วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

โพชฌงคปริตร พระธรรมเทศนา โดย พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)



[36]
4 มิถุนายน พ.ศ. 2497

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (3 หน)
ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต   นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา.   เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต  โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส.
โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา
วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิ- โพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร
สมาธุเปกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเต เต สพฺพทสฺสินา
มุนินา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา
สํวตฺตนฺติ อภิญฺญาย นิพฺพานาย จ โพธิยา
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ
คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ
เต จ ตํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตํขเณ
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต
จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน สาทรํ
สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ตมฺหา วุฏฺฐาสิ ฐานโส
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
ปหีนา เต จ อาพาธา ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ
มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทาติ
ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงความจริงความสัตย์ ซึ่งปรากฏชัดตามตำรับตำราอันมี มาในโพชฌงคปริตร จะแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอเป็นเครื่องปฏิการสนองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านผู้พุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า
เริ่มต้นธรรมเทศนาว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ เป็น อาทิ นี้เป็นคำของพระอังคุลิมาลเถรท่านแสดงไว้ ท่านเชิดความจริงความสัตย์ของท่าน ให้พุทธบริษัทจำไว้เป็นเนติแบบแผน เมื่อครั้งหนึ่งพระองคุลิมาลเถร ไปพบหญิงปวดครรภ์ เต็มที่ จะคลอดบุตร แต่มันคลอดไม่ออก มันจะถึงกับตาย ร้องให้พระองคุลิมาลเถรช่วย พระองคุลิมาลเถรจึงได้เปล่งวาจาช่วยหญิงคลอดบุตรนั้นว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส. แปลเป็นสยามภาษาว่า ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่ มีใจแกล้งเลย ที่จะปลงสัตว์ที่มีชีพและชีวิต ด้วยความสัตย์อันนี้ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของท่าน พอขาดคำเท่านี้ หญิงนั้นคลอดบุตรผลุดทีเดียว หายจากทุกข์ภัยกัน การคลอดบุตรเมื่อคลอดเสียแล้ว มันก็หายทุกข์หายภัย หายลำบากแก่มารดาผู้คลอด เหมือน ท้องผูกถ่ายอุจจาระไม่ออก มันก็เดือดร้อนแก่เจ้าของ แต่พอออกมาเสียแล้วก็หมดทุกข์กัน นี้ ด้วยความสัตย์อันนี้แหละ คลอดบุตรก็ง่ายเต็มที นี่บทต้น
บทที่ 2 รองลงไป นี่พระองค์ทรงรับสั่งเองว่า โพ ชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิโพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร สมาธุเปกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเต เต สพฺพทสฺสินา มุนินา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา สํวตฺตนฺติ อภิญฺญาย นิพฺพานาย จ โพธิยา เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา. แปลเป็นสยามภาษาว่า โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, วิริยสัมโพชฌงค์ ประการ หนึ่ง, ปีติสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, สมาธิสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง เหล่านี้ อันพระมุนีเจ้าผู้ทรงเห็นธรรม ทั้งปวง กล่าวไว้ชอบแล้ว ภาวิตา พหุลีกตา อันบุคคลเจริญธรรมให้มากแล้ว สํวตฺตนฺติ ย่อม เป็นไปพร้อม อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง นิพฺพานาย เพื่อนิพพาน โพธิยา เพื่อความตรัสรู้ ด้วยความสัตย์อันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่เป็นบทต้น ของโพชฌงค์
บทที่ 2 รองลงไป เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ เต จ ตํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตํขเณ เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา. เอกสฺมึ สมเย ในสมัยอันหนึ่ง นาโถ พระ โลกนาถเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็น พระโมคคัลลานะและพระกัสสปะอาพาธถึงซึ่งความเวทนาแล้ว ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ ท่านทั้ง 2 คือพระโมคคัลลานะกับพระกัสสปะ ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า โรคก็หายไปในขณะนั้น ด้วยอำนาจความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านในกาล ทุกเมื่อ
บทที่ 3 ต่อไป เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน สาทรํ สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ตมฺหา วุฏฺฐาสิ ฐานโส เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพาทา. เอกทา ครั้งหนึ่ง ธมฺมราชาปิ แม้พระธรรมราชาคือพระพุทธเจ้าผู้เป็น เจ้าของธรรม เคลญฺเญนาภิปีฬิโต ผู้อันอาพาธเบียดเบียนแล้ว จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดงซึ่งโพชฌงค์นั้นแหละ พระองค์ทรงสดับโพชฌงค์ เช่นนั้นแล้ว ร่าเริงบันเทิงพระทัย อาพาธก็หายไปโดยฐานะอันนั้น เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วย อำนาจความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
บทที่ 4 ต่อไป ปหีนา เต จ อาพาธา ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทาติ. อาพาธ ทั้งหลายเหล่า นั้น อันท่านผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ท่าน ละได้แล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดขึ้นอีกเป็น ธรรมดา ดุจกิเลสอันมรรคบำบัดแล้ว หรืออันมรรคกำจัดแล้ว ด้วยอำนาจสัจจวาจานี้ ขอ ความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่แปลมคธเป็นสยามภาษาฟังเพียงแค่นี้ ท่านผู้แปลบาลีฟัง ออก เข้าใจแล้ว แต่ว่าท่านผู้ไม่ได้เรียนอรรถแปลแก้ไขยังไม่เข้าใจ ต้องอรรถาธิบายลงไปอีก ชั้นหนึ่ง
ในบทต้นว่าพระองคุลิมาลเถรเจ้า ท่านเป็นผู้กระทำบาปหยาบช้ามากนัก ก่อนบวชใน พระธรรมวินัยของพระศาสดา ฆ่ามนุษย์เสีย 999 ชั้นต้นก็ทำดีมา ได้เล่าเรียนศึกษาวิชา จวนจะสำเร็จแล้ว ถูกอาจารย์ลงโทษจะทำลายชีวิตเสีย เกิดต้องทำกรรมหยาบช้าลามก เศร้าโศกเสียใจเหมือนกัน ฆ่ามนุษย์เกือบพัน 999 คน พระทศพลเสด็จไปทรมานองคุลิมาลโจรนั้น ละพยศร้าย กลับกลายบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ชาวบ้านชาวช่องกลัวกันนัก ขึ้นชื่อว่าองคุลิมาลโจรละก้อ ซ่อนตัวซ่อนเนื้อทีเดียว กลัวจะทำลายชีวิตเสีย กลัวนักกลัวหนา กลัวยิ่งกว่าเสือยิ่งกว่าแรด ไปอีก เพราะเหตุว่าองคุลีมาลโจรผู้นี้เป็นคนร้ายสำคัญ ถ้าว่าจะฆ่าใครแล้วไม่กลัวใครทั้งนั้น ฆ่าแล้วตัดเอาองคุลีไปร้อย จะไปเรียนวิชาเป็นเจ้าโลก เมื่อจำนนฤทธิ์พระบรมศาสดาเข้า ยอมบวชในพระธรรมวินัยของพระศาสดาแล้ว บวชแล้วไปบิณฑบาต หญิงท้องแก่ท้องอ่อน ไม่เข้าใจ พอได้ยินข่าวว่าพระองคุลิมาลมาละก้อ ซ่อนเนื้อซ่อนตัว วิ่งซุกวิ่งซ่อนกัน ได้ข่าว ว่าหญิงท้องแก่ลอดช่องรั้ว ลูกทะลักออกมาทีเดียว ด้วยกลัวพระองคุลิมาล คราวนี้ท่านไป ในที่สมควร หญิงที่กำลังจะคลอดบุตรอยู่นั่นหนีไม่พ้น ไปไม่ได้ ก็ร้องให้องคุลิมาลช่วย พระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์แล้ว สงสารหญิงที่กำลังคลอดบุตรนั้น ก็กล่าวคำสัตย์คำจริง ขึ้นว่า ยโตหํ ภคินิ ฯลฯ ว่า ดูก่อนน้องหญิง เราเมื่อได้เกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่ได้แกล้ง ปลงสัตว์จากชีวิตเลย ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของท่าน ขาดคำเท่านี้หญิงนั้นคลอดบุตรผลุดทีเดียว นี่ยกข้อไหนให้จำไว้เป็น ตำรับตำรา เป็นภิกษุก็ดี เป็นอุบาสกอุบาสิกก็ดี ในพระธรรมวินัยของพระศาสดา ในศาสนา ของพระพุทธเจ้า นี้เป็นคำของพระอรหันต์ พระองคุลิมาลท่านเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว ท่านจะกล่าวถ้อยคำว่าตั้งแต่ท่านเกิดมาไม่ได้ฆ่าสัตว์เลยนะ ไม่ได้มีใจแกล้งฆ่าสัตว์เลยนะ ท่านกล่าวไม่ได้ ท่านเป็นคนร้ายมา พึ่งกลับมาเป็นคนดีเมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อเกิดเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจึงได้ชี้ชัดว่า จำเดิมแต่เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่ได้ แกล้งปลงสัตว์จากชีวิตเลย นี่ความจริงของท่าน ท่านยกเอาความจริงอันนี้แหละขึ้นเชิดที่ ท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นอริยบุคคลในธรรมวินัยของพระศาสดา ขอความจริงอันนี้แหละ จงบันดาลเถิด ท่านขอความจริงอันนี้ อธิษฐานด้วยความจริงอันนี้ พอขาดคำของท่านเท่านั้น ลูกคลอดทันที นี่ความสัตย์ยกความจริงขึ้นพูด
ไม่ใช่แต่พระองคุลิมาลเท่านั้นที่ยกความจริงขึ้นพูด หญิงแพศยาทำฤทธิ์ทำเดชได้ ยกความจริงขึ้นพูดเหมือนกัน หญิงแพศยาคนหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินยกพยุหเสนาไปพักอยู่ที่ แม่น้ำใหญ่ ว่ายข้ามก็จะไม่พ้น น้ำไหลเชี่ยวเป็นฟอง ไหลปราดทีเดียว เมื่อเขาตั้งพลับพลา ให้พักอยู่ที่คันแม่น้ำใหญ่เช่นนั้น ท่านทรงดำริว่า แม่น้ำใหญ่ไหลเชี่ยวขนาดนี้ จะมีใครผู้ใด ผู้หนึ่งอาจสามารถจะทำให้น้ำไหลกลับได้บ้าง ทรงดำริดังนี้ รับสั่งแก่มหาดเล็กเด็กชาของ พระองค์ มหาดเล็กเด็กชาของพระองค์ก็ไปเที่ยวป่าวร้องหาว่าผู้ใดใครผู้หนึ่งอาจสามารถ ทำให้น้ำในแม่น้ำนี้ไหลกลับขึ้นได้บ้าง หญิงแพศยาคนหนึ่งรับทีเดียว ว่าฉันเองจะทำให้ น้ำไหลกลับได้ เพราะนางเป็นแพศยาก็จึงมั่นใจว่าชายคนใดไม่ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ให้เงินเพียงค่าบาทหนึ่ง ปฏิบัติเพียงเท่านี้ ให้เงินค่า 2 บาท ปฏิบัติเพียงเท่านี้ 3 บาท ปฏิบัติเพียงเท่านี้ พอแก่ค่าของเงินเท่านั้น เหมือนกันไม่ได้ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำไปตามหน้าที่ของตัว ความสัตย์มีอย่างนี้ นางเมื่อ ราชบุรุษพาไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินทรงรับสั่งว่า เจ้าหรือ อาจจะทำให้น้ำไหล กลับได้ พะย่ะค่ะ หม่อมฉันอาจสามารถจะทำให้น้ำไหลกลับได้ เจ้าจะต้องการอะไร ธูปเทียนดอกไม้จะหาให้ ถ้าเจ้าทำน้ำให้ไหลกลับได้ตามคำกล่าวของเจ้าแล้ว เราจะรางวัล ให้หนักมือทีเดียว ถ้าว่าเจ้าทำน้ำไหลกลับไม่ได้ เจ้าจะมีโทษหนักทีเดียว นางจุดธูปเทียนตั้ง สัตยาธิษฐานหันหน้าไปทางด้านแม่น้ำ ยกเอาความสัตย์นั่นเองอธิษฐานว่า เดชะปุญญาภินิหารความสัตย์ความจริงของหม่อมฉันได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่เป็นหญิงแพศยา ได้ปฏิบัติ ชายผู้หนึ่งผู้ใดที่มาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าปฏิบัติโดยค่าควรแก่บาทหนึ่ง ควรแก่ 2 บาท ควร แก่ 3 บาท ตามหน้าที่ ความจริงทำอยู่ดังนี้ ไม่ได้เคลื่อนคลาดไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าว่าความสัตย์จริงอันนี้ของหม่อมฉัน จริงดังหม่อมฉันอธิษฐานดังนี้แล้ว ขออำนาจความ สัตย์นี้ จงบันดาลให้น้ำไหลกลับโดยฉับพลันเถิด พออธิษฐานขาดคำเท่านั้น น้ำไหลกลับอู้ ไหลลงเชี่ยวเท่าใดก็ไหลขึ้นเชี่ยวเท่านั้นเหมือนกัน พอกันทีเดียว พระเจ้าแผ่นดินเห็นอัศจรรย์ เช่นนั้น ก็ให้เครื่องรางวัลแก่หญิงแพศยานั่นอย่างพอใจ ให้เป็นนายหญิงแพศยาต่อไป แล้ว ก็ให้บ้านส่วยสำหรับพักพาอาศัยอยู่ไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ ละ เป็นสุขสำราญเบิกบานใจ ทีเดียว หญิงแพศยาผู้นั้น
นี่ความสัตย์โดยความชั่วยังเอามาใช้ได้ ส่วนพระองคุลิมาลเถรเจ้านี้ ท่านยกสัตย์ ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นอธิษฐาน หญิงคลอดบุตรไม่ออก พอขาดคำ หญิงคลอดบุตร ผลุดออกไป อัศจรรย์อย่างนี้ นี่ใช้ความสัตย์อย่างนี้ ติดขัดเข้าแล้ว อย่าเที่ยวใช้เรื่องเลอะๆ เหลวๆ บนผีบนเจ้า นั่นไม่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เลย พวกนั้นไม่ได้ ฟังธรรมของสัตบุรุษเลย ความเห็นจึงได้เลอะเทอะเหลวไหลเช่นนั้น ไม่ถูกหลักถูกฐาน ถูกทางพุทธศาสนา ถ้าว่ารู้จักหลักทางพุทธศาสนาแล้ว ต้องยกความขึ้นพูดความสัตย์ความ จริง นั่นเป็นข้อสำคัญ ถ้าความบริสุทธิ์ของศีลมีอยู่ ก็ต้องยกความบริสุทธิ์นั่นแหละขึ้นพูด หรือความบริสุทธิ์ของสมาธิมีอยู่ ก็ยกความบริสุทธิ์ของสมาธิขึ้นพูดขึ้นอธิษฐาน หรือแม้ว่า ความจริงของปัญญามีอยู่ก็ยกความจริงของปัญญานั้นขึ้นอธิษฐาน หรือความสัตย์ความจริง ความดีอันใดที่ทำไว้แน่นอนในใจของตัว ให้ยกเอาความดีอันนั้นแหละขึ้นอธิษฐาน ตั้งอก ตั้งใจ บรรลุความติดขัดทุกสิ่งทุกประการ ให้รู้จักหลักฐานดังนี้
นี่ในเรื่องพระองคุลิมาลเถรเจ้าเป็นสาวกของพระบรมศาสดา พระศาสดาทรงรับสั่ง ไว้ในโพชฌงคกถา หรือ โพชฺฌงฺคปริตฺตํ นั้น ปรากฏว่า โพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ ตั้งแต่ สติสัมโพชฌงค์ จนกระทั่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ทั้ง 7 ประการเหล่านี้แหละ อันพระมุนีเจ้า ผู้เห็นธรรมทั้งสิ้น ได้กล่าวไว้ชอบแล้ว ถ้าว่าบุคคลใดเจริญขึ้นกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน เพื่อความตรัสรู้ ความจริงอันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ สติสัมโพชฌงค์ เราจะพึงปฏิบัติ อย่างไร จึงจะได้บรรลุมรรคผลสมมาดปรารถนา ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
สติสัมโพชฌงค์ เราต้องเป็นคนไม่เผลอสติเลย เอาสตินิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ตั้งสติตรงนั้นทำใจให้หยุด ไม่หยุดก็ไม่ยอม ทำให้หยุดไม่เผลอทีเดียว ทำจนกระทั่งใจหยุดได้ นี่เป็นตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ ไม่เผลอเลยทีเดียว ที่ตั้งที่หมายหรือ กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กนั่น ใจหยุด ตรงนั้น เมื่อทำใจหยุดตรงนั้น ไม่เผลอสติทีเดียว ระวังใจหยุด นั้นไว้ นั่งก็ระวังใจหยุด นอน ก็ระวังใจหยุด เดินก็ระวังใจหยุด ไม่เผลอเลย นี่แหละตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ จะตรัสรู้ต่างๆ ได้เพราะมีสติสัมโพชฌงค์อยู่แล้ว
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อสติใจหยุดนิ่งอยู่ก็สอดส่องอยู่ ความดีความชั่วจะเล็ดลอด เข้ามาท่าไหน ความดีจะลอดเข้ามา หรือความชั่วจะลอดเข้ามา ความดีลอดเข้ามาก็ทำใจ ให้หยุด ความชั่วลอดเข้ามาก็ทำใจให้หยุด ดีชั่วไม่พ่องแพวไม่เอาใจใส่ ไม่กังวล ไม่ห่วงใย ใจหยุดระวังไว้ไม่ให้เผลอก็แล้วกัน นั่นเป็นตัวสติวินัย ที่สอดส่องอยู่นั่นเป็นธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์
วิริยสัมโพชฌงค์ เพียรรักษาใจหยุดนั้นไว้ไม่ ให้หาย ไม่ให้เคลื่อนทีเดียว ไม่เป็นไปกับ ความยินดียินร้ายทีเดียว ความยินดียินร้าย เป็น อภิชฌา โทมนัส เล็ดลอดเข้าไปก็ทำใจหยุด นั่นให้เสียพรรณไป ให้เสียผิวไป ไม่ให้หยุดเสีย ให้เขยื้อนไปเสีย ให้ลอกแลกไปเสีย มัวไป ดีๆ ชั่วๆ อยู่เสียท่าเสียทาง เพราะฉะนั้นต้องมีความเพียรกลั่นกล้ารักษาไว้ให้หยุดท่าเดียว นี้ได้ชื่อว่า วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ที่ 3
ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อใจหยุดละก้อ ชอบอกชอบใจ ดีอกดีใจ ร่าเริงบันเทิงใจ อ้ายนั่นปีติ ปีติที่ใจหยุดนั่น ปีติไม่เคลื่อนจากหยุดเลย หยุดนิ่งอยู่นั่น นั่นปีติสัมโพชฌงค์ นี้เป็นองค์ที่ 4
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ แปลว่า ระงับซ้ำ หยุดในหยุดๆๆ ไม่มีถอยกัน พอหยุด ก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น หยุดในหยุด หยุดในหยุดนั่นทีเดียว นั่นปัสสัทธิ ระงับซ้ำเรื่อย ลงไป ให้แน่นหนาลงไว้ไม่คลาดเคลื่อน ปัสสัทธิ
มั่นคงอยู่ที่ใจหยุดนั่น ไม่ได้เป็นสองไป เป็นหนึ่งทีเดียว นั่นเรียกว่า สมาธิ ทีเดียว นั่นแหละ
พอสมาธิหนักเข้าๆ หนึ่งเฉยไม่มีสองต่อไป นี่เรียกว่า อุเบกขา เข้าถึงหนึ่งเฉยแล้ว อุเบกขาแล้ว
นี่องค์คุณ 7 ประการอยู่ทีเดียว นี่อย่าให้เลอะเลือนไป ถ้าได้ขนาดนี้ ภาวิตา พหุลีกตา กระทำเป็นขึ้นแค่นี้ กระทำให้มากขึ้น สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปพร้อม อภิญฺญาย เพื่อรู้ยิ่ง นิพฺพานาย เพื่อสงบระงับ โพธิยา เพื่อความตรัสรู้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละ ขอความ สวัสดีจงมีแก่ท่านในทุกกาลทุกเมื่อ ความจริงอันนี้ถ้ามีจริงอยู่อย่างนี้ละ รักษาเป็นแล้ว
รักษาโพชฌงค์เป็นแล้ว อธิษฐานใช้ได้ ทำอะไรใช้ได้ โรคภัยไข้เจ็บแก้ได้ ไม่ต้องไป สงสัยละ ความจริงมีแล้วโรคภัยไข้แก้ได้ แก้ได้อย่างไร ท่านยกตัวอย่างขึ้นไว้ เอก สฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ เต จ ตํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตํขเณ. เอกสฺมึ สมเย ในสมัยหนึ่ง นาโถ พระ โลกนาถเจ้าทรง ทอดพระเนตรทรงดูพระโมคคัลลานะและพระกัสสปะ อาพาธถึงซึ่งทุกขเวทนา อาพาธเกิด เป็นทุกขเวทนา ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ดังกล่าวแล้ว ที่แสดงแล้วนี่ ทรงแสดงโพชฌงค์ ทั้ง 7 ให้ทำใจหยุดลงไว้ ให้นิ่งลงไว้ เมื่อพระองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 แล้ว ท่านทั้ง 2 พระโมคคัลลานะ กับ พระกัสสปะ มีใจร่าเริงบันเทิงในภาษิตของพระองค์นั้น โรคหายใน ขณะนั้น นี่ความสัตย์อันนี้ ความจริงอันนี้ โรคหายทีเดียว ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ ทั้ง 3 ท่านนี้ พระโมคคัลลานะก็ดี พระกัสสปะก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ท่านผู้แสวงซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ ท่านเป็น ผู้สำเร็จแล้วยังมีโรคเข้ามาเบียดเบียนได้ เบียดเบียนก็ใช้โพชฌงค์กำจัดเสีย ไม่ต้องไปกินหยูก กินยาที่ไหนเลยสักอย่างหนึ่ง โพชฌงค์เท่านั้นแหละโรคหายไปหมด ดังวัดปากน้ำบัดนี้ ก็ใช้ วิชชาบำบัดโรคเช่นนี้เหมือนกัน ใช้บำบัดโรคไม่ต้องใช้ยา ตรงกับทางพุทธศาสนาจริงๆ อย่างนี้ นี่ชั้นหนึ่ง
นี่พระองค์เอง พระองค์ทรงเอง คราวนี้โดนพระองค์เข้าบ้าง เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต ครั้งหนึ่งแม้พระธรรมราชาคือพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของพระธรรมเอง อัน อาพาธเข้าบีบคั้นแล้ว จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดง โพชฌงค์ 7 ประการนั้นด้วยความยินดี สมฺโมทิตฺวา ทรงบันเทิงพระทัยในโพชฌงค์ที่พระจุนทเถร ทรงแสดงถวายนั้น อาพาธหายไปโดยฉับพลัน ด้วยฐานะอันสมควร ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอ ความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่พระองค์เองอาพาธ พระจุนทเถรแสดงสัมโพชฌงค์ระงับ ก็ หายอีกเหมือนกัน ในท้ายพระสูตรนี้ว่า ปหีนา เต จ อาพาธา อาพาธทั้งหลายเหล่านั้น อัน ท่านผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ แม้ทั้ง 3 ละได้แล้ว มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ ถึงซึ่งความไม่เกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา ดุจกิเลสอันมรรคกำจัดไปดังนั้น นี่ด้วยความสัตย์จริงอันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่ความจริงเป็นดังนี้
ถ้าเรารู้จักพุทธศาสนาดังนี้ เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกหลักฐานความจริงของพระพุทธศาสนา พระองคุลิมาลเถรเจ้า ท่านเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา เป็นขีณาสพแล้ว ท่าน ใช้ความสัตย์จริงของท่านขึ้นอธิษฐาน บันดาลให้หญิงคลอดบุตรไม่ออกให้ออกได้ตาม ความปรารถนา ส่วนโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ พระบรมศาสดาจารย์ทรงแสดงให้พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะ กำลังอาพาธอยู่ก็หายโดยฉับพลัน แล้วส่วนพระองค์ท่านล่ะ อาพาธขึ้น ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดงโพชฌงค์นั้น อาพาธของพระองค์ก็หายโดยฐานะอันสมควร ทีเดียว นี่หลักอันนี้โพชฌงค์เป็นตัวสำคัญ ประเสริฐเลิศกว่าโอสถใดๆ ในสากลโลกทั้งนั้น เหตุนี้ท่านผู้มีปัญญาเมื่อได้สดับมาในโพชฌงคปริตรนี้ จงมนสิการกำหนดไว้ในใจของตน ทุกถ้วนหน้า
ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วย อำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ตั้งแต่ต้น จนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยม ความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.

ฟังเสียงพระพุทธมนต์