วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นิพพานเป็นอนัตตา? (จากโพสคำตอบของกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง)

นิพพานเป็นอนัตตา? <!-- following code added by server. PLEASE REMOVE
นิพพานเป็นอนัตตา?
 
[เรื่องนี้มีที่มาจากโพสคุณสมเจต (Somchet Jearanaisilpa) ส่งคำตอบถึงคำถามของผู้โพสในกลุ่มลูกพระธัม ทำให้ได้ความกระจ่างไปไม่น้อย อย่างไรก็ดี ผู้อ่านควรพิจารณาให้มากและค้นคว้าหาคำตอบอย่างจริงจัง โดยไม่มีอคติ] 


[ความหมายของพระนิพพานในกระแสนิยมปัจจุบัน "แค่สงบเย็นก็นิพพานแล้ว"]



เหตุจูงใจที่เขียนเรื่องนี้ก็ด้วยสาเหตุที่มีการถกเถียงกันมากว่า นิพพาน แท้จริงแล้ว เป็น อัตตา หรือ อนัตตา กันแน่ มีการถกเถียงกันไปถกเถียงกันมา จนดูคล้ายการทะเลาะวิวาทของชาวพุทธในประเด็นนี้

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่ไกลตัวเหลือเกิน ฝ่ายที่เชื่อนิพพานเป็นอัตตามักชี้แจงความเชื่อของตนด้วยอาการสงบ และไม่ใคร่จะเดือดร้อนกับข้อขัดแย้งนี้เท่าใดนัก

แต่ในทางกลับกันฝ่ายที่ยึดถือ นิพพาน เป็นอนัตตา ไม่ทราบว่าทำไมต้อง โจมตี ว่าร้ายอีกฝ่ายรุนแรงถึงขนาดนั้น เพียงแค่เชื่อเรื่องสภาพของนิพพานไม่เหมือนกับตน กลับผลักไส ให้เป็นถึงมิจฉาทิฏฐิ อย่างร้ายแรง

บางท่านถึงกับสาปส่งว่าต้องไปเกิดในนรกอเวจี และตั้งข้อหาร้ายแรงถึงกับว่าเป็นผู้ทำลายพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ผู้มีปัญญาเรามาศึกษากันให้ดีๆ ก่อนดีกว่าว่า จริงๆ ความจริงควรจะเป็นอย่างไรกันแน่

ความจริงแล้วประเด็นนี้ หาควรนำมาเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายไม่ เพราะว่า นิพพานนี้ เป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ใครถึงนิพพาน เป็นอัน พ้นทุกข์ได้แน่นอน มีความสุข(ในนิพพาน) เป็นอย่างยิ่ง ดังที่ท่านว่า "นิพพานัง ปรมัง สุขัง"

พระภิกษุที่บวชๆกัน ก็เพื่อแสวงหานิพพาน ซึ่งเป็นภารกิจอันสูงสุดของนักบวชในพระพุทธศาสนานั่นเอง ท่านใดที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว ก็เป็นอันเสร็จกิจในพระพุทธศาสนา

ดังนั้นนิพพานเป็นสิ่งที่กว่าจะได้มา ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ ต้องทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจ ปฏิบัติกันเอาเป็นเอาตายเอาชีวิตเป็นเดิมพันอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพอจะมีสิทธิ์ได้นิพพาน  ดังนั้นแม้เราๆ ท่านๆ จะรู้ว่า นิพพานเป็น อัตตา หรือ อนัตตา ก็ใช่ว่า ท่านจะบรรลุนิพพานตามไปด้วย

คนมีปัญญาที่แสวงหานิพพานจริงๆ จึงไม่ใคร่อยากจะมาถกเถียงกันให้เสียเวลา สู้ปฏิบัติตามแนวทาง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ 8 ไปเรื่อยๆ จะดีกว่า

 เพราะการปฏิบัติไปเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ซักวันหนึ่ง คงจะมีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้าอย่างแน่นอน


ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ จะเพื่อต้องการชนะใครก็หาไม่ แต่เพื่อวิเคราะห์ให้ทราบว่า ทำไมบางท่านถึงต้องยึดถือว่า นิพพานเป็นอนัตตา บางท่านยึดนิพพานเป็นอัตตา และการตีความพระไตรปิฎกแบบไหนที่จะกลายเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา ในภายภาคหน้า


ฝ่ายที่ ยึดถือว่า นิพพาน เป็นอนัตตา มักจะยกพุทธพจน์ ว่า

 "สัพเพ ธัมมา  อนัตตา - ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน"

แล้วตีความคลุมไปหมด ว่าอะไรๆ ก็เป็นอนัตตาไปด้วย แม้กระทั่งนิพพาน  ทำไมถึงว่าท่านตีความเอง เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสเป็นพุทธวจนะตรงๆ เลยว่า นิพพานเป็นอนัตตา

แม้ในพระไตรปิฏกฉบับประชาชน พอถึงคาถาบทนี้ทีไร ผู้แปลก็มักอธิบาย(เพิ่มเอง)ให้เสร็จเสียทุกครั้ง ว่า ธรรมนั้น ครอบคลุมทั้งธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง (สังขารธรรมหรือสังขตธรรม) และธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (วิสังขารธรรมหรือ อสังขตธรรม)ด้วย แสดงว่า ปัญหาตรงนี้ เกิดจากการตีความพุทธพจน์ที่ต่างกันนั่นเอง


ก่อนจะวิเคราะห์การตีความ คำว่า "ธัมมา หรือ ธรรม" ในที่นี้ เราควรจะมาดูกันก่อนว่า ธรรม ที่พระพุทธเจ้า แยกแยะไว้มีอะไรบ้าง ท่านแบ่งไว้อย่างไรบ้าง ขออนุญาตยกมาจากพระไตรปิฎกดังนี้
อกุศล และ กุศล


"ธรรมที่เป็นกุศล เป็นไฉน ? รากเหง้าของกุศล 3 อย่าง คือความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ; กองแห่งเวทนา กองแห่งสัญญา กองแห่งสังขาร กองแห่งวิญญาณ ที่ประกอบด้วยรากเหง้าของกุศลนั้น ; การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เกิดขึ้นจากรากเหง้าของกุศลนั้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล


ธรรมที่เป็นอกุศล เป็นไฉน ? รากเหง้าของอกุศล 3 อย่าง คือความโลภ ความโกรธ ความหลง และกิเลส ที่มีเนื้อความเป็นอันเดียวกับรากเหง้าของอกุศลนั้น ; กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ที่ประกอบด้วยรากเหง้าของอกุศลนั้น ; การกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่เกิดขึ้นจากรากเหง้าของอกุศลนั้น ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล

ธรรมที่เป็นอัพยากฤตเป็นไฉน ? วิบาก(ผล)ของธรรมที่เป็นกุศล อกุศล ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร โลกุตระ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และธรรมเหล่าใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากของกรรม รูปทุกชนิด และธาตุที่เป็นอสังขตะ (ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) ธรรมเหล่านี้เป็น อัพยากฤต"


นั่นแสดงว่า พระพุทธเจ้าแบ่งธรรมไว้เป็น 3 ประเภท คือ ธรรมฝ่ายดี ธรรมฝ่ายไม่ดี ธรรมฝ่ายไม่ดีไม่ชั่ว (กลางๆ) และทุกๆ สรรพสิ่งล้วนคือธรรมหรือเกิดจากธรรมทั้งสิ้น

 
คราวนี้มาดูการแบ่งธรรมในอีกลักษณะหนึ่ง มีว่า
"ยาวตา ภิกขเว สังขตา วา อสังขตา วา วิราโค เตสัง อัคคมักขายติ - ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคธรรม(นั้นแล) เรากล่าวว่าเป็นยอดเลิศของธรรม 2 ประการนั้น"
 
ตรงนี้แสดงว่า สามารถแบ่งธรรมไว้ได้เป็นอีก  2 ประเภท คือ สังขตธรรม (ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) และ อสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)  แต่ท่านยกย่อง วิราคธรรม ว่าเป็นเลิศที่สุด วิราคธรรมนี้ เป็นไวพจน์กับนิพพาน

(หมายเหตุ : สังขตธรรมบางทีเรียกสังขารธรรม อสังขตธรรมบางทีเรียกวิสังขารธรรม)
พระพุทธเจ้ากล่าวสรรเสริญคุณของพระนิพพานไว้มากมายหลายที่(ในพระไตรปิฎก) เช่น

"นิพพานัง ปรมัง สุขัง - นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"
"นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา - พระพุทธเจ้ากล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม (โอวาทปาฏิโมกข์)"
 
ถึงตรงนี้ก็เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า นิพพาน นั้น เป็นของดีแน่ๆ และเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาด้วย


คราวนี้กลับมาดู คาถา ที่ว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ว่า ธรรมที่ท่านกล่าว ควร รวม นิพพาน ซึ่งเป็น วิราคธรรม ไว้ด้วยหรือไม่

ปกติการยกหัวข้อธรรมขึ้นมาเป็นชิ้นๆ แล้วตีความ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดกันได้ เหมือนลักษณะ ตาบอดคลำช้าง ที่คลำเป็นส่วนๆ ย่อมอาจเข้าใจผิดได้  คาถานี้ก็เหมือนกัน เพราะคาถานี้ ไม่ว่าท่านจะพบใน ธรรมบท หรือ ในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าก็ตาม ท่านไม่ได้กล่าวไว้เดี่ยวๆ แต่จะประกอบไปด้วยบทอื่นด้วยเสมอ คือ


ในธรรมบท ท่านกล่าวไว้ว่า "สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตา"  อันแสดงถึง "ไตรลักษณ์" ส่วนในบททำวัตรเช้า ในบท "สังเวคปริกิตตนปาฐะ" มีดังนี้

" ฯลฯ
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา - (แปล)ว่าโดยย่อแล้ว การยึดมั่นในขันธ์ทั้ง 5 นั่นเองเป็นทุกข์
ฯลฯ

รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา สัญญา อนิจจา สังขารา อนิจจา วิญญาณัง อนิจจัง - (แปล)ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ย่อมไม่เที่ยง

รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา สัญญา อนัตตา สังสารา อนัตตา วิยญาณัง อนัตตา - (แปล)ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ย่อมไม่ใช่ตัวตน

สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ - สังขารทั้งปวงย่อมไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงย่อมไม่ใช่ตัวตน ดังนี้
ฯลฯ"
 
หากท่านที่เคยอ่านคำแปลและรู้คำแปล ทำวัตรเช้าบท "สังเวคปริกิตตนปาฐะ" จะเห็นว่า เป็นการพรรณาถึง ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นสังขารธรรม ล้วนๆ ว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีกล่าวหรือพาดพิงถึง อสังขตธรรมและวิราคธรรมหรือ นิพพาน เลยแม้แต่น้อย

แล้วอยู่ๆ จะเหมาเอา คำว่า ธัมมา หมายถึง นิพพานไปด้วยได้อย่างไร อย่างคำว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ - ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ดังนี้" คำว่า "ดังนี้" ก็บอกตรงตัวอยู่แล้วว่า เป็นการกล่าวบทสรุปที่กล่าวมาตอนต้น ทั้งหมด

 ซึ่งธรรมที่กล่าวมาก่อนๆตอนต้น ล้วนเป็นขันธ์ 5 หรือ สังขารธรรมทั้งสิ้น
เนื่องจากคำว่า "ธรรม" มีความหมายหลายนัยมาก ดังนั้นการที่พระพุทธเจ้า กล่าวถึง คำว่า "ธรรม" ในพระคาถาต่างๆ  ทุกครั้งท่านไม่จำเป็นต้องเจาะจงให้ชัดไปทุกครั้งว่า "ธรรม" ที่หมายถึงนั้น เป็น "ธรรม" ประเภทไหน

จะเป็น ธรรมฝ่ายกุศล ธรรมฝ่ายอกุศล ธรรมฝ่ายกลาง สังขารธรรม หรือ วิสังขารธรรม ดังตัวอย่างเช่น หากท่านกล่าว
"การแสวงหาธรรมเป็นเลิศ"
"การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง"
"ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา"
"ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้"
ฯลฯ
 
ดังตัวอย่าง พระคาถามากมายที่กล่าวคำว่า "ธรรม" ขึ้นลอยๆ ไม่บอกว่าเป็นธรรมประเภทไหน  แล้วไยท่านถึงเข้าใจได้ว่า เป็นธรรมประเภทไหน นั่นแสดงว่า ความหมายของคำว่า "ธรรม" นั่นขึ้นกับ ความหมายโดยรวมของบทความที่ท่านกล่าว ไม่ใช่อยากจะแปลคำว่า"ธรรม"เป็นอะไรก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อยากจะแสดงคือ "ธรรมะย่อมชนะอธรรม" หากดูแค่บทนี้ลอยๆ และตีความ "ธรรม" ตามใจตัวเอง อาจเข้าใจได้ว่ามีสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม(อธรรม)ด้วย คือไม่ใช่ธรรมทั้งสามประเภทที่กล่าวมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านหมายถึง ธรรมฝ่ายกุศลย่อมชนะธรรมฝ่ายอกุศล อันเป็นที่เข้าใจกัน

ดังนั้นการแปลหรือให้ความหมายกันผิดเพี้ยนนั้นอาจนำมาซึ่งความเสียหายของพระพุทธศาสนา ก็ได้ จะขอยกตัวอย่างการให้ความหมาย "ธรรม" แบบผิดๆ

ตัวอย่าง หากมีการ บอกว่า "ธรรม (ธรรมะ) คือ ธรรมชาติ"  โดยความหมาย ไม่ผิด ถูกต้อง เพราะ ธรรมชาติ ซึ่งแปลว่าเกิดโดยธรรม ดังได้อธิบายไว้แล้ว ว่า ธรรมท่านแบ่งไว้มี 3 ประเภท คือ ดี ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว  แสดงว่า ธรรมชาติ ย่อมมีทั้งคุณ โทษ และไม่มีทั้งคุณและโทษ

หากมีคนสอนว่า ธรรมคือธรรมชาติ เป็นธรรมที่ควรปฏิบัติ หรือกล่าวอีกนัยว่า การปฏิบัติ(ธรรม)ตามธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติธรรม แต่ไม่รู้ชัดว่าธรรมนั้นเป็นธรรมฝ่ายไหน(ดีหรือชั่ว) อะไรจะเกิดขึ้น

 ต่อไปอาจสอนกันว่า กามซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (ที่มีกิเลส) การปฏิบัติเมถุนธรรมก็ไม่ได้ผิดอะไร อาจเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยก็ได้  หากเริ่มเชื่อหรือสอนกันอย่างนี้ ตอนแรกๆ อาจสอนว่า การปฏิบัติเมถุนธรรมระหว่างสามีภรรยาเป็นการปฏิบัติธรรม ยังพอทำเนา

แต่หากต่อไปๆ เมถุนธรรมกลายเป็นธรรมที่ควรปฏิบัติเป็นสาธารณะไป ลองคิดดู อะไรจะเกิดขึ้น  ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่จะตีตนไปก่อนไข้  แต่ได้ตกใจอย่างมาก ที่คำสอนประเภทนี้เริ่มได้รับการเชื่อถือและปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวพุทธบ้างแล้ว


สำหรับการตีความและเชื่อว่านิพพานเป็นอนัตตา วิเคราะห์ได้ว่าอาจเกิดจากสาเหตุสำคัญ 4 ประการคือ

1. เพราะไปแปล "อัตตา" ว่าเป็นการยึดมั่นในตัวตน ซึ่งจริงๆแล้ว การยึดมั่นคือ "อุปาทาน" ไม่ใช่ "อัตตา" และให้ความหมาย อัตตา ไปเหมือน กับ "ทิฏฐิ มานะ" เลยรังเกียจ อัตตา ในเมื่อ รังเกียจ อัตตา (แต่ชอบนิพพาน) เลยยก นิพพานให้เป็นอนัตตาไปเสีย เพื่อจะได้ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อของตน


2. แปล "อนัตตา" ว่า "ไม่มีตัวตน" แทนที่จะเป็น "ไม่ใช่ตัวตน"  ในเมื่อแปลว่าไม่มีตัวตน แสดงว่าตัวตนก็ไม่มีในที่ไหนๆ ดังนั้นสรุปนิพพานก็ต้องเป็น อนัตตา ไปโดยปริยาย


3. "ไม่เคยเห็น" เพราะมีคนอีกประเภทหนึ่ง ที่ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่สามารถจับต้องสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คนประเภทนี้ นอกจากปฏิเสธนิพพานแล้ว มักปฏิเสธ ชาตินี้ชาติหน้า การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ และภพภูมิต่างๆ ด้วย พยายามแปล นรก สวรรค์ นิพพาน ให้มีความหมายเป็นแค่สภาพอารมณ์ในปัจจุบัน และเลือกเชื่อพระไตรปิฎกเป็นส่วนๆ ตามที่ตรงกับความเห็นของตนเท่านั้น


4. ไม่เข้าใจเรื่อง "กายในกาย" เพราะคิดว่ามนุษย์เรานี้มีแค่กายเนื้อนี้เพียงกายเดียว ในเมื่อกายเนื้อในตำราก็บอกไว้เสมอๆ ว่าเป็นขันธ์5 ซึ่งขันธ์ 5 เป็นสิ่งที่เราต้องรังเกียจหนักหนา เพราะมันตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเมื่อกายกับใจ(ขันธ์ 5) นี้ไม่มีอะไรดี ท่านไม่ให้ยึดถือในขันธ์


 5 นี้ เมื่อไม่รู้จักธรรมกายซึ่งเป็น "ธรรมขันธ์" ไม่รู้ว่า "ธรรมกาย" เป็น อัตตา(ตัวตน) ที่แท้จริง ก็เลยเคว้ง เพราะหาอัตตาตัวจริงไม่เจอ จึงจำเป็นต้องเหมาให้นิพพานเป็น อนัตตา ไปด้วยปริยาย

 แต่กระนั้นก็ยัง ให้ นิพพาน เป็น นิจจัง กับ สุขขัง อยู่ คือยอมให้นิพพาน พ้นไตรลักษณ์ไปได้แค่ สองในสามส่วน ยังไงๆ ก็ไม่ยอมให้เป็นอัตตา เพราะหา "อัตตา(ตัวจริง)" ไม่เจอนั่นเอง

มีบางท่านที่เชื่อว่า นิพพานเป็นอัตตา แต่ยังไม่รู้จัก "ธรรมกาย" ก็พยายามหาสิ่งที่เป็นอัตตา เพื่อไปอยู่ใน นิพพาน ให้ได้ ท่านเหล่านั้นอธิบายว่า จิตของพระอรหันต์ เป็นอัตตา
[นิพพานในทัศนะของศิษย์วัดท่าซุง(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) มีสมเด็จองค์ปฐม(พระพุทธเจ้าองค์แรก) เป็นต้น]

เพราะพระพุทธเจ้าก็เคยกล่าวพระคาถาไว้ว่า "อายตน(นิพพาน)นั้นมีอยู่ …….(แต่ไม่เหมือนกับโลก)….." และกล่าวถึงจิตพระอรหันต์ว่า มีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ปราศจากมลทิน เป็นต้น

ส่วนท่านที่เชื่อว่า นิพพานเป็นอนัตตา พอหาอัตตาไม่เจอ แถมบางท่านแยกไม่ออกว่า จิตกับใจ ต่างกันยังไงอีก เลยคิดว่าจิตกับใจคือสิ่งเดียวกัน ในเมื่อใจ(นามขันธ์) เป็นขันธ์ 5 ซึ่งเป็นอนัตตาแน่นอนอยู่แล้ว เลยยิ่งทำให้เชื่อมั่นเข้าไปอีกว่า แม้จิตพระอรหันต์ก็เป็นอนัตตา และยิ่งมั่นใจนิพพานว่าเป็นเป็นอนัตตาไปด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมด แม้ผมเองจะเชื่อมั่นว่า นิพพานเป็นอัตตา ก็ตาม แต่ก็ไม่เคยดูถูกสติปัญญาหรือผลักใสให้ท่านที่เชื่อนิพพาน เป็นอนัตตาเป็น อุทเฉททิฏฐิ  และ การที่จะเชื่อว่านิพพานเป็น อัตตา หรือ อนัตตา หาได้หมายความว่า เป็น สัสสตทิฏฐิ หรือ อุทเฉททิฏฐิ ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่

 เพราะการเชื่อแบบสัสสตทิฏฐิ คือเชื่อว่าโลกเที่ยงคือไม่เชื่อว่ามีนิพพานที่สามารถพ้นโลกได้ ส่วนอุทเฉททิฏฐิคือเชื่อว่าโลกสูญคือไม่เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก

การเชื่อในนิพพานแต่อาจเชื่อสภาพของนิพพานต่างกัน หาใช่มิจฉาทิฏฐิที่ร้ายแรงไม่  ดังนั้นประเด็นนี้หากแต่ละฝ่ายไม่สามารถเชื่อหรือยอมรับในเหตุผลของอีกฝ่ายได้ ก็ควรจะยุติการถกเถียงกันเสีย

 หมั่นสร้างบารมี 10 ทัศ มรรคมีองค์ 8 และกุศลกรรมบท 10 เพื่อถางทางไปนิพพานกันดีกว่า เพราะเมื่อถึงที่หมายก็จะรู้กันเอง ว่านิพพานนั้นเป็นเช่นไร

"นิพพานคมนัง มัคคัง ขิปเมว วิโสธเย - บัณฑิตควรรีบชำระทางไปนิพพานโดยเร็ว"
(ธรรมบท ๔)
 


 
หากมีข้อเสนอแนะหรือคำถาม ติดต่อผู้โพสต์ดั้งเดิม(คุณสมเจต)ได้ที่
 
somchet@bigfoot.com