วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สติปัฏฐาน 4 เบื้องต้นและเบื้องลึก

ขอเสนอสติปัฏฐาน 4, 2 นัย ดังต่อไำปนี้

สติปัฏฐาน 4 ตามพจนานุกรมฉบับประมวลธรรม

1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็น ตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ 1 อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ 1 สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง 1 ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ 1 ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็น ธาตุแต่ละอย่างๆ 1 นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น 1
2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.





สติปัฏฐาน ตามนัยของคำสอนพระมงคลเทพมุนี

1.กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน "กาเย กายานุปัสสี" คือตามเห็นกายในกายและ"อาการ"ของกายในกายเหล่านั้นเข้าไป เพราะในกายเรานี้ ใช่จะมีแต่กายเนื้ออย่างเดียว

2.เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน "เวทนาสุ เวทนานุปัสสี" คือตามเห็นการเสวยสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ของกายในกายนั้น

3.จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน "จิตเต จิตตานุปัสสี" คือตามเห็นจิตในจิต จิตของกายแต่ละกาย จิตโดยย่อ ๘๙ โดยพิสดาร ๑๒๑ ดวง ดวงไหนมีกิเลส ดวงไหนไม่มี ดูให้หมด

4.ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน "ธัมเมสุ ธัมมานุปัสสี" คือเห็นตั้งแต่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เห็นกันเข้าไปเป็นชั้นๆ อย่างนี้ ตามเห็นเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นดวงธรรมที่ทรงรักษากายธรรมเอาไว้ ที่มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม สรุปคือ ดูเหตุในเหตุ ไปถึงที่สุดเป้าหมายใจดำ