วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วิธีตัดเหตุแห่งทุกข์ (เรื่องพญานกยูงทอง)

ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนบทความยังเป็นนิสิตทำกิจกรรมชมรมพุทธฯ ที่จุฬาฯ ผู้เขียนฯได้พบกับน้องนิสิตคนหนึ่ง ซึ่งเข้ามาสวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสืิอธรรมะเหมือนน้องปีหนึ่งที่เข้ามาชมรมทั่วๆไป น้องคนนี้ดูเหมือนจะมีปัญหาในเรื่องของบุคลิกตัวเอง โดยเฉพาะความมั่นใจ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่น้องคนนนี้ได้มาเข้าสู่รั้วจามจุรีได้ และอีกคำถามหนึ่งคือ

ทำไมถึงสนใจชมรมพุทธฯ
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงถามน้องถึงความสนใจในพุทธศาสนา น่าสนใจว่าน้องคนนี้สนใจด้านพระพุทธมนต์ บทใดๆก็จำได้ดี กว่าน้องๆในรุ่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญ น้องคนนี้ มีบทสวดมนต์หนึ่งที่สวดประจำ มีเนื้อความดังนี้ครับ

อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ

นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ

นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ


(คำแปล) โมระปะริตตัง
พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง อุทัยขึ้นมา
เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง ข้าทั้งหลาย
อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดวัน พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้า
จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว
จึงเที่ยวไป เพื่ออันแสวงหาอาหาร

พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทองยังพื้นปฐพีให้สว่าง ย่อมอัสดงคตไป
เพราะเหตุนั้น ข้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ยังพื้นปฐพีให้สว่าง ข้าทั้งหลาย
อันท่านปกครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้ถึงซึ่งเวทในธรรมทั้งปวง
พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้า อนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาซึ่งข้า

ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้า
จงมีแด่ท่านผู้พ้นแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้า จงมีแด่วิมุตติธรรม นกยูงนั้นได้กระทำปริตรอันนี้แล้ว
จึงสำเร็จความอยู่แล.
ผู้เขียนทึ่งใจไม่น้อยกับความสามารถของน้องคนนี้ และคงตอบคำถามถัดไปในตัว ว่า ความมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นเครื่องอำนวยผลให้มีแต่ความเจริญแต่ฝ่ายเดียว
หลังจากนั้นไปสักหนึ่งปี น้องคนนี้ก็ไม่ได้กลับมาที่ชมรม และไม่ทราบข่าวคราวของน้องคนนี้อีกนับแต่นั้น
สุดท้ายนี้ก็มีเรื่องมาให้อ่านประกอบความเข้าใจในบทสวดนี้กัน
  

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงสมัยที่พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพญานก ยูงทองว่า ครั้งนั้นท่านได้อาศัยอยู่ในถ้ำทอง
 ทุกๆ เช้าก่อนที่จะออกไปหาอาหาร จะบินขึ้นไปเกาะที่ยอดเขา แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมื่อเห็นพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น ท่านจะแผ่เมตตา และสวดพระปริตร เพื่อขอให้พระรัตนตรัยคุ้มครองให้ปลอดภัย แล้วจึงร่อนลงไปหากิน
ครั้นตกเย็นก็จะบินไปเกาะที่ยอดเขาอีก แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มองดูพระอาทิตย์อัสดง แผ่เมตตาสวดพระปริตร ให้พระรัตนตรัยคุ้มครองในเวลากลางคืน แล้วจึงบินกลับเข้าถ้ำ ท่านทำอย่างนี้อยู่เป็นเวลานาน ทำทุกวันไม่ได้ขาดแม้แต่วันเดียว จึงไม่เคยมีนายพรานหรือสัตว์ร้ายใดๆ มาทำอันตรายท่านได้

อยู่มาวันหนึ่ง มเหสีของพระราชาทรงพระสุบินเห็นพญานกยูงทองมาแสดงธรรมให้ฟัง จึงกราบทูลพระราชาว่า อยากฟังธรรมจากพญานกยูงทองมาก พระราชาจึงให้นายพรานไปดักจับพญานกยูงทอง
ซึ่งแม้นายพรานจะใช้ความพยายามเพียงไร ก็จับไม่ได้
จนนายพรานหมดอายุขัยสิ้นชีวิตลง เมื่อพระมเหสีไม่ได้ดังพระประสงค์ทำให้พระนางตรอมพระทัย และสวรรคตในที่สุด
พระราชาทรงกริ้วมากถึงกับจารึกลงในแผ่นทองคำว่าถ้าหากใครได้กินเนื้อของนกยูงทองตัวนี้ ที่อาศัยอยู่ที่ทิวเขาในป่าหิมพานต์ จะมีชีวิตเป็นอมตะไม่แก่ไม่ตาย

เมื่อพระราชาองค์ใหม่มาสืบต่อราชวงศ์ ได้พบเห็นหลักฐานที่จารึกไว้ มีพระประสงค์จะได้ชีวิตเป็นอมตะ จึงส่งนายพรานไปคอยดักจับพญานกยูงทอง แต่ก็ไม่มีใครทำได้สำเร็จ
 แม้เมื่อสิ้นราชวงศ์ มีพระราชามาครองราชย์ผ่านไปอีกถึง ๖ พระองค์ ก็ยังไม่มีใครสามารถจับพญานกยูงทองได้

วันหนึ่งนายพรานของพระราชาองค์ที่ ๗ สังเกตเห็นว่า ทุกเช้าและทุกเย็น นกยูงทองได้สวดมนต์แผ่เมตตา
จึงรู้ว่าเป็นเพราะอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยคุ้มครอง ก็หาอุบายที่จะทำให้ใจของนกยูงทองโพธิสัตว์ซัดส่าย ไม่ตั้งมั่น และไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างที่เคยเป็นมา จึงได้นำนางนกยูงตัวหนึ่งมาเป็นเครื่องล่อพระโพธิสัตว์ เพื่อเพื่อให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้

วันนั้นพญานกยูงทอง ได้ฟังเสียงของนางนกยูงที่ไพเราะจับใจ เกิดตัณหาครอบงำ กิเลสที่ตกตะกอนนอนเนื่องมายาวนานก็กำเริบขึ้นมา เกิดความกระวนกระวายใจ จนไม่สามารถเจริญพระปริตรได้

 ได้บินไปหานางนกยูง แล้วถลาลงไปบนพื้นโดยไม่ได้ระมัดระวังตัว เท้าทั้งสองข้างจึงสอดเข้าไปในบ่วงที่นายพรานดักไว้ ไม่สามารถจะสลัดให้หลุดได้ ยิ่งดิ้นบ่วงก็ยิ่งรัดแน่นหนาขึ้น

นายพรานเห็นดังนั้นดีใจยิ่งนัก คิดว่า พรานทั้ง ๖ คน ไม่สามารถดักพญานกยูงทองได้ ต่างสิ้นชีวิตกันไปหมด แม้เราต้องเพียรพยายามอยู่ถึง ๗ ปี ในที่สุดวันนี้เราก็จับได้

 ในขณะเดียวกันก็นึกสลดใจว่า วันนี้พญานกยูงกระวนกระวายใจ เนื่องจากนางนกยูงเป็นเหตุ ไม่อาจแผ่เมตตาเจริญพระปริตรได้ จึงติดบ่วงของเราเพราะอำนาจกามตัณหาแท้ๆ ทำให้ต้องประสบทุกข์เช่นนี้

 แต่ด้วยอานุภาพที่นกยูงทองแผ่เมตตาอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จึงทำให้นายพรานเกิดความสงสาร เกิดความรักความเมตตา อีกทั้งนายพรานก็ไม่ปรารถนาจะทำร้ายพญานกยูงอยู่แล้ว เพราะรู้ว่านกยูงตัวนี้ประพฤติธรรม จึงได้ปล่อยนกยูงไป

พญานกยูงจึงได้เปล่งสำเนียงเป็นภาษามนุษย์ว่าท่านอุตส่าห์เพียรพยายามดักจับเรานานถึง ๗ ปี เมื่อจับได้แล้วกลับปล่อยเสีย ไม่กลัวอาชญาจากพระราชาหรือ หรือว่าวันนี้ ท่านงดเว้นจากปาณาติบาต

 นายพรานตอบว่า เราไม่ได้กลัวอาชญาแผ่นดิน แต่เรากลัวผลของบาป จากการทำร้ายท่านผู้ประพฤติธรรมนกยูงพระโพธิสัตว์จึงได้แสดงธรรมว่า

ผู้ไม่ทำปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ย่อมได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน ละโลกไปแล้วจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ดูก่อนนายพราน สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนปรารถนาความสุข ดังนั้นผู้ปรารถนาความสุข จึงไม่ควรเบียดเบียนใครให้ได้รับทุกข์

นายพรานฟังดังนี้แล้ว ก็ตั้งสติพิจารณาธรรม ตามเห็นธรรมเข้าไป จนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ ที่นั้นเอง

จากนั้นท่านอธิษฐานจิตทำสัจกิริยา กล่าวคำปล่อยสัตว์ ทำให้สัตว์ทั้งหลายที่ถูกกักขัง หลุดจากกรงได้เป็นอัศจรรย์ แล้วท่านเอามือลูบศีรษะ ความอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีก

 เพศคฤหัสถ์ได้หายไป เปลี่ยนเป็นเพศบรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยเครื่องอัฐบริขารพร้อมทุกอย่าง ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้ทำเอาไว้ในอดีตนั่นเอง ท่านได้อนุโมทนากับพญานกยูงทองที่แสดงธรรมให้ฟัง แล้วก็เหาะไปบำเพ็ญสมณธรรมตามอัธยาศัย

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อพ้นจากบ่วงแล้ว พิจารณาสอนตนเองว่า ที่ตัวเราต้องพลาดพลั้งติดบ่วง แทบเอาชีวิตไม่รอดนี้ เพราะอำนาจกิเลสตัณหา ไม่สำรวมอินทรีย์ จึงขาดสติในการระลึกถึงพระรัตนตรัย ทำให้เราต้องมาติดบ่วงของนายพราน บ่วงของพรานว่าร้ายแล้ว แต่ยังไม่เท่าบ่วงแห่งกาม

ตั้งแต่นั้นมา ท่านตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ ข่มอำนาจกิเลสกาม แล้วเริ่มเจริญเมตตาจิต สวดพระปริตร ตรึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัยตลอดอายุขัย

 ละโลกไปแล้ว ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรผู้มีอานุภาพมาก


พระบรมศาสดา ได้ตรัสถึงกิเลสตัณหาที่ผูกมัดใจชาวโลกไว้ว่าขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย เป็นธรรมชาติที่หยาบ
 ถ้าหากกิเลสเหล่านี้ สามารถก่อเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ แล้วมีผู้นำไปวางไว้ที่ใดก็ตาม ที่นั้นไม่สามารถรองรับกิเลสเหล่านั้นได้ เหมือนแม่น้ำสายเล็กๆ ไม่สามารถรองรับน้ำฝน ที่ตกลงมาทั่วท้องจักรวาลได้ เพราะกิเลสเหล่านั้นแทรกซึมอยู่เต็มไปหมด จนไม่มีที่ว่างให้บรรจุ
กามทั้งหลายเป็นบ่วงแห่งมาร เป็นเหตุให้เกิดความประมาทจนแทบสิ้นชีวิต

เพราะฉะนั้น เราต้องมีสติเตือนตนเองให้ดี อย่าตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ให้หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ใจต้องหยุดอย่างเดียวเท่านั้น 

จึงจะหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เหลือไว้แต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ ที่เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม หมดความทะยานอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ใจหยุดเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้

 หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านจึงกล่าวว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จถ้าไม่หยุดก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ไม่ว่าเราจะมีภารกิจอันใดก็ตาม อย่าให้อะไรมาเป็นอุปสรรคทำให้เราเกียจคร้านในการทำความเพียร
เราจะต้องตั้งใจมั่นว่าจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๖๐ หน้า ๔๕๓ (เป็นเพียงภาพประกอบ)
ขอขอบคุณFB โพสของ บุญเยือน โคตรมณี