วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การปล่อยวาง รับมือความเปลี่ยนแปลง

แสดงธรรมโดย พระมหา ดร. สมชาย ฐานวุฑโฒ
 ชมรมพุทธดีแทค อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 33



พระอาจารย์แสดงธรรมหัวข้อ "การปล่อยวาง" เนื้อหาตามที่บันทึกได้ มีดังนี้
หัวข้อธรรมในวันนี้ คือ "การปล่อยวาง" เพื่อให้เราเองสามารถปล่อยวางได้จริงๆ เรามาดูกันว่า "การปล่อยวาง คืออะไร"

ถ้าเราเองไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมากๆ เราก็จะกลุ้ม ขนาดตัวเองยังเคยหงุดหงิดตัวเอง บางทีเรายังทำไม่ถูกใจตัวเองเลย ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นให้คนอื่นเขาได้อย่างใจเรา...กลุ้มแน่ หลวงพ่อบอกว่า "ต้องผิดหวัง เพราะหวังผิด"

คนเรายิ่งไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมาก ก็จะมีเรื่องกลุ้มใจผิดหวังเยอะ ปล่อยวางได้ก็สบายใจ สิ่งที่คิดว่าเป็นของเรามันไม่ใช่ของเราจริง เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขข้างนอก แต่ที่ใกล้ตัวสุดคือตัวของเราเอง มันไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้นเอง เช่น สั่งว่าจงอย่าแก่ จงอย่าเจ็บก็ไม่ได้ วันใดสังขารรองรับอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องละสังขารนี้ไป ไปหาที่อยู่ใหม่ตามกำลังบุญบาปที่สร้างไว้

ขนาดตัวเรายังยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย อย่างอื่นข้างนอกยิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าใครเข้าใจความจริงของโลกนี้ชัดๆ แล้วปรับใจ ทำใจ ตัวเองได้ เราจะสามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันนหลายรูปแบบได้อย่างสบาย

พระพุทธเจ้าบอก มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ ก็มีคนนินทา มีสุข ก็มีทุกข์ มันคู่กันอยู่ ใครๆ ก็หนีไม่พ้น

การปล่อยวาง (ในทางธรรมะ) ภาษาบาลี ใช้คำว่า "อุเบกขา" โดยศัพท์ คือ การวางเฉย นัยยะจริงๆ หมายถึง การที่เราเองสามารถรักษาใจให้นิ่งได้ นี่คือการวางอุเบกขาของจริง (จิตเป็นอุเบกขานิ่งอยู่) หมายถึง เราเอาใจตัวเองสงบนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ ไม่ ไหวกระเพื่อมไปกับอารณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง

คนที่คิดเรื่องปล่อยวาง มักคิดตอนเจอเรื่องที่ไม่ถูกใจ แต่ตอนเจอเรื่องถูกใจไม่ค่อยคิดจะปล่อยวางเท่าไร พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องรู้จักปล่อยวางอารมณ์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ

เช่น เมื่อเห็นรูปสวยๆ เราจะปล่อยวางได้ไหม ใจเราจะวางนิ่งๆ อยู่ได้ไหม ใจกระเพื่อมไปหรือเปล่า เรายังไม่หมดกิเลสจะให้นิ่งสนิท 100% ก็ไม่ง่าย ก็อย่าให้ใจกระเพื่อมจนเกินไป ต้องมีเบรคในใจรั้งใจอยู่ และเมื่อคราวเจอรูปไม่สวย น่าเกลียดน่า กลัว เราก็ต้องรักษาใจนิ่งๆ ไม่ให้กระเพื่อมอีกเหมือนกัน

ได้ยินเสียงเพลงเพราะๆ ก็อาจเพลินๆ ไปบ้าง แต่ก็อย่าเตลิดจนเกินไป ต้องมีเบรคในใจ ขณะเดียวกันเจอเสียงที่น่ารำคาญ เช่น เสียงมอเตอร์ไซค์เด็กแว้น ก็ต้องรักษาใจตัวเอง ยังยิ้มได้ สบายๆ เพราะเมื่อ เราหงุดหงิดแล้วคนขับรถซิ่งก็ไม่รู้เรื่องกับเรา หรือถ้ารู้อาจสะใจก็ได้ เพราะฉะนั้น ให้ใจเรากระเพื่อมไปไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้ารักษาใจนิ่งๆ ไว้ได้จะดีกว่า


มีการเปรียบว่าคนที่ไปกระเพื่อมกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าด้านดีไม่ดี บางทีเหมือนเด็กร้องไห้จะเอาพระจันทร์ พระจันทร์จงเป็นของฉัน ทำไมเมฆมาบัง ก็หงุดหงิด ร้องไห้ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เราเองถ้าปล่อยวางไม่เป็น มีอะไรมากระทบก็กระเพื่อมไปกับ อารมณ์เหล่านั้น ก็คล้ายๆ กับเด็กร้องไห้ถึงพระจันทร์เหมือนกัน อย่าไปคิดแก้ที่คนอื่น เพราะเรื่องกลุ้มจะตามมา

เช่น ซิ่งเหรอ...เอาปืนมายิงเลย...ก็จะถูกตำรวจจับ กลุ้มหนักกว่าเก่า เป็นต้น การแก้ที่คนอื่นเขามักมีปัญหาตามมาอีกเยอะ ดังนั้นการแก้โดยปรับที่ ใจของเราเอง ง่ายที่สุด และไม่มีผลแทรกซ้อน


ได้กลิ่นหอมๆ ก็ต้องไม่หลงเพลินเกินไป คนเราติดไม่เหมือนกัน บางคนติดในรูปมากพิเศษ เสียก็งธรรมดาๆ บางคนรูปธรรมดาๆ แต่ถ้าฟังเสียงเพราะๆ นี่ชอบมากเลย แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน

 บางคนชอบที่รูป บางคนชอบที่เสียง บางคนติดที่กลิ่น เราก็ต้อง รักษาใจเราให้ได้ มีเบรคในใจอีกแล้ว เจอกลิ่นไม่ถูกใจก็ต้องเบรคให้ได้ ไม่ไปหงุดหงิดกับมัน เจอรสอร่อยก็ต้องเบรคให้ได้ เจอรสที่ไม่อร่อย ที่เราไม่ชอบก็ต้องได้ อย่าไปอะไรมาก เพราะหน้าที่อาหาร คือให้สังขารร่างกายเราอยู่ได้เท่านั้นเอง ไว้ใช้ทำความดี ได้สัมผัสที่นุ่มนวลก็อย่าหลงเพลินกับมันไป เวลาเจอสัมผัสที่กระด้างก็อย่าไปหงุดหงิดอีกเช่นกัน

ทั้งหมดนี่คือ อายตนะ 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่อันที่ 6 คือ "ใจ" อะไรที่มาสัมผัสกับใจ ก็คือ อารมณ์ที่ใจคิด เราคิดไปในเรื่องต่างๆ ตรงนี้เป็นตัวแรงที่สุด เพราะจะอยู่ ตรงไหนก็คิดได้ อยู่คนเดียว ในป่าในเขา เกาะกลางทะเล ฯลฯ คิดได้หมด เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันความคิดของเราเอง

 เวลามีเรื่องคิดที่น่าเพลิดเพลิน เรื่องที่เราชอบก็อย่าคิดเพลินกับมันเกินไป หรือว่าคิดเรื่องที่ทำให้หงุดหงิด คิดแล้วกลุ้มใจ เหมือนไปตอกย้ำ ตัวเองก็ไม่เอาอีกเหมือนกัน แต่คนนี่แปลก ถ้าคิดเรื่องที่ชอบใจยังพอเข้าใจ แต่ก็ต้องมีเบรค แต่เรื่องที่คิดแล้ว เจ็บใจ เศร้าใจ คิดแล้วไม่สบายใจ มันไม่น่าคิด

แต่คนบางทีชอบคิด แล้วคิดซ้ำๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งเจ็บใจ จะไปลงโทษตัวเองทำไม เหมือนเรามีเศษแก้วคมๆ ในมือ เราควรจะทิ้งถังขยะ หรือกำไว้ให้มันบาดมือ ตามหลักน่าจะเอาไปทิ้ง แต่บางคนไม่ยอมทิ้ง แต่กำไว้ พอมันบาดก็เจ็บ แล้วคลาย พอแผลจะหายก็กำอีกเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง จนมือบอบช้ำเป็นแผลเป็นไปหมด อารมณ์ที่คิดแล้วไม่สบายใจบางทีเราก็เป็นแบบนั้น ไปตอกย้ำให้เป็นแผลในใจของเราเอง...เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยวางให้ได้




การปล่อยวาง พูดง่าย ทำยาก จริงไหม?
มันก็ไม่ง่าย แต่มันอยู่ที่ใจ บางคนก่ลุ้มมานาน เจออะไรสะกิดใจ ถ้าคลิ้กทีเดียวก็หลุดเลย มันอยู่ที่คลิ้กหรือเปล่า ถ้าคิดเป็นก็หลุด คิดไม่เป็นก็หนัก มีตัวอย่างเขาทดลอง เด็ก 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน ได้รับมอบหมายภาระกิจให้ช่วยกันขนของขึ้นรถไฟ ซึ่ง ต้องให้ทันเวลารถไฟออก พอขนไปได้ซักพัก ทีวีถ่ายทอดมวยคู่เอก ผู้ชาย 2 คนเป็นแฟนคลับของนักมวยคนดัง เขาเลยวิ่งไปดูทีวี เด็กหญิงจึงขนของคนเดียว

พอเสร็จ ก็มีคนไปสัมภาษณ์เด็กผู้หญิงว่ารู้สึกอย่างไรที่เพื่อน 2 คนไม่ช่วยขนแต่ไปดูมวยแทน เด็ก หญิงยิ้มทั้งที่เหงื่อโชก แล้วบอกว่าเธอเห็นใจผู้ชาย 2 คนนั้น เพราะเขาติดมวยมาก เขาคงไม่ค่อยสบายใจแต่ก็อยากดู และเธอเองก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องมวย เลยทำหน้าที่ของเธอต่อไป เมื่อถูกถามต่อว่าไม่โกรธเพื่อนหรือที่เอาเปรียบเธอ เธอตอบว่า เธอไม่โกรธ เพราะ ขนของก็เหนื่อยแล้ว แต่ก็เหนื่อยอย่างเดียว ถ้าเธอโกรธด้วยก็จะเหนื่อยสองอย่าง (เหนื่อยสองเท่า)


เรารักตัวเราหรือเปล่า ถ้ารักตัวเรา ก็ต้องคิดให้เป็น คนไหนคิดไม่เป็น ไปหงุดหงิด โกรธ ปล่อยวางไม่ลงเมื่อไร แสดงว่าไม่รักตัวเองจริง เพราะเวลาที่เราหงุดหงิด มันคือ การลงโทษตัวเอง เหมือนเรื่องมือมีเศษแก้ว คนคิดเป็นจะวาง คนคิดไม่เป็นจะกำ เวลา เจอเรื่องกระทบใจให้นึกถึงเรื่องนี้ ว่าเราควรจะลงโทษ - ทำร้ายตัวเองต่อ ด้วยการกำมันไว้ แล้ว้คิดตอกย้ำ หรือวางมันออกไปดีกว่า ถ้าเรายังกำมันอยู่ เท่ากับให้โอกาสคนอื่นมาทำร้ายตัวเราโดยอาศัยความคิดเราเป็นสื่อ ถ้าเรารักตัวเราจริง เราต้องวางมัน และ ปล่อยได้


ก่อนอื่นขอฝาก 2 ประเด็นนี้ก่อน
เราต้องแยกให้ออก ระหว่างความรับผิดชอบ กับการปล่อยวาง เช่น บางคนมีหนี้เยอะ เจ้าหนี้มาทวงเรื่อย แต่กำลังฝึกปล่อยวาง เขาจะทวงก็ช่างเขาเราปล่อยวางแล้ว หรือมีงาน หัวหน้ามาเร่ง บอกผมปล่อยวางไม่ยึดติด ... แบบนี้ไม่ใช่ การปล่อยวาง

เน้นไปที่ "ใจ" เป็นหลัก การปรับใจของตัวเอง แต่ภาระหน้าที่เราก็ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ จะอ้างปล่อยวางไม่ได้ มีครอบครัวก็ต้องดูแลครอบครัว มีหน้าที่การงาน ต้องรับผิดชอบให้เสร็จบริบูรณ์ นั่นคือความรับผิดชอบ ถ้าอ้างว่าปล่อยวาง นั่นคือ ความไม่รับผิดชอบ การปล่อยวางคือ เมื่อมีอะไรมากระทบแล้ว เราสามารถจับแง่มุมที่คิดที่ถูกต้อง ปล่อยด้านลบ แล้วรักษาด้านที่ทำให้ใจเรานิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ ไม่กระเพื่อมไปกับมัน อย่างนี้จึงจะถูกต้อง


ที่หลวงพ่อให้ท่องบ่อยๆ ว่า "เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง" หมายความว่าอย่างไร หมายถึง ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเรา เรารับผิดชอบอย่างดีแล้ว แต่ถ้ามีสิ่งใดมากระทบ เช่น มีคนมานินทา เจอเหตุไม่คาดฝันหลากหลายรูปแบบ เช่น แผ่นดินไหว บ้านช่องเสียหาย...คนอันเป็นที่รักเกิดอุบัติเหตุ เราต้องรู้จักวางใจนิ่งๆ ปัญหามีแก้ไป แต่รักษาใจให้คงสภาพนิ่งอยู่ได้ นี่คือวางอุเบกขา เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา ถ้าวางอุเบกขาเป็น ปัญหาจะอยู่แค่กายภาพ ไม่เข้ามาถึงจิตใจ ทำให้สามารถแก้ ปัญหาได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ เพราะคนที่ใจกระเพื่อม จะแก้ปัญหาได้ไม่ดี สติปัญญาก็บางลง ... นั่นคือเรื่องส่วนตัว


ส่วนเรื่องพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง คือ ถ้าหากมีสิ่งใด จะทำให้เกิดความเสียหายต่อพระพุทธศาสนาต่อส่วนรวม เราจะอยู่เฉยๆ ถือว่าธุระไม่ใช่ คิดอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องถือเป็นภาระหน้าที่...ลุกขึ้นมาช่วยกัน นี้คือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในความเป็นชาว พุทธ ต่อการเป็นสมาชิกในชุมชนของเรา...อย่างในประเทศไทยมีวัด 30,000 กว่าวัด 4 จังหวัดภาคใต้ คณะสงฆ์มีภัย ชาวพุทธมีภัย ครูบาอาจารย์ถูกทำร้าย ฯลฯ จะบอกว่าเป็นหน้าที่รัฐบาล เราไม่เกี่ยวไม่ได้ หลวงพ่อฯ ส่งตัวแทนไปทอดผ้าป่าทุกเดือนเป็นร้อย กว่าครั้ง 10 ปี หลวงพ่อท่านบอกว่าท่านจะทำจนกว่าไฟใต้จะดับ เพราะท่านคิดแต่เพียงว่าสิ่งใดที่เราในฐานะชาวพุทธควรทำเราก็ทำ และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า และทำก่อน ไม่ว่าจะต้องทำเป็นร้อยครั้ง พันครั้งก็ทำ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ


เรามีโอกาสได้มาบวช หรือมาปฏิบัติธรรม เพราะปู่ย่าตายายรักษาพระพุทธศาสนามาให้เรา ดังนั้นเราก็ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบเนื่องไปถึงลูกหลานไทยใน อนาคตต่อไปด้วย เมื่อเราได้มาอาศัยพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ต้องให้พระพุทธศาสนาได้พึ่ง เราบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เราควรทำเราก็ทำเลย อย่าคิดว่าอันตัวข้าพเจ้าหรือรวมลูกศิษย์วัดก็เท่านี้จะทำได้แค่ไหนเมื่อ เทียบกับคนทั้งโลก ไม่ต้องคิด ถ้าถูกต้องและควรทำก็ทำเถิด เดี๋ยวคนดีๆ คนมีบุญก็จะมาช่วยกันทำ

ถ้าพระพุทธเจ้าท่านคิดอย่างนั้น จะมีพระ พุทธศาสนาไหม ตรัสรู้แล้วทั้งโลกคนรู้เรื่องความจริงโลกและชีวิต เรื่องพระพุทธศาสนาก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว ถ้าพระองค์ท้อก่อนพระพุทธศาสนาก็ไม่มาถึงเรา...ท่านไม่เคยท้อเลยแม้เจอปัญหา มากมายสารพัดรูปแบบ ปัญหามีก็แก้ไป งานเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาก็ยังคงต้องทำไปเพื่อประโยชน์ชาวโลก ใจของพระพุทธเจ้าพระองค์ทำอย่างหนักแน่นมั่นคงและสงบนิ่ง วางเฉยไม่ใช่นั่งนิ่งๆ แล้วไม่ต้องทำอะไร พระองค์วางอุเบกขาตลอด คือ ใจไม่ได้กระเพื่อมไปด้วยเลย พระองค์ทรงเผยแผ่ศาสนาไม่ได้หยุดเลย แม้ อาพาธหนักจะปรินิพพานแล้ว ยังมีพราหมณ์สุภัททะมาถามปัญหา พระองค์ก็โปรดจนสุภัททะบรรลุอรหันต์ นั่นคือ พระองค์ทำหน้าที่ของความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นบรมครู ความเป็นพระศาสดาของโลก เป็นครูของมนุย์และเทวดาทั้งหลายจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต ไม่ได้วางเฉยเลยในด้านกายภาพ วางเฉยในด้านจิตใจ และทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดไม่เคยหยุดนิ่งเลย ถ้าเราทำได้อย่างพระพุทธเจ้า ชีวิตเราจะประสบความสำเร็จ และมีความสุขอย่างเย็นๆ ด้วย

เครื่องช่วยในการปล่อยวาง
1. ระลึกถึงความจริงในวัฏสงสาร
2. หมั่นเจริญมรณานุสติ
3. หมั่นนั่งสมาธิ

1. ระลึกถึงความจริงในวัฏสงสาร

เมื่อไรที่ใจเราขยายใจให้กว้าง มองวงจรการเวียนว่ายตายเกิด โลกทัศน์เราจะกว้างขึ้น เรารู้สึกว่าปัญหามันก็ไม่เท่าไร เมื่อไรใจเราขยายกว้างมองเห็นภาพรวมทั้งหมด เราจะมองเห็นปัญหานิดเดียว แต่ใจเราไปขยายปัญหาเอง จากเข็มให้เป็นเสาเข็ม

พวกเราเคยเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เคยเป็นมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะราชา ราชินี มหาเศรษฐี ยาจก คนพิการ คนชั้นล่างชั้นต่ำ เทวดานางฟ้า หรือตกนรกก็ผ่านกันมาแล้ว ขนาดพระพุทธเจ้าแม้เป็นนิยตะโพธิสัตว์แล้ว คือ ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระ พุทธเจ้าเที่ยงแท้แน่นอนในอนาคต จะไม่ลงอเวจีมหานรก แสดงว่าขุมตื้้นๆ ยังลงได้ ระดับนิยตะโพธิสัตว์ยังลงได้ พวกเราก็ไม่รอดเหมือนกัน ไม่ได้ตกแค่วันสองวัน แต่เป็นล้านๆ ปี ความทุกข์ในโลกนี้เทียบไม่ได้กับตอนอยู่ในนรก

แม้ขุมที่ตื้นที่สุด คือขุมที่ 1 สัญชี วมหานรก ที่โดนนายนิรยบาลจับตรึงไว้แล้วหั่นร่างออกเป็นแว่นๆ ตายเกิดๆ วันละหลายล้านหน ดังนั้น ถ้าให้เลือกคงไม่มีใครเลือกความทุกข์แบบในนรก ความทุกข์ที่ว่าหนักๆ บนโลกนี้ ยังหนักไม่จริงเมื่อเทียบกับความทุกข์ในนรก

เรามีกายมนุษย์ ได้ พบพระพุทธศาสนา ได้สร้างบุญกุศล มันยิ่งกว่าวิมานบนดิน แม้แต่เทวดายังอิจฉาเรา เพราะเขาอยู่ในช่วงเสวยบุญ เขาอยากสร้างบุญอย่างเรา กาฬเทวิลดาบสผู้ที่พยากรณ์เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ไม่กี่วันว่าจะออก บวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ไปเกิด บนชั้นพรหม ก็ยังเสียใจที่อยู่ไม่ทันพระพุทธเจ้าไม่ได้ฟังธรรม แล้วเราจะกลุ้มไปทำไม ให้ใช้โอกาสที่เราเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา สั่งสมบุญให้เต็มที่อย่างนี้ถึงจะถูกหลักวิชชา ใครที่คิดว่าเรากำลังกลุ้มมีความทุกข์ที่สุดในโลก ให้เลิกเถิด

ให้พลิกมุมมองว่า คนอย่างเราเทวดานางฟ้า พรหมยังอิจฉา จะมากลุ้มทำไม เพราะเราได้มีโอกาสสร้างบุญกุศล เราก็ต้องทำในสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นพวกกินเหล้าเมายา เทวดาไม่อิจฉาหรอกนะ เขาจะสงสาร เราต้องใช้กายมนุษย์ทำในสิ่งที่ควร เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เป็นคุณที่สุดในชีวิตเรา
เมื่อเราขยายใจเห็นวงจรชีวิตในวัฏสงสาร เราจะพบว่าปัญหาใหญ่ๆ ที่เราเจอนั้นเราสามารถหยิบออกไปได้ไม่ยากเท่าไร

2. หมั่นเจริญมรณานุสติ และ 3. หมั่นนั่งสมาธิ

เมื่อเรากลุ้มมากๆ ไม่หลุดจากใจ เราลองคิดซิว่า หากเราจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1 ชั่วโมง เราจะทำอะไร เราจะพบว่าเราไม่รู้จะกลุ้มไปทำไม มันหลุดไปจากใจแล้ว แต่ถ้าคิดว่าเราจะอยู่บนโลกนี้ไปอีก 50 ปี 100 ปี หรืออยู่แบบไม่มีวันตายมันรู้สึกมีอารมณ์น่ากลุ้ม ถ้าอยู่อีกชั่วโมงก็ไม่รู้จะกลุ้มไปทำไม ดังนั้น เจริญมรณานุสติบ่อยๆ แล้วจะได้คิด...

เรารู้ตัวหรือเปล่าว่าพวกเราเป็นนักโทษประหารกันหมด ถ้าเทียบเวลาของเทวดาบนสวรรค์ชั้นดุสิต วันหนึ่ง คืนหนึ่งบนนั้น เท่ากับ 400 ปีบนโลกมนุษย์ อายุเราสมมติ 100 ปี เท่ากับ 6 ชั่วโมงบนสวรรค์ชั้นดุสิต ถ้าใครเกิดตอนนี้ ก็เป็นนักโทษประหาร 6 ชม. บนสวรรค์ชั้นดุสิต ถ้าเรามา 50 ปีแล้ว ก็เหลือ 3 ชั่วโมง ไม่ต่างจากนักโทษที่ขึ้นตะแลงแกง แล้วเราจะอะไรกันนักกันหนา เพราะฉะนั้นนึกถึงความตายบ่อยๆ เรื่องที่ไม่หลุดมัน จะหลุดไปง่าย เราจะได้คิด ไม่ใช่หดหู่ และมีทางออก

คือใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าด้วยการสร้างบุญกุศล แต่ละวันได้ทำบุญทาน รักษาศีล ศีล 5 บ้าง 8 บ้าง และได้เจริญภาวนา ถ้าอย่างนี้ให้ปลื้มใจและเป็นสุขใจได้ทุกวันว่า เวลาที่เราเหลืออยู่วันนี้อีก 1 วัน เป็น กำไรชีวิตของเรา บุญกุศลที่เราทำใน 1 วัน จะส่งผลเป็นความสุขของเราเองต่อๆไปอีกยาวนานมากนับล้านๆ ปี เพราะเราทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ทำบุญอย่างถูกหลักวิชชา ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ

 และรู้จักการน้อมนำใจมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เราทำบุญน้อยได้ผล มาก เพราะ "ถูกหลักวิชชา" เปรียบกับเนื้อนาดี ดินดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ หว่านนิดหน่อยก็ให้ผลงอกงามเยอะ ถ้าเป็นนาดอน น้ำแห้ง ปุ๋ยไม่มี มันก็เหี่ยว รอดมาก็ออกรวงนิดๆ หน่อยๆ เรามีจังหวะดีอย่างนี้ ให้ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เราจะวางอารมณ์ที่ ทำให้เรากลุ้มได้ แล้วมาทำในสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตเรา

เพราะฉะนั้น หัวใจ คือ "ต้องตั้งใจนั่งสมาธิทุกวัน" พอใจใสๆ อารมณ์เบิกบานจะเกิดขึ้น ใจที่หมองๆ จะคลาย บุญจะหล่อเลี้ยงใจ แล้วความคิดในเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ก็จะหนักแน่นมั่นคงขึ้นด้วยเมื่อใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ตรงตามที่หลวงปู่วัดปากน้ำ กล่าวไว้ว่า "หยุดเป็นตัวสำเร็จ" สำเร็จทั้งทางโลก สำเร็จทั้งทางธรรม เพราะเมื่อใจหยุดที่ศูนย์กลางกายเมื่อไร ใจเราจะมีพลานุภาพ จะปฏิบัติหน้าที่การงานทุกอย่างก็สำเร็จ กำลังบุญก็หนุนส่ง จะปฏิบัติธรรมะก็สำเร็จอีกเช่นเดียวกัน และใจที่หยุด คือใจที่ปล่อยวางได้ แล้วสงบนิ่ง นำเราไปสู่ความสุขทั้งชาตินี้ ชาติหน้าตลอดไป