วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เราตายแน่

... การตั้งสติพิจารณา " ความตาย " อยู่เสมอนั้นเป็นกุศลกรรม (เป็นสิ่งที่ดี)

... แต่การทำให้คนอื่นต้องหวาดหวั่นและวิตกกังวลนั้นเป็นอกุศลกรรม (เป็นสิ่งไม่ดี)

ปล. การเผชิญหน้ากับความตายอย่างไรดี
ถ้าพูดถึงความตายแล้ว คนไทยเห็นว่าเป็นเรื่องอัป...มงคล จะไม่ค่อยพูดกัน เว้นว่าจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนหลีกหนีไม่พ้น พระพุทธเจ้าจึงให้ระลึกถึงความตายเสมอๆ ในบทสวดมนต์หลายบทมีคำสวดที่ให้ระลึกถึงความตาย เช่น

บทพิจารณาสังขาร ...
ตอนหนึ่ง ที่ว่า ฯลฯ
อะธุวัง ชีวิตัง, ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน, ธุวัง มะระณัง,
ความตายเป็นของยั่งยืน,
อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง, อันเราจะพึงตายเป็นแท้, มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง,
ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ, ชีวิตัง เม อะนิยะตัง, ชีวิตของเรา เป็นของไม่เที่ยง, มะระณัง เม นิยะตัง,
ความตายของเรา เป็นของเที่ยง, ฯลฯ
บทสวด อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ ...
ตอนที่ว่า ฯลฯ
มะระณะธัมโมมหิ มะระณัง อะนะตีโต (ตีตา)
เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ ฯลฯ

บทสวด มรณสติกัมมัฎฐาน ...
ตอนที่ว่า ฯลฯ
อะธุวัง โข เม ชีวิตัง, ชีวิตนี้เป็นของไม่ยั่งยืน, ธุวัง มะระณัง เอกังสิกัง,
ความตายนั้นยั่งยืนโดยส่วนเดียว, อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง, เราพึงตายเป็นแน่แท้,
มะระณะ ปะริโยสานัง เม ชีวิตัง,
ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ,
มะระณะ ปะฏิพัทธัง เม ชีวิตัง,
ชีวิตของเราเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยความตาย,
มะระณะธัมโมมหิ, เรามีความตายเป็นธรรมดา, มะระณัง อะนะตีโต,
จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้,
มะระณัง ภะวิสสะติ,
ความตายจักต้องมีโดยแท้,
ชีวิตินทฺริยัง อุปัจฉิชชิสสะติ,
อินทรีย์คือชีวิตจะเข้าไปตัด,
มะระณัง มะระณัง,
ความตาย ความตาย, เอกังสิกัง.
เป็นไปโดยส่วนเดียวแน่แท้แล.

เราเผชิญกับความตายในสองสถานะ คือ
หนึ่งเป็นคนที่กำลังจะตายเอง
กรณีความตายจากการเจ็บป่วย จากความชรา ไม่ใช่การตายแบบผิดปกติ เช่นอุบัติเหตุ ฯลฯ

สองเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคนที่กำลังจะตาย
เช่น เป็นพ่อแม่ สามีภรรยา บุตรธิดา ญาติพี่น้อง หรือมิตรสหาย คนส่วนใหญ่มักกลัวความตาย หรือไม่อยากตายด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ พิจารณาความตายว่าเป็นที่สุดของชีวิตอยู่เป็นประจำ จะกลัวน้อยลงหรือไม่กลัวเลย ถ้าไม่เคยคิดถึงความตายมาก่อน เพราะไม่อยากคิด ไม่อยากพูดถึง เห็นว่าเป็นเรื่องอัปมงคลแล้ว เมื่อถึงเวลาก็ทำใจไม่ได้ รับไม่ได้ ไม่ยอมรับความจริง เหมือนคนขับรถถ้าขับอยู่ทุกวันก็ไม่กลัวว่าจะมีอุบัติเหตุ เพราะเกิดความเคยชิน แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยขับมาก่อน หรือเพิ่งหัดขับ ไม่มีความคุ้นเคยมักกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

ดังนั้นถ้าเป็นคนที่กำลังจะตาย ก็ต้อยอมรับความจริงแท้นี้ ต้องยอมรับความพลัดพราก จากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง ไม่ห่วงหน้าพวงหลัง ถ้าให้จิตสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตอยู่กับบุญกุศลคุณงามความดีแล้ว สุคติจะเป็นแดนเกิด และถ้าก่อนดับจิต มีความเห็นแจ้งว่าความตายเป็นสัจจธรรม ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างลงเสียได้ ยิ่งเป็นความตายที่ประเสริฐที่สุด โบราณาจารย์จึงให้ผู้ใกล้ตายภาวนาคำว่า “พุทโธ” บ้าง “สัมมาอรหัง” บ้าง หรือให้มีพระมาสวดมนต์ มารับสังฆทาน ปัจจุบันมีการเปิดเสียงสวดมนต์ เสียงบรรยายธรรม ให้ฟัง เป็นต้น แต่วิธีรับมือกับความตายที่ดีนั้น ก็คือการพิจารณาความตายอยู่เสมอๆ ทุก ๆ วัน  ทุก ๆ เวลา (ถ้าทำได้) สร้างความเคยชิน เสียตั้งแต่ก่อนตาย บางคนอาจเรียกว่าซ้อมตายไว้ก่อน ก็ได้

ถ้าเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับคนที่กำลังจะตาย ก็ต้องทำตัวให้คุ้นเคยกับความตายเช่นกัน เมื่อมีการตายเกิดขึ้น จะได้ไม่เศร้าโศก ร่ำไรรำพัน เสียใจจนเกินไป ขาดสติ ยิ่งไปเศร้าโศก ร่ำไห้ ให้คนที่กำลังจะจากไปเห็นด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้จิตของผู้ใกล้ตายไม่สงบ แทนที่จะตายไปเกิดในสุคติ จะไปทุคติภพแทน ดังนั้นต้องใช้วิธีเผชิญความตายอย่างเดียวกัน คือพิจารณาให้มากๆ

ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระภิกษุซึ่งประชุมกันอยู่ ๗ รูป ให้ระลึกถึงความตายทุกขณะจิต โดยไม่ประมาทกับมัน ลุงใหญ่คิดว่าเราน่าจะได้นำมาพิจารณาโดยทั่วถึงกัน เรื่อง กระตุ้นปัญญาด้วยการคิดถึงความตาย

คราว หนึ่ง...พระผู้มีพระภาคได้สนทนากับภิกษุหลายรูป ในเรื่องเกี่ยวกับความตาย ได้ตรัสถามพระเหล่านั้นว่า...เธอทั้งหลาย ได้เจริญมรณสติอยู่หรือเปล่า ภิกษุ ก็กราบทูลว่า...ได้เจริญอยู่ พระเจ้าข้า
ตรัสถามต่อไปว่า...เจริญอย่าง ไร?
รูปหนึ่งกราบทูลว่า...ชีวิตไม่นานหนอ จะแตกดับภายในวันหนึ่งคืนหนึ่งโดยแท้
รูปหนึ่งทูลว่า...ได้คิดว่าชีวิต จักแตกดับภายในวันหรือคืน อีกรูปหนึ่งทูลว่า...คิดว่าจะอยู่ได้ไม่เกิน เที่ยงวัน
อีกรูปหนึ่งทูลว่า...ชีวิตนี้จักดำรงอยู่ไม่เกินสามชั่วโมง
อีก รูปหนึ่งทูลว่า...อยู่ไม่เกินชั่วโมง
อีกรูปหนึ่งทูลว่า...ชีวิตนี้น้อยคงอยู่ได้ไม่เกินขณะลมหายใจเข้าออก เท่านั้น
ทรงติทุกรูปว่า ยังประมาทในความตาย
ยังคิดว่าตนจักอยู่ได้นานถึงขนาดนั้น ทรงชมเชยรูปที่กล่าวว่าชีวิตนี้มีอยู่ชั่วลมหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น หาอยู่นานไปกว่านั้นไม่ นั่นแหละถือว่าเป็นการเจริญในความคิดเกี่ยวกับความตายโดยแท้ นี้เป็นบทเรียนอย่างยิ่งสำหรับชีวิตเกี่ยวกับความตาย
การคิดถึงความ ตายมิใช่เรื่องของความผิด แต่เป็นเรื่องของความถูกต้อง เป็นเรื่องกระตุ้นเตือนให้เกิดปัญญา เกิดความก้าวหน้าในการประกอบกิจการงาน เพราะเมื่อรู้ว่าอายุเราเป็นของน้อย อาจจะแตกดับลงไปเมื่อใดก็ได้ ก็ควรที่จะได้รีบเร่งประกอบคุณงามความดีต่อไปตามโอกาส
 
ขอให้เจริญในธรรมกันทุกทั่วหน้านะครับ

โดย.. ลุงใหญ่ 22-01-13 

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผอมด้วยใจ ผอมอย่างไร


ผอมด้วยใจ ผอมอย่างไร มาติดตามเคล็ดลับดีๆ จากโค้ชเคี้ยง โค้ชผู้เคยหนักกว่าร้อยกิโลกรัม!! 
6 เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้คุณหุ่นดี
 +++++++++++++++++++++++++
ผมเป็นผู้หนึ่งที่เคยน้ำหนักตัวเกือบร้อยกิโลกรัม



เคยมีความทุกข์มากที่อ้วน ต้องแบกน้ำหนักตัวกว่าร้อยกิโลกรัม และเกือบจะเป็นเบาหวาน
อยากจะลดน้ำหนัก แต่ก็ลดไม่ลง เป้าหมายที่มีมาตลอดคืออยากจะลดน้ำหนัก
พยายามอยู่ 7 ปี แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าแพ้ใจตัวเองมาตลอด ทั้งๆที่รู้ว่าเพียงแค่ลดอาหาร
และออกกำลังกายน้ำหนักก็ลดลงได้ จนในที่สุดผมมาตกผลึกความคิด “วิธีการผอมด้วยใจ”
เหตุใดจึงต้องผอมด้วยใจ


เคยสังเกตไหมครับว่า เราทุกคนรู้ว่าถ้าอยากผอม ต้องไม่กินขนม แป้ง ของหวาน อาหารไขมันสูง
รู้ว่าต้องออกกำลังกาย แต่สิ่งที่เราไม่รู้คือการควบคุมจิตใจหรืออารมณ์ของเรา
ที่จะเอาชนะความ “ยั่วยวน” ของรสชาติ กลิ่น และรูปลักษณ์ของอาหาร
นอกจากนั้นบางทีเรายังใช้อาหารเป็นเครื่องระบายอารมณ์...555 เช่น ดีใจก็ชวนกันกิน เสียใจก็ชวนกันกิน
อย่างนี้จะไม่ให้รอบเอวพุ่งไปไหนๆ ได้อย่างไร  รู้งี้ต้องมาลองลดพุงด้วยใจกันดู รับรอง work!

หลักการลดพุงด้วยใจ

1. หาเหตุผลแรงๆ ว่าทำไมเราต้องลดน้ำหนัก เพราะถ้าเหตุผลไม่แรงพอ โอกาสที่จะแพ้ใจตัวเองก็มีสูง
เช่น คุณแม่คนหนึ่งอ้วนมาก อยากจะลดน้ำหนักเพราะเธอวิ่งตามลูกไม่ไหว
เธอเริ่มรู้ว่าน้ำหนักที่มากนี้จะทำให้เธอเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
และอาจไม่มีโอกาสเห็นลูกประสบความสำเร็จในชีวิต
เหตุผลที่แรงพอ จะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงในการลดน้ำหนัก



2. เชื่อมั่นว่าคุณทำได้
ความเชื่อมั่นในตัวเองนับเป็นบันไดขั้นแรกของความสำเร็จ
เพราะเมื่อคุณคิดจะลดน้ำหนัก คนเดียวที่จะทำให้ฝันเป็นจริงก็คือ “ตัวคุณ”
ถ้าคุณยังไม่เชื่อตัวเอง แล้วจะสำเร็จได้อย่างไร คิดในแง่บวกว่า “คุณทำได้” จะช่วยให้เกิดความมุ่งมั่น
ไม่ท้อ ไม่ล้มเลิกกลางคัน แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม



3. จินตนาการตัวเอง ในหุ่นสุดเช้ง
ทุกคืนก่อนเข้านอน ให้หลับตาและนึกภาพรูปร่างในฝันที่คุณต้องการ
และทุกครั้งที่ท้อหรือคิดล้มเลิก ให้นึกถึงรูปร่างในฝันนั้นไว้ จะช่วยเป็นแรงจูงใจให้คุณฮึดสู้อีกครั้ง



4. ตั้งเป้าหมายระยะสั้น
ไม่ว่าคุณจะมีเป้าหมายอยู่ที่ 10 หรือ 20 กิโลกรัมที่ต้องการกำจัดออกไป
ควรเริ่มที่เป้าหมายระยะสั้น เช่น 3 กิโลกรัม เพื่อให้ตัวเองมีแรงใจที่จะไปต่อ
หรืออาจจะตั้งเป้าหมายรายวัน เช่น จะทานอาหารปริมาณเท่าไหร่ ออกกำลังกายให้ได้ 45 นาทีในแต่ละวัน
ถ้าบรรลุเป้าหมายระยะสั้นได้ เป้าหมายสุดท้ายก็อยู่แค่เอื้อม



5. รู้สึกดีกับตัวเอง
ที่ผ่านมาคุณอาจจะรู้สึกว่าตัวเองน้ำหนักมากเกินไป ดูไม่ดี ไม่มั่นใจ
แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะคิดในแง่บวก ความรู้สึกดี การให้กำลังใจตัวเอง
หรือการทำอะไรให้ตัวเองมั่นใจมากขึ้น จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการลดน้ำหนัก เพื่อในไปสู่รูปร่างในฝันในที่สุด


6. อย่าเครียด 555 หัวเราะเข้าไว้ สนุกกับการลดน้ำหนัก
ถ้าหากการออกกำลังกายและลดอาหารทำให้คุณเริ่มเครียด ก็ลองหยุดพักสักวัน ไปทำกิจกรรมที่ชอบ
ทำให้ตัวมีความสุข รักษาความคิดในแง่บวก แล้วพรุ่งนี้เริ่มกันใหม่
เป็นยังไงบ้างครับ กับ 6 เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้คุณผอม และผอมอย่างยั่งยืน
แค่เริ่มเปลี่ยนทัศนคติ รับรองว่าความผอมไม่ไกลเกินเอื้อมแน่ครับ!!

โค้ชเคี้ยงเปิด 1 on 1 โค้ชชิ่งสำหรับคนที่ลดน้ำหนักไม่ลงสักที
และเปิดสัมมนาสร้างแรงบันดาลใจให้คนสุภาพดีขึ้น สวย หล่อ และมีความเคารพตนเอง
 
โค้ชเคี้ยง เอกภพ คุณากรไพบูลย์ศิริ
 
สามารถติดตามเทคนิคของการลดน้ำหนักเพิ่มเติมได้ที่
เฟสบุ๊ค : โค้ชเคี้ยง ผอมด้วยใจ
หรือ Line : coachkiang
อ่านต่อได้ที่ https://beauty.wongnai.com/articles/6-easy-ways-to-get-good-shape-by-coach-kiang?ref=ct

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

10 นิสัยที่คนประสบความสำเร็จไม่ทำกัน

คุณพร้อมจะทำอะไรบ้างเพื่อให้ประสบความสำเร็จ?

มันเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในปัจจุบันที่จะทำอะไรอย่างพอประมาณและไม่ทำตัว โดดเด่นมากนัก แต่คนที่จะประสบความสำเร็จเค้าไม่ทำแบบนั้นกันหรอก

เพื่อที่จะประสบความสำเร็จแบบที่คุณต้องการ คุณจำเป็นต้องทำตามกฎบางอย่าง การประสบความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองแบบอุบัติเหตุ ถ้าคุณทุ่มเทและเสียสละมากพอ คุณจะได้รับมัน และนี่คือนิสัย10อย่างที่คนจะประสบความสำเร็จต้องเลิกทำมันโดยเด็ดขาด!



1. ไม่อยู่ในcomfort zone
Comfort zone คืออะไร? มันคือสภาวะจิตใจที่เรารู้สึกเวลาทำอะไรที่คุ้นเคย ง่ายๆ ควบคุมได้ และไม่กดดัน การจะออกจากcomfort zoneไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นตรงกันข้ามไปซะหมดนะ แต่ถ้าหากคุณอยากจะเติบโตในหน้าที่การงาน การลองค้นหาสิ่งใหม่ๆ และทำในสิ่งที่คุณไม่เคยทำ มันเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้คุณโตได้ เช่น ลองเสี่ยงทำอะไรที่ไม่เคยทำ ลองแบกรับความเครียด หรือหาประสบการณ์ใหม่ๆเป็นต้น

2. ไม่เริ่มต้นทำอะไรถ้ายังไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมันก่อน
คนเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั้นจะเป็นประโยชน์กับชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แน่นอน คนที่ประสบความสำเร็จจะไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่ในเรื่องที่รู้แล้ว พวกเขาก็จะรู้ให้กว้างออกไปอีก ถ้าเราหยุดเรียนรู้ เราก็ต้องอยู่แค่กับสิ่งที่เรามี แล้วเราก็จะไม่ได้ก้าวไปไหน
ลองคิดดูสิว่าถ้า Bill Gateหยุดเรียนรู้ เพราะเขาคิดว่าสิ่งที่เขามีมันเพียงพอแล้ว อินเตอร์เน็ตก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ แต่เพราะBill Gateไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนา เขาก็เลยกลายเป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลต่อโลก และบริษัทนั้นก็ยังเติบโตอยู่เรื่อยๆ

3. ไม่กลัวที่จะขอคำแนะนำจากคนอื่น
การปรึกษา และขอคำแนะนำไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งเราก็คิดว่าเราก็มีดีเหมือนคนอื่นๆนั่นแหละ เราก็เลยไม่อยากขอคำแนะนำจากคนอื่น เพราะเราไม่อยากพึ่งพาใคร แต่รู้ไหมว่านิสัยนี้มันจะเป็นตัวจำกัดศักยภาพในการทำงานของเราเองนะ บางครั้งคำแนะนำที่เราต้องการ อาจจะอยู่กับใครซักคนที่เรารู้จักดีก็ได้

4. ไม่หลงทางไปกับสิ่งเล็กๆน้อยๆ
ในช่วงชีวิตของเรามักจะมีโอกาสผ่านมามากมาย และมันก็ง่ายมากที่จะหลงทางไปกับโอกาสต่างๆเหล่านั้น ถ้าเรามัวแต่ไปให้ความสำคัญกับโอกาสเล็กๆ เราก็อาจจะพลาดเป้าหมายที่ใหญ่กว่าไปเลยก็ได้ การสนใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากเกินไปก็อาจจะทำให้ความสามารถในการมองภาพรวม ลดลง และคุณก็อาจจะลืมไปว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่มันจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมาย ได้อย่างไร ดังนั้น โฟกัสกับเป้าหมายของตัวเองไว้นะ

5. ไม่ทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกัน
คนส่วนใหญ่คิดว่า การทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกันหรือmultitasking เป็นความสามารถที่ทำได้แค่บางคนเท่านั้น แต่มันดีจริงๆเหรอ? การทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกันจะทำให้คุณไม่สามารถโฟกัสกับงานใดงานหนึ่งได้ อย่างเต็มที่ และคนที่ประสบความสำเร็จเค้าจะจดจ่ออยู่กับงานทีละงาน และเพียงงานเดียวเท่านั้น และเขาทำมันอย่างสุดความสามารถโดยไม่วอกแวก

6. ไม่หลอกตัวเอง
การหลอกตัวเองเป็นสิ่งง่ายที่สุดที่คุณทำได้ แต่มันยากกว่าที่จะยอมรับปัญหาและไม่พยายามหาข้อแก้ตัว คนที่ประสบความสำเร็จจะเข้าใจว่าเราจะต้องเจอกับปัญหาทั้งภายในและภายนอก มันจะดีกว่าถ้าคุณยอมรับว่า “นี่คือปัญหา” และพยายามหาวิธีแก้มัน ไม่ใช่หลอกตัวเองว่ามันไม่ใช่ปัญหาและทำเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ

7. ไม่ผลัดวันประกันพรุ่งที่จะขอความเห็นจากคนอื่น
ความเห็นจากคนอื่นเป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะคุณจะได้เห็นสถานการณ์ในมุมมองที่แตกต่างจากตัวคุณเอง บางครั้งมันก็เหมือนมีอะไรมาบังตาเรานะ และความคิดเห็นจากมุมมองของคนอื่นก็จะช่วยให้เราผ่านมันไปได้ ถ้าคุณยังอิดออดที่จะขอความเห็นจากคนอื่น จุดมุ่งหมายในการประสบความำเร็จของคุณก็จะห่างออกไปเรื่อยๆนะ และยิ่งคุณทิ้งช่วงนานเท่าไหร่ ความเห็นเหล่านั้นก็อาจจะนำมาปรับใช้ได้ยากขึ้นไปอีกด้วย

8. ไม่เป็นผู้ตามไปเรื่อยๆ
ในโลกนี้มีคนอยู่สองประเภทคือ ผู้นำ และ ผู้ตาม คนที่ประสบความสำเร็จก็คือคนที่เป็นผู้นำ ที่นำทุกคนในทีมไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ คนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เป็นเพราะเขาโชคดี แต่เขาไม่ได้เดินตามคนอื่นไปเรื่อยๆจนถึงเส้นชัย ผู้นำคือคนที่เลือกทางเดินของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และทำอย่างสุดความสามารถเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

9. ไม่ยอมให้อดีตควบคุมอนาคต
อดีตเป็นสิ่งหนึ่งที่เราแก้ไขมันไม่ได้ และเราก็ไม่ควรจะแก้ไขมันด้วย เพราะอดีตที่ผ่านมาทำให้เราเป็นเราอย่างในทุกวันนี้ ถ้าไม่มีอดีต เราก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างที่เราควรจะรู้ ดังนั้น เราควรจะทำผิดซ้ำๆ เพื่อที่เราได้เรียนรู้ว่าชีวิตกำลังพยายามจะสอนอะไรเรา และอดีตของเราไม่ได้เป็นตัวกำหนดอนาคตว่าเราจะไปได้ไกลแค่ไหน

10. ไม่อยู่ใกล้คนมองโลกในแง่ร้าย
คนมองโลกในแง่ร้ายเป็นภัยอย่างมากต่อการประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งเราก็ต้องเจอกับเรื่องแย่ๆในชีวิตบ้าง แต่กับคนประเภทนี้ เขาจะสนใจแต่เรื่องแย่ๆตลอดเวลา ถ้าคุณอยู่ใกล้คนมองโลกในแง่ร้ายมากๆ คุณก็จะเริ่มมองโลกในแง่ร้ายตามเขา และคุณก็จะละทิ้งความฝันหรือเป้าหมายของคุณเพราะคุณคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ เลื่อนลอยเกินไป การประสบความสำเร็จเป็นเรื่องของความคิด และถ้าคุณคิดแต่เรื่องแย่ๆ คุณก็จะเจอกับเรื่องแย่ๆแน่นอน

Source ; http://www.jobnisit.com

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

นิทานข้อคิดเรื่อง "ปัญหาหิน"

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.....
พระราชาผู้ปราดเปรื่ององค์หนึ่งต้องการจะออกเดินทาง
ท่องเที่ยวไป เยี่ยมประชาชนของพระองค์ เมื่อมาถึงที่
กลางตลาดพระองค์ก็เกิดความคิดที่แยบคายอย่างหนึ่งขึ้น
พระองค์สั่งทหารนำหินก้อนใหญ่ มาวางกลางถนน
กีดขวางทางเดินของชาวบ้าน และพระองค์ก็ไปซ่อนตัวและ
คอยสังเกตอยู่ห่าง ๆ
.........




ชาวนาคนแรกเดินผ่านมาพร้อมทั้งบ่นอย่างไม่พอใจ
ว่าใครกันที่เป็นผู้ที่นำหิน นี้มากีดขวางทางเดินของเขา
แต่แล้วเขาก็เดินอ้อมหินนั้นไป พระราชาก็มองดูด้วยความสนใจ

.........
ต่อมามีหญิงเลี้ยงวัวคนหนึ่งเดินจูงวัวของตนมา
เมื่อมองเห็นหินก่อนนั้นเธอก็พูดว่าทำไมหินก่อนนี้
จึงมาอยู่ที่นี่ แล้วอย่างนี้เธอจะข้ามมันไปได้อย่างไร
พูดจบหญิงคนนั้นก็จูงวัวของเธอเดินหันหลังกลับไป
โดยไม่สนใจที่จะเดินอ้อมมันไปเหมือนชาวนาคนแรก

.........
เวลาผ่านไปไม่นานก็มีเด็กชายตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง
เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าก้อนหินก้อนใหญ่นั้น เขาพยายาม
ที่จะผลักหินไปให้พ้นทางแต่เพียงลำพังตัวเขา
ก็ไม่สามารถทำได้เขาจึงเดินหันหลังกลับไป

.........
แต่เพียงไม่กี่อึดใจเด็กน้อย คนนั้นก็เดินกลับมา
พร้อมกับเพื่อน ๆ ของเขาหลายคน แล้วเด็ก ๆ
ก็ช่วยกันผลักหินก้อนนั้นออกไปให้พ้นทางเดิน
เมื่อพวกเขาเดินกลับมาที่ถนน พวกเขาก็พบ
ถุงใส่เหรียญทองของพระราชาวางอยู่แทนที่หินก้อนนั้น
.........++++++++++++++++++++++++++



ข้อคิดดั้งเดิมจากในไลน์(ที่ศิยรายcopyมาแปะ)
หินก้อนนั้นได้ให้ข้อคิดที่มีค่าอย่างหนึ่งนั่นก็คือ
อุปสรรคในชีวิตของพวกเรานั้นมีไว้เพื่อพิสูจน์ความกล้า
ของเราที่จะเผชิญหน้ากับมัน หากเราหนีปัญหา
หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องหนีมันไปเรื่อยๆ

หากปัญหานั้นหนักหนาเกินกว่าเราจะฝ่าฟันไปได้
ลองมองไปรอบ ๆ ตัวแล้วเราจะพบว่ายังมีผู้ที่สามารถ
ช่วยเรามาก เท่ากับผู้ที่เราสามารถจะช่วยให้เขาฝ่าฟัน
อุปสรรคของเขาไปได้ และอุปสรรคที่แข็งแกร่งที่สุด
ก็คือ ความอ่อนแอและความหวาดกลัวของตัวเราเอง
ที่จะเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นเอง.



ข้อคิดใหม่จากศิยราย
หินก้อนนั้นอาจจะใช่อุปสรรค หรือไม่ใช่อุปสรรคก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคนๆนึงมองมันอย่างไรในมุมไหน และตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร เมื่อมองแยกแยะถูกที่เหตุ ผลก็ย่อมเกิด


สังเกตดูดีๆจะพบว่า ชายคนแรกแค่บ่นกับก้อนหินแล้วอ้อมไป หมายความว่า "ก็เป็นปัญหานะ แต่มันไม่ใช่กงการอะไรของฉัน"  เขาไม่ได้ตกอยุ่ในสถานการณ์ที่ต้องไปไยดีกับก้อนหิน เพราะเขาคิดถึงแต่ตัวเอง คนเช่นนี้ สังเกตดีๆ ต้องรอให้ฝุ่นเกาะโต๊ะสักนิ้ว ถึงจะเริ่มทำความสะอาดบ้าน ต้องรอให้สะดุดของในบ้านตัวเองล้ม ถึงจะมาจัดของ คนเช่นนี้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยาก และถึงคราวเจอภัยก็เอาตัวไม่รอด


หญิงจูงวัวเลือกเดินหันหลังกลับ เป็นตัวแทนผู้ที่คิดว่า "นี่คือปัญหาของฉัน คนเดียว ฉันคนเดียวจะทำอะไรได้" ตัวอย่างของคนหนีปัญหา สุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นปัญหา เพราะโลกนี้คือแดนแห่งปัญหา หนี แก่ เจ็บ ตายไม่พ้น


เด็กที่ไปชวนเพื่อนไปยกหินออก เป็นตัวแทนผู้ที่คิดว่า  "หินก้อนนี้ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของอีกหลายคน เป็นความสุขของเราที่จะได้ปลดปัญหาให้พวกเขา"
นี่คือตัวอย่างของคนที่มีจิตใจดี ใจใส ซึ่งจะทำให้เกิดความคิดที่เหนือกว่าขอบเขตของตัวเอง ซึ่งยากที่คนธรรมดาๆจะคิดออก


กรณีเด็กน้อยนี้ยังมีความนัยบอกอีกหลายอย่างด้วย เช่น คนที่ใจใสใจกว้่างจะมีความเป็นผู้นำสูง เป็นคนแยบคาย พากเพียร และมักมีบริวารสมบัติ มีโภคทรัพย์สมบัติ และความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง



การจะเป็นอย่างเด็กคนนั้นได้นั้น ไม่ต้องรอเกิดใหม่เลย เพียงแค่เรารวมใจมาหยุดนิ่งไว้ในกลางตัว ไม่เกาะไม่เกี่ยวไม่เหนี่ยวไม่รั้งสิ่งใด ทำอย่างนี้ซ้ำๆบ่อยๆเข้า ทางสายกลางนั้นจะนำไปสู่ความใสสว่างไม่มีประมาณ และจะได้พบกับผู้รู้ภายใน แล้วเราจะได้ความคิดที่หลุดจากขอบเขตของตัวเองได้อย่างง่ายๆ

จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้
ปุญญสวัสดี

ศิยราย

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

พระสมณโคดม สร้างบารมีมายาวนานเท่าใด

สมัยหนึ่ง พระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความปรารถนาที่จะเป็น พระพุทธเจ้า ทั้งหลายควรใช้เวลานานเท่าไร"


 พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ความปรารถนา เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยการกำหนดอย่างต่ำที่สุด ๒๐ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป กำหนด ปานกลาง ๔๐ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป กำหนดอย่างสูง ๘๐ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ทั้ง ๓ ประเภทนั้น คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นปัญญาธิกะ สัทธาธิกะ และวิริยาธิกะ "
             อาจมีผู้สงสัยว่า ทำไมต้องกำหนดเวลานานอย่างนั้นด้วย ถ้าเร่งสร้างบารมีอย่างเต็มที่ เพียงไม่กี่ล้านชาติ ก็น่าจะสามารถตรัสรู้ธรรมได้ เหมือนกับถ้าขยันเรียนหรือขยันทำงาน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

แต่อันที่จริงการจะเป็น พระพุทธเจ้าไม่ใช่ง่ายอย่างที่คิด พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้บุคคลจะถวายมหาทาน เหมือนกับมหาทาน ของพระเวสสันดรทุกๆ วันก็ดี สั่งสมบารมีธรรม มีศีล เป็นต้น เพื่อมุ่งสัพพัญญุตญาณก็ดี หากยังไม่ถึง ๒๐ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว ยังไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะญาณยังไม่แก่รอบ ยังไม่ถึงความไพบูลย์ เปรียบเหมือนข้าวกล้าจะออกรวงได้ ต้องใช้เวลา ๔ หรือ ๕ เดือน แม้จะขยันรดน้ำวันละ ๑๐๐,๐๐๐ ครั้ง ทุกๆ วัน ก็ยังไม่อาจออกรวงภายใน ๑ เดือน ฉันใด ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลาที่เหมาะสม ฉันนั้น



ระยะเวลากว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
             จากตัวอย่างของพระโคดมพุทธเจ้า นับแต่เริ่มสร้างบารมี โดยได้พบและอธิษฐานในใจต่อเบื้อง พระพักตร์ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีระยะเวลาอันยาวนานและ ได้พบพระพุทธเจ้า เป็นจำนวนมากมายดังต่อไปนี้

             ช่วงคิดในใจ ๗ อสงไขย พบพระพุทธเจ้า ๑๒๕,๐๐๐ พระองค์
       ๑. นันทอสงไขย พบ ๕,๐๐๐ พระองค์   ๒. สุนันทอสงไขย พบ ๙,๐๐๐ พระองค์
        ๓. ปฐวีอสงไขย พบ ๑๐,๐๐๐ พระองค์   ๔. มัณทอสงไขย พบ ๑๑,๐๐๐ พระองค์
         ๕. ธรณีอสงไขย พบ ๒๐,๐๐๐ พระองค์  ๖. สาครอสงไขย พบ ๓๐,๐๐๐ พระองค์
         ๗. ปุณฑริกอสงไขย พบ ๔๐,๐๐๐ พระองค์
             ช่วงเปล่งวาจา ๙ อสงไขย พบพระพุทธเจ้า ๓๘๗,๐๐๐ พระองค์
         ๘. สัพพถัททอสงไขย พบ ๕๐,๐๐๐ พระองค์   ๙. สัพพผุลลอสงไขย พบ ๖๐,๐๐๐ พระองค์
        ๑๐. สัพพรตนอสงไขย พบ ๗๐,๐๐๐ พระองค์   ๑๑. อสุภขันธอสงไขย พบ ๘๐,๐๐๐ พระองค์
       ๑๒. มานีภัททอสงไขย พบ ๙๐,๐๐๐ พระองค์    ๑๓. ปทุมอสงไขย พบ ๒๐,๐๐๐ พระองค์
       ๑๔. อุสภอสงไขย พบ ๑๐,๐๐๐ พระองค์   ๑๕. ขันธคมอสงไขย พบ ๕,๐๐๐ พระองค์
       ๑๖. สัพพผาลอสงไขย พบ ๒,๐๐๐ พระองค์
             ช่วงได้รับพุทธพยากรณ์ ๔ อสงไขย แสน มหากัป พบพระพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ มีพระนามดังต่อไปนี้
             อสงไขยที่ ๑๗ เป็นสารมัณฑกัป พบ ๔ พระองค์ ได้แก่ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกร พุทธเจ้า พระสรณังกรพุทธเจ้า พระทีปังกรพุทธเจ้า (ได้รับพุทธพยากรณ์เป็นนิยตโพธิสัตว์)
             อสงไขยที่ ๑๘ เป็นสารกัป พบ ๑ พระองค์ คือ พระโกณฑัญญพุทธเจ้า
             อสงไขยที่ ๑๙ เป็นสารมัณฑกัป พบ ๔ พระองค์ ซึ่งได้แก่ พระสุมังคลพุทธเจ้า พระสุมนพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า
             อสงไขยที่ ๒๐ เป็นวรกัป พบ ๓ พระองค์ ได้แก่ พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้า พระนารท- พุทธเจ้า
             ช่วงเศษแสนกัปของอสงไขยที่ ๒๐
             สารกัป พบ ๑ พระองค์ คือ พระปทุมุตร- พุทธเจ้า (พระสาวกส่วนใหญ่เริ่มได้รับพุทธพยากรณ์)
             สุญญกัป ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าไป ๓๐,๐๐๐ กัป
             มัณฑกัป พบ ๒ พระองค์ คือ พระสุเมธ พุทธเจ้าและพระสุชาตพุทธเจ้า
             สุญญกัป ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าไป ๖๐,๐๐๐ กัป
             วรกัป พบ ๓ พระองค์ คือ พระปิยทัสสีพุทธเจ้า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า
             สุญญกัป ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าไป ๒๔ กัป
             สารกัป พบ ๑ พระองค์ คือ พระสิทธัตถพุทธเจ้า
             สุญญกัป ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าไป ๑ กัป
             มัณฑกัป พบ ๒ พระองค์ คือ พระติสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้า
             สารกัป พบ ๑ พระองค์ คือ พระวิปัสสีพุทธเจ้า
             สุญญกัป ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าไป ๖๐ กัป
             มัณฑกัป พบ ๒ พระองค์ คือ พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า
             สุญญกัป ว่างเว้นจากพระพุทธเจ้าไป ๓๐ กัป
             ภัทรกัป มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ
                           ๑. พระกกุสันธพุทธเจ้า                             ๒. พระโกนาคมนพุทธเจ้า
                           ๓. พระกัสสปพุทธเจ้า                              ๔. พระสมณโคดมพุทธเจ้า
                           ๕. พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า



 เพิ่มเติม
       พระปัจเจกพุทธเจ้า(ตรัสรู้เอง แต่ไม่ประกาศศาสนา) ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี 2 อสงไขย กับ 100,000 กัป

พระอัครสาวก เช่นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี 1 อสงไขย กับ 100,000 กัป ครับ

ส่วนพระอรหันต์สาวกที่ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อให้ได้เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ เช่นพระสีวลี พระอนุรุธะ พระปิณโฑลภารทวาช พระปุณณมันตานีบุตร พระมหากัจจายนะ ใช้เวลาบำเพ็ญบารมี 100,000 กัป


 ท้ายบท

การคำนวณความยาวนาน อสงไขย และ กัป

--------------------------------------------------------------------------------

อสงไขย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อสงไขย คือ การบอกจำนวนหรือปริมาณทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นหน่วยของอะไร, เช่น หากใช้ระบุปริมาณเมล็ดถั่ว ก็ใช้ว่า มีถั่วเป็นจำนวน 1 อสงไขยเมล็ด เป็นต้น. แต่ในพระพุทธศาสนามักจะใช้กล่าวถึง ระยะเวลาที่พระโพธิสัตว์สร้างสมบารมีมาเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า โดยนับหน่วยเวลาเป็นอสงไขยกัป. อสงไขยเป็นปริมาณหรือจำนวนที่มีการกำหนดที่นับประมาณมิได้ ซึ่งมีอุปมาเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ฝนตกใหญ่อย่างมโหฬารทั้งวันทั้งคืน เป็นเวลานานถึง 3 ปี ไม่ได้ขาดสายเลย จนกระทั่งน้ำฝนท่วมเต็มขอบจักรวาล ซึ่งมีระดับความสูง 84,000 โยชน์ หากว่ามีใครสามารถนับเม็ดฝนที่ตกลงมาตลอดทั้ง 3 ปีได้ นับได้เท่าไร นั่นคือจำนวนเม็ดฝน 1 อสงไขย.
อนึ่ง คำว่า อสงไขย นั้น มาจากภาษาบาลี ว่า อ + สงฺเขยฺย (สันสกฤต : อ + สํขฺย) หมายถึง นับไม่ได้ หรือนับไม่ถ้วน นั่นเอง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542ระบุจำนวน ของอสงไขย ไว้ว่า เท่ากับ โกฏิ ยกกำลัง 20



การคำนวณความยาวนาน

สมมุติ มีกล่องใบหนึ่ง กว้าง 100 โยชน์ ยาว 100โยชน์ และ สูง 100 โยชน์ ในเวลา 100 ปี ให้เอาเมล็ดผักกาด 1 เมล็ด ใส่ลงไปในกล่องนั้น ทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบปากกล่อง นั้นละจึงเท่ากับ 1 กัป
(บาง ตำรากล่าวว่า กว้าง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์) วิเคราะห์คำนวณ 1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร ดังนั้นกล่องใบนี้มีปริมาตร = 1600X1600X1600 = 4,096,000,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร ประมานว่า เมล็ดผักกาด มีขนาด .5 มิลลิเมตร 1 กิโลเมตรเทียบเป็นมิลลิเมตรได้ดังนี้ 10X100X1000 = 1,000,000 มิลลิเมตรจะได้ 1 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = (1,000,000)/0.5 = 2,000,000 เมล็ด
ดังนั้น 1600 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = (1600X2,000,000 = 3,200,000,000) เมล็ด ถ้าเป็นปริมาตร คือ (กว้าง x ยาว x สูง) ต้องใช้เมล็ดผักกาดทั้งหมด คือ (3,200,000,000X3,200,000,000X3,200,000,000 = 32,768,000,000,000,000,000,000,000,000 เมล็ด)
ใน 100 ปี ใส่เมล็ดผักเพียง 1 เมล็ด ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งหมดคือ 32,768,000,000,000,000,000,000,000,000X100 =3,276,800,000,000,000,000,000,000,000,000 ปี
จึงได้เวลา 1 กัป ประมาณ สามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นหกพันแปดร้อยล้านล้านล้านล้าน ปีประมาณ 3.3 X 10 ยกกำลัง 30 ปี
1 อสงไขยมีกี่ปีนั้นเป็นจำนวนที่แน่นอน คือ 1 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 140 ตัว หรือ 1 X 10 ยกกำลัง140 ปี
วิธีนับอสงไขย



การนับอสงไขยให้เทียบเอาดังนี้
สิบ สิบหน เป็น หนึ่งร้อย
สิบร้อย เป็น หนึ่งพัน
สิบพัน เป็นหนึ่งหมื่น
สิบหมื่น เป็น หนึ่งแสน
ร้อยแสน เป็นหนึ่งโกฏิ
ร้อยแสนโกฏิ เป็น หนี่งปโกฏิ
ร้อยแสนปโกฏิ เป็น หนึ่งโกฏิปโกฏิ
ร้อยแสนโกฏิปโกฏิ เป็น หนึ่งนหุต
ร้อยแสนนหุต เป็น หนึ่งนินนหุต
ร้อยแสนนินนหุต เป็น หนึ่งอักโขเภนี
ร้อยแสนอักโขเภนี เป็น หนึ่งพินทุ
ร้อยแสนพินทุ เป็น หนึ่งอพุทะ
ร้อยแสนอพุทะ เป็น หนึ่งนิระพุทะ
ร้อยแสนนิระพุทะ เป็น หนึ่งอหหะ
ร้อยแสนอหหะ เป็น หนึ่งอพพะ
ร้อยแสนอพพะ เป็น หนึ่งอฏฏะ
ร้อยแสนอฏฏะ เป็น หนึ่งโสคันธิกะ
ร้อยแสนโสคันธิกะ เป็น หนึ่งอุปละ
ร้อยแสนอุปละ เป็น หนึ่งกมุทะ
ร้อยแสนกมุทะ เป็น ปทุมะ
ร้อยแสนปทุมะ เป็น หนึ่งปุณฑริกะ
ร้อยแสนปุณฑริกะ เป็นหนึ่งอกถาน
ร้อยแสนอกถาน เป็น หนึ่งมหากถาน
ร้อยแสนมหากถาน เป็น หนึ่งอสงไขย
จำนวนอสงไขย



อสงไขย มี 7 อสงไขย คือ
นันทอสงไขย
สุนันทอสงไขย
ปฐวีอสงไขย
มัณฑอสงไขย
ธรณีอสงไขย
สาครอสงไขย
บุณฑริกอสงไขย
อ้างอิง

พระ คัมภรีอนาคตวงศ์ , ประภาส สุระเสน, มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์,พ.ศ. 2540, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , ISBN 974-580-742-7  


เก๋็บมาจาก http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2010/09/Y9704162/Y9704162.html




วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อรรถกถา สสปัณฑิตชาดก

[แนะนำให้ดูวิดิทัศน์นี้ก่อนนะครับ ก่อนดูตัวอรรรถกถา]





ว่าด้วย ผู้สละชีวิตเป็นทาน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการถวายบริขารทุกอย่าง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สตฺต เม โรหิตา มจฺฉา ดังนี้.
ได้ยินว่า ในนครสาวัตถี มีกฎุมพีคนหนึ่งตระเตรียมการถวายบริขารทุกอย่างแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้สร้างมณฑปที่ประตูเรือนแล้วนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้นั่งบนบวรอาสน์ในมณฑปที่ได้จัดแจงไว้ดีแล้ว ถวายทานอันประณีตมีรสเลิศต่างๆ แล้วนิมนต์ฉันอีกตลอด ๗ วัน.
ในวันที่ ๗ ได้ถวายบริขารทั้งปวงแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระศาสดา เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก ควรที่ท่านจะกระทำปีติโสมนัส ก็ชื่อว่า ทานนี้เป็นวงศ์ของโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ด้วยว่าโบราณกบัณฑิตทั้งหลายได้บริจาคชีวิตแก่เหล่ายาจกผู้มาถึงเฉพาะหน้าแม้ชีวิตของตนก็ได้ให้แล้ว.
อันอุบาสกนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ใน อดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกระต่ายอยู่ในป่า ก็ป่านั้นได้มีเชิงเขา แม่น้ำและปัจจันตคาม มารวมกันแห่งเดียว.
สัตว์แม้อื่นอีก ๓ ตัวคือ ลิง สุนัขจิ้งจอกและนากได้เป็นสหายของกระต่ายนั้น. สัตว์แม้ทั้ง ๔ นั้นเป็นบัณฑิตอยู่รวมกัน ถือเอาเหยื่อในที่เป็นที่โคจรของตนๆ แล้วมาประชุมกันในเวลาเย็น สสบัณฑิตแสดงธรรมโดยการโอวาทแก่สัตว์ทั้ง ๓ ว่า พึงให้ทาน พึงรักษาศีล พึงกระทำอุโบสถกรรม.
สัตว์ทั้ง ๓ นั้นรับโอวาทของสสบัณฑิตนั้น แล้วเข้าไปยังพุ่มไม้ อันเป็นที่อยู่อาศัยของตนๆ อยู่.
เมื่อกาลล่วงไปอยู่อย่างนี้ วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์มองดูอากาศเห็นดวงจันทร์ รู้ว่าพรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ จึงกล่าวกะสัตว์ทั้ง ๓ นอกนี้ว่า พรุ่งนี้เป็นวันอุโบสถ แม้ท่านทั้ง ๓ จงสมาทานศีล รักษาอุโบสถ ทานที่ผู้ตั้งอยู่ในศีลแล้วให้ ย่อมมีผลมาก เพราะฉะนั้น เมื่อยาจกมาถึงเข้า ท่านทั้งหลายพึงให้รสอาหารที่ควรกิน แล้วจึงค่อยกิน.
สัตว์ทั้ง ๓ นั้นรับคำแล้วพากันอยู่ในที่เป็นที่อยู่ของตนๆ.
วันรุ่งขึ้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น นากคิดว่าเราจักแสวงหาเหยื่อแต่เช้าตรู่ จึงไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา.
ครั้ง นั้น พรานเบ็ดคนหนึ่งตกปลาตะเพียนได้ ๗ ตัว จึงเอาเถาวัลย์ร้อยคุ้ยทรายที่ฝั่งแม่น้ำคงคา เอาทรายกลบไว้ เมื่อจะจับปลาอีกจึงไปยังด้านใต้แม่น้ำคงคา.
นาก สูดได้กลิ่นปลา จึงคุ้ยทราย เห็นปลาจึงนำออกมา คิดว่าเจ้าของปลาเหล่านี้มีไหมหนอ จึงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง เมื่อไม่เห็นเจ้าของ จึงคาบปลายเถาวัลย์นำไปเก็บไว้ในพุ่มไม้ อันเป็นที่อยู่ของตน คิดว่า เราจักกินเมื่อถึงเวลา จึงนอนนึกถึงศีลของตนอยู่.
ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกออกเที่ยวแสวงหาเหยื่อได้เห็นเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว และหม้อนมส้ม ๑ หม้อ ในกระท่อมของคนเฝ้านาคนหนึ่ง คิดว่า เจ้าของของสิ่งนี้มีอยู่หรือไม่หนอ จึงร้องประกาศขึ้น ๓ ครั้ง ไม่เห็นเจ้าของ จึงสอดเชือกสำหรับหิ้วหม้อนมส้มไว้ที่คอ เอาปากคาบเนื้อย่างและเหี้ย นำไปเก็บไว้ในพุ่มไม้เป็นที่นอนของตน คิดว่า จักกินเมื่อถึงเวลา จึงนอนนึกถึงศีลของตนอยู่.
ฝ่ายลิงเข้าไปยังไพรสณฑ์ นำพวงมะม่วงมาเก็บไว้ในพุ่มไม้เป็นที่อยู่ของตน คิดว่า จักกินเมื่อถึงเวลา จึงนอนนึกถึงศีลของตน.
ส่วน พระโพธิสัตว์คิดว่า พอถึงเวลาจักออกไปกินหญ้าแพรก จึงนอนอยู่ในพุ่มไม้เป็นที่อยู่ของตนนั่นแหละ คิดอยู่ว่า เราไม่อาจให้หญ้าแก่พวกยาจกผู้มายังสำนักของเรา แม้งาและข้าวสารเป็นต้นของเรา ก็ไม่มี ถ้ายาจกจักมายังสำนักของเราไซร้ เราจักให้เนื้อในร่างกายของเรา.
ด้วยเดชแห่งศีลของพระโพธิสัตว์นั้น ภพของท้าวสักกะได้แสดงอาการเร่าร้อน.
ได้ยินมาว่า ภพนั้นเป็นภพร้อน เพราะท้าวสักกะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ หรือเมื่อสัตว์อื่นผู้มีอานุภาพมากปรารถนาสถานที่นั้น หรือด้วยเดชแห่งศีลของสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม.
ใน กาลนั้น ภพของท้าวสักกะได้เร่าร้อนเพราะเดชแห่งศีล ท้าวสักกะนั้นทรงรำพึงอยู่ ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงดำริว่า เราจักทดลองพระยากระต่ายดู จึงครั้งแรก เสด็จไปยังที่อยู่ของนาก ได้แปลงเพศเป็นพราหมณ์ยืนอยู่.
เมื่อนากกล่าวว่า พราหมณ์ ท่านมาเพื่อต้องการอะไร?
จึงตรัสว่า ท่านบัณฑิต ถ้าข้าพเจ้าพึงได้อาหารบางอย่าง จะเป็นผู้รักษาอุโบสถ กระทำสมณธรรม.
นากนั้นกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักให้อาหารแก่ท่าน.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ปลาตะเพียนของเรามีอยู่ ๗ ตัวซึ่งนายพรานเบ็ดตกขึ้นจากน้ำ เก็บไว้บนบก
ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีสิ่งนี้อยู่ ท่านจงบริโภคสิ่งนี้ แล้วอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ถลมุพฺภตา ความว่า แม้อันนายพรานเบ็ดตกขึ้นจากน้ำเก็บไว้บนบก.
บทว่า เอตํ ภุตฺวา ความว่า ท่านจงปิ้งมัจฉาหาร อันเป็นของเรานี้ บริโภคนั่งที่โคนไม้อันรื่นรมย์ กระทำสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด.

พราหมณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จงยกไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจักรู้ภายหลัง แล้วไปยังสำนักของสุนัขจิ้งจอก. แม้เมื่อสุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า ท่านยืนอยู่ เพื่อต้องการอะไร? ก็ได้กล่าวเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักให้.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

อาหารของคนรักษานาคนโน้น ข้าพเจ้านำเอามาไว้ในตอนกลางคืน
คือเนื้อย่าง ๒ ไม้ เหี้ย ๑ ตัว นมส้ม ๑ หม้อ.
ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารสิ่งนี้อยู่
ท่านจงบริโภคอาหารสิ่งนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุสฺส เม ความว่า คนผู้รักษานาซึ่งอยู่ในที่ไม่ไกลเรานั่น คือโน้น.
บทว่า อปาภตํ ได้แก่ อาภตํ แปลว่า นำมาแล้ว.
บทว่า มํสสูลา จ เทฺว โคธา ความว่า เนื้อย่าง ๒ ไม้ที่สุกบนถ่านไฟ และเหี้ย ๑ ตัว.
บทว่า ทธิวารกํ ได้แก่ หม้อนมส้ม.
บทว่า อิทํ เป็นต้นไปมีความว่า เรามีสิ่งนี้ คือมีประมาณเท่านี้ ท่านจงปิ้งสิ่งนี้แม้ทั้งหมด โดยการให้สุกตามความชอบใจแล้วบริโภค เป็นผู้สมาทานอุโบสถ นั่งที่โคนไม้อันน่ารื่นรมย์ กระทำสมณธรรมอยู่ในป่านี้เถิด.

พราหมณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จงยกไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจักรู้ภายหลัง แล้วไปยังสำนักของลิง แม้เมื่อลิงนั้นกล่าวว่า ท่านยืนอยู่ เพื่อต้องการอะไร? จึงกล่าวเหมือนอย่างนั้น นั่นแหละ.
ลิงกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักให้.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ผล มะม่วงสุก น้ำเย็น ร่มเงาอันเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ. ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้ามีอาหารอย่างนี้ ท่านจงบริโภคอาหารนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมฺพปกฺกํ ได้แก่ ผลมะม่วงสุกอันอร่อย.
บทว่า อุทกํ สีตํ ได้แก่ น้ำในแม่น้ำคงคาเย็น.
บทว่า เอตํ ภุตฺวา ความว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงบริโภคผลมะม่วงนี้ แล้วดื่มน้ำเย็น นั่งที่โคนไม้ อันรื่นรมย์ตามชอบใจ แล้วกระทำสมณธรรมอยู่ในชัฏป่านี้เถิด.

พราหมณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จงยกไว้ก่อนเถิด ข้าพเจ้าจักรู้ในภายหลัง แล้วไปยังสำนักของสสบัณฑิต แม้เมื่อสสบัณฑิตนั้นกล่าวว่า ท่านมาเพื่ออะไร? ก็กล่าวเหมือนอย่างนั้น นั่นแหละ.
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นก็มีความชื่นชมโสมนัส กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านมายังสำนักของเรา เพื่อต้องการอาหาร ได้ทำดีแล้ว วันนี้ ข้าพเจ้าจักให้ทานที่ยังไม่เคยให้ ก็ท่านเป็นผู้มีศีล จักไม่ทำปาณาติบาต ท่านจงไปรวมไม้ฟืนนานาชนิด มาก่อถ่านไฟ แล้วจงบอกข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักเสียสละตน โดดลงในกลางถ่านไฟ เมื่อร่างกายของข้าพเจ้าสุกแล้ว ท่านพึงกินเนื้อ แล้วกระทำสมณธรรม.
เมื่อจะเจรจากับท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

กระต่ายไม่มีงา ไม่มีถั่ว ไม่มีข้าวสาร ท่านจงบริโภคเรา ผู้สุกด้วยไฟนี้ แล้วเจริญสมณธรรมอยู่ในป่าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มมํ ภุตฺวา ความว่า ท่านจงบริโภคเราผู้สุกด้วยไฟที่เราบอกให้ท่านก่อขึ้นนี้ แล้วจงอยู่ในป่านี้. ธรรมดาว่า ร่างกายของกระต่ายตัวหนึ่ง ย่อมจะพอยังชีพของบุรุษคนหนึ่ง ให้เป็นไปได้.

ท้าวสักกะได้ทรงสดับถ้อยคำของสสบัณฑิตนั้นแล้วจึงเนรมิตกองถ่านเพลิงกองหนึ่ง ด้วยอานุภาพของตน แล้วบอกแก่พระโพธิสัตว์.
พระ โพธิสัตว์นั้นลุกขึ้นจากที่นอนหญ้าแพรกของตน แล้วไปที่กองถ่านเพลิงนั้น คิดว่า ถ้าสัตว์เล็กๆ ในระหว่างขนของเรามีอยู่ สัตว์เหล่านั้นอย่าตายด้วยเลย แล้วสะบัดตัว ๓ ครั้ง บริจาคร่างกายทั้งสิ้น ในทานมุขปากทางของทาน กระโดดโลดเต้นมีใจเบิกบาน กระโดดลงในกองถ่านเพลิง เหมือนพระยาหงส์กระโดดลงในกอปทุม ฉะนั้น. แต่ไฟนั้นไม่อาจทำความร้อน แม้สักเท่าขุมขนในร่างกายของพระโพธิสัตว์ ได้เป็นเสมือนเข้าไปในห้องหิมะ ฉะนั้น.
ลำดับ นั้น พระโพธิสัตว์เรียกท้าวสักกะมา กล่าวว่า พราหมณ์ ไฟที่ท่านก่อไว้เย็นยิ่งนัก ไม่อาจทำความร้อน แม้สักเท่าขุมขนในร่างกายของข้าพเจ้า นี่อะไรกัน.
ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านบัณฑิต เรามิใช่พราหมณ์ เราเป็นท้าวสักกะ มาเพื่อจะทดลองท่าน.
พระ โพธิสัตว์จึงบรรลือสีหนาทว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ พระองค์จงหยุดพักไว้ก่อนเถิด หากโลกสันนิวาสทั้งสิ้นจะพึงทดลองข้าพระองค์ด้วยทานไซร้ จะไม่พึงเห็นความที่ข้าพระองค์ไม่เป็นผู้ประสงค์จะให้ทานเลย.
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสกะพระโพธิสัตว์นั้นว่า ดูก่อนสสบัณฑิต คุณของท่านจงปรากฎอยู่ตลอดกัปทั้งสิ้นเถิด. แล้วทรงบีบบรรพต ถือเอาอาการเหลวของบรรพต เขียนลักษณะของกระต่ายไว้ในดวงจันทร์ แล้วนำพระโพธิสัตว์มาให้นอนบนหลังหญ้าแพรกอ่อน ในพุ่มไม้ป่านั้นนั่นแหละ ในไพรสณฑ์นั้น แล้วเสด็จไปยังเทวโลกของพระองค์ทีเดียว.
บัณฑิตทั้ง ๔ แม้นั้นพร้อมเพรียงบันเทิงอยู่ พากันบำเพ็ญศีล รักษาอุโบสถกรรม แล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ ประชุมชาดก.
ในเวลาจบสัจจะ คฤหบดีผู้ถวายบริขารทุกอย่าง ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
นากในกาลนั้น ได้เป็น พระอานนท์
สุนัขจิ้งจอกได้เป็น พระโมคคัลลานะ
ลิงได้เป็น พระสารีบุตร
ท้าวสักกะได้เป็น พระอนุรุทธะ
ส่วนสสบัณฑิตได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

<iframe width="420" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/ZwWdnDKc-pc" frameborder="0" allowfullscreen></iframe>

จบ อรรถกถาสสบัณฑิตชาดกที่ ๖