กรมประมงแนะปล่อยปลาอย่างไร... ให้มั่นใจว่า "ได้บุญ"
สงกรานต์ปีนี้กรมประมงวอนผู้ใจบุญที่นิยมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงแหล่งน้ำเพื่อความเป้นสิริมงคลของชีวิตในวันเริ่มต้นปีใหม่ของไทย ให้เลือกปล่อยสัตว์น้ำและปลาสายพันธุ์ไทย อาทิ ปลาไหล ปลาหมอ เต่า กบ หอยโข่ง ฯลฯ เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ
ที่ผ่านมาการปล่อยปลาถือเป็นอีกกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสำหรับการเสริมดวงชะตาและสะเดาะเคราะห์ แต่ก็มีปลาบางชนิดที่ถูกนำมาปล่อยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเป็นปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น นั่นก็คือ ปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล ที่เรารู้จักกันดี เนื่องจากปลาชนิดนี้ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แถมยังทำให้เกิดผลกระทบต่อพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยโดยตรง จนทำให้ปลาพื้นเมืองของไทยบางชนิดอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงสูญพันธุ์ ดังนั้นก่อนที่เราจะเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเราก็ควรศึกษากันให้ดีเสียก่อนว่าเราควรจะเลือกปล่อยสัตว์น้ำชนิดไหน และบริเวณไหนดี เพื่อที่ผู้ใจบุญทั้งหลายจะได้มั่นใจได้ว่าการทำบุญครั้งนี้เราจะได้บุญ... และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายระบบนิเวศของประเทศ
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า การปล่อยสัตว์น้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่คนไทยเรานิยมทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ หรือเพื่อสั่งสมบุญกุศลไว้ให้ตัวเอง การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์น้ำโดยทั่วไปจะต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของปลาและสิ่งแวดล้อมของสถานที่ที่จะนำไปปล่อยด้วย เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสรอดของปลาและสัตว์น้ำที่ผู้ใจบุญทั้งหลายนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ทางกรมประมงจึงขอแนะนำวิธีเลือกพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับสถานที่จะปล่อยสัตว์น้ำ ดังนี้
1.ปลาช่อน/ปลาดุก...ควรปล่อยให้ลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่งบ้าง และน้ำควรเป็นน้ำสะอาด
2.เต่า...ควรเลือกปล่อยในสถานที่ที่มีตลิ่ง สามารถให้เต่าขึ้นมาผึ่งแดดได้ เนื่องจากเต่าต้องการให้ปลิงที่ติดอยู่ตามตัวนั้นหลุดออก น้ำที่ปล่อยนั้นก็ไม่ควรจะไหลเชี่ยวจนเกินไป
3.ปลาไหล...ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย
4.กบ...สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่เป็นธรรมชาติ มีกอหญ้าหรือไม้น้ำจะดีกว่า เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของแมลง ซึ่งเป็นอาหารของกบอีกด้วย
5.ปลาสวาย/ปลาบึก/ปลาตะเพียน...ควรปล่อยลงในแม่น้ำ คลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่ เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต
6.ให้คำนึงถึงคุณภาพของน้ำด้วย โดยก่อนปล่อยสัตว์น้ำ ควรสังเกตสีน้ำในแหล่งที่ปล่อยต้องมีสีไม่ดำ หรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้
7.การปล่อยสัตว์น้ำต้องพิจารณาถึงคุณภาพของสัตว์น้ำที่ปล่อยด้วย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ
8.เวลาปล่อยสัตว์น้ำควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน
การปล่อยปลาหรือสัตว์น้ำเพื่อสร้างบุญกุศล และเสริมดวงชะตาตามความเชื่อนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องปล่อยที่วัดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราปล่อยสัตว์น้ำบางชนิดที่ไม่สามารถอาศัยอยู่บริเวณหน้าวัด สุดท้ายมันก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ เราควรที่จะเลือกสถานที่ที่เมื่อเราปล่อยสัตว์น้ำเหล่านั้นไปแล้วจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บริเวณสถานที่นั้นๆ ได้ ตามที่ได้แนะนำไว้ข้างต้น อธิบดีกรมประมงกล่าว
สงกรานต์ปีนี้ทางกรมประมงจึงขอความร่วมมือให้เลิกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ และให้หันมาปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยแทน นอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้บุญอย่างแน่นอน เพราะการปล่อยสัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยถือเป็นการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ด้านประมงให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย