วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันอัฏฐมีบูชา

วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ


วันอัฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน วันอัฏฐมีบูชาปีพุทธศักราช 2556 ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2556




ความหมาย
เนื่องด้วยอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อถึงวันนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วน ผู้มีความเคารพกล้าในพระพุทธองค์ มักนิยมประกอบพิธีบูชา ณ ปูชนียสถานนั้น ๆ วันนี้จึงเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา"

ประวัติความเป็นมา 

พิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพ 
 
 หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ใน เมืองกุสินาราตลอด ๗ วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๘ คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวาย พระเพลิง

     พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า ๔ คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะพระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามี ความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ก็เทวดา เหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี

     ครั้งนั้นพระมหากัสสปะเถระและหมู่ภิกษุเดินทางจากเมืองปาวา หมายจะเข้าเฝ้าพระศาสดา ระหว่างทาง ได้พบกับพราหมณ์คนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพสวนทางมา พระมหากัสสปะได้เห็นดอกมณฑารพก็ทราบว่า มีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ดอกไม้นี้มีเพียงในทิพย์โลก ไม่มีในเมืองมนุษย์ การที่มีดอกมณฑารพอยู่ แสดงว่าจะต้องมีอะไร เกิดขึ้นกับพระศาสดา พระมหากัสสปะถามพราหมณ์นั้นว่า ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระศาสดาบ้างหรือไม่ พราหมณ์นั้นตอบว่า พระสมณโคดมได้ปรินิพพานไปล่วงเจ็ดวันแล้ว "พระศาสดาปรินิพพานแล้ว" คำนี้เสียดแทงใจของพระภิกษุปุถุชนยิ่งนัก พระภิกษุศิษย์ของพระมหากัสสปะบางรูป ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็กลิ้งเกลือกไปบนพื้น บ้างก็คร่ำครวญร่ำไห้ ว่า "พระศาสดาปรินิพพานเสียเร็วนัก" ส่วนพระภิกษุผู้เป็นอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว ย่อมเกิดธรรมสังเวชว่า "แม้พระศาสดา ผู้เป็นดวงตาของโลก ยังต้องปรินิพพาน สังขารธรรมไม่เที่ยงแท้เสียจริงหนอ"

     แต่ในหมู่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น เสียงของสุภัททะวุฑฒบรรพชิตก็ดังขึ้น "ท่านทั้งหลายอย่าไปเสียใจเลย พระสมณโคดมนิพพานไปซะได้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่าสิ่งนี้สมควรกับเรา สิ่งนี้ไม่สมควรกับเรา" คำพูดของหลวงตาสุภัททะ เป็นที่สังเวชต่อพระมหากัสสปะยิ่งนัก ท่านคิดว่า "พระผู้มีพระภาคยังนิพพานไปได้ไม่นาน ก็มีภิกษุบาปชนกล่าวจาบจ้วงพระศาสดา จาบจ้วงพระธรรมวินัยเช่นนี้ ถ้าเวลาผ่านไป ก็คงมีภิกษุบาปชนเช่นนี้ กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยเกิดขึ้นเป็นอันมาก" แต่ท่านก็ยั้งความคิดเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะกระทำสิ่งใดๆ นอกจากจะต้องจัดการ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสียก่อน

     เมื่อพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณ รอบเชิง ตะกอน ๓ รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า "ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใดๆฟุ้งขึ้นเลย เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น เหล่าเจ้ามัลละก็ปะพรมพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยของ หอม ๔ ชนิด รอบๆบริเวณ ก็โปรยข้าวตอกเป็นต้น แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก) เพื่อป้องกันภัย แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน ห้อยพวง ของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน ตลอดทางติดธง ๕ สีโดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย พวกเจ้ามัลละนำพระธาตุทั้งหลายวางลงในรางทองแล้ว อัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระธาตุเข้าพระนครประดิษฐานไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ อย่าง กั้นเศวตร ฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขาอย่างนี้คือ "จัดเหล่าทหารถือหอกล้อมพระธาตุไว้ จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้ พ้นจากเหล่าช้างก็เป็น เหล่า ม้าเรียงลำดับคอต่อกัน จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบรอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่" พวกเจ้ามัลละจะจัดฉลองพระบรมธาตุตคลอด ๗ วัน ต้องการความมั่นใจว่า ๗ วัน นี้แม้จะมีการละเล่นก็เป็นการละเล่นที่ไม่ประมาท
 
วันสลายพระสรีระ
มกุฏพันธนเจดีย์สถานที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ

      หลังจากนั้น เมื่อข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสรีระกลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุแล้ว เหล่ากษัตริย์ในนครต่างๆ รวม ๗ แคว้น ได้แก่
 
     (๑.) พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองสาวัตถี แคว้นมคธ
       (๒.) กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี   แคว้นวัชชี
       (๓.) กษัตริย์ศากยะ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
       (๔.) กษัตริย์ถูลี เมืองอัลกัปปะ      แคว้นอัลกัปปะ (ไม่ทราบตำแหน่งแน่ชัด)
       (๕.) กษัตริย์โกลิยะ เมืองรามคาม (เทวทหะ) แคว้นโกลิยะ
       (๖.) มหาพราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ  แคว้นเวฏฐทีปกะ 
(ไม่ทราบตำแหน่งแน่ชัด)        
        (๗.) กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา(แคว้นมัลละเดียวกันกับกุสินารา แต่คนละเมือง)
 
ก็ปรารถนาจะได้พระบรมสารีริกธาตุไปบูชา จึงส่งสาสน์ ส่งฑูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคของเรา" "พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น กษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์ เราจึงมีส่วนที่จะได้พระบรมธาตุบ้าง" เหล่ามัลละกษัตริย์ก็ไม่ยอมยกให้ ด้วยเหตุผลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานในเมืองของเรา" ดังนั้น กษัตริย์ในพระนครต่างๆ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู จอมกษัตริย์แคว้นมคธ และกษัตริย์เหล่าอื่นๆ จึงยกกองทัพมาด้วยหวังว่า จะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อยกกองทัพ มาถึงหน้าประตูเมือง ทำท่าจะเกิดศึกสงครามแย่งชิงพระบรมธาตุ ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ใหญ่คนหนึ่ง คือ โทณพราหมณ์ หวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จึงขึ้นไปยืนบนป้อมประตูเมือง ประกาศว่า  
 
 “ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่านจงฟังคำอันเอกของข้าพเจ้าพระพุทธเจ้าของเรา ทั้งหลาย เป็นผู้กล่าวสรรเสริญขันติ การจะสับประหารกันเพราะส่วนพระสรีระ ของ พระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคลเช่นนี้ไม่ดีเลย ขอเราทั้งหลายทั้งปวง จงยินยอมพร้อมใจยินดีแบ่งพระสรีระออกเป็นแปดส่วนเถิด ขอพระสถูปจงแพร่หลายไป ในทิศทั้งหลาย ชนผู้เลื่อมใสต่อพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุมีอยู่มาก ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๕๘/๑๓๒)

 

ด้วย วาทะของโทณะพราหมณ์ ทำให้มัลละกษัตริย์ยอมปรองดองกับกษัตริย์และพราหมณ์ โดยตกลงกันให้โทณะพราหม์เป็นผู้จัดการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้แก่แคว้นต่าง ๆ โดยเท่ากัน ซึ่งโทณะพราหมณ์ด้รับทะนานทองที่ใช้ในการตวงพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่ ระลึก

ในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตรได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรม สารีริกธาตุว่าหมู่คณะเหล่านั้นตอบว่า "ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นขอท่านนั่นแหละจงแบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาคออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน ให้เรียบร้อย เถิด โทณพราหมณ์ รับคำของหมู่คณะเหล่านั้นแล้ว แบ่งพระสรีระพระผู้มีพระภาค ออกเป็น ๘ ส่วนเท่ากันเรียบร้อย จึงกล่าวกับหมู่คณะเหล่านั้นว่า ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอพวกท่าน จงให้ตุมพะนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักกระทำพระสถูป และกระทำการฉลองตุมพะบ้าง ทูตเหล่านั้นได้ให้ตุมพะแก่โทณพราหมณ์ ฯ

     พวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวัน ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ในเมืองกุสินารา จึงส่งทูตไปหาพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเป็นกษัตริย์ แม้ เราก็เป็นกษัตริย์เราควรจะได้ส่วนพระสรีระ พระผู้มีพระภาคบ้าง จักได้กระทำพระสถูปและการฉลองพระสรีระพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินาราตอบว่า ส่วนพระสรีระพระผู้มีพระภาคไม่มี เราได้แบ่งกันเสียแล้ว พวกท่านจงนำพระอังคารไปแต่ที่นี่เถิด พวกทูตนั้น นำพระอังคารไปจากที่นั้นแล้ว ฯ 


  พระสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ แปดทะนาน เจ็ดทะนาน บูชากันอยู่ในชมพูทวีป ส่วนพระสรีระอีกทะนานหนึ่งของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม พระเขี้ยวองค์หนึ่งเทวดา ชาวไตรทิพย์บูชาแล้ว ส่วนอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ใน คันธารบุรี อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ใน แคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่ง พระยานาคบูชากันอยู่ฯ ด้วยพระเดชแห่งพระสรีระพระพุทธเจ้านั้นแหละ แผ่นดินนี้ชื่อว่า ทรงไว้ซึ่งแก้วประดับแล้วด้วยนักพรตผู้ประเสริฐที่สุด พระสรีระของพระพุทธเจ้า ผู้มีจักษุนี้ ชื่อว่าอันเขาผู้สักการะๆ สักการะดีแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใด อันจอมเทพจอมนาคและจอมนระบูชาแล้ว อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน ขอท่านทั้งหลาย จงประนมมือ ถวายบังคมพระสรีระนั้นๆ ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระพุทธเจ้า ทั้งหลายหาได้ยากโดยร้อยแห่งกัป ฯ พระทนต์ ๔๐ องค์บริบูรณ์ พระเกศาและ พระโลมาทั้งหมด พวกเทวดานำไปองค์ละองค์ๆ โดยนำต่อๆ กันไปในจักรวาล ดังนี้แล ฯ "
 ( พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อที่ ๑๕๙-๑๖๒)
 
 เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้นเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาแห่งวัดนั้น ๆ ได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้น เป็นการเฉพาะภายในวัด เช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เป็นต้น แต่จะปฏิบัติกันมาแต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐาน ปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่













ความสำคัญ
   โดยที่วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเป็นวันที่ชาวพุทธต้องวิปโยค และสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง ประดุจการสูญเสียประทีปที่นำทางให้มวลมนุษย์ก้าวล่วงสังสารวัฏ และเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล

พิธีอัฏฐมีบูชา
   การประกอบพิธีอัฏฐมีบูชานั้น นิยมทำกันในตอนค่ำและปฏิบัติอย่างเดียวกันกับประกอบพิธีวิสาขบูชา ต่างแต่คำบูชาเท่านั้น


คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอัฏฐมีบูชา
ยะมัมหะ โข มะยัง, ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ, อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก, สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ, อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน, สุคะโต โลกะวิทู, อนุตตะโร ปุริสทัมมะสาระถิ, สัตถา เทวะมะนุสสานัง, พุทโธ ภะคะวา สวากขาโต โข ปะนะ, เตนะ ภะคะวา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ. สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ, ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย, ปาหุเนยโย, ทักขิเนยโย อัญชลีกะระณีโย. อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ. อะยัง โข ปะนะ ถูโป(ปฏิมา) ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กโต (อุททิสสิ กตา) ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ, ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา, ปะสาทะสังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ, อิมัง วิสาขะปุณณะมิโตปะรัง อัฏฐะมีกาลัง, ตัสสะ ภะคะวะโต สรีรัชฌาปะนะกาละสัมมะตัง ปัตวา, อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปะ-, ปุปผาทิสักกาเร คะเหตวา, อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ถูปัง(ปะฏิมาฆะรัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา.

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, ญาตัพเพหิ คุเณหิ, อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต, สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ฑีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.

ญาณ16 และ วิปัสสนาญาณ 9

วิปัสสนาญาณ 9 (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง — insight-knowledge)
       1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall)
       2. ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution)
       3. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น -- knowledge of the appearance as terror)
       4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages)
       5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion)
       6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance)
       7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป — knowledge of reflective contemplation)
       8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations)
       9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge)

       ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์ — Comprehension-knowledge) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพย
ญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ

       ดู [285] วิสุทธิ 7; [345] ญาณ 16

Ps.I.I;
Vism.630-671;
Comp.210.
ขุ.ปฏิ. 31/1/1;
วิสุทธิ. 3/262-319;
สงฺคห. 55.


ญาณ16 และ วิปัสสนาญาณ 9
ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีการบรรยายขั้นต่างของการวิปัสสนา เป็น 16 ขั้น หรือเรียกว่า ญาณ16 (โสฬสญาณ) เป็นญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา โดยลำดับตั้งแต่ต้น จนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน คือ
  • นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ญาณกำหนดแยกนามรูป
  • นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณจับปัจจัยแห่งนามรูป
  • สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
  • อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
  • ภังคานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
  • ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
  • ทีนวานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษ
  • นิพพิทานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
  • มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย
  • ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
  • สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
  • สัจจานุโลมิกญาณ หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
  • โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
  • มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค
  • ผลญาณ หมายถึง ญาณอริยผล
  • ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณาทบทวน
แต่เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง 9 ขั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ (ตามปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ขั้นหนึ่งใน วิสุทธิ7) ที่บรรยายในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แต่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นับรวม สัมมสนญาณ ด้วยเป็น10ขั้น)

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตัณหา ความอยาก

อันความอยาก จะระงับ ดับลงได้
นั้นมิใช่ เพราะเรา ตามสนอง
สิ่งที่อยาก ให้ทัน ดั่งมันปอง
แต่เพราะต้อง ฆ่ามัน ให้บรรลัย

ให้ปัญญา บงการ แทนร่านอยาก
ความร้อนไม่ มีมาก อย่าสงสัย
ทั้งอาจผลิต กิจการ งานใดใด
ให้ล่วงไป ด้วยดี มีสุขเย็น ฯ

Cr.พุทธทาสภิกขุ

ตัณหา ๓

ขอให้รู้จักความอยาก โดยความหมาย มีสองชนิด ในภาษาไทย
อย่างนี้ ในภาษาบาลี ถ้าจะเรียกว่า กิเลสตัณหา หรือ ความโลภ
แล้ว ต้องเป็น เรื่องที่มาจากอวิชชา ถ้ามาจากวิชชา ก็เรียกเป็น
อย่างอื่น เรียกว่าเป็น ความปรารถนา หรือ ความต้องการ หรือ
ความขยัน ขันแข็ง ในหน้าที่การงาน ไปเสียทางโน้น ไม่ได้เป็น
เหตุ ให้เกิดความทุกข์ แต่ว่ากลับเป็น สิ่งที่จะทำลายความทุกข์
ความต้องการที่มันมีถูกต้อง แทนที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
กลายเป็นเรื่องจะดับความทุกข์ ความอยาก ในภาษาไทย
ภาษากำกวม เพราะว่า เราไม่มี ความหมาย รัดกุม เหมือน
ภาษาบาลี ให้รู้กันไว้อย่างนี้

กามตัณหา

นี้อย่างที่หนึ่ง อยากในกาม กามตัณหา ก็ด้วยความโง่ ความหลง
ความยึดมั่น ถือมั่น ด้วยอวิชชา จึงอยากในกาม มันก็เร่าร้อน
ตั้งแต่เริ่มอยาก แล้วก็เริ่มประพฤติ ปฏิบัติ กระทำลงไป แต่ข้อนี้
สำหรับ ฆราวาสทั่วไป เขาก็มิได้หมายความว่า จะไม่ต้องเกี่ยว
ข้องกับกาม เพราะคำว่า กาม มีความหมาย หลายอย่าง, กาม
เรื่องเกี่ยวกับเพศ เพศหญิง เพศชาย นี้ก็กาม นี้ส่วนที่มันเนื่อง
กัน ไม่ถึงขนาดนั้น ก็ยังเรียกว่า กาม เช่น ชอบอาหารเอร็ดอร่อย
ชอบเสียงไพเราะ แม้ยังไม่เกี่ยวกับเพศ ก็ยังเรียกว่า กาม
เหมือนกัน เพราะมันเนื่องกัน โดยส่วนลึก
ถ้าเราไปเกี่ยวข้องด้วย คือ ไปอยากด้วยความโง่ ความหลงอะไร
มันก็เกิดสิ่งเร่าร้อน หรือเป็นทุกข์ขึ้นมา แต่ถ้าต้องไปเกี่ยวข้อง
ด้วย สติสัมปชัญญะ ก็มีความเป็นกามน้อยลง แม้เรื่องเพศ ที่จะ
ประกอบกิจกรรมทางเพศ ด้วยความรู้สึก ที่เป็นหน้าที่ของฆราวาส
แล้วก็ทำไปด้วย สติสัมปชัญญะ อย่างนี้ ความที่เรียกว่า เป็นกาม
มันก็น้อยลง มันก็มีความเป็น กามตัณหา น้อยลง ถ้าสมมติว่า
บริสุทธิ์ใจจริงๆ ในการที่จะทำเพียง หน้าที่ เพื่อการสืบพันธุ์ ล้วนๆ
ถ้ามันเป็นสิ่งที่ ปฏิบัติได้ มันก็ไม่ถึงกับจัดว่า เป็นกาม มันกลาย
เป็นหน้าที่ ไปก็ได้ แต่ตามปกติ ไม่มีใครทำได้ เพราะว่าธรรมชาติ
มันลึกกว่า มันลึกซึ้งกว่า มันใส่กาม ไว้กับการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่
ไม่ค่อยมีใคร ชอบทำกันนัก แต่โดยเหตุ มันเอากาม มาจ้าง เอา
ความรู้สึก ทางกามนี้ มาจ้างให้ สัตว์ทั้งหลาย ทำหน้าที่สืบพันธุ์
มันยุ่งยาก ลำบาก เท่าไร มันก็ยอมทน
นี้ถ้าเราไปโง่ ไปหลงกินเหยื่อ ของธรรมชาติ อันนี้เข้า มันก็เกิด
ความทุกข์ จากสิ่งที่เรียกว่า กามตัณหา เมื่อคนยังมี อวิชชา อยู่
มันก็ต้องโง่ ก็ต้องตกเป็นเหยื่อ ของสิ่งนี้  เป็นทาสของอวิชชา
เป็นทาสของตัณหา แล้วคนยอมลำบาก ให้สิ่งที่เรียกว่า ตัณหา
โดยเฉพาะกามตัณหานี้ เคี้ยวกิน ภาษาบาลีเขาใช้คำว่า เคี้ยวกิน
คือ คนมันเป็นทาส ของกามตัณหา ยอมทนลำบาก นานาประการ
เพื่อจะให้ได้มา นี้คือสิ่งที่เรียกว่า กามตัณหา หมายถึง เรื่องเพศ
โดยตรง
สิ่งที่เป็นอุปกรณ์ทางเพศ ความไพเราะ สนุกสนาน เอร็ดอร่อย
แม้ไม่เกี่ยวกับเพศ โดยตรง มันก็เป็นกาม นี้ไปเกี่ยวกับเพศ
โดยตรง แล้วยิ่งเป็นกาม อย่างยิ่ง นี้อย่างที่หนึ่ง เรียกว่า
กามตัณหา

ภวตัณหา

อย่างที่สอง ก็คือว่า อยากเป็น ความเป็นอย่างไรที่น่าเป็น
เรียกว่า ภ.สำเภา ว.แหวน ภวตัณหา คือภพ แปลว่า เป็น
ภวตัณหา แปลว่า อยากเป็น นี่ก็อยาก ด้วยอวิชชา
อีกเหมือนกัน
อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ที่มันยั่วกิเลส ยั่วความอยาก บางทีมันก็ปนเป
กับกามตัณหา เช่น อยากเป็นหญิง อยากเป็นชาย อยากเป็นนั่น
เป็นนี่ ที่มันไปเกี่ยวกับทางเพศ ก็มี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยาก
มีหน้ามีตา อยากเป็นผู้มีชื่อเสียง อยากเป็นผู้มีอำนาจวาสนา
ถ้าทำไปด้วยความโง่ ของอวิชชา มันก็รุนแรง แล้วเป็นภวตัณหา
แล้วก็เกิดทุกข์ แต่ถ้าเรามี ความรู้สึก ผิดชอบชั่วดี มีวิชชา เช่นว่า
เป็นนักศึกษา อย่างที่นั่งอยู่นี้ ก็อยากจะเป็น นักศึกษาที่ดี ที่ถูกต้อง
ตรงตามความหมาย อย่างนี้ก็ไม่ใช่ตัณหา ไม่ใช่ภวตัณหา เพราะ
มันไม่ได้ทำไป ด้วยอวิชชา ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา
อยากเป็นนักเรียนที่ดี อยากเป็นนักศึกษาที่ดี แม้ที่สุด แต่ว่าอยาก
จะเป็น พ่อบ้าน แม่เรือน ที่ดี ถ้ามันไม่ได้ทำไป ด้วยความโง่ ด้วย
อวิชชา ด้วยความไม่รู้เท่า ในสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ถูกจัดเป็นตัณหา
แต่เป็นความปรารถนา ความต้องการ ที่ควรจะปรารถนา ฉะนั้น
ขอให้มัน แน่ลงไปทีว่า มันอยากด้วยวิชชา หรือ อยากด้วยอวิชชา
แล้วก็อย่าลืม อย่างเดียวกันอีก เชื่อว่า คนบางพวก อาจารย์บาง
หมู่ เขาสอนกันลงไปตรงๆเลย ขึ้นชื่อว่า ความอยากแล้ว เป็น
กิเลสตัณหา ไปหมด นี้ผมไม่ถืออย่างนั้น ไม่เข้าใจอย่างนั้น
หลังจากที่ได้ศึกษา มาถึงป่านนี้แล้ว ไม่ทำให้เข้าใจอย่างนั้น
ถ้าเผื่ออยากเป็นอะไร ให้มันดีขึ้นไป ให้มันถูกต้อง ให้มันสำเร็จ
ประโยชน์ ด้วยการรู้สึกตัวนี้ ไม่เรียกว่า ตัณหา
ยกตัวอย่าง เช่นว่า อยากเป็นเทวดานี้ มันก็อยากด้วยอวิชชา
ถ้าไปพิจารณาดูให้ดี แล้วเทวดานี้ มันไม่น่าเป็นดอก แล้วมัน
ก็ไม่อยาก เองแหละ ก็มันมีอะไรที่น่าเป็น ที่ควรจะเป็น มีความ
รู้สึกผิดชอบชั่วดี พิจารณาดูแล้ว มันควรจะเป็น หรือควรจะรับ
หน้าที่ อันนั้น มันก็เป็นได้ โดยไม่ต้องเป็นตัณหา อย่างจะเป็น
อาจารย์อย่างนี้ เป็นตัณหาก็ได้ ไม่เป็นตัณหาก็ได้ มันแล้วแต่
ความอยากนั้น มีมูลมาจากอะไร จากความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
ถูกต้องสมบูรณ์นี้ มันก็ไม่ต้องเป็นตัณหา หรือถ้ายิ่งไปกว่านั้น
อยากจะเป็น ผู้ครองบ้าน ครองเมือง ก็ต้องรู้โดย หลักเกณฑ์
อันเดียวกัน ถ้าทำไปด้วยความโลภ ด้วยความโง่ ด้วยความหลง
ด้วยความยึดมั่น มันแล้ว มันก็เป็น ตัณหาทั้งนั้น แล้วก็เป็น
ความทุกข์ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดี มีเหตุผล มีความ
ลืมหูลืมตา มีสติสัมปชัญญะอยู่ รู้ว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องช่วยเหลือ
เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างนี้ ไม่เป็นตัณหา ไม่เป็นกิเลสตัณหา
แต่แล้ว มันก็หายากนะ หาโอกาสยากนะ หรือว่า เขาสมมติว่า
พระพุทธเจ้า ท่านตั้งความปรารถนา ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า นี้
ด้วยเหตุผลอย่างนั้นๆ ตามที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ อย่างนี้จะเรียก
ว่า เป็นตัณหาไม่ได้ มันเป็นความปรารถนา แม้จะทำรุนแรง
เป็นการอธิษฐานจิต ตั้งสัจจาทิฎฐาน อะไรนี้ ก็ไม่เป็นตัณหา
ได้ เพราะทำได้ ด้วยความรู้สึก ผิดชอบชั่วดี ของวิชา ของสติ
สัมปชัญญะ การที่อยากเป็นอะไร ด้วยความลุ่มหลง ในผลของ
การที่จะได้เป็นแล้ว มันก็เป็นตัณหา

วิภวตัณหา

นี้มาถึง อันที่สาม ก็เป็น วิภวตัณหา อยากไม่เป็น อยากไม่เป็น
อย่างนั้น อยากไม่เป็นอย่างนี้ กระทั่ง อยากไม่เป็น เสียเลย ไม่
เป็นอยู่เลย เช่น อยากตาย เป็นต้น พวกอยากเป็นนั่น เป็นนี่ มัน
อาศัย สัสสตทิฎฐิ ยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นอยู่ อย่างเที่ยงแท้
ถาวร พอมาถึงตอนนี้ มันเกิด อุจเฉททิฎฐิ เชื่อว่าต้องขาดสูญ
หรือไม่ได้เป็นอยู่ อย่างถาวร อุจเฉททิฎฐิ นี้ มันชักจูงตัณหา
ให้เกิด ภวตัณหา ไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็นนั่น ไม่อยากเป็นนี่
ก็ด้วยความโง่ ไม่ใช่ไม่อยากเป็น ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง มันไม่
อยากเป็น ด้วยความโง่ ความเอือมระอา ความอะไรที่เป็นความ
โง่ จนกระทั่ง อยากตาย แล้วก็ฆ่าตัวตาย เป็นต้น นี้ผู้ที่จะ
ปราศจากตัณหาแล้ว ก็จะไม่มี ความอยากอย่างนี้ ความอยาก
ไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ นี้ก็เร่าร้อน เหมือนกันแหละ
คุณลองสังเกตดู เมื่อรู้สึกว่า เราไม่ได้อะไร อย่างอก อย่างใจ
มันก็เดือดร้อน แล้วก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นอย่าได้มี ตัณหาสามอย่าง
นี้ แล้วก็ไม่มีทุกข์ ชนิดที่ระบุไปว่า ตัณหาสามอย่างนี้ เป็นเหตุ
ให้เกิดทุกข์
ทีนี้ ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไป พระพุทธเจ้าท่านตรัส ระบุตัณหาไว้ว่า
โปโนพฺภวิกา นนฺทิราค สหคตา ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี นี่ นันทิราคะ
สะหะคะตา นี้คือ กามตัณหาโดยตรง แล้วก็ปัญหานอกนั้น โดย
อ้อมก็ได้ ตัตตร ตัตตราภินันทิ นันทินี นี้มันหลงใหล เคลิบเคลิ้ม
อยู่ในสิ่งนั้นๆ แล้วก็มีคำว่า โปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อให้เกิดภพ
ใหม่ เกิดชาติใหม่นี่ พอเราอยาก มีตัณหาขึ้นมาแล้ว เราจะ
รู้สึกว่า เราอยาก เราผู้อยาก ฉันอยาก กูอยาก อะไรก็เดือด
พล่านอยู่นี้ นี่เรียกว่า เกิดตัวกูตัวใหม่ขึ้นมา หลังจากเกิดความ
อยากอย่างนี้ก็เรียก่า โปโนพฺภวิกา ได้ เมื่อเราอยู่เฉยๆ เรา
ไม่รู้สึกว่า มีตัวเรา หรือ เราตัองการอะไร แต่พอมีการกระทำ
ให้เกิดความอยากแล้ว หลังจากความอยากแล้ว ต้องเกิดความ
ยึดถือ เป็นอุปาทานแล้ว ตัวกูนี้ จะเอาให้ได้ คือตัวกูมันอยาก
มันจึงเห็นได้ชัดว่า ตัณหานี้ มันเป็นเหตุ ให้เกิดตัวกู คือ ชาติ
แห่งตัวกู อันใหม่ขึ้นมา เกิดอย่างนี้บ่อยๆ บ่อยๆ ก็คือ ใหม่
เรื่อยไปทุกที อันนี้จะเห็นชัดในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท
นี้ผมพูดโดยอริยสัจจ์เล็ก ว่า เหตุให้เกิดทุกข์นั้น คือ ตัณหา
สามประการ
สรุปโดยย่อว่า ความอยากที่มาจากอวิชชา ไม่รู้
ตามที่เป็นจริง มันก็อยาก ไปในรูปของกาม เรื่องเพศบ้าง ถ้า
อยาก ไปในเรื่องของภพ คือ เป็นนั่นเป็นนี่ แม้ไม่เกี่ยวกับ
กามบ้าง แล้วเป็นวิภพ คือ ไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่.
ธ-ตรา-๑ ๔๐.ก/๒๘๔-๒๘๙

Cr.พระธรรมเทศนา พุทธทาสภิกขุ

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธรรมจักร

จักรธรรม หรือ ธรรมจักร

ปฐมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ มีชื่อปรากฎในพระไตรปิฏกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" -ธรรมราชรถ ที่ปรารถนาจะใช้บรรทุกสรรพเวไนยสัตว์ทั้หลาย ออกจากห้วง วัฏฏสงสารไปสู่แดนเกษม คือพระอมตนิพพาน ที่พระองค์ทรงเป็นสารถีเอง

ส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้รถแล่นไปสู่ที่หมายก็คือล้อรถ หรือที่เรียกว่าจักร นั่นเอง ดังนั้นล้อแห่งราชรถจึงได้ชื่อว่า จักรธรรม หรือธรรมจักร

อ้างอิงคำสอนคุณครูไม่เล็ก
จากหนังสือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โดยทตฺตชีโว ภิกฺขุ