วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

“สัมมาอะระหัง”




คำว่า “สัมมาอะระหัง” เป็นภาษาบาลี มีศัพท์ควบคู่กันอยู่ ๒ ศัพท์ “สัมมา” ศัพท์หนึ่ง “อะระหัง” ศัพท์หนึ่ง

“สัมมา” เป็นศัพท์ที่มีความหมายสูง แปลว่า ชอบในพระพุทธคุณ ๙ บท ท่านเอาศัพท์นี้เข้าคู่กับ “สัมพุทโธ” เป็นสัมมาสัมพุทโธเป็นบทแสดงพระคุณของพระพุทธเจ้า แปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ นอกจากใช้ในบทพระพุทธคุณแล้ว ยังมีใช้ในองค์อริยมรรค ๘ ด้วย โดยมีคำว่า สัมมา ควบองค์มรรคอยู่ทุกข้อเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น

ส่วนศัพท์ว่า “อะระหัง” เป็นพระพุทธคุณบทต้น แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ เมื่อเข้าคู่กันเป็น สัมมาอะระหัง ก็แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์โดยชอบ คือ ถูกต้อง ไม่ผิด โดยนัยว่าบทบริกรรม “สัมมาอะระหัง” ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงมีความหมายสูง และอยู่ในขอบข่ายของพุทธานุสสติโดยแท้

บท “สัมมาอะระหัง” นี้ โบราณาจารย์สมัยก่อนท่านแยกพรรณนาพระพุทธคุณทีละอักษร ในบทภาวนานี้ มี ๕ อักษร คือ สัม, มา, อะ, ระ, หัง แต่ละอักขระหรือแต่ละอักษรไปนี้ ท่านโบราณาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้

(สัม)
สงฺขตาสงฺขเต ธมฺเม สมฺมา เทเสติ ปาณินํ
สํสารสฺส วิฆาเฏติ สมฺพุทฺธํปิ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงแสดงสังขตธรรมและอสังขตธรรม โดยชอบแก่สัตว์ทั้งหลาย
๒. พระพุทธองค์ ทรงทำลายการเวียนเกิดเวียนตายได้
๓. พระพุทธองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ท่านบอกอุปเท่ห์ คือวิธีใช้ไว้ว่า ให้ภาวนาก่อนจะเข้าสู่สงคราม หาผู้ทำร้ายมิได้แล

(มา)
มาตาว มานปาลิเต มานสตฺเต ปมทฺทิ โย
มานิโต เทวสงฺเฆหิ มานฆาตํ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงย่ำยีสัตว์ผู้มีมานะ (ความถือตัว) ที่มานะ (ความถือตัว) เลี้ยงไว้ดุจมารดา
๒. พระพุทธองค์ อันหมู่ทวยเทพยอมรับนับถือ
๓. พระพุทธองค์ทรงทำลายมานะได้
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ท่านบอกอุปเท่ห์ไว้ว่า ภาวนาเพื่อทำคนแข็งให้อ่อน หมายความว่า ถ้าบังเอิญท่านต้องเผชิญกับคนใจแข็ง ให้มีอันแข็งข้อ แข็งกระด้างเอากับท่านอย่างนี้แล้ว โบราณาจารย์ท่านแนะนำให้ใช้คาถาบทนี้ แก้ไขเหตุการณ์

(อะ)
อนุสฺสาหสพฺพสตฺตานํ อนุสฺสาเหติ โย ชิโน
อนนฺตคุณสมฺปนฺโน อนฺตคามี นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนคนไม่มีอุตสาหะ ให้มีความอุตสาหะ
๒. พระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมไม่สิ้นสุด
๓. พระพุทธองค์ทรงถึงที่สุดแห่งทุกข์
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ท่านบอกอุปเท่ห์ไว้ว่า ภาวนาป้องกันเสือและจระเข้ หมายความว่า ถ้าท่านต้องเข้าป่าที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม หรือต้องลงน้ำในย่านที่มีสัตว์น้ำอันตราย ถ้าทำใจให้เป็นสมาธิ ภาวนาคาถาบทนี้ จะป้องกันสัตว์ร้ายได้

(ระ)
รโต นิพฺพานสมฺปตฺโต รโต โส สตฺตโมจโน
รมาเปติธ สตฺเต โย รมทาตํ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงยินดีในธรรม ได้ทรงบรรลุถึงพระนิพพาน
๒. พระพุทธองค์ทรงปลดเปลื้องสัตว์ให้พ้นทุกข์
๓. พระพุทธองค์ทรงยังสัตว์ให้ยินดีในพระนิพพาน
๔. พระพุทธองค์เป็นผู้ทรงประทานให้ซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่ยินดี
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ ถ้าใครยึดมั่นท่องบ่นภาวนาเป็นนิจ สามารถป้องกันการกระทำคุณผีและคุณคนทั้งปวงได้

(หัง)
หญฺญติ ปาปเก ธมฺเม หํสาเปติ ปทํ ชนํ
หํสมานํ มหาวีรํ หนฺตปาปํ นมามิหํ ฯ

๑. พระพุทธองค์ทรงฆ่าบาปธรรม
๒. พระพุทธองค์ยังชนให้ยินดี ซึ่งทางฆ่าบาปนั้น
๓. พระพุทธองค์ทรงร่างเริง
๔. พระพุทธองค์ทรงกล้าหาญยิ่งใหญ่
๕. พระพุทธองค์ทรงฆ่าบาปได้แล้ว
ข้าพเจ้าขอนมัสการ

พระคาถาบทนี้ โบราณาจารย์ท่านแนะนำว่า ให้หมั่นเพียรภาวนาเมื่อจะเข้าสู่ณรงค์สงคราม ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัยได้

พระคาถา แสดงความหมายว่า แต่ละอักขระของบท สัมมาอะระหัง ที่นำมาลงไว้พร้อมทั้งอุปเท่ห์ คือวิธีใช้นี้สำหรับผู้ที่นับถือและเชื่อมั่นภาวนาให้จริงจัง จนจิตเป็นสมาธิมั่นคง ย่อมได้ผลจริงดังใจหมาย
ที่มา [http://www.watpaknam.org/meditation/page_07.php]