1 มกราคม 2498
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (3 หน)
เอวมฺเม สุตํ. เอกํ สมยํ ภควา พาราณสิยํ วิหรติ อิสิปตเน มิคทาเย. ตตฺร โข ภควา ปญฺจวคฺคิเย ภิกฺขู อามนฺเตสิเทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสญฺหิโต โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสญฺหิโต. เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ.กตมา จ สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ. อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค. เสยฺยถีทํ สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ. อยํ โข สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ.
ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมีกถา ในวันปัณณรสีที่ 15 ค่ำ ในเดือนยี่นี้
เป็น วันขึ้นปีใหม่ของทางสุริยคติ
ผู้เทศน์ก็ต้องดำริหาเรื่องที่จะต้องแสดงให้สมกับวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันแรก
และเป็นวันมงคลของพระพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย วันนี้แหละถือว่าเป็นวันขึ้น
ปีใหม่ เราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นคนดี
เรื่องนี้เรื่องที่เป็นมงคลดี-ไม่ดีนั้น พระองค์ทรงรับสั่ง ยืนยันตัดสิน
ตั้งแต่ปีใหม่นี้เราต้องตั้งใจเด็ดขาดลงไป สมกับที่พระองค์จอมปราชญ์แสดง
มงคลว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราต้องตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า อเสวนา จ พาลานํ ไม่เสพสมาคมคบหาคนพาลเด็ดขาด ทีเดียว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตั้งแต่ได้อรุณวันนี้ ไม่เสพคบหาสมาคมกับคนพาลเป็นเด็ดขาด ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา จะเสพสมาคมคบหาแต่บัณฑิตเท่านั้น ปูชา จ ปูชนียานํ จะบูชาสิ่งที่ ควรบูชา เอตํ ติพฺพิธํ
3 ข้อนี้แหละเป็นมงคลอันสูงสุดคือจะไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต
บูชาแต่สิ่งที่ควรบูชา ตั้งใจให้เด็ดขาดลงไปอย่างนี้ อย่าลอกแลก
ไม่เสพสมาคมกับคนพาล น่ะ ในตัวของตัวเองมีหรือ ซีกทางโลกเป็นซีกของ โลภ โกรธ หลง เป็นเหตุของคนพาล เป็นเหตุให้เกิดพาล ซีกทางธรรมเป็นซีกของ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นเหตุของบัณฑิต เป็นเหตุให้เกิดบัณฑิต
บูชาสิ่งที่ควรบูชา มั่นลงไปอย่างนี้นะ นี่วันนี้ปีใหม่เราต้องตั้งใจให้
เด็ดขาดลงไปอย่างนี้ เมื่อเด็ดขาดลงไปดังนี้ละก็ ตัดสินใจว่าเราดีแน่
นี่วันนี้ปีใหม่เราต้อง ตั้งใจให้เด็ดขาดลงไปอย่างนี้
เมื่อเด็ดขาดลงไปดังนี้ ไม่มีทุจริต ไม่มีชั่วเข้าไปเจือปนเลย
เป็นซีกบัณฑิตแท้ๆ เหตุนี้แล เมื่อเป็นบัณฑิตแล้วสมควรจะฟังธรรมเทศนา
ในวันใหม่ปีใหม่ในทางสุริยคตินี้ พระจอมไตรอุบัติขึ้นในโลก
ยังไม่ได้แสดงธรรมเทศนา กับบุคคลใดบุคคลอื่นเลย
ได้แสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ วันนี้จะ
แสดงปฐมเทศนาที่พระองค์โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แคว้นเมือง พาราณสี บัดนี้เราจะฟัง ปฐมเทศนา ซึ่ง
เป็นธรรมอันลุ่มลึกสุขุมนัก ไม่ใช่ธรรมพอดีพอร้าย
และธรรมนี้เป็นตำรับตำราของพุทธศาสนิกชนสืบต่อไปด้วย
ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ว่าเป็น ปฐมเทศนาเท่านั้น
เป็นตำรับตำราของพุทธศาสนิกชนทีเดียว ที่ผู้ปฏิบัติจะเอาตัวรอดได้ใน
ธรรมวินัยของพระบรมศาสดา
เริ่มต้นแห่งปฐมเทศนาว่า เอวมฺเม สุตํ นี่
เป็นพระสูตรที่พระอานนท์เอามากล่าว ปฏิญาณตนเพื่อให้พ้นจากความเป็นสัพพัญญู
ว่าตัวไม่ได้รู้เอง เพราะได้ยินได้ฟังมาจาก
สำนักของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เอวํ อากาเรน ด้วยอาการอย่างนี้ เอกํ สมยํ ใน
สมัย ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งหลาย
ทรงประทับสำราญอิริยาบถ ณ สำนักมิคทายวัน แคว้นเมืองพาราณสี
ครั้งนั้นพระองค์ทรงรับสั่งหาพระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 มารับสั่งว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดทั้ง 2 อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค การประกอบตน ให้พัวพันด้วยกามในกามทั้งหลายนี้ใด หีโน เป็นของต่ำทราม คมฺโม เป็นเหตุให้ตั้งบ้าน เรือน โปถุชฺชนิโก เป็นคนมีกิเลสหนา อนริโย ไม่ไปจากข้าศึกคือกิเลสได้ อนตฺถสญฺหิโต ไม่เป็นประโยชน์ นี่คืออย่างหนึ่ง โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสญฺหิโต
การประกอบความลำบากให้แก่ตนเปล่านี้ใด กลับเป็นทุกข์แก่ผู้ประกอบด้วย
ไม่ไปจาก ข้าศึกคือกิเลสได้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ นี้อย่างหนึ่ง เป็น 2
อย่างนี้ กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค นี่เป็นตัวกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ทีเดียว
เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง
ไม่แวะเข้าใกล้ซึ่งที่สุดทั้ง 2 อย่างนี้นั้น อัน
พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง และทำความเห็นให้เป็นปกติ
เรียกว่า จกฺขุกรณี ญาณกรณี ย่อมเป็นไปพร้อม อุปสมาย เพื่อความเข้าไปสงบระงับ อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง สมฺโพธาย เพื่อความรู้พร้อม นิพฺพานาย เพื่อความดับสนิท กตมา จ สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติเป็นกลางนั้นที่พระตถาคต เจ้าตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค หนทางมีองค์ 8 ประการ ไปจากข้าศึกคือกิเลสได้ เสยฺยถีทํ คือ สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นชอบ สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบ สมฺมาวาจา กล่าววาจาชอบ สมฺมากมฺมนฺโต ทำการงานชอบ สมฺมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ สมฺมาสติ ระลึกชอบ สมฺมาสมาธิ ตั้งใจชอบ นี่ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ อยํ โข สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ
อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง
ที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง กระทำความเห็นให้เป็นปกติ
กระทำความรู้ให้เป็น ปกติ ย่อมเป็นไปเพื่อความเข้าไปสงบระงับ
เพื่อความรู้ยิ่งรู้พร้อมเพื่อพระนิพพาน
นี้หลักประธานปฐมเทศนา ทรงรับสั่งใจความพระพุทธศาสนาบอกพระปัญจวัคคีย์
ทั้ง 5 โดยตรงๆ ไม่มีวกไปทางใดทางหนึ่งเลย บอกตรงๆ ทีเดียว
แต่ว่าผู้ฟังพอเป็นนิสัยใจคอ เป็นฝ่าย ขิปฺปาภิญฺญา เท่านี้ก็เข้าใจแล้วว่าธรรมของพระศาสดานี้ลึกจริง ถ้าว่าไม่เป็น ขิปฺปาภิญฺญา เป็น ทนฺธาภิญฺญา
จะต้องชี้แจงแสดงขยายออกไปอีก จึงจะเข้าใจปฐมเทศนา
พระองค์ทรงรับสั่งบอกพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ว่าที่สุดทั้ง 2 อย่างนั่นนั้น
อันบรรพชิตไม่ควรเสพ ที่สุด 2 อย่างน่ะอะไร
เอาใจไปจรดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ที่ชอบใจนั้นแหละ หรือ ยินดีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ชอบใจนั้นแล ตัวกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าว่าเอาไปจรดรูปนั้นเข้าแล้ว จะเป็นอย่างไร ทุกฺโข เป็นทุกข์แก่ผู้เอาใจไปจรดนั้น หีโน
ถ้าเอาใจไปจรดเข้ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ชอบใจนั้น ใจต่ำ ไม่สูง
ใจต่ำทีเดียว ใจมืดทีเดียว ไม่สว่างเพราะเอาไปจรดกับ อ้ายที่ชอบใจ
ที่มัวซัวเช่นนั้น ถ้าไปจรดที่มืดมันก็แสวงหาที่มืดทีเดียว ไม่ไปทางสว่างละ
นั่นน่ะจับตัวได้ เอาใจเข้าจรดกับรูป เสียง กลิ่น สัมผัส ที่ชอบใจ
ชวนไปทางมืดเสียแล้ว ไม่ชวนไปทางสว่าง ปิดทางสว่างเสียแล้ว
เมื่อเป็นอย่างนั้นท่านจึงได้ยืนยัน หีโน ต่ำทราม ไม่ไปทางนักปราชญ์ราชบัณฑิต ไปทางโลก ไปทางปุถุชนคนพาลเสียแล้ว หีโน ต่ำทราม ลงไปอย่างนี้ คมฺโม
ถ้าไปจรดมันเข้าไม่สะดวก ทำให้ต้องปลูกบ้านปลูกเรือนให้เหมาะเจาะ
มีฝารอบขอบชิดให้ดีจึงจะสมความปรารถนานั้น ไปเสียทางโน้นอีกแล้ว
นั้นใจมันชักชวน เสียไปทางนั้นแล้วนั้น โปถุชฺชนิโก
ก็หมักหมมสั่งสมกิเลสให้หนาขึ้นทุกที ไม่บางสักทีหนึ่ง นั่นแหละรูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส เข้ามาๆๆ เป็นตึกร้านบ้านเรือนกันยกใหญ่เชียวคราวนี้
แน่นหนากันยกใหญ่เชียว อนริโย
ไม่ไปจากข้าศึกคือกิเลสได้ ไม่หลุดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ไม่หลุดจากความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ติดอยู่นั่นเอง
พระองค์ทรงรับสั่ง ว่า นี่ๆ พวกนี้ กามสุขัลลิกานุโยค ไปจากข้าศึกคือกิเลสไม่ได้ ไปไม่ได้ทีเดียว อนตฺถสญฺหิโต
แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ไม่มีประโยชน์เลย
ถามคนแก่ดูก็ได้ที่ครอบครองเรือนมาแล้ว ที่ติดอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัสมาแล้ว ติดจนกระทั่งถึงแก่เฒ่าชรา ไปถามเถอะ ร้อยคนพันคน มายืนยัน
บอกตรงทุกคน ทำไมจึงบอกตรงล่ะ แกวางก้ามเสียแล้วนะ บอกตรงซิ ถ้ายังไม่วาง
ก้าม ยังกระมิดกระเมี้ยนอยู่ ยังจะนิยมชมชื่นอยู่ นั่นพระองค์ทรงรับสั่งว่า
กามสุขัลลิกานุโยค ไม่มีประโยชน์อะไร อย่าเข้าไปติด
ถ้าเข้าไปติดแล้วไปไม่ได้
นั่นว่า โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข ประกอบความลำบากให้แก่ตนเปล่า ไร้ ประโยชน์ นี่ อตฺตกิลมถานุโยโค เป็นทุกข์แก่ผู้ประกอบ ไปจากข้าศึกคือกิเลสนั้นไม่ได้ ไม่
มี ประโยชน์อีกเหมือนกัน อัตตกิลมถานุโยคนั่นทำอย่างไร
ประกอบความลำบากให้แก่ตน พวกประกอบความลำบากให้นั่นทำอย่างไร นอนหนาม
ตากแดด ย่างไฟ ไม้เคาะหน้าแข้ง หาบทราย นี่พวกประพฤติดับกิเลส นอนหนาม
ตากแดด ย่างไฟ ไม้เคาะหน้าแข้ง หาบทราย นอนหนาม หนามนั่นเจ็บ เสียความสงัดยินดีก็หายไปได้ เข้าใจว่าหมดกิเลส เป็นทางหมด กิเลส ตากแดดล่ะ เมื่อตากแดด แดดร้อนเข้าก็ไม่มีความกำหนัดยินดีเข้านะซิ เข้าใจว่ากิเลส ดับแล้ว นั่นความเข้าใจของเขา เข้าใจอย่างนั้น ย่างไฟล่ะ
ย่างไฟมาจากแดด แดดไม่สะดวก ก็เอาไฟย่างมาก่อไฟ ก่อไฟถ่าน
อยู่ข้างบนเข้าให้ นอนบนกองไฟ นอนบนไฟย่าง นอนบนไฟ
นอนข้างบนร้อนรุ่มเหมือนอย่างกับไฟย่างนั้น ได้ชื่อว่าย่างไฟ ไม้เคาะหน้าแข้งล่ะ
มีความ กำหนัดยินดีขึ้นมา ไม่รู้จะทำอย่างไร มันเดินก็ไม่ถนัด ขาแข็งไปหมด
ไม้เคาะหน้าแข้งเปก เข้าไปให้เงียบ หายความกำหนัดยินดี ดับไป เอ้อ!
นี่ดีนี่ ได้อย่างทันอกทันใจ ทีหลัง กำหนัดยินดี
เวลาไหนก็เอาไม้เคาะหน้าแข้งเปกๆ เข้าไปให้อย่างหนัก นี้ความกำหนัดยินดีก็
หายไป อย่างนี้เป็นหมู่เป็นพวก ต้องทำเหมือนกัน เป็นหนทางดีทางถูกของเขา
พวกไม้เคาะ หน้าแข้ง หาบทราย
หาบทรายเหนื่อยเต็มที่ หมดความกำหนัดยินดี ควายเปลี่ยวๆ ยังสยบ เลย
ถึงอย่างนั้น หาบทราย ไอ้ทรายกองใหญ่ที่พวกอัตตกิลมถานุโยคประพฤติตนปฏิบัติ
อยู่นาน เข้ามาอาศัยกองใหญ่มหึมาทีเดียว หาบมาเอามากองเข้าไว้
หาบเข้ามากองไว้ใหญ่ มหึมา นั่นเพื่อจะทำลายกิเลส ดับกิเลส
นี่เขาเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยคทั้งนั้น ลักษณะ อัตตกิลมถานุโยค
มีมากมายหลายประการ ที่ผิดทางมรรคผลปฏิบัติตนให้เหนื่อยเปล่า ไม่มี
ประโยชน์ นั่นแหละอัตตกิลมถานุโยคทั้งนั้น ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส อัตตถิลมถา- นุโยคเหมือนกัน เอาดีไม่ได้ เดือดร้อนร่ำไป
นั่นอัตตกิลมถานุโยคเหมือนกัน อัตตกิลมถานุโยค เป็นอย่างไรล่ะ ร่างกายทรุดโทรมไปตามกัน ฆ่าตัวเอง ทำลายกำลังตัวเอง ตัดแรงตัวเอง นี่ งมงายอวดว่าฉลาด
นึกดูที เอ้อ! เราไม่รู้เท่าทัน ถ้ารู้เท่าทัน ไม่ถึงขนาดนี้เลย
เพราะไม่ได้ยิน ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์
ไม่ได้ฝึกฝนใจทางพระพุทธเจ้าเลย ความรู้ไม่เท่าทัน
จึงได้เป็นอัตตกิลมถานุโยคอยู่เช่นนี้ นี่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
2 อย่างนี้ กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค
เลิกเสีย ไม่เสพ อย่าเสพ อย่าเอา ใจไปจรด อย่าเอาใจไปติด ปล่อยทีเดียว
ปล่อยเสียให้หมด เมื่อปล่อยแล้วเดินมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง
ไม่แวะวงเข้าไปใกล้ซึ่งทางทั้ง 2 อย่างนั้น อันพระตถาคตเจ้าตรัสรู้ แล้ว
ด้วยพระญาณอันยิ่ง นี่ข้อปฏิบัติเป็นกลางซึ่งเราควรรู้ กลางนี่ลึกซึ้งนัก
ไม่มีใครรู้ ใครเข้าใจกันเลย ธรรมที่เรียกว่าข้อปฏิบัตอันเป็นกลางน่ะ
ปฏิบัติแปลว่า ถึงเฉพาะซึ่งกลาง อะไรถึง ต้องเอาใจเข้าถึงซึ่งกลางซิ เอาใจเข้าไปถึงซึ่งกลาง กลางอยู่ตรงไหน
กลางมีแห่งเดียว เท่านั้นแหละ เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์
ใจเราก็หยุดอยู่กลาง เมื่อเวลาเราจะหลับ ใจเราก็ต้อง ไปหยุดกลาง
ผิดกลางหลับไม่ได้ ผิดกลางเกิดไม่ได้ ผิดกลางตายไม่ได้ ผิดกลางตื่นไม่ได้
ต้องเข้ากลางถูกกลางละก้อ เป็นเกิด เป็นหลับ เป็นตื่นกันทีเดียว อยู่ตรงไหน
ในมนุษย์นี่ มีแห่งเดียวเท่านั้น ศูนย์กลางกายมนุษย์ สะดือ
ทะลุหลังขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งตึง ได้ระดับ กรอบปรอททีเดียว
สะดือทะลุหลังขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งตึง ขวาทะลุซ้ายขึงด้ายกลุ่มอีกเส้น
ตึงอยู่ในระดับแค่กัน ได้ระดับกันทีเดียว ได้ระดับกันเหมือนแม่น้ำทีเดียว
ระดับน้ำ หรือระดับ ปรอทแบบเดียวกัน เมื่อได้ระดับเช่นนั้นแล้ว ดึงทั้ง 2
เส้น ข้างหน้าข้างหลังตึง ตรงกลาง จรดกัน ตรงกลางจรดกันนั่นแหละ
เขาเรียกว่า “กลางกั๊ก”
ที่เส้นด้ายคาดกันไปนั่น กดลงไป นั่นกลางกั๊ก
กลางกั๊กนั่นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟอง
ไข่แดงของไก่ กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละ
แรกเรามาเกิดเอาใจหยุดอยู่ ตรงนั้น ตายก็ไปอยู่ตรงนั้น หลับก็ไปอยู่ตรงนั้น
ตื่นก็ไปอยู่ตรงนั้น นั่นแหละเป็นที่ดับ ที่หลับที่ตื่น กลางแท้ๆ เทียว
กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดง ของไก่
กลางนั่นแหละ ตรงกลางนั่นแหละ ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางนั่นแหละ ได้ชื่อว่ามัชฌิมา มัชฌิมานะ พอหยุดก็หมดดีหมดชั่ว
ไม่ดีไม่ชั่วกัน หยุดทีเดียว พอหยุดจัดเป็นบุญก็ไม่ได้
พอหยุดจัดเป็นบาปก็ไม่ได้ จัดเป็นดีก็ไม่ได้ ชั่วก็ไม่ได้ ต้องจัดเป็นกลาง
ตรงนั้นแหละกลางใจ หยุดก็เป็นกลางทีเดียว
นี้ที่พระองค์ให้นัยไว้กับองคุลิมาลว่า “สมณะ หยุด!” “สมณะ หยุด!”
พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มา สมณะหยุดแล้ว ท่านก็หยุด
นี้ต้องเอาไปหยุดตรงนี้ หยุด ตรงนั้นถูกมัชฌิมาปฏิปทาทีเดียว พอหยุดแล้วก็ตั้งใจอันนั้นที่หยุดนั้น อย่าให้กลับมาไม่หยุด อีกนะ
ให้หยุดไปท่าเดียวนั่นแหละ พอหยุดแล้วก็ถามซิว่า
หยุดลงไปแล้วยังตามอัตตกิลม- ถานุโยคมีไหม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยินดีไหม ไม่มี
นั่นกามสุขัลลิกานุโยคไม่มี ลำบากยากไร้ประโยชน์ (อัตตกิลมถานุโยค) ไม่มี
หยุดตาม ปกติ ของเขาไม่มี ทางเขาไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีทางดังกล่าวแล้ว
นี่ตรงนี้แหละที่พระองค์ทรงรับ สั่งว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา พระตถาคตเจ้ารู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น ตั้งต้นนี้แหละจนกระทั่งถึงพระอรหัตตผล
ทีนี้จะแสดง วิธีตรัสรู้ เป็นอันดับไป ถ้าไม่แสดงตรงไม่รู้ ฟังปฐมเทศนาไม่ออกทีเดียว อะไรล่ะ พอหยุดกึกเข้าคืออะไร หยุดกึกเข้านั่นละ เขาเรียกใจเป็นปกติละ หยุดนิ่งอย่าขยับไป หยุดนิ่งพอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ กลางของนิ่งนั้นแหละ จะไปเห็น ดวงธัมมานุปัสสนา- สติปัฏฐาน
เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ บริสุทธิ์สนิทดังกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า
อยู่ในกลาง หยุดกลางนิ่งนั่นแหละ กลางนั่นแหละ
พอเข้าถึงกลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็หยุด
นิ่งอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอีกแบบเดียวกัน พอถูกส่วนเข้า
จะเข้าถึง ดวงศีล เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน หยุดอยู่กลางดวงศีลอีก เข้าถูกส่วน เข้ากลางดวงศีล นั่นเอง จะเข้าถึง ดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นแหละ ดวงเท่ากัน พอถูกส่วนเข้า เท่านั้น จะเข้าถึง ดวงปัญญา ดวงเท่ากัน หยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่นแหละ พอถูกส่วนเข้า เท่านั้นแหละ เข้าถึง ดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึง ดวงวิมุตติ-ญาณทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ นั่นแหละ พอถูกส่วนเข้า เห็น กายมนุษย์ ละเอียด
เห็นแจ่มแปลกจริง กายนี้เราเคยฝันออกไป เวลาฝันมันออกไป เมื่อไม่ฝัน
มันอยู่ ตรงนี้เองหรือ ให้เห็นแจ่มอยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
กลางตัวของตัวนั่น เห็นชัดเชียว อีกชั้นหนึ่งละนะ เข้ามาถึงนี้ละ นี่พระพุทธเจ้าเดินอย่างนี้ พักอย่างนี้ทีเดียว
เอา เราเดินเข้า มาชั้นหนึ่งแล้ว เข้ามาถึงอีกชั้นหนึ่งแล้ว
ต่อไปนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกายมนุษย์หยาบละ เป็น
หน้าที่ของกายมนุษย์ละเอียดทำไป
ใจกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
ละเอียด แบบเดียวกันที่เดียว พอถูกส่วนก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่กลางดวงธัมมา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงศีล
หยุดอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เข้าถึง ดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ
ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญา แบบเดียวกัน
เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เข้าถึงดวงวิมุตติญาณ- ทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ถูกส่วนเข้าก็เข้าถึง กายทิพย์ ที่นี่หมดหน้าที่ ของกายมนุษย์ละเอียดไปแล้ว
ใจกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางกายทิพย์อีก ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงธัมมานุปัสสนา- สติปัฏฐาน หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถูกส่วนเข้า เห็นดวงศีล หยุดอยู่ กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ
หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญา
ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า
ก็เห็น กายทิพย์ละเอียด
ใจกายทิพย์ละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางกายทิพย์ละเอียด ถูกส่วนเข้า
เห็นดวง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบบเดียวกัน
หยุดอยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอถูก ส่วนเข้า เห็นดวงศีล
ดวงเท่ากัน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ
หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา
ถูกส่วนเข้า เห็นดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ถูกส่วนเข้า เห็น กายรูปพรหม
ใจกายรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม
ถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า เห็นดวงศีล
หยุดอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ ถูก
ส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติ หยุดอยู่ ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ- ญาณทัสสนะ
ถูกส่วนเข้า เห็น กายรูปพรหมละเอียด
ใจกายรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม
ละเอียด นี้เป็นกายที่ 6 แล้ว พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีล พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ
ถูกส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า เห็น กายอรูปพรหม
ใจกายอรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม
ถูกส่วน เข้า เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า เห็นดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์
กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา
ถูกส่วนเข้า เห็น ดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ถูกส่วนเข้า เห็น กายอรูปพรหมละเอียด
หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ถูกส่วนเข้า
เห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า เห็นดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้า เห็นดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวง
สมาธิ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงปัญญา หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้า
เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ถูกส่วนเข้า เห็น กายธรรม
รูปเหมือนพระพุทธปฏิมากร เกตุดอก บัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า
หน้าตักโตเล็กตามส่วน ไม่ถึง 5 วา หย่อนกว่า 5 วา นี่เรียกว่า กายธรรม
กายธรรมนี่เรียกว่าพุทธรัตนะ นี่พระพุทธเจ้า
ท่านตรัสรู้ได้อย่างนี้ นี่ปฐมยาม ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ทีเดียว
เป็นตัวพระพุทธรัตนะอย่างนี้ นี่พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสรู้ขึ้นอย่างนี้
นี่ปฐมยามได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ทีเดียว เป็นตัวพระพุทธเจ้า
ทีเดียว รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องหน้า
ที่ทำรูปไว้ นี่แหละ นี่แหละตัวพระพุทธเจ้าทีเดียว แต่ว่ากายเป็นที่ 9 กายที่ 9 เป็นกายนอกภพ ไม่ใช่กายในภพ
ทำไมรู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก็ทำรูปไว้ทุกวัดทุกวาจะไม่รู้ว่าเป็นพระพุทธ-
เจ้าอย่างไร ทำตำราไว้อย่างนี้ ก่อนเราเกิดมาเป็นไหนๆ ก็ทำไว้อย่างนี้
ปรากฏอย่างนี้แหละ ตัวพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทีเดียว ตัวพุทธรัตนะทีเดียว
อ้อ! นี่เข้าถึงพุทธรัตนะ เป็น พระพุทธเจ้าแล้ว ที่ท่านรับรองว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา ตถาคเตน แปลว่า ตถาคต ธรรมกายน่ะ แต่ว่าธรรมกายนั้นท่านทรงรับสั่งว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราพระตถาคต ผู้ เป็นธรรมกาย ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ คำว่า ธรรมกายน่ะ ตถาคตแท้ๆ ทรงรับสั่งอย่างนี้ เข้าถึงธรรมกายแล้วนี่ตถาคตทีเดียว รู้ขึ้นแล้ว เป็นขึ้นแล้ว ปรากฏขึ้นแล้ว
ต่อไปนี้เรามาเป็นธรรมกายดังนี้ รู้จักทางแล้ว
ใจธรรมกายก็หยุดนิ่งที่ศูนย์กลาง ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย
ดวงธรรมของธรรมกายวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตัก ธรรมกาย กลมรอบตัว
ใสเกินกว่าใส ใจธรรมกายก็หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้
เป็นธรรมกาย หยุดนิ่งพอถูกส่วน ถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เท่าดวงธรรมนั้น หยุด อยู่กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงสมาธิ
หยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธิ เห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งอยู่กลาง ดวงปัญญา
ก็เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงวิมุตติ
ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณ- ทัสสนะ
หยุดนิ่งอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า ก็เห็น ธรรมกายละเอียด หน้าตัก 5 วา สูง 5 วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป ธรรมกาย
หยาบเป็นพุทธรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย
วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกายเป็นธรรมรัตนะ
ธรรมกายละเอียดอยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะ นั่นแหละเป็นสังฆรัตนะ ดังนี้
อยู่ในตัว ที่อื่นไม่มี ทุกคนมีอยู่ในตัวของตัว ผู้หญิงก็มี ผู้ชายก็มี
เช่นเดียวกันทุกคน นี่แหละพุทธรัตนะ ธรรม- รัตนะ สังฆรัตนะ
เมื่อรู้จักดังนี้ เมื่อท่านเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นเช่นนี้แล้ว
นี้เป็นโคตรภูแล้ว ท่านก็สำเร็จขึ้นไปอีก 8 ชั้น ท่านก็เป็นพระอรหันต์ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าทีเดียว
พอเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า ก็ท่านเอาเรื่องนี้มาแสดงกับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5
ให้ พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ฟัง ท่านแสดงเรื่องของท่านว่า
อันเราตถาคตเจ้าตรัสรู้แล้วด้วยปัญญา อันยิ่ง ท่านทำความเห็นเป็นปกติ เห็นอะไร ตาอะไร ตาพระพุทธเจ้า ตาธรรมกาย มีตา ตาดีนัก เห็นด้วยตาธรรมกายนั่นแหละ จกฺขุกรณี ทำให้เห็นเป็นปกติ เห็นความจริงหมด ญาณกรณี กระทำความรู้ให้เป็นปกติ ญาณของท่าน
เมื่อท่านเป็นมนุษย์ ส่วนดวงวิญญาณของท่านก็เล็กเท่าดวงตาดำข้างในของท่าน
เมื่อท่านขึ้นไปเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตาของท่านก็มีเหมือนเราเช่นนี้
ตาธรรมกาย มีญาณ ของธรรมกาย มีดวงวิญญาณนั่นแหละกลับ
เป็นดวงญาณใหญ่โตมโหฬาร ใหญ่โตขึ้น ดวงใส เท่าดวงตาดำ
ข้างในแหละที่มีความรู้อยู่ในใจนี้แหละเขาเรียกว่าดวงวิญญาณ พอไปเป็น
ธรรมกายเข้าแล้วกลับเป็นดวงญาณทีเดียว วัดผ่าเส้นศูนย์เท่าหน้าตักธรรมกาย ดวงญาณ เท่าหน้าตักธรรมกาย นั้นแหละเรียกว่า จกฺขุกรณี เห็นเป็นปกติ เห็นด้วยตาธรรมกาย เห็น อะไร เห็นเบญจขันธ์ทั้ง 5
ในมนุษย์โลกนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ ของมนุษย์ละเอียด
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายทิพย์ ของกายทิพย์ละเอียด เห็นรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของกายรูปพรหม-รูปพรหมละเอียด,
อรูปพรหม-อรูปพรหมละเอียด เห็นเบญจขันธ์ทั้ง 5 ของ 8 กายนี้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นจริง เห็นด้วยตาธรรมกาย เห็นไม่เที่ยงจริงๆ เห็นจริงอย่างนี้ ตามนุษย์เห็นไม่ได้ ตา 8 กาย ในภพนี้เห็นไม่ได้ กาย
มนุษย์ก็ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กายมนุษย์ละเอียดก็ไม่เห็น
กายทิพย์ก็ไม่เห็น กายทิพย์ละเอียดก็ไม่เห็น กายรูปพรหมก็ไม่เห็น
กายรูปพรหมละเอียด ก็ไม่เห็น อรูปพรหมก็ไม่เห็น อรูปพรหมละเอียดก็ไม่เห็น
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นไม่ได้ ตามันไม่ดี
ตามันไม่ถึงขั้นที่จะได้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำไมไม่ถึงขนาดเล่า
ก็มัน ขั้นสมถะนี่
กายมนุษย์-กายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด,
กายรูปพรหม-กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม-กายอรูปพรหมละเอียด
นี่มันขั้นสมถะ แต่รูปฌาณ เท่านั้น เลยไปไม่ได้ พอถึงกายธรรมมันขั้นวิปัสสนา
ตาพระพุทธเจ้าท่านก็เห็นเบญจขันธ์ ทั้ง 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แท้ๆ
เห็นจริงๆ จังๆ อย่างนั้นละ เห็นแท้ทีเดียว เห็นชัดๆ
ไม่ได้เห็นด้วยตากายในภพ เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยฌาณธรรมกาย
เห็นด้วยตาพระ พุทธเจ้า รู้ด้วยญาณพระพุทธเจ้า
เห็นอย่างนี้แหละเห็นด้วยตาของพระตถาคตเจ้า รู้ด้วย ญาณของพระตถาคตเจ้า
ธรรมกายนั่นเป็นตัวของพระตถาคตเจ้าทีเดียว ไม่ใช่อื่น เห็นชัด
อย่างนี้นี่แหละ เห็นอย่างนี้แหละเขาเรียกวิปัสสนา เห็นเบ็ญจขันธ์ทั้ง 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นเป็นอนิจจังน่ะเห็นอย่างไร เห็นตั้งแต่กายมนุษย์เกิด กายมนุษย์เกิดไม่อยู่ที่ เกิดเรื่อยๆ เกิดริบๆ เหมือน
ไฟจุดอยู่ มีไส้ มีน้ำมัน มีตะเกียง จุดมันก็ลุกโพลง เราเข้าใจ
ว่าไฟดวงนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ ไอ้กายมนุษย์มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ
แต่ตาธรรมกายไม่ เห็นอย่างนั้น เห็นไฟเก่าหมดไป ไฟใหม่เดินเรื่อยขึ้นมา
ไฟเก่าหมดไปไฟใหม่เดินเรื่อย ขึ้นมา แล้วก็เอามือคลำดูข้างบน ก็รู้
ร้อนวูบๆๆๆ ไป อ้อ! ไฟใหม่เกิดเรื่อย กายมนุษย์นี้ก็ เช่นเดียวกัน
ไอ้เก่าตายไป ไอ้ใหม่เกิดเรื่อย หนุนไม่ได้หยุดเหมือนไฟ เหมือนดวงไฟ
อย่างนั้นแหละ ไม่ขาดสาย มันเกิดหนุนอย่างนั้น นั่นเห็นขนาดนั้น
เห็นเกิดเห็นตายเรื่อย เกิดแล้วก็ตายไป เกิดแล้วก็ตายไป ไม่มีหยุดละ เหมือนกันหมดทั้งสากลโลก เห็นทีเดียวว่า มีแต่เกิดกับดับ ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่ง
ทั้งปวงมีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมมีความเกิดเสมอ สิ่งทั้งปวงมีเกิดเสมอ
มีความดับเสมอ มีเกิดกับดับ 2 อย่างเท่านั้น หมดทั้งสากลโลก
เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกายจริงๆ อย่างนี้ นี้ทำวิปัสสนา
เห็นจริงเห็นจังอย่างนี้
ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ก็แบบเดียวกัน สมุปาทยธมฺมํ
เห็นตลอดขันธ์ 5, อายตนะ 12, ธาตุ 18, อินทรีย์ 22, อริยสัจ 4,
ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12, แปดดวงนี้เห็นตลอด หมด เห็นจริงเห็นจังทีเดียว
เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณธรรมกาย รู้ชัดอย่างนี้ นี้เรียกว่า สํวตฺตติ ย่อมเป็นด้วยพร้อม อุปสมาย เพื่อ
ความสงบเมื่อเห็นเช่นนั้นแล้ว ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่มี
สงบหมด หายไปหมด เงียบฉี่เชียว ที่ยินดีถอนไม่ออก เงียบฉี่ เชียว อภิญฺญาย รู้ยิ่งทุกสิ่งทุกอย่าง สมฺโพธาย รู้พร้อมรู้จริงทุกสิ่งทุกอย่าง นิพฺพานาย ดับ
หมด ราคะ โทสะ โมหะ ดับหมด ปรากฏอย่างนี้ ดังความจริงอย่างนี้ นี่ที่ไปถึง
พระตถาคตเจ้าอย่างนี้ ไปถึงธรรมกายเช่นนี้ ไม่ได้ไปทางอื่นเลย ไปทางปฐมมรรค ไปกลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ดวงศีลคืออะไร ดวงศีลนะคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว อริยมรรค 3 องค์ นั้นเรียกว่าดวงศีล ดวงสมาธิ : สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อริยมรรคอีก 3 องค์ ดวงปัญญา : สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นแปด องค์ในอริยมรรคนั้นทั้งสิ้นอยู่ในนั้น จึงได้ เข้าถึงธรรมกายนี้ได้ ถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แท้ๆ
นี้แหละ ให้แน่วแน่ลงไว้ เราก็ เกิดมาประสพพบพระพุทธศาสนา พุทธรัตนะ
ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ไม่ได้ถึงตัวจริงของ ศาสนาไม่ได้ มีตัวจริงศาสนา
นี่แก่นศาสนาอยู่ในตัวของเราเป็นลำดับของกายเข้าไป อย่าไปทางอื่นนะ ไม่ได้
ต้องไปทางหยุดทางเดียว จะยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าให้ถึง หยุด
ให้ถูกส่วน หยุดให้เข้ากลาง หยุดให้ถูกเป้าหมายใจดำของพระพุทธศาสนา
ทำตามที่พระองค์ รับสั่งไว้ในปฐมเทศนา ให้แน่นอนอย่างนี้
จะได้เข้าถึงตัวจริงเช่นนี้ ถ้าเข้าถึงตัวจริงเช่นนี้แล้ว ก็พึงรู้ อ้อ!
ที่แสดงมานี้ เว้นเสียจากที่สุดทั้ง 2 สิ่ง
ไม่เสพที่สุดทั้ง 2 นั้น เดินตามมัชฌิมาปฏิปทาไป ทางศีล สมาธิ ปัญญา
วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ไปเป็นลำดับนั้น จึงเข้าถึงตรัสรู้
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นตถาคตเจ้าแท้ๆ ดังที่ได้แสดงมานี้ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ผู้มีปรีชาญาณ มนสิการกำหนดไว้ในใจทุกคน ทุกถ้วนหน้า
วันนี้เป็นวันปีใหม่ ได้แสดงปฐมเทศนา พระองค์ทรงตรัสเทศนาเป็นเบื้องต้น
เป็น ทีแรกเรียกว่าปฐมเทศนา พอเป็นเครื่องประคับประคองฉลองศรัทธา
ประดับสติปัญญา คุณสมบัติของท่านพุทธบริษัท คฤหัสถ์ บรรพชิต
บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า
ว่าเราท่านทั้งหลายผู้เป็นเมธีมีปัญญาต้องการสิ่งที่เป็นมงคล
ต้องการความเจริญแล้ว ตั้งใจ ให้แน่แน่ว ให้ถึงพระรัตนตรัย
วันนี้เป็นวันใหม่ ชั่วร้ายด้วยกายวาจาใจตัดขาด อย่ากระทำ
ทำใจให้หยุดให้ถูกเป้าหมายใจดำทางพระพุทธศาสนา ที่ได้ชี้แจงแสดงมา
มนุษย์แท้ๆ ถึงจะ ไม่เข้าใจ อย่างดีมนุษย์ธรรมดาเห็นจะดีกว่าค้างคาวแน่
ฟังเทศน์เอาบุญกัน ไม่ฟังเทศน์เอา เรื่องเอาราวกัน
คนแก่คนเฒ่าเป็นอย่างนั้น คนที่สนใจฟังธรรมจริงๆ เรียนธรรมจริงๆ รู้ธรรม
จริงๆ เป็นอีกพวกหนึ่ง ต้องเรียนเอาเรื่องเอาราวกันจริงๆ
จึงจะปฏิบัติธรรมกันในพระพุทธศาสนาได้ ดังนี้
ที่ชี้แจงแสดงมานี้ เป็นตำรับตำราแน่นอนในทางพระพุทธศาสนา ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ สิ่งอื่น ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐของเราท่านทั้งหลาย สรณํ เม รตนตฺตยํ พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอัน ประเสริฐของเราท่านทั้งหลาย เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ มาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอ
ความสุขสวัสดีจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลาย
บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา ขอ
สมมติยุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
)