใจสำคัญของการตอบพวกนี้อยู่ที่เมนพอยท์นั่นแล ถ้าหลุดก็ปิ๋วไปเลย

8. ประมวลสมอง คิดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
พอได้คีย์เวิร์ดที่จะตอบแล้วว่าคืออะไร ทีนี้ก็ถึงเวลาที่จะได้ใช้ความรู้ที่อุตส่าห์ลำบากยัดเข้ามาในหัวแล้วค่ะ
เรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะว่าไงดี ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้เท่าที่เรียนในวิชานั้น ความรู้ทั่วไป เกร็ดเสริมก็เขียนได้ แต่อย่าออกทะเล แล้วก็มีอะไรที่โยง/อธิบายร่วมแล้วคิดว่าสามารถช่วยดึงคะแนนได้ ใส่มาให้หมดเลยค่ะ
อาจไม่มีผล เพราะเป็นข้อมูลประกอบ แต่ก็ช่วยได้เยอะเหมือนกันสำหรับส่วนนี้
(แอบกระซิบ บอก เพราะเขียนเรื่องอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่มีต่อวัฒนาธรรมไทย ลงไปในข้อสอบพระพุทธที่ถามเรื่องในสมัยพุทธกาล เลยทำให้ได้ท็อปชั้น(คะแนนเต็ม)มาด้วยล่ะ อรั๊ง)


9. Note it
ส่วนใหญ่ในระดับมัธยมข้อสอบมักไม่ได้มี ข้อเดียว(ส่วนมหาลัยไม่แน่ใจว่าข้อเดียวเล่มเดียว หรือเล่มเดียวหลายข้อ) ทำให้เมื่อทำไปสักระยะ หลายคนจะประสบสถานการณ์ "เฮ้ย เมื่อกี้คิดได้ทำไมมันลืมวะ" >>> ตกม้าตายกลางสนามรบล่ะ
หรือ ตอนอ่านข้อสอบสมองแล่นฉิวเลย คิดๆๆๆๆๆ ได้ไอ้โน่นไอ้นี่ออกมาเพียบ แต่พอจรดปากกาลงมือจริงๆก็ถึงกับอุทาน "_า เมื่อกี้คิดว่าอะไรนะ"/"จะเริ่มยังไงดีหว่า"
ก็แล้วทำไมคุณไม่จดไว้ละค๊า คุณท่าน
ของ พวกนี้เวลาคิดได้ โน้ตไว้ก่อนปลอดภัยกว่าค่ะ ไม่ต้องใช้ปากกาก็ได้ ดินสอก็พอ เขียนสั้นๆข้างๆข้อก็ได้ ที่ว่างน่าจะพอหาได้อยู่ เอาแค่คำสำคัญ กับสิ่งที่เราอยากเขียน เพราะไม่งั้น ถ้าเกิดไม่โน้ต นอกจากจะลืมแล้ว เราอาจจะหลุดคอนเซ็ป ออกแปซิฟิกไปแอตแลนติกทะลุคลองสุเอซแน่ๆ

เผื่อเหนียวไว้ เขียนเสร็จก็ลบออกได้ สบายแฮ นะจ๊ะ

10. แผนนั้นสำคัญไฉน + ดูเวลาอย่าสบายใจ
ข้อนี้ขอควบสองเลยค่ะ
เวลาทำข้อสอบ อัตนัยบรรยายเยอะก็เหมือนเขียนเรียงความขนาดสั้นที่ต้องมีคำนำ เนื้อหา สรุป หลายคนเวลาเขียนจะเขียนก็แบบเบลอๆมึนๆ หรือเขียนไปแล้วตัน ต่อไม่ได้
เพราะงั้น ต้องวางแผนค่ะ

โน้ตแบบข้อบน หรือทำพร้อมๆกับข้อบนเลยก็ได้ เขียนโยงเป็นลูกศร ว่าจะเอาเรื่องไหนต่อเรื่องไหน มีประเด็นอะไรที่ต้องกล่าวถึงบ้าง
พอวางแผนการเขียนเสร็จให้วางแผนเรื่อง เวลาต่อ ว่าเขียนข้อนึงกี่นาที จะใช้เวลาทั้งหมดเท่าไหร่ เผื่ออ่านทวน ตรวจทานด้วยมั้ย หรือจะฟาดให้หมดในเวลาสอบเลย อยากออกไปอ่านวิชาต่อไปด้วยหรือเปล่า
หมดนี่ต้องคิด แล้ววางแผนการทำข้อสอบออกมาค่ะ

ซีเรียสนะ ทำข้อสอบไม่ทันเพราะไม่วางแผนก็มีตัวอย่างมาให้เห็นกันเยอะแล้ว
อ้อ แนะทริกอีกอย่างค่ะ อันนี้ต่างคนต่างความเห็น
ถ้า เกิดว่าเวลาไม่ทันจริงๆ แล้วมีข้อสอบข้อใหญ่ กับข้อสอบข้อย่อยที่คะแนนไม่เท่ากันอยู่ ถ้าหากว่าข้อย่อยเขียนเสร็จเร็วกว่า แต่ได้คะแนนน้อยกว่า แนะนำให้ทำข้อย่อย
อย่าง สมมุติข้อใหญ่ห้าคะแนน ข้อย่อยหนึ่งจุดห้า แต่มีสี่ข้อ
แล้วคำนวณแล้ว ข้อใหญ่เขียนไม่ต่ำกว่าเจ็ดหน้าที เหลือเวลาสอบห้านาที
ถ้าไปโฟ่ข้อย่อยน่าจะได้อย่างน้อยสองถึงสามข้อ แต่ถ้าไปงมกับข้อใหญ่ เผลอๆ นอกจากจะปิ๋วห้าแล้ว ไอ้หกก็จะปิ๋วตามไปด้วย

แต่ก็ ต่างคนต่างความเห็นนะคะ เม่ยสอบเม่ยก็มองแบบนี้แหละค่ะ
อ้อ ใช่ หมั่นดูนาฬิกาด้วยนะคะ อย่าเมามันกับการเขียนมากเกินไป เดี๋ยวล่มค่ะ

11. เอาใจใส่ในการเขียน
อันนี้เริ่มจะเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว
เวลาเขียน เครื่องเขียนควรพร้อม วางในจุดที่คว้ามาได้แบบไม่ต้องเงยหน้า ทุกนาทีมีความหมายหมดแหละค่ะ

ปากกา แนะนำหัวเล็กๆ แล้วก็ไม่เยิ้ม
ลิควิด เปิดฝาทิ้งไว้เลยถ้าไม่กลัวแห้ง เอาแบบสะดวกที่สุดเท่าที่ทำได้

แล้วก็ ใส่ใจลายมือนิดนึง ไม่ต้องสวยขนาดคัดอาลักษณ์ประกวดก็ได้ค่ะ แต่เอาให้อ่านออก อย่าไก่เขี่ยจนไม่รู้ว่าที่เขียนนั่นวงๆหมึกหรือคำตอบ เคยมีคนที่อาจารย์โยนข้อสอบทิ้งเพราะว่าอ่านไม่ออกมาแล้วนะเออ
การสะกดคำก็ควรระวังค่ะ ผิดนิดเดียวความหมายไปไกลเลย อาจารย์บางท่านไม่หยวนกับเรื่องพวกนี้ด้วยนะ ขอบอกๆ
(กรณีศึกษา
เหตุเกิดเมื่อราวๆยี่สิบปีกว่าปีก่อน สมัยคุณพ่อของจขบ.เป็นอาจารย์หมอ
อาจารย์รุ่นพี่พูดให้ฟังว่า มีนศพ.เขียนคำตอบมาส่งว่า "อาการเลือดคลั่งในสมอง" ผมเลยคลุ้มคลั่ง ให้0ข้อนั้นไปเลย
เด็ดมั้ยละคะ แต่ตรงนี้ผิดแล้วความหมายผิดไปเลยจริงๆนั่นแหละ)

แล้วก็ ถ้าอยากให้คนตรวจตรวสบายๆ(เอาอกเอาใจเขานิดนึง ยังไงเราก็ง้อคะแนนเขาอยู่) ขีดเส้นใต้ตรงประโยคที่เขียนคีย์เวิร์ดไว้ด้วยก็ดีค่ะ
เวลาสอบบรรยายแบบเป็นสองสามหน้ากระดาษเม่ยก็ทำแบบนี้ ไม่งั้นคนตรวจเองก็อาจจะเผลออ่านข้ามไปก็ได้
การตรวจข้อสอบเยอะๆก็ปวดหัวใช่เล่นนะ


12. ข้อมูลนั้นสำคัญไฉน
หลายครั้งมีโอกาสได้เจอข้อสอบที่ถามความ เห็นค่ะ หลายคนเข้าใจว่าเป็นข้อแจกคะแนน ตอบไปยังก็ได้ แต่ความจริงแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้นน่ะสิกิ๊ฟท์!!!
ข้อสอบที่ถามความคิดเห็นเหล่านั้น มีไว้เพื่อวัดกึ๋นเราค่ะ ใช่ เขาอยากรู้ ว่าเราคิดยังไง แล้วอะไรที่เราจะพูดและโน้มน้าวให้เขาเชื่อตามที่เราคิดได้บ้าง ถ้าแถมั่ว ตอบไม่ถูกใจ คะแนนก็ไม่ได้นะเออ
อาวุธของการทำข้อสอบแบบนี้คือข้อมูลค่ะ ถ้าเรามีข้อมูลซะอย่าง จะชักแม่น้ำทั้งห้าดั่งเซลล์ขายสินค้าหรือตัวแทนขายประกันก็ย่อมได้
รู้เยอะกว่าย่อมได้เปรียบ

เวลาอ้างน่ะ อ้างเข้าไปเลย ข้อมูลอะไรที่รู้แล้วเกี่ยวข้อง เน้นด้วยว่าเกี่ยวข้องและใช้ได้ เขียนถึงไปให้หมด
อย่าง สดๆร้อนๆ เม่ยเจอข้อสอบค่ะ "คุณคิดเห็นอย่างไรกับการซื้อวิตามินสังเคราะห์มารัปประทานเอง"
อัน นี้นี่ตอบได้เยอะมาก แต่เราก็ไม่รู้ด้วยว่า แนวทางที่ถูกต้องที่อาจารย์ต้องการอ่าน คือคำตอบว่าอะไร ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยการอ้างอิงด้วยข้อมูลปลอดภัยที่สุดค่ะ
(ซึ่ง ส่วนตัวก็อ้างไป ตั้งแต่การดูดซึมวิตามิน การสะสมในไขมัน/ขับออกทางปัสสาวะ ความคุ้มค่าของเงิน พิษสะสม บลาบลาบลา สุดท้ายบอกว่า ปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อยามารับประทาน)


13. ไม่ชัวร์ อย่าโฟ่
อันนี้ย้ำจริงๆค่ะ ไม่ชัวร์ อย่าซ่าเขียนไป ไม่งั้น จากที่จะได้เต็ม คะแนนจะโดนหักเสียเปล่าๆ
เจอกับตัวเอง เหตุการณ์นี้ ตอนที่เขียนเรื่องพื้นที่เพาะปลูกของสหรัฐอเมริกา มันมีสองลุ่มน้ำคือมิสซิสซิปปี้กับมิสซูรีใช่มั้ยคะ เม่ยเผลอค่ะ จำพลาด ไปเขียนเซนต์ลอเรนซ์เพิ่มอีกตัวนึง(แม่น้ำสายนี้ผ่านแคนาดาจ้ะTTwTT) จากที่จะได้เต็มยี่สิบ ได้สิบเก้าจุดหกเจ็ดค่ะ(คะแนนดิบ59/60เลยล่ะ โซกรี๊ดมากๆ) จากท็อปชั้นก็เลยแค่ท็อปห้อง เสียดาย+เสียใจ ชนิดว่าอาจารย์ยังบอกว่า ถ้าเธอไม่พลาดข้อนั้นข้อเดียว ฉันก็ให้เธอเต็มไปแล้ว
ดังนั้น อะไรที่ไม่ชัวร์ อย่าลงรายละเอียดค่ะ กล่าวภาพรวม เล่าข้างๆ อ้อมนิดอ้อมหน่อยได้จะดีกว่า
อาจารย์แต่ละท่านเฮี้ยบไม่เหมือนกัน เขียนอ้อมคุณอาจจะได้4/5 แต่ถ้าผิด มันอาจกลายเป็น3.5/5แทนได้ 

อย่างถ้าให้เขียน ในกรณีนี้อาจบอกว่า เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตอนกลางของประเทศ เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้เป็นต้น อะไรแบบนี้ค่ะ 

ก็ อย่างที่บอกไปตั้งแต่ก่อนเขียนนะคะ ว่าทั้งหมดนี้เขียนจากประสบการณ์ บางส่วนก็โฟ่ความเห็นส่วนตัวลงไปบ้าง เพราะงั้น ขัดๆตรงไหน หรืออยากเพิ่มเติมอะไร บอกกันได้ค่ะ
 
อ่า แล้วก็ นิดนึง ถ้าอ่านแล้วถูกใจ ขอดาวแดงสักดวงจักเป็นพระคุณค่ะ//อาย
ปีนี้อยากติดฮอตสักเอนทรี่จัง//หัวเราะ
 ..........................................................................................................................................................
คุณดิต
- แอร๊ง เมาดิบจนได้ ขอโทษค่ะ ตอนแรกที่ร่างไว้มีสิบสองวิธี แต่เขียนไปเขียนมาได้สิบสาม แก้หัวเอนทรี่แต่ลืมแก้หัวข้อ OTL
คุณดิต๒
- ขอบคุณสำหรับดราก้อนบอลทุกลูกค่ะTTwTT ติดฮ็อตครั้งแรก ส่งท้ายปีนี้แล้ว งื๊ด
- ค่ะ ที่เขียนมานี่ก็ประสบการณ์ตรงหมดเลยTTwTT ตอนมอสองปลายๆเจออัตนัยเยอะ แต่ก็พลาดเยอะเช่นกัน//หัวเราะ
วิธีที่เขียนก็ได้มาจากตอนเรียนมอสามมอสี่เนี่ยแหละค่ะ ลองผิดลองถูก พยายามกับข้อสอบพวกนี้ไปเรื่อยจนจับทริกได้
- เสริมจากคุณ HeDw!g
อันนี้เห็นด้วยค่ะ ข้อไหนคะแนนมากกว่าควรทำก่อน แต่ว่าต้องพิจารณาระดับความยากง่ายด้วย
ถ้า หากข้อคะแนนถูก ง่าย แต่มีหลายข้อ แล้วทำเสร็จได้เร็วกว่า เม่ยก็ยังเชียร์ให้ทำข้อง่ายก่อนอยู่ดี เล็กๆแต่มาก ถ้าเวลาน้อย มันให้ผลเร็วกว่าใหญ่ๆก้อนเดียวค่ะ =w=
- แอบอธิบายซุยกับโฟ่สักนิด
เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเป็นศัพท์ค่อนข้างเฉพาะในวง
ซุย กริยานี้น่าจะพอเดาๆกันได้ ไม่แน่ใจว่ามันเกิดจากการผสมของคำว่าอะไรบ้างค่ะ แต่ไอ้รุ่น54ด้วยกันนี่แหละเป็นตัวครีเอตจากตอนเล่นSF
ความหมายกลางๆคือ ลุย+มั่วซั่ว+สั่วๆ+ฯลฯ (อธิบายยากพอๆกับAKYเลยว่ะค่ะ= =''')
ตอนแรกๆความหมายที่ใช้กันในรุ่นค่อนข้างจะลบมากกว่าบวก แต่หลังๆกลายเป็นคำติดปากเวลาสอบกันไปแล้ว
"เฮ้ยยยย มึง อ่านไปก็เท่านั้น ซุยกันเหอะว่ะ" <<< วิทย์บันเทิงพูดกันประจำเวลาเจอฟิสิกส์ = ='''
โฟ่ อันนี้ไม่แน่ใจว่าศัพท์จากห้อง1หรือว่าโอก้าซัง(เพื่อนในกลุ่มคิดเอง)
แปลได้ราวๆว่าการพูด+เขียน+พล่าม+เว่ายืดเยื้อ อะไรทำนองนี้ค่ะ ส่วนมากเวลาพูดกันในกลุ่มคือ
"อย่ามัวแต่โฟ่ รีบๆกินดิจะได้รีบไปติว" <<< วันสอบเป็นงี้ทุกที กินข้าวกลางวันไปโวยวายใส่กันไปน่ะค่ะ=w='''
ประมาณนี้ล่ะค่ะ~
UniGang Talk  ขอขอบคุณบทความดีดีจาก  blackwave.exteen.com  หวังว่าจะมีประโยชน์กับน้องทุกคน ที่กำลังเตรียมสอบ Onet และก็ Gat-Pat นะครับ

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เรื่องเล็กๆ ที่งดงาม จากงานศพ "เจ้าพ่อกระทิงแดง"

เรื่องเล็กๆ ที่งดงาม จากงานศพ "เจ้าพ่อกระทิงแดง"

>> บันทึกโดย หนุ่มเมืองจันท์

วันก่อน นัดทานข้าวกับ "พี่อู๊ด" นักธุรกิจใหญ่ด้านประกันภัย และเพื่อนพ้องน้องพี่

"พี่อู๊ด" เพิ่งไปงานศพของ "เฉลียว อยู่วิทยา" เจ้าพ่อกระทิงแดงที่วัดเครือวัลย์วรวิหาร

งานศพของ "มหาเศรษฐีแสนล้าน" ที่สุดแสนจะเรียบง่าย
เป็นที่รู้กันว่า "เฉลียว" นั้นเป็นคนที่ใช้ชีวิตสมถะมาก
ทั้งที่ร่ำรวยมหาศาล
เขาใส่เสื้อผ้าง่ายๆ ไม่ใช้ของแพง
ไม่ออกงาน
มีความสุขอยู่กับการทำงาน อยู่กับโรงงาน

แต่ในวันที่เขามีชีวิตอยู่ เรื่องเหล่านี้คือเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมา เพราะ "เฉลียว" ไม่ยอมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ภาพความเรียบง่ายของ "เฉลียว" จึงปรากฏให้สาธารณชนได้รับรู้

"เฉลียว" สั่งเสียลูกๆ ไว้แล้วว่าให้จัดงานศพแบบเรียบง่าย รบกวนคนให้น้อยที่สุด

ตอนแรกจะจัดงานศพแค่ 3 วัน แต่หุ้นส่วนใหญ่ที่ต่างประเทศเดินทางมาไม่ทัน จึงขยายเวลาเป็น 7 วัน

"เฉลียว" บอกลูกหลานให้เป็นเจ้าภาพเพียงคนเดียว ไม่รับ "เจ้าภาพร่วม"
จัดงานที่วัดเล็กๆ ใกล้ที่ทำงาน พนักงานจะได้เดินทางสะดวก
เงินที่แขกช่วยงานศพทั้งหมดบริจาคให้กับวัด

::::::::::::::::::

"พี่อู๊ด" เล่าว่าไปงานศพผู้ใหญ่หลายครั้ง ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาเรื่องหาที่นั่งไม่ได้ หรือต้องไปนั่งกับคนที่ไม่คุ้นเคย

ครั้งหนึ่งไปงานศพคุณแม่ของนายแบงก์ พอไปถึงกลับไม่มีที่นั่ง แขกต้องยืนรอ

จนเจ้าภาพต้องประกาศผ่านทางไมโครโฟนให้พนักงานของบริษัทสละที่นั่งให้แขกด้วย

แต่งานนี้ ลูกหลาน "อยู่วิทยา" ทั้งหมดยืนเป็นแถวรอรับแขกอยู่หน้างาน

แขกของใครมา เขาก็จะเดินมารับและพาไปนั่งในกลุ่มคนที่คุ้นเคย

จากนั้นค่อยกลับไปยืนรอแขกต่อ

แต่ที่ประทับใจที่สุด ก็คือ การดูแล "คนขับรถ"
จะมีเจ้าหน้าที่ของ "กระทิงแดง" เดินมาถามคนขับรถว่ามางานนี้หรือครับ
จากนั้นจะชี้ทางไปที่จอดรถ และยื่นกล่องอาหารว่างของ "เอสแอนด์พี" และน้ำดื่มให้คนขับพร้อมกับของที่ระลึก

งานศพนั้นจัดช่วงเย็น บางทีคนขับรถอาจจะหิว
ยิ่งงานใหญ่ คนเยอะ หาของกินก็ยาก

การเตรียมอาหารว่างให้ "คนตัวเล็ก" อย่างคนขับรถ แสดงถึงความใส่ใจของครอบครัว "อยู่วิทยา"
นี่คือ เรื่องเล็กๆ ที่งดงาม

::::::::::::::::::

มี "ผู้ใหญ่" หลายคนที่เราเคารพเพราะ "เรื่องเล็กๆ" แบบนี้
อย่างผู้ใหญ่คนหนึ่ง ทุกครั้งที่มีงาน หรือต้องรับรองคนใหญ่คนโต
นอกจากสอบถามลูกน้องเรื่องอาหารการกินและการดูแล "แขก" แล้ว
เขาต้องถามเรื่องความสะอาดของห้องน้ำ

และประโยคหนึ่งที่ติดปากผู้ใหญ่คนนี้ก็คือ "อย่าลืมดูแลคนขับรถและผู้ติดตามด้วยนะ"

บางครั้งความยิ่งใหญ่ของคนเราที่อยู่ในใจคน
ไม่ใช่ขนาดของ "อาณาจักรธุรกิจ"
ไม่ใช่ฐานะความร่ำรวย

แต่เป็นเรื่องการใส่ใจในเรื่องเล็กๆ ของ "คนตัวเล็ก"
ที่เขาไม่เคยคิดว่า "คนตัวใหญ่" จะมองเห็น

:::::::::::::::::

สังเกต "ต้นไม้ใหญ่" ไหมครับ
เวลาพูดถึง "ต้นไม้ใหญ่" ที่เราชอบ
ต้นไม้ต้นนั้นจะไม่ใช่ต้นไม้ที่ "สูง" ที่สุด
แต่เป็นต้นไม้ที่แผ่ "กว้าง" ที่สุด

ไม่มีใครนึกถึงต้นไม้ใหญ่ที่เป็นต้นอโศก หรือต้นสนที่สูงลิบลิ่ว
แต่มักจะนึกถึงต้นจามจุรี หรือต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ต้องสูงมาก
ทว่า แผ่กว้างให้ร่มเงากับผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา

ไม่เลือกว่าเป็นใคร
ไม่ดูชื่อ ไม่ดูนามสกุล ไม่ดูฐานะ
ใครผ่านมาก็ร่มเย็นทุกคน

สิ่งที่เราจดจำต้นไม้ใหญ่จึงไม่ใช่ "ความสูงส่ง"

แต่กลับเป็น "ความกว้าง"

คงเหมือนกับ "คน"
ช่วงหนุ่มสาว เราอาจคิดเหยียดกายให้สูงที่สุด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป
เราต้องรู้จักแผ่กิ่งก้านเพื่อให้ร่มเงาแก่คนอื่น

เพื่อให้คนจดจำในวันที่ร่วงโรย

::::::::::::::::::

เรื่องโดย : หนุ่มเมืองจันท์

ที่มา : คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ - มติชนสุดสัปดาห์ และ Life 101 Co.,Ltd.